หุ้นวิชั่น – ดร. วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD100 แจ้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568 บริษัท เอสเอ็มดีไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (ถือหุ้น 100%) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในโครงการศูนย์บำบัดโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยี Proton Therapy โดยโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญในการขยายขีดความสามารถด้านการแพทย์ของประเทศไทย พร้อมยกระดับการรักษาให้ได้มาตรฐานระดับสากล
รายละเอียดโครงการ
- โครงการนี้มีการลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท
- รองรับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มากถึงปีละเกือบ 1,000 คน
- คาดว่าจะสร้างรายได้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี มากกว่า 12,000 ล้านบาท
- โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการลงทุนที่มีผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจควบคู่กับผลกระทบเชิงสังคม หรือ Financial Returns with Social Impact โดยแสดงให้เห็นถึงความสมดุลระหว่างการสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ข้อดีของเทคโนโลยี Proton Therapy
เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่ล้ำสมัย มีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการฉายรังสีแบบเดิม (LINAC) โดยมีจุดเด่นดังนี้:
- ความแม่นยำสูงสุด (Superior Precision): สามารถส่งพลังงานรังสีเข้าถึงเนื้อเยื่อมะเร็งโดยตรง ลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อปกติ
- ผลข้างเคียงต่ำ (Minimal Side Effects): ลดความเสี่ยงต่ออวัยวะใกล้เคียง ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น
- เหมาะสำหรับมะเร็งที่ซับซ้อน (Optimal for Complex Tumors): เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งในเด็ก และมะเร็งที่อยู่ใกล้หัวใจหรือไขสันหลัง
- เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย (Improved Quality of Life): ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
นโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล
โครงการศูนย์ Proton Therapy นี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาลไทย ที่มุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยการนำนวัตกรรมการรักษาระดับโลกเข้ามาใช้ เพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข และดึงดูดผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ความคิดเห็นจากผู้บริหาร
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า: “โครงการศูนย์บำบัดโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยี Proton Therapy เป็นหนึ่งในโครงการที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของเราที่จะขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทยไปสู่ระดับสากล เรามั่นใจว่าศูนย์นี้จะเป็นทั้งจุดเปลี่ยนในวงการรักษาโรคมะเร็งของประเทศ และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ในภูมิภาค ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดมาให้บริการ”
“การลงทุนในโครงการนี้ยังเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Returns) ที่ควบคู่ไปกับผลกระทบเชิงสังคม (Social Impact) ซึ่งตอบสนองทั้งความต้องการของผู้ถือหุ้นและความรับผิดชอบต่อสังคม”
โครงการที่เกี่ยวข้องในเครือ
ก่อนหน้านี้ บริษัท เอสเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยังได้ดำเนินงานในโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับขนาด 11 เตียงในศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ (THAMC) ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมรับรองมาตรฐานระดับสากลจาก American Accreditation Commission International (AACI) พร้อมให้บริการประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือชื่อใหม่ บริษัท เอสเอ็มดี ไรส์ จำกัด (มหาชน) ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์ พร้อมลงทุนในโครงการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าสู่เวทีระดับโลกในรูปแบบ “Building Hospital Empire, No Hospital Required.” ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในประกอบธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางในปัจจุบันและอนาคต
อนึ่ง โครงการนี้คาดว่าจะดำเนินก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้บริการภายใน 2 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วศูนย์ฉายแสงรักษามะเร็งด้วยระบบโปรตอนจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่บริษัทคัดสรรมามีขนาดกะทัดรัดที่สุดในปัจจุบัน