ADVANC กำไร Q3/67 แตะ 8.78 พันล้านบาท คาดรายได้ปีนี้โต 13-15% งบลงทุน 2.5-2.6 หมื่นล้าน

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยว่า เอไอเอสมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในไตรมาส 3/2567 ที่ 27,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากการรับรู้ EBITDA ของ TTTBB ร่วมกับการเติบโตของธุรกิจหลัก ขณะที่ทรงตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้น สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้

อัตรากำไร EBITDA (EBITDA Margin) อยู่ที่ร้อยละ 53 จากการมุ่งเน้นรายได้ที่สร้างกำไร การบริหารจัดการต้นทุน และการยกระดับอัตรากำไรของยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่

ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 เอไอเอสรายงานกำไรสุทธิที่ 8,788 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับผลดำเนินงานที่ดีขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น

บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คงแนวโน้มการเติบโตจากความต้องการใช้งานข้อมูลและการมุ่งเน้นคุณภาพ

รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 30,962 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลที่เติบโต ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานข้อมูลสูงขึ้น ร่วมกับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว จำนวนผู้ใช้บริการเติบโตขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ภายในประเทศ โดยบริษัทมีกลยุทธ์มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญกับคุณภาพโครงข่าย สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ยังเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนภาพการบริโภคข้อมูลที่สูงขึ้นและกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการส่งมอบมูลค่าให้กับลูกค้าเป็นหลัก

เอไอเอสมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพบริการเพื่อตอบรับพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากบรรลุเป้าหมายโครงข่าย 5G ครอบคลุมประชากรกว่า 95% ทั่วประเทศ เอไอเอสยังคงเดินหน้าขยายโครงข่ายในพื้นที่ที่มีการใช้งานสูง เพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบัน เอไอเอสมีผู้ใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นเป็น 11.5 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและบริการมูลค่าเพิ่ม

รายได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ 7,437 ล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่งร้อยละ 146 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโตร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อน การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากการขยายฐานผู้ใช้ที่เน้นคุณภาพ โดยใช้โครงข่ายไฟเบอร์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งเพิ่ม ARPU ผ่านกลยุทธ์การขายพ่วงด้วยบริการเสริมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง อาทิ สมาร์ทโฮมโซลูชันในกระบวนการควบรวมกับ TTTBB เอไอเอสให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพการบริการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดี พร้อมยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

บริการลูกค้าองค์กรเติบโตจากความชัดเจนทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

รายได้บริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่) อยู่ที่ 1,821 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้รายได้ของ TTTBB และความต้องการของภาคธุรกิจในการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการในการเชื่อมต่อสื่อสารในรูปแบบโครงข่ายข้อมูล (EDS) และคลาวด์ ทั้งนี้ รายได้บริการลูกค้าองค์กรยังเติบโตจากไตรมาสก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ร่วมกับการปิดการขายโครงการคลาวด์ขนาดใหญ่เอไอเอสยังคงมุ่งเน้นบริการพื้นฐานในการเชื่อมต่อข้อมูล (Connectivity) สำหรับลูกค้าองค์กร โดยสร้างความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง

สภาวะการตลาดและการแข่งขัน

ในไตรมาส 3/2567 ประเทศไทยเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากเสถียรภาพในสถานการณ์การเมือง ซึ่งส่งผลดีต่อความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เริ่มกลับมา ปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดแรงกดดันจากปัจจัยฤดูกาลและผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมทั้งกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคและบรรเทาความกังวลในระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น
อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงรักษาแนวโน้มเชิงบวก แม้เผชิญกับปัจจัยฤดูกาล โดยได้แรงหนุนจากความต้องการใช้ข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อบริการระบบเติมเงิน ในด้านการแข่งขันยังคงเน้นการนำเสนอแพ็กเกจเพิ่มมูลค่าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างการเติบโตของ ARPU นอกจากนี้ ตลาดอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่

อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายในช่วงฤดูฝน โดยจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากการขยายโครงข่ายไฟเบอร์ไปยังพื้นที่ใหม่ ๆ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านต่อครัวเรือนไทยที่ยังต่ำกว่าร้อยละ 50 ในด้าน ARPU มีการเติบโตจากกลยุทธ์การขายพ่วง (Cross-sell & Upsell) บริการมูลค่าเพิ่ม และสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความเร็วและความเสถียร พร้อมทั้งยกระดับประสบการณ์การใช้งานด้วยบริการคอนเทนต์และอุปกรณ์ IoT

การให้บริการลูกค้าองค์กรเริ่มเห็นการฟื้นตัวจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายงบประมาณทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในด้านเทคโนโลยี บริการเชื่อมต่อโครงข่าย (EDS) และบริการคลาวด์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยยังส่งผลต่อความต้องการการเชื่อมต่อข้อมูลที่สูงขึ้น และยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล

มุมมองของผู้บริหารต่อแนวโน้มในปี 2567 และผลประกอบการรอบ 9 เดือนของปี 2567

คาดการณ์รายได้การให้บริการหลักเติบโตที่ระดับร้อยละ 13 ถึง 15 ผลประกอบการรอบ 9 เดือนของปี 2567 เติบโตมากกว่าการคาดการณ์ โดยได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยเชิงบวกมากขึ้นในไตรมาส 3/2567 ขณะที่ผลกระทบจากปัจจัยตามฤดูกาลปกติลดลงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เอไอเอสยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะรักษาแนวโน้มการเติบโตของรายได้การให้บริการหลักอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 การเติบโตจะยังคงเกิดจากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB และการสร้างการเติบโตจากธุรกิจเดิม ร่วมกับการฟื้นตัวของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งนี้ เอไอเอสยังมุ่งเน้นสร้างการเติบโตด้วยการนำเสนอบริการแบบหลอมรวม (convergence) ระหว่างบริการหลักด้านต่างๆ ร่วมกับใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับลูกค้า และการยกระดับคุณค่าที่ผู้ใช้บริการจะได้รับผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง

  • โทรศัพท์เคลื่อนที่: มุ่งเน้นรักษาความเป็นผู้นำด้านคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย การนำเสนอสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงแก่ผู้ใช้บริการเฉพาะกลุ่ม และยกระดับคุณค่าของบริการผ่านปัจจัยต่างๆ เช่น 5G บริการแบบหลอมรวม และระบบนิเวศสิทธิประโยชน์ เพื่อส่งมอบบริการดิจิทัลเหนือระดับแก่ผู้ใช้บริการ
  • อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง: เติบโตด้วยการรับรู้รายได้จาก TTTBB ร่วมกับรักษาแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้บริการที่ขยายตัวขึ้นและโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศจากการรวมกันระหว่างเอไอเอสและ TTTBB พร้อมการนำเสนอสินค้าด้วยจุดเด่นด้านนวัตกรรมและคุณภาพการให้บริการที่เหนือกว่าเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่มากกว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบทั่วไป เอไอเอสให้ความสำคัญไปที่กระบวนการบูรณาการการทำงานระหว่างเอไอเอสและ TTTBB เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและสร้างประโยชน์ทั้งในเชิงรายได้และต้นทุน (Synergies)
  • บริการลูกค้าองค์กร: มุ่งเน้นการเติบโตที่สร้างผลตอบแทนสูงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รับประโยชน์จากการพัฒนาของสภาพเศรษฐกิจ-สังคม โดยใช้ประโยชน์จากบริการการเชื่อมต่อสื่อสาร บริการเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างความแตกต่างด้วยแพลตฟอร์มบนเทคโนโลยี 5G (5G Paragon Platform)

EBITDA เติบโตประมาณร้อยละ 14 ถึง 16 จากการมุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำกำไร

เช่นเดียวกับรายได้การให้บริการหลัก กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่มีปัจจัยเชิงบวกมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายคาดว่าจะถูกจัดสรรเพื่อการรักษาสถานะผู้นำตลาด และเพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตต่อไปในอนาคต

เอไอเอสยังคงตั้งเป้าบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับการเร่งรับรู้ประโยชน์จากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB เพื่อสร้างประโยชน์ด้านต้นทุน ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาการส่งมอบบริการและสร้างประสบการณ์ของลูกค้า เอไอเอสตั้งเป้าพัฒนารากฐานที่สำคัญในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ระบบไอที โครงข่าย การวิเคราะห์ข้อมูล และทรัพยากรบุคคล นอกจากนี้ เอไอเอสมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ตั้งเป้างบลงทุนระหว่าง 25,000 ถึง 26,000 ล้านบาท เพื่อรักษาคุณภาพภายใต้ความเหมาะสม

เอไอเอสคาดการณ์งบลงทุนที่ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนโครงข่าย 5G สำหรับคลื่นความถี่ 700MHz ในปี 2566 การใช้ประโยชน์จากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กว้างขึ้นของ TTTBB การใช้จ่ายงบลงทุนอย่างเหมาะสมสอดคล้องไปกับความตั้งใจของบริษัทที่ต้องการรักษาลูกค้าคุณภาพสูงผ่านการคงสถานะการเป็นผู้นำด้านโครงข่าย ในขณะที่ยังมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้งบลงทุนร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิผลทางการเงินมากขึ้น (CAPEX synergy) จากการผนึกกำลังของโครงข่ายระหว่างเอไอเอสและ TTTBB โดยสรุป เอไอเอสคาดการณ์สัดส่วนงบลงทุนสำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ร้อยละ 60 ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านร้อยละ 28 และส่วนที่เหลือสำหรับธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและอื่นๆ

นโยบายการจ่ายเงินปันผล: จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของกำไรสุทธิ เอไอเอสมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวและส่งมอบผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เอไอเอสจึงให้ความสำคัญต่อการรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งและมีความคล่องตัวเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต นโยบายการจ่ายเงินปันผลจะจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของกำไรสุทธิ โดยนโยบายการจ่ายเงินปันผลนี้จะทำให้เอไอเอสมีกระแสเงินสดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นผู้นำตลาด ความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงพร้อมรับต่อสภาวการณ์ต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลง

เอไอเอสยังคงการจ่ายเงินปันผลปีละสองครั้งจากผลการดำเนินงานบริษัทและกำไรสะสมบนงบการเงินเฉพาะกิจการ ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลในทุกกรณี จะขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดและแผนการลงทุน รวมถึงความจำเป็นและความเหมาะสมอื่นๆ ในอนาคตของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องไม่เกินกำไรสะสมที่ปรากฏในงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท และ/หรือมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานปกติของบริษัทและบริษัทย่อย

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บล.หยวนต้า ส่องหุ้น SIRI คาด Q4 เด่นสุด ลุ้นทั้งปีทำนิวไฮ

บล.หยวนต้า ส่องหุ้น SIRI คาด Q4 เด่นสุด ลุ้นทั้งปีทำนิวไฮ

NER คว้า CSR-DIW Award 2024  ต่อเนื่อง 3ปี

NER คว้า CSR-DIW Award 2024 ต่อเนื่อง 3ปี

ขึ้นค่าจ้างน้อยกว่าคาด หุ้นตัวไหนโบรกปรับกำไร upside เช็กเลย!

ขึ้นค่าจ้างน้อยกว่าคาด หุ้นตัวไหนโบรกปรับกำไร upside เช็กเลย!

SISB มั่นใจรายได้ตามเป้า มุ่งขยายโรงเรียนสาขา 7

SISB มั่นใจรายได้ตามเป้า มุ่งขยายโรงเรียนสาขา 7

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด