หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ยอดผลิตรถเดือน ก.พ. ทรุดต่อ… รอลุ้นมาตรการกระตุ้นตลาด
- ยอดผลิตเดือน ก.พ. ลดลง 14%YoY
ส.อ.ท. รายงานตัวเลขยอดผลิต ยอดขาย และส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยงวดเดือน ก.พ. 2025 ดังนี้ ยอดผลิตรถเดือน ก.พ. ลดลง 14%YoY เหลือ 115,487 คัน โดยการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 21%YoY และผลิตเพื่อส่งออกลดลง 9%YoY เป็นการชะลอตัวของทั้งตลาดกระบะและรถยนต์นั่ง ขณะที่จำนวนรถยนต์สะสม 2 เดือนมีจำนวนทั้งสิ้น 222,590 คัน -19%YoY
ยอดขายรถยนต์ลดลง 7%YoY เหลือ 49,313 คัน ตามอุปสงค์การบริโภคในประเทศที่ลดลง เนื่องจากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกระทบต่อยอดขาย อีกทั้งรถยนต์ใหม่ยังถูกกระทบจากการถูกดึงส่วนแบ่งตลาดโดย EV ที่ยังเป็นการนำเข้า และตลาดรถมือสองที่ตกต่ำ โดยยอดขายรถยนต์สะสม ม.ค.-ก.พ. อยู่ที่ 97,405 คัน ลดลง 10%YoY
ยอดส่งออกลดลง 8%YoY เหลือ 81,323 คัน ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน อีกทั้งประเทศคู่ค้าบางประเทศลดคำสั่งซื้อลงเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยมียอดส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยยอดส่งออกสะสม ม.ค. – ก.พ. อยู่ที่ 143,644 คัน ลดลง 18%YoY
- รัฐออกโครงการ “กระบะพี่มีกำลังค้า” กระตุ้นยอดขายกระบะ เริ่ม 1 เม.ย.
รัฐบาลออกโครงการ “กระบะพี่มีกำลังค้า” โดยกระทรวงการคลังร่วมกับ บสย. จัดสรรวงเงินค้ำประกันระยะแรก 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ให้สามารถขอสินเชื่อสำหรับซื้อรถกระบะ เพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ที่ซบเซา โดยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อได้กว่า 6,250 คัน
เรามองว่าข่าวดังกล่าวส่งผลบวกในระดับปานกลาง โดยโครงการจะเปิดรับคำขอตั้งแต่ 1 เมษายน – 30 ธันวาคม 2025 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถกระบะได้บ้าง โดยบริษัทที่คาดว่าจะได้รับผลบวกมากที่สุดคือ SAT (สัดส่วนรายได้จากรถกระบะ 68%) รองลงมาคือ AH (สัดส่วนรายได้ 35%)
- ปี 2025 ลุ้นเหนื่อย คาดยอดผลิตต่ำเป้า
เราคาดว่าผลประกอบการกลุ่มยานยนต์มีแนวโน้มชะลอตัวไปถึงกลางปี 2025 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลังจากฐานที่ต่ำ โดยปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และความกังวลจากปัญหาสงครามการค้าที่อาจกระทบตลาดส่งออก ขณะที่การเข้ามาของ EV ในช่วง 2 ปีแรกจากค่ายจีน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า
ขณะที่การตั้งฐานการผลิตในไทยมีซัพพลายเออร์ของตัวเองตามมา ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้รับคำสั่งซื้อน้อยมาก จึงกลับเป็น Disruption ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ เราคาดยอดการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2025 จะทรงตัวอยู่ที่ 1.47 ล้านคัน ต่ำกว่าที่ ส.อ.ท. ประเมินไว้ที่ 1.5 ล้านคัน (+2%YoY)
- คงน้ำหนักการลงทุน “น้อยกว่าตลาด”
ในปี 2025 เราคาดว่าผลประกอบการกลุ่มยานยนต์จะฟื้นตัวเพียง 3%YoY ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ ขณะที่ยังมี Downside risk จากปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับต่ำ และผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า
ขณะที่การมาของ EV ในช่วง 2 ปีแรก เรามองว่าเป็น Disruption ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า และค่ายรถยนต์จีนที่ตั้งฐานการผลิตในไทยมีซัพพลายเออร์ของตัวเองตามมาด้วย จึงส่งคำสั่งซื้อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยไม่มาก
เรายังไม่เลือกหุ้นเด่นในกลุ่มนี้ โดยกลยุทธ์การลงทุนเน้นตั้งรับมากกว่า หากราคาปรับลงมาต่อ มีบางตัวที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลดี ได้แก่ SAT, AH และ STANLY