หุ้นวิชั่น-ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บล.กสิกรไทย ระบุ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) รายงานกำไรไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าประมาณการของฝ่ายวิจัย
โดย PTT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า กำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 9.3 พันล้านบาท (กำไรต่อหุ้น (EPS): 0.33 บาท) ลดลง 72% YoY และ 43% QoQ กำไรต่ำกว่าคาดการณ์ของเราที่ 8% หรือ 780 ล้านบาท และต่ำกว่าประมาณการของตลาดที่ 27% สาเหตุหลักมาจาก 1. การรับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษที่ไม่ได้คาดการณ์ไวจากการจ่ายค่าชดเชยส่วนแบ่งกำไรให้กับพันธมิตรของ PTTGM (ธุรกิจยา) จำนวน 2.2 พันล้านบาท และ 2. กำไรที่ต่ำกว่าคาดจาก PTTGC และ IRPC แต่ปัจจัยลบเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการชดเชยจาก 3. กำไรที่แข็งแกร่งกว่าคาดจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (+2.0 พันล้านบาท QoQ) แม้ว่าปริมาณขายจะลดลง 4% QoQ ก็ตาม ทั้งนี้ กำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 9.01 หมื่นล้านบาท ลดลง 20% YoY
คาดกำไรไตรมาส 1/2568 ปรับตัวขึ้น QoQ โดยคาดว่ากำไรของ PTTGC ในไตรมาส 1/2568 จะเติบโต QoQ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับ PTTGC, PTTGM และบริษัทอื่นๆ รวมมูลค่า 5.1 พันล้านบาท รวมทั้งกำไรจากสต็อกน้ำมันที่สูงขึ้นของธุรกิจโรงกลั่นและบริษัทปิโตรเคมี นอกจากนี้ ราคาโพรเพน LPG และน้ำมันเตาที่สูงขึ้นจะทำให้อัตรากำไรของ GSP เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ความต้องการการใช้งานก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะยังคงทรงตัว QoQ เนื่องจากความต้องการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติยังคงต่อเนื่อง
จ่ายเงินปันผลครั้งหลังของปี 2567 ที่ 1.30 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 4.1% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.95 บาท/หุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.80 บาท/หุ้น เงินปันผลปี 2567 จะอยู่ที่ 2.10 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 5% YoY และคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 67% กำหนดวันที่เครื่องหมาย XD ในวันที่ 6 มี.ค. และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 29 เม.ย.
คงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายสิ้นปี 2568 ลงเล็กน้อยเป็น 35.80 บาท หลังอัปเดตกำไรไตรมาส 4/2567 และสมมติฐานเงินปันผลที่สูงขึ้น ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2568 ตามวิธีรวมส่วนธุรกิจ (SOTP) ของลดลงเล็กน้อยจาก 36.10 บาทเป็น 35.80 บาท แต่ด้วย TSR ที่ 20% เราจึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ PTT
บล.กรุงศรี ระบุ PTT รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 ที่ 9,312 ล้านบาท (-72% y-y, -43% q-q) หากตัดรายการพิเศษ fx loss, ขาดทุนอนุพันธ์ และค่าใช้จ่าย provision/ด้อยค่าฯ ของบริษัทลูกออก กำไรปกติ 20,084 ล้านบาท (+57% y-y, +40% q-q) สูงกว่าคาด 8% จากรายได้อื่น และส่วนแบ่งกำไรฯ ที่สูงกว่าคาด การฟื้นตัว y-y, q-q มาจากฝั่งของบริษัทลูกโรงกลั่นและปิโตรเคมี รวมถึง OR ที่ไม่ได้มี stock loss ก้อนใหญ่ มาฉุด Vs. -8.5 พันล้านบาท ไตรมาส 4/2566 และ -1.8 หมื่นล้านบาท ไตรมาส 3/2567 โดย q-q มีอีกแรงหนุนจากค่าการกลั่นที่ฟื้นตัวตามปัจจัยฤดูกาล กลบธุรกิจก๊าซฯ ของ PTT ที่ลดลง y-y จากผลกระทบของ single pool ฉุดอัตรากำไรของโรงแยกก๊าซฯ (GSP) และลด q-q เพราะธุรกิจจัดหาฯ (S&M) ที่ปริมาณขายลดลงตามความต้องการของกลุ่มโรงไฟฟ้า (ฤดูกาล) และราคาขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง
คาดกำไรปกติ 2568 ราว 9.9 หมื่นล้านบาท 1. ธุรกิจก๊าซฯ ฝั่ง GSP ผลกระทบของ single pool ลด y-y หลังปรับราคาขายกับ PTTGC และปริมาณแยกก๊าซฯ เพิ่มขึ้นราว 0.3 mta 2. stock loss ลดลง และ 3. ธุรกิจปิโตรเคมีอัตรากำไรฟื้นตัวจากกำลังการผลิตใหม่ทั่วโลกที่เข้ามาน้อยลง ชดเชยธุรกิจสำรวจฯ (ของ PTTEP) ที่อัตรากำไรลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ supply ออกมาเพิ่มขึ้น
คำแนะนำ Neutral ที่ TP25F = 32.50 บาท/หุ้น มองปี 2568 catalyst จำกัด จากกำไรที่เพียงทรงตัว y-y การฟื้นของธุรกิจก๊าซฯ เพียงชดเชยกำไรที่ลดลงของบริษัทลูกอย่าง PTTEP จาก supply น้ำมันดิบที่ตึงตัวน้อยลงฉุดอัตรากำไร คาดกำไรปกติ 2568-2569 โตเฉลี่ยเพียง 2% CAGR ในขณะที่บริษัทยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ ทั้งนี้บริษัทประกาศปันผล 2H67 ราว 1.3 บาท/หุ้น คิดเป็น yield ราว 4% ขึ้น XD วันที่ 6 มี.ค.2568
บล.หยวนต้า ระบุ ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 9.3 พันล้านบาท (-43% QoQ และ -72% YoY) ใกล้เคียงกับที่เราและตลาดส่วนใหญ่ประเมินไว้
รายการพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายของ PTTGC (Vencorex และ PTTAC) ตามสัดส่วนถือหุ้น 2.2 พันล้านบาท, ค่าใช้จ่ายตอบแทนส่วนแบ่งกำไรของ PTTGM 2.2 พันล้านบาท, ขาดทุน FX 4.7 พันล้านบาท, ขาดทุน Hedging 4.8 พันล้านบาท, กำไรสต็อกน้ำมันตามสัดส่วนถือหุ้น 540 ล้านบาท กำไรปกติที่ทำได้ 2.3 หมื่นล้านบาท (+233% QoQ, +85% YoY)
เทียบกับไตรมาส 4/2566 แม้ผลประกอบการธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกปรับตัวดีขึ้น YoY จากทั้งปริมาณขายและอัตรากำไรต่อลิตร และธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี (P&R) มีขาดทุนสต็อกน้ำมันลดลง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมกำไรสุทธิลดลง YoY กดดันจาก 1. Margin ผลิตภัณฑ์หลักของธุรกิจ P&R อ่อนแอลงทั้งค่าการกลั่นและ Spread ปิโตรเคมี 2. ธุรกิจสำรวจและผลิต (E&P) ได้รับผลกระทบจากราคาขาย ASP ลดลงสวนทางค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3. ธุรกิจก๊าซ โดยเฉพาะโรงแยกก๊าซถูกกดดันจากการเริ่มใช้นโยบาย Single Pool ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และการลดสัดส่วนถือหุ้น LNG Terminal 2 เหลือ 50% ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. 2567 4. ขาดทุน FX และ Hedging เพิ่มขึ้น 5. รับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษของ PTTGC (Vencorex PTTAC) และ PTTGM
ส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2567 แม้ว่าธุรกิจ P&R และธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกจะปรับตัวดีขึ้น QoQ ตามทิศทางค่าการกลั่น, กำไรสต็อกน้ำมัน (vs ขาดทุนสต็อกน้ำมันในไตรมาส 3/2567), อัตรากำไรต่อลิตรสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมกำไรสุทธิลดลง QoQ กดดันจากขาดทุน FX และค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวของ PTTGC และ PTTGM
ทั้งปี 2567 กำไรสุทธิทำได้ 9 หมื่นล้านบาท -20% YoY มีเพียงธุรกิจ E&P ที่สามารถเติบโตจากปริมาณขาย ขณะที่ธุรกิจก๊าซอ่อนแอลงจากผลกระทบนโยบาย Single Pool, ธุรกิจ P&R ถูกกดดันจากค่าการกลั่นและขาดทุนสต็อกน้ำมัน, ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมีปริมาณขายและอัตรากำไรลดลง
ประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 2H67 ที่ 1.30 บาท/หุ้น คิดเป็น Yield 4.1% (สูงกว่าที่เราคาดไว้ที่ 0.90 บาท/หุ้น) ขึ้น XD 6 มี.ค. จ่ายเงิน 29 เม.ย.
แนวโน้มไตรมาส 1/2568 ลดลง YoY แต่คาดว่าจะสามารถฟื้นตัว QoQ เพราะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจำนวนมากไม่เกิดขึ้น (1QTD เงินบาทพลิกเป็นแข็งค่า), ค่าใช้จ่ายลดลงตามฤดูกาล, ค่าใช้จ่ายพิเศษของบริษัทลูกลดลง ซึ่งน่าจะเพียงพอชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของค่าการกลั่น, ต้นทุนน้ำมันสูงขึ้น, Spread ปิโตรเคมีอยู่ระดับต่ำ
ปี 2568 คาดผลประกอบการจะสามารถรักษาเสถียรภาพ เติบโตเล็กน้อย คงประมาณการกำไรสุทธิที่ 9.3 หมื่นล้านบาท (+3% YoY) หนุนจากปริมาณขายของธุรกิจต้นน้ำ, ธุรกิจก๊าซ, ธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย
คงคำแนะนำ TRADING ราคาเหมาะสม 35.00 บาท มองว่า PTT จะเป็นแหล่งพักเงินที่ดีช่วงตลาดหุ้นผันผวน เพราะโครงสร้างธุรกิจบูรณาการครบวงจร ช่วยให้ผลประกอบการผันผวนน้อยกว่าคู่แข่ง ฐานะการเงินแข็งแกร่ง (Net IBD/E 0.4 เท่า)
นอกจากนี้ คาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกและ Outperform ตลาดได้ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า หนุนจากการประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 2H67 สูงกว่าคาด รอขึ้น XD วันที่ 6 มี.ค.
บล.ทรีนีตี้ ระบุ PTT รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 ที่ 9.3 พันล้านบาท (-72% YoY, -43% QoQ) ต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยไตรมาสนี้มีผลจาก Fx loss และ Hedging loss รวมแล้วกว่า 5 พันล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 3/2567 มีกำไรจาก Fx และ Hedging gain 2 พันล้านบาท พิจารณากำไรปกติที่บริษัทรายงานจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจกระบวนการกลั่นและปิโตรเคมีปรับตัวขึ้น รวมถึงธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก Gross Margin ต่อค่าน้ำมันปรับตัวขึ้น
สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติและ Trading ไตรมาสนี้มี EBITDA อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ลดลง 20% QoQ ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ลดลง 15% QoQ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้มาจากธุรกิจจัดหาก๊าซฯ ที่มีปริมาณขายลดลงจาก 700 MMSCFD เป็น 600 MMSCFD (-15%) เนื่องจากอุปสงค์จากภาคโรงไฟฟ้าลดลงในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้รายได้และกำไรขั้นต้นลดลง แม้ว่าธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการจองใช้ท่อส่งก๊าซ แต่ก็ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มีรายได้ลดลง YoY เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ เช่น Propane และ LPG ลดลงตามตลาดปิโตรเคมีโลก อย่างไรก็ตาม EBITDA ปรับตัวขึ้นจากต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลงตามราคา Pool Gas ขณะที่ธุรกิจ NGV (ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์) แม้ว่าปริมาณขายจะทรงตัว แต่ได้รับผลดีจากต้นทุนที่ลดลง ทำให้ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
คงคำแนะนำ “ซื้อ” เก็งกำไร แต่ปรับราคาลงเป็น 35 บาทอิง SOTP หรือเทียบเท่า PBV ที่ 1.2 เท่า จากที่มีการปรับลดราคาเป้าหมายของบริษัทในกลุ่มมาก่อนหน้า