กรีนโลจิสติกส์มาแรง! LEO-SONIC ตามเทรนด์

          หุ้นวิชั่น – SCB EIC ส่องแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปี 68 มูลค่า 9 แสนล้าน โต 3.4%  ชี้แนวโน้มราคาน้ำมันลด กดต้นทุนร่วง ส่งซิกเทรนด์ Green-LogTech Logistics มาแรง ด้านบอสใหญ่ LEO เดินหน้าขยายธุรกิจตามแนวทาง ESG ยกระดับขนส่งสู่ตลาดโลก

          ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ระบุถึง แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2024-2025 การเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น

          ในปี 2567 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่าจะขยายตัว 5.1% (YOY) ตามการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และอัตราค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์โลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากวิกฤตทะเลแดง

          ส่วนในปี 2568 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่าจะเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ 3.4% (YOY) คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 9 แสนล้านบาท เนื่องจากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตช้าลง

แนวโน้มค่าขนส่งปี 2568

          อัตราค่าขนส่งเฉลี่ยในปี 2568 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2567 แต่จะมีความผันผวนมากขึ้น โดยค่าขนส่งทางถนนในประเทศและค่าขนส่งทางอากาศโลกมีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่ค่าขนส่งทางเรือคาดว่าจะลดลง ส่วนราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อการลดต้นทุน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจทำให้ผู้ให้บริการมีความจำเป็นต้องลดค่าขนส่งเพื่อการแข่งขัน

เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโต

          Green Logistics : การให้บริการโลจิสติกส์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องสำคัญในระดับโลก ผู้ให้บริการในไทยเริ่มให้บริการ Green Logistics เพิ่มขึ้น

          LogTech (Logistics Technology) : การนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น พร้อมลดต้นทุน

แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์

          การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นใน 3 ด้านหลัก

          การขยายบริการที่ทับซ้อนกันมากขึ้น ทั้งในประเภทขนส่งและลักษณะสินค้า ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันด้านราคา

          การแข่งขันด้านคุณภาพในการขนส่ง ท่ามกลางการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

          การแข่งขันในธุรกิจจัดส่งพัสดุที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งด้านราคาและคุณภาพบริการ

ปัจจัยสำคัญที่กระทบธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2568

          เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัว และเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการและยานพาหนะเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม

          การใช้เทคโนโลยี AI ในการขนส่ง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทาง สภาพอากาศ และจราจร รวมถึงการประสานงานระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ว่าจ้าง

ธุรกิจโลจิสติกส์ความสำคัญและการแบ่งประเภท

          ธุรกิจโลจิสติกส์คือธุรกิจที่ให้บริการจัดการเคลื่อนย้ายสินค้า ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ครอบคลุมบริการที่หลากหลาย เช่น การขนส่งสินค้า การบริหารคลังสินค้าและจัดการสินค้าคงคลัง การบริการด้านพิธีการศุลกากร การจัดเก็บสินค้าและลานตู้สินค้า และการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

ประเภทของผู้ประกอบการโลจิสติกส์แบ่งได้ตามบริการที่ให้ ได้แก่

          ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า (Freight Transport)

          ผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)

          ตัวแทนขายระวางสินค้า (Cargo Sale Agent)

          ผู้ให้บริการคลังสินค้าและกระจายสินค้า (Warehousing & Distribution)

          ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโลจิสติกส์ (Logistics Technology)

          ผู้ให้บริการ 3PL (Third-Party Logistics) ซึ่งให้บริการโลจิสติกส์หลายประเภทภายใต้ผู้ประกอบการรายเดียว

          นอกจากนี้ ธุรกิจโลจิสติกส์ยังแบ่งย่อยตามกลุ่มประเภทการขนส่ง ได้แก่ การขนส่งทางถนน การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางราง และแบ่งตามลักษณะสินค้า เช่น สินค้าทั่วไป สินค้าวัตถุอันตราย สินค้าควบคุมอุณหภูมิ พัสดุสินค้า

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในตลาดหลักทรัพย์ไทย สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก

          กลุ่มผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนเป็นหลัก เช่น ETL, KIAT, MENA, SJWD ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้า

          กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุ (Parcel Delivery) ซึ่งทำหน้าที่จัดส่งพัสดุไปยังผู้บริโภค เช่น KEX และ TPL

          กลุ่มผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าเป็นหลัก (Freight Forwarder) ซึ่งทำหน้าที่จัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผ่านการนำเข้าและส่งออก รวมถึงจัดการด้านเอกสาร พิธีการศุลกากร และประสานงานระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ขนส่ง เช่น สายเดินเรือ สายการบิน และผู้ให้บริการรถบรรทุก ตัวอย่างผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ได้แก่ ANI, B, III, LEO, MPJ, NCL, SINO, SONIC และ WICE

          ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์ การเติบโตของรายได้ในธุรกิจโลจิสติกส์ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. ความต้องการขนส่งการค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงการค้าชายแดนและการผ่านแดน ซึ่งได้รับผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ให้บริการกับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในสัดส่วนสูง

          การบริโภคภาคเอกชน เช่น การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ

          มูลค่าตลาด E-commerce ซึ่งมาจากการดำเนินงานจัดส่งพัสดุไปยังผู้บริโภค

2. อัตราค่าขนส่งซึ่งเป็นผลจากสมดุลระหว่างความต้องการขนส่งและความสามารถในการขนส่ง (Transport Capacity) โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณยานพาหนะขนส่ง ผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด นโยบายรัฐ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทั้งสนับสนุนและสร้างอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า ต้นทุนค่าขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งต้นทุนบางส่วนจะส่งผ่านไปยังผู้ใช้บริการ

          ด้าน นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า LEO ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

          บริษัทยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณค่าให้กับสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เติบโตควบคู่ไปกับการดูแลโลกในระยะยาว

          ขณะที่ ดร.สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC กล่าวกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า SONIC กำลังศึกษาและพัฒนาโมเดลกรีนโลจิสติกส์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนเปลี่ยนจากการใช้รถบรรทุกน้ำมันเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาราคาค่ารถบรรทุกไฟฟ้าและการประเมินความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการได้อย่างเต็มที่ คาดว่าจะต้องมีรถบรรทุกไฟฟ้าให้บริการลูกค้าราว 3-5 คันในช่วงแรก และกำลังศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของค่าบริการที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง ESG และเสริมสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ.

รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ATP30 กางแผนปี 68 ลุยเพิ่มบัส EV - ยกระดับมาตรฐานบริการ

ATP30 กางแผนปี 68 ลุยเพิ่มบัส EV - ยกระดับมาตรฐานบริการ

SMD100 คว้างานโครงการศูนย์บำบัดมะเร็ง คาดกวาดรายได้มากกว่า 12,000 ล้านบาท

SMD100 คว้างานโครงการศูนย์บำบัดมะเร็ง คาดกวาดรายได้มากกว่า 12,000 ล้านบาท

PRI ตั้ง คุณหมู-ณภัทร นั่งแท่น CEO คนใหม่ของ Passion Realtor

PRI ตั้ง คุณหมู-ณภัทร นั่งแท่น CEO คนใหม่ของ Passion Realtor

“BKA” โชว์วิสัยทัศน์ พร้อมระดมทุน mai เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น

“BKA” โชว์วิสัยทัศน์ พร้อมระดมทุน mai เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด