หุ้นวิชั่น – ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ปี 2024 ให้เป็นองค์กรที่ยั่งยืนที่สุดในกลุ่มโทรคมนาคมของโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จากการประเมินบริษัทต่างๆ ทั่วโลกตามหลักเกณฑ์ Corporate Sustainability Assessment (CSA) ของ S&P Global ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยความสำเร็จอีกครั้งในปีนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คะแนนรวมสูงถึง 95 จาก 100 ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดของโลกในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม พร้อมเดินหน้าประกาศแผนงานสำคัญ ปี 2568 ขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างองค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนต่อเนื่อง
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืน DJSI 2024 ให้เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่ยั่งยืนที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจขององค์กรบนพื้นฐานความยั่งยืน ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การเปิดเวทีแห่งโอกาสให้เราได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในประเด็นสำคัญต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงดิจิทัล นวัตกรรม และการศึกษา ซึ่งปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ทรู จะเร่งก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้นำที่พร้อมเสริมแกร่งให้คนไทยทุกคนได้ใช้ชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
มิติด้านสิ่งแวดล้อม ชูแพลตฟอร์มจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ 94 จาก 100 คะแนนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จากการประเมิน S&P Global CSA ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการลดการปล่อยคาร์บอนและการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เสาสัญญาณมากกว่า 10,000 แห่ง อีกทั้ง ยังดำเนินโครงการรีไซเคิลและโครงการต่างๆ เพื่อบริหารจัดการและลดขยะ
ในปี 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งเดินหน้าขยายความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเพื่อร่วมกันบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน 3 โครงการสำคัญ ได้แก่
- ผสานความร่วมมือกับคู่ค้าหลัก เร่งขับเคลื่อนภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน หรือใน Scope 3 ตามหลักการ Science Based Targets initiative (SBTi) โดยคู่ค้าหลักที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนจากทรู ในการจัดหาแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล ช่วยให้บริษัทคู่ค้าบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยยังมีแผนที่จะมอบสิทธิประโยชน์ด้านการเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการด้วย
- พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงสุดถึง 20% โดยนำเทคโนโลยี IoT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อคาดการณ์และจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- บ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ ดึงศักยภาพเทคโนโลยีคืนคุณค่าให้แก่สังคม ในปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินโครงการ “e-Waste HACK BKK” เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและคนรุ่นใหม่ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมโซลูชันจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแผนที่จะจัดโครงการ Hackathon ต่อเนื่องในปี 2568
มิติด้านสังคม สร้างการเข้าถึงดิจิทัลเพื่อเสริมแกร่งคนในสังคม
จากการประเมิน ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ 99 จาก 100 คะแนนในมิติด้านสังคม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านการศึกษา สาธารณสุข และการสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน ซึ่งโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของทรู ทั้งเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมประชากรไทยมากกว่า 99% ขณะที่เครือข่าย 5G ครอบคลุม 92% และในปี 2568 ทรู ยังตั้งเป้าที่จะเร่งยกระดับเครือข่ายให้ทันสมัยครบ 100% เพื่อเพิ่มความเร็วและความครอบคลุมในเสาสัญญาณทั่วประเทศ
จากโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอันแข็งแกร่งนี้ ทรู มุ่งมั่นที่จะทรานสฟอร์มการเข้าถึงเครือข่ายและสัญญาณให้กลายเป็นโอกาสทางดิจิทัล ผ่าน 3 แพลตฟอร์มสำคัญ ได้แก่
- ทรูปลูกปัญญา โครงการหลักด้านการศึกษาของทรู โดยคลังความรู้ออนไลน์ ทรูปลูกปัญญา มีผู้ใช้งานมากกว่า 32 ล้านคนต่อปี และมีการปรับเปลี่ยนอัปเดทอยู่เสมอเพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครูผู้สอน และด้วยการเติบโตของเทคโนโลยี AI ทรูปลูกปัญญา ยังได้เสริมหลักสูตรต่างๆ เพื่อสร้างทักษะอย่างยั่งยืน เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิเคราะห์
- Tech for Good พัฒนานวัตกรรมโซลูชันเพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ประเด็นต่างๆ ในสังคมไทย โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จดทรัพย์สินทางปัญญามาแล้วกว่า 100 ผลงาน พร้อมขับเคลื่อนโซลูชันที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ระบบ True Smart Early Warning System (TSEWS) ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเฝ้าระวังช้างป่า ไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายและอันตราย ลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และช้างป่า โดยอัตราความสำเร็จใกล้เคียง 100% ทั้งนี้ ทรู ตั้งเป้าที่จะจดสิทธิบัตรนวัตกรรมให้ได้ 125 ผลงาน ภายในปี 2568
- ทรู ไซเบอร์เซฟ ระบบป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพ ทั้งจากลิงก์แปลกปลอม SMS หลอกลวง และการกรองสายเรียกเข้า โดยสามารถป้องกันผู้ใช้งานจากลิงก์อันตรายได้มากกว่า 100,000 รายการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบทุกรูปแบบราวเดือนมีนาคม 2568
มิติด้านธรรมาภิบาล: การป้องกันรูปแบบใหม่ ก้าวทันยุค AI
ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงรักษามาตรฐานระดับสูงในมิติด้านธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โดยได้ 92 จาก 100 คะแนนในมิตินี้ และเพื่อรับมือกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มขึ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้นำแผนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI (RAI) Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านความร่วมมือกับโอเปอร์เรเตอร์ระดับโลก 19 ราย เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย เท่าเทียมและยั่งยืน เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากลสูงสุด และในช่วงต้นปี 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมจะเปิดตัวโครงการ Responsible AI by Design เพื่อรับรองการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กร