[Vision Exclusive] BIZ ผู้นำขายเครื่องฉายรังสีมะเร็งในไทย

          มะเร็ง: ภัยเงียบที่ทวีความรุนแรงทั้งในไทยและทั่วโลก ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้ระบบสาธารณสุขต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ การรักษาและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วย มาติดตามแนวทางในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ พร้อมโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้กับคนไทย

          นายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (BIZ) ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) และให้บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบันและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเทียบกับสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมดมากถึงร้อยละ 15 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในปี พ.ศ. 2563 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวนมากถึง 19.3 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 9.95 ล้านคน โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร

          นอกจากนี้ WHO ยังคาดการณ์ว่าอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น โดยในปี 2568 จะมีผู้ป่วยจำนวน 168,093 ราย ในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 185,735 ราย และในปี 2578 จะมีผู้ป่วยจำนวน 201,209 ราย

          ทาง WHO ยังคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าในปี 2040 จำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 28.4 ล้านรายต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 47% จากปี 2020 โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การสูงวัยของประชากร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดการออกกำลังกาย

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2566 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งประมาณ 80,000 รายต่อปี มะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก จำนวนผู้ป่วยมะเร็งสะสมในประเทศไทย ณ ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 600,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตและอยู่ระหว่างการรักษา การเฝ้าระวัง หรือรักษาหายแล้ว แนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นปีละกว่า 10% โดยความก้าวหน้าทางการแพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตและอยู่ได้นานขึ้น

          สำหรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งโดยตรง ข้อมูลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยสปสช.จัดสรรงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2566 สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงเคมีบำบัด รังสีบำบัด และการผ่าตัด เมื่อรวมกับงบประมาณจากระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ งบประมาณรวมจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาทต่อปี โดยการจัดสรรงบประมาณนี้จะเริ่มตั้งแต่ตุลาคมถึงมีนาคมของทุกปี

          BIZ ในฐานะผู้จัดจำหน่ายเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ได้จำหน่ายเครื่องฉายรังสีให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกว่า 90% ของยอดจำหน่ายมาจากภาครัฐ เนื่องจากมีงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ด้านนี้สูง เครื่องฉายรังสีที่จำหน่ายมีราคาตั้งแต่ 100-150 ล้านบาท และสูงสุดถึง 260 ล้านบาทต่อเครื่อง โดยเป็นเครื่องฉายรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในแต่ละปี บริษัทจำหน่ายเครื่องฉายรังสีได้ปีละ 5-6 เครื่อง และในบางปีสูงถึง 7-8 เครื่อง โดยผ่านการคัดเลือกจากโรงพยาบาลและการประมูลงาน ปัจจุบัน BIZ ครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องฉายรังสีมะเร็งถึง 60% เนื่องจากมีคู่แข่งในตลาดเพียง 1-2 ราย

          บริษัทมีการเข้าประมูลงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่างานในมือ (Backlog) กว่าหลักพันล้านบาท และในปี 2567 บริษัทได้ยื่นประมูลงานมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของบริษัทตามเป้าหมาย ซึ่งคาดว่ารายได้ในปีหน้าจะเติบโตมากกว่า 10% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

          ในปี 2562 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็งที่จังหวัดชลบุรี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท แคนเซอร์ อัลลิอันซ์ จำกัด โดย BIZ ถือหุ้น 75% ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง โรงพยาบาลแคนเซอร์ อัลลิอันซ์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีรายได้กว่า 100 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตอีก 10% หรือมีรายได้ถึง 110 ล้านบาท

          สำหรับการเลือกตั้งโรงพยาบาลที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC แต่เนื่องจากการเติบโตของ EEC ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ บริษัทจึงต้องปรับกลยุทธ์ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลแคนเซอร์ อัลลิอันซ์ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดนี้สูงขึ้น ทำให้การคืนทุนอาจใช้เวลาระยะหนึ่ง ปัจจุบันโรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วย 30 เตียง และมีศักยภาพในการขยายเพิ่มเติมในอนาคต

รายงานโดย : ณัฏฐ์ชญา ปุริมปรัชญ์ภัทร บรรณาธิการข่าว สำนักข่าว Hoonvision

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฟกัส KTB-KBANK สินเชื่อรายใหญ่-รัฐแกร่ง

โฟกัส KTB-KBANK สินเชื่อรายใหญ่-รัฐแกร่ง

KSS คาด SET “Sideways up” ส่องต้าน 1400 จุด แนะ BTS, CRC, KTB

KSS คาด SET “Sideways up” ส่องต้าน 1400 จุด แนะ BTS, CRC, KTB

จับตาหุ้น ‘ค้าปลีกไอที’ รับเต็ม E-Receipt  โบรกเคาะ ADVICE เด่น

จับตาหุ้น ‘ค้าปลีกไอที’ รับเต็ม E-Receipt โบรกเคาะ ADVICE เด่น

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

WHA ย้ำศักยภาพนิคมฯ ไทย ลุยกรีนโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมใหม่ปี 68

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด
live-sticky
LIVE