PTT มุ่งพัฒนาโครงการ LNG Hub และแสวงหาพันธมิตรในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่มีศักยภาพสูง (TOP-IRPC- PTTGC) ปัจจุบันมีผู้สนใจร่วมลงทุนหลายราย ซึ่ง PTT ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพันธมิตร ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยเสริมศักยภาพในการขยายธุรกิจ ยืนยันว่า PTT คงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดว่า เห็นความก้าวหน้าปี 2568
หุ้นวิชั่น – ถอดรหัสวิชั่น PTT ผ่านมุมมอง “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ผู้กุมบังเหียนสูงสุด เร่งศึกษาโอกาสลงทุนธุรกิจไฮโดรเจนในต่างประเทศ หวังนำมาต่อยอดในไทย พร้อมพัฒนา CCS (ดักจับคาร์บอน) มุ่งเจรจาพันธมิตรหลายรายเสริมแกร่งธุรกิจปิโตรเคมี โดยอยู่บนฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม และ PTT ต้องคงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.ให้ความสำคัญเรื่องของการสร้างบริษัทมีความแข็งแกร่งแบบยั่งยืน โดยเน้นผลักดันธุรกิจเรื่องไฮโครเจน และเรื่อง CCS (Carbon Capture and Storage)
ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านไฮโดรเจนในต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต คาดว่าปริมาณการใช้จะอยู่ในระดับแสนตันต่อปี โดยเน้นแหล่งผลิตที่มีต้นทุนแข่งขันได้ เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตไฮโดรเจนที่สำคัญ
ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐกำหนดให้มีการผสมไฮโดรเจนในเชื้อเพลิงอุตสาหกรรมในสัดส่วน 5% ภายในปี 2030 ทำให้ต้องมีการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการนำเข้าและจัดเก็บไฮโดรเจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งในระยะแรกจะอยู่ในรูปแบบของแอมโมเนีย เนื่องจากเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งและจัดเก็บ
ปตท.มองว่า ไฮโดรเจนเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดการปล่อยคาร์บอน และจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนที่ยังอยู่ในระดับสูง กลุ่มปตท.จึงวางกลยุทธ์เริ่มต้นจากการซื้อขายในตลาดต่างประเทศก่อน หากสามารถจัดหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนแข่งขันได้ ก็จะพิจารณานำเข้าไฮโดรเจนสู่ประเทศไทยผ่านรูปแบบแอมโมเนีย
ในส่วนของการลงทุนโดยตรง กลุ่มปตท.มอบหมายให้ PTTEP เป็นตัวแทนหลักในการขยายการลงทุนด้านไฮโดรเจนในต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าว่าในอนาคต ไฮโดรเจนจะสามารถเข้ามาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนโอกาสธุรกิจการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์CCS (Carbon Capture and Storage) เป็นโอกาสที่ปตท.ต้องดำเนิน เพราะ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปตท.ดำเนินการควบคู่ไปกับการลดคาร์บอนรูปแบบอื่น อาทิการปลูกป่าเป็นต้น ปัจจุบันประเทศที่ทำCCS และมีความคุ่มค่าที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา โดยมีการให้ราคาที่ 85 เหรียญต่อตันคาร์บอน
พร้อมกันนี้ ยังวางแนวทางดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดย PTTEP ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (Gas) ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนต่อหน่วยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ส่วนธุรกิจ LNG ยังคงแสวงหาโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในด้านธุรกิจธุรกิจไฟฟ้า ให้บริษัท GPSC มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน (Reliability) และขับเคลื่อนกระบวนการลดการปล่อย คาร์บอน (Decarbonization) ให้กับกลุ่ม ปตท. ควบคู่ไป กับการพัฒนา Energy Mix ที่เหมาะสม
สำหรับกลุ่มธุรกิจ Non-Hydrocarbon ปตท.ให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจ EV โดยเน้นเฉพาะธุรกิจสถานีชาร์จ (Charging) โดยจะไม่มีการหาพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมในด้านอื่น ๆ ขณะที่ธุรกิจ Logistics & Infrastructure จะดำเนินการเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Hydrocarbon โดยใช้แนวทาง Asset-Light และร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน พร้อมทั้งมีแผนบริหารความเสี่ยง (Derisk) และกำหนด Timeline ที่ชัดเจน ด้านธุรกิจ Life Science ปตท. วางบทบาทเป็น Financial Investor ใช้แนวทาง Self-Funding เพื่อสร้าง Goodwill ให้กับสังคม
ทั้งนี้ หากจัดแผนธุรกิจระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว PTT อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ Non-Hydrocarbon เพื่อเพิ่ม Synergy คาดว่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการ DI – Domestic Products Management ได้ประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปี (ต่อยอดจากโครงการ P1) รวมถึงการผลักดันโครงการ MissionX – Operational Excellence คาดช่วยเพิ่ม EBITDA ของกลุ่ม PTT ได้ราว 30,000 ล้านบาท ภายในปี 2027 และเร่งขับเคลื่อน Digital Transformation & Productivity Improvement จะช่วยเพิ่มมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2026 โดยเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที
อีกทั้ง ปตท.มุ่งพัฒนาโครงการ LNG Hub และแสวงหาพันธมิตรในธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นที่มีศักยภาพสูง(TOP ,IRPC PTTGC) โดยปัจจุบันมีผู้สนใจร่วมลงทุนหลายราย ซึ่ง ปตท.ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกพันธมิตรที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยเสริมศักยภาพในการขยายธุรกิจ ยืนยันว่าปตท.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดว่า เห็นความก้าวหน้าปี 2568