หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่นรายงาน ฝ่ายวิจัย บล.ฟิลลิป ระบุ นทท. จีนกดดันให้ 1Q68 นทท. รวมโตเพียง 1.9%
1Q68 นักท่องเที่ยวต่างชาติโต 1.9% y-y
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงาน 1Q68 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย 9.55 ล้านคน +1.9% y-y (ตารางที่ 1) ซึ่งเป็นผลจากความไม่เชื่อมั่นการเดินทางมาไทยของนักท่องเที่ยวจีนต่อกรณีนักแสดงจีน “หวังซิน” ถูกหลอกจากขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่เมียนมาโดยเดินทางผ่านไทยใน ม.ค. ผลกระทบยังไม่ชัดเจน เพราะมีตรุษจีนช่วงปลายเดือน นักท่องเที่ยวจีน +30.3% แต่หลังผ่านตรุษจีน ก.พ. และ มี.ค. นักท่องเที่ยวจีนลดลงชัดเจน 44.9% และ 48.2% ทั้ง 1Q68 นักท่องเที่ยวจีนยังมาไทยเป็นอันดับ 1 ที่ 1.33 ล้านคน -24.2% y-y อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนหันไปเที่ยวญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนอ่อนค่า สิงคโปร์และมาเลเซียที่ไม่ต้องขอวีซ่าเช่นเดียวกับไทย มาเลเซียอันดับ 2 ที่ 1.15 ล้านคน -1.3% เพราะมีช่วงถือศีลอด (รอมฎอน) 28 ก.พ. – 30 มี.ค. ส่วนอันดับ 3 และ 4 เป็นรัสเซียและอินเดียโตดี 16% และ 15% ซึ่งเป็นความหวังที่จะเข้ามาช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวจีนได้ส่วนหนึ่ง และอันดับ 5 เกาหลีใต้ -10.9% จากปัจจัยเศรษฐกิจภายในของเกาหลีใต้เอง จากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงใน ก.พ. และ มี.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวรวมใน 2 เดือนดังกล่าวหดตัว 6.9% และ 8.8% y-y เมื่อเทียบกับ ม.ค. ที่โต 22.2% ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศรวม 4.63 แสนล้านบาท +1.8% y-y
2M1Q68 คนไทยท่องเที่ยวในประเทศโต 4.5% y-y
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รายงาน 2M1Q68 นักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวในประเทศ +4.5% ที่ 33.99 ล้านคน-ครั้ง โดยจังหวัดที่คนมาเยือนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ แต่ถ้ามองในแง่รายได้พบว่าจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย และภูเก็ต โดยมูลค่าการท่องเที่ยวของคนไทยใน 2M1Q68 อยู่ที่ 1.82 แสนล้านบาท +6.3%
2Q68 นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีแนวโน้มอ่อนตัวจากนักท่องเที่ยวจีนและแผ่นดินไหว
2Q68 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอ่อนตัวจากปีก่อน หลักใหญ่จากนักท่องเที่ยวจีนที่ยังชะลอตัว และยังมีเหตุแผ่นดินไหวที่รับรู้ได้ถึงไทย ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นที่จะมาท่องเที่ยวไทยลดลงอีก ประกอบกับญี่ปุ่นอยู่ในช่วงดอกซากุระบานที่เริ่มไล่ในแต่ละเมืองตั้งแต่ 20 มี.ค. และไปจบที่ซัปโปโร (ฮอกไกโด) เริ่มบาน 30 เม.ย. อีกทั้งค่าเงินเยนที่อ่อนค่ายังดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้ไปเที่ยวญี่ปุ่น รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีความกังวลจากแผ่นดินไหว แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดมุสลิมในช่วงวันหยุดยาวอีดอิดิ้ลฟิตริและเทศกาลสงกรานต์ของไทย ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์อยู่ใน เม.ย. และเมื่อดูจากอดีต พ.ค.-มิ.ย. ไม่ได้มีเทศกาลสำคัญ นักท่องเที่ยวมักจะต่ำกว่า เม.ย.
2Q68 คนไทยเที่ยวยังโตจากเทศกาลสงกรานต์และมาตรการ “เที่ยวคนละครึ่ง”
การท่องเที่ยวในประเทศยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง จากช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงหยุดยาวและเป็นวันครอบครัว ซึ่งมีการเดินทางกลับไปภูมิลำเนาและท่องเที่ยว อีกทั้งจะมีมาตรการ “เที่ยวคนละครึ่ง” 1 ล้านสิทธิ ที่รัฐบาลจะสนับสนุนการท่องเที่ยว 40%-50% (เมืองหลักหรือเมืองรอง) ค่าที่พักและอาหารในช่วง พ.ค.-ก.ย. ซึ่งเป็นช่วง low season ของการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าว
เป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เหนื่อย แต่คนไทยน่าจะไปได้ถึงเป้า
ภาพรวมเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาตั้งไว้ที่ 39-40 ล้านคน จากปี 2567 ที่ 35.54 ล้านคน การบรรลุเป้ายุ่งยากมากขึ้น หากดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ผนวกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมาที่สั่นไหวมาถึงไทย ยิ่งสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อการเดินทางมาเที่ยวไทยมากขึ้น จากเดิมเป้านักท่องเที่ยวจีนที่ 8 ล้านคนปีนี้ของกระทรวงฯ น่าจะเป็นไปได้ยาก โดยสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 7 ล้านคน โตจาก 6.73 ล้านคน คงต้องดูมาตรการของรัฐบาลที่จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ส่วนนักท่องเที่ยวมาเลเซียจะกลับมาดีขึ้น รวมถึงการเติบโตในตลาดรัสเซียและอินเดีย ซึ่งอินเดียอาจมีการเจรจาของเพิ่ม Seat Quota รอบ 2 ในครึ่งปีหลัง 2568 หลังจากเฟสแรกที่เพิ่มฝั่งละ 7,000 ที่นั่ง/สัปดาห์เต็มไปแล้ว ส่วนคนไทยคาดท่องเที่ยวที่ 200 ล้านคน-ครั้ง จากปีก่อนที่ 199 ล้านคน-ครั้ง มีโอกาสถึงเป้าได้เมื่อดูจาก 2 เดือนแรกที่โต 4.5% และคิดเป็น 17% ของเป้า และยังมีมาตรการหนุนจาก “เที่ยวคนละครึ่ง” อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจหลังจากสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) บังคับใช้ 9 เม.ย. และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tariffs) บังคับใช้ 5 เม.ย. อาจทำให้เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ชะลอตัวและมีผลต่อการเดินทางท่องเที่ยว
หุ้นอิงนักท่องเที่ยวจีนได้รับผลกระทบ
-
ERW สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน 30% ของรายได้รวม
-
CENTEL สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน 20% ของรายได้รวม
-
MINT สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน 6% ของรายได้รวม
-
AOT การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนมาทางสายการบินต้องผ่านสนามบิน
-
AAV ปี 2567 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ 13% ซึ่งปีนี้ได้ลดเที่ยวบินไปจีนจากความต้องการเดินทางที่ยังไม่ฟื้นตัว แล้วเพิ่มเที่ยวบินไปอินเดียและภายในประเทศที่ยังมีการเติบโตอยู่ รวมถึงการใช้สิทธิการบินที่ 5 (บินไปประเทศที่สาม) เปิดเส้นทางบินใหม่เพิ่มเพื่อชดเชย
-
BA รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่า 5% ของรายได้สายการบิน เส้นทางบินหลักคือเข้า-ออกสมุย ที่ปี 2567 มีสัดส่วนรายได้สายการบิน 68% ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นยุโรป
แนะนำ Top Pick เป็น BA จากการอิงนักท่องเที่ยวจีนน้อยสุดและฐานผู้โดยสารเป็นยุโรปที่ยังเติบโต และ MINT ที่รายได้มาจากต่างประเทศ 80% จึงได้รับผลกระทบจากจีนน้อยกว่าโรงแรมอื่น