หุ้นวิชั่น – บทวิเคราะห์ บล. ดาโอ ระบุว่า ธปท. ออกมาตรการแก้หนี้ช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการคุณสู้ เราช่วย โดยมี 2 มาตรการคือ มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ และมาตรการ จ่าย ปิด จบ โดยลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมได้ต้องทำสัญญาสินเชื่อก่อน 1 ม.ค. 24 และมีสถานะเป็นลูกหนี้ค้างชำระ 31-365 วัน ขณะที่ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมต้องเข้าไปลงทะเบียนผ่าน ธปท. ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 24-28 ก.พ. 25 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ มียอดหนี้ที่ 8.9 แสนล้านบาท (น้อยกว่าข่าวก่อนหน้านี้ที่ 1.3 ล้านล้านบาท) โดยธนาคารจะจ่าย FIDF ที่เท่าเดิมที่ 0.46% ขณะที่ภาครัฐจะตั้งกองกลางโดยนำเงินจาก FIDF fee ที่ 0.23% มาใส่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากธนาคารไหนแก้หนี้ให้ลูกหนี้ได้เท่าไรก็สามารถมาเบิกดอกเบี้ยได้ 50% โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมลูกหนี้ 5 กลุ่มคือ สินเชื่อบ้าน/Home for cash ไม่เกิน 5 ล้านบาท, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/Car for cash ไม่เกิน 8 แสนบาท, สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์/Car for cash ไม่เกิน 5 หมื่นบาท, SME ไม่เกิน 5 ล้านบาท และบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่รวมหนี้บ้านและหนี้รถ โดยปีแรกชำระ 50% ของค่างวด, ปีที่สองชำระ 70% และปีที่สามชำระ 90% ขณะที่ลูกหนี้ไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ในช่วง 12 เดือนแรก และต้องติด Flag ใน NCB
2) มาตรการ จ่าย ปิด จบ มียอดหนี้ที่ 1 พันล้านบาท โดยให้กับลูกหนี้ NPL บุคคลธรรมดาในทุกประเภทสินเชื่อ โดยมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งลูกหนี้ต้องชำระบางส่วนเพื่อเป็นการปิดบัญชี
เป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร เพราะรายละเอียดคล้ายกับข่าวก่อนหน้า โดย 1) มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ มีเพียงวงเงินที่ลดลงเหลือ 8.9 แสนล้านบาท และเพิ่มวงเงินสินเชื่อบ้านและ SME เป็น 5 ล้านบาท จากเดิมที่ 3 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนทั้งปี 2025E
คาดว่าจะไม่กระทบแบบมีนัยสำคัญ เพราะ 1H25E จะโดนผลกระทบต่อ Loan yield ที่จะลดลง จาก EIR ที่ลดลงเพราะไม่มีการรับรู้ดอกเบี้ย 3 ปี แต่ช่วง 2H25E จะเห็นการลดลงของสำรองฯหลังจากที่ลูกหนี้กลับมาจ่ายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างไรก็ดี รอความชัดเจนในการลงบัญชีเพราะตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการบันทึกเป็นดอกเบี้ยค้างรับหรือไม่ ซึ่งต้องรอรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ธปท. อีกที ส่วน 2) มาตรการ จ่าย ปิด จบ เรามองเป็นบวกเพราะสินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิต โดยปกติทุกธนาคารจะมีการ write-off ค่อนข้างเร็วประมาณ 6-12 เดือน โดยสินเชื่อที่เข้ามาตรการนี้จะเป็นหนี้เสียค้างเกิน 1 ปี ทำให้กลุ่มธนาคารมีโอกาสได้เงินคืนจากลูกหนี้กลุ่มนี้เข้ามาเพิ่มเติมได้บ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเรียงจากมาก-น้อยคือ TTB (62%), KTB (46%), SCB (40%), KBANK (28%) ยังคงน้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด”
เลือก KTB, KBANK เป็น Top pick เราให้น้ำหนักการลงทุนของกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะแนวโน้มการเติบโตของกำไรปี 2024E-2025E จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องอีก 5-6% YoY ขณะที่ valuation ยังถูก โดยเทรดที่ระดับเพียง 0.67x PBV (-1.25SD below 10-yr average PBV) ขณะที่เรายังคงเลือก KBANK, KTB เป็น Top pick
– KTB ราคาเป้าหมายที่ 24.50 บาท อิง PBV 2025E ที่ 0.85x (-0.75SD below 10-yr average PBV) เพราะกำไรสุทธิปี 2024E อยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารที่ +18% YoY ขณะที่เราคาดว่าแนวโน้มกำไรสุทธิ 4Q24E จะเพิ่มขึ้น YoY แต่จะลดลง QoQ จาก OPEX ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และ KTB เน้นปล่อยสินเชื่อภาครัฐมากขึ้น ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำและรองรับกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้
– KBANK ราคาเป้าหมายที่ 176.00 บาท บาท อิง 2025E PBV ที่ 0.70x (-1.00SD below 10-yr average PBV) เพราะคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และเราคาดหวัง JV AMC กับ BAM จะช่วยลด NPL ได้ในระยะยาว และคาดกำไร 4Q24E จะเพิ่มขึ้น YoY จากสำรองฯที่ลดลง โดยปัจจุบันซื้อขายเพียง 0.66x PBV (-1.25SD below 10-yr average PBV) ถูกกว่า SCB ที่ 0.81x PBV