CHAYO เผยบริษัทฯ เดินหน้าซื้อหนี้เสียต่อเนื่อง หลังมูลค่าสินเชื่อเสียในระบบพุ่งกว่า 5 แสนล้านบาท พร้อมชี้โอกาสขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยตั้งเป้าการเติบโต 20% ในปี 2568 ด้วยพอร์ตสินทรัพย์คงค้างกว่าแสนล้านบาท ขณะเดียวกันเตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐที่จะช่วยลดภาระผู้กู้
นาย สุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีการดำเนินธุรกิจ 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจซื้อหนี้เสีย จากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมถึงธุรกิจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยครอบคลุมทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของพอร์ตธุรกิจ 2. ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ครอบคลุมทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน คิดเป็นสัดส่วน 4% ของธุรกิจ 3.ธุรกิจรับจ้างเร่งรัดหนี้สิน ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำ (TRUE, DTAC, AIS) คิดเป็นสัดส่วน 3% ของธุรกิจ 4.ธุรกิจจัดหาบุคลากร เพื่อปฏิบัติงานในองค์กรต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วน 3% ของธุรกิจ
ปัจจุบันมูลค่าสินเชื่อในประเทศไทยสูงกว่า 18 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 3% หรือประมาณ 540,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันในสัดส่วนเกือบเท่ากันคือ 50% โดยบริษัทฯ ได้เข้าซื้อหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรายใหญ่ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ คิดเป็นสัดส่วนรวม 33-35% ของหนี้เสียทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงท้ายปี บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าซื้อหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกได้ซื้อหนี้เสียมาแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายการซื้อหนี้เสียทั้งปีที่ 10,000 ล้านบาท โดยตั้งงบประมาณไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทใช้เงินซื้อหนี้เสียไปไม่ถึง 300 ล้านบาท ดังนั้นยังมีงบประมาณเหลือสำหรับการซื้อหนี้ในช่วงท้ายปี คาดว่าจะซื้อหนี้เพิ่มได้อีกกว่า 8,000 ล้านบาท
นาย สุขสันต์ กล่าวต่อว่าด้วยมูลค่าหนี้เสียในระบบที่สูงกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้หลายบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการเข้าซื้อหนี้ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ นอกจากนี้ ภาครัฐยังเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ เช่น การปรับให้การผ่อนชำระบ้านเน้นการตัดเงินต้นมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการตัดดอกเบี้ยเป็นหลัก ส่งผลให้ภาระจ่ายรายเดือนของลูกค้าลดลง หากมาตรการนี้ได้รับการอนุมัติ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าปฏิบัติตามทันที เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองเห็นโอกาสขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก โดยบริษัทฯ จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดของธนาคารพาณิชย์และกฎหมายในการทวงถามหนี้ของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า บริษัทฯ จะยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตในตลาดในประเทศเป็นหลัก
สำหรับปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตที่ 20% พร้อมพอร์ตสินทรัพย์คงค้างมูลค่า 113,000 ล้านบาท โดยมีลูกค้าที่ชำระหนี้ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ พอร์ตที่เหลือประกอบด้วยหนี้ไม่มีหลักประกันมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกันประมาณ 20,000 ล้านบาท