นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไปสหภาพยุโรป (อียู) อย่างต่อเนื่อง พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวดี และยังสามารถขยายตัวได้สูงกว่าการส่งออกไปโลก
กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation Regulation) ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า คือ โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และ ไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้ โดยในช่วงครึ่งแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ของปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR ไปอียู รวมมูลค่า 379.47 ล้านเหรียญสหรัฐ (มูลค่าของสินค้าโดยใช้พิกัดศุลกากรตามที่ระบุใน Regulation (EU) 2023/1115) ขยายตัวร้อยละ 49.94 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เรียงลำดับตามมูลค่าการส่งออกสูงสุด ดังนี้
- ยางพารา 314.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 567
- ไม้ 49.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.71
- ปาล์มน้ำมัน 11.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 488.80
- โกโก้ 3.56 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 10.15
- กาแฟ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.54
- ถั่วเหลือง 001 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 44.37
ส่วนโคเป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการส่งออกไปอียู
สินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.01 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการ EUDR จากไทยไปอียู (ยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน มีสัดส่วนร้อยละ 82.96 12.92 และ 3.12 ตามลำดับ) ซึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้ง 3 กลุ่มไปอียู มีการขยายตัวดีกว่ามูลค่าการส่งออกไปโลก ดังนี้ (1) การส่งออกยางพาราไปอียู ขยายตัวถึงร้อยละ 51.67 ขณะที่การส่งออกยางพาราไปโลก ขยายตัวร้อยละ 30.86 (2) การส่งออกไม้ไปอียู ขยายตัวร้อยละ 24.71 ขณะที่การส่งออกไม้ไปโลก ขยายตัวร้อยละ 5.48 และ (3) การส่งออกปาล์มน้ำมันไปอียู ขยายตัวร้อยละ 488.80 ขณะที่การส่งออกปาล์มน้ำมันไปโลก หดตัวร้อยละ 20.15
แม้ว่าปัจจุบัน การส่งออกกลุ่มสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎหมาย EUDR จากไทยไปอียู ยังมีสัดส่วนไม่มาก
เมื่อเทียบกับการส่งออกจากไทยไปโลก (มีสัดส่วนร้อยละ 7.65 ของมูลค่าการส่งออกไปโลก) แต่การขยายตัวที่ดีแสดงให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทย ที่จะสามารถปรับตัวและส่งออกสินค้าภายใต้ EUDR ไปยังอียูได้มากขึ้น
ในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการ EUDR จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนในการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่การผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องวางแผนปรับตัวและเตรียมการให้พร้อม เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ราบรื่นภายใต้กฎระเบียบการค้าใหม่ของอียู
การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงแต่เป็นความท้าทาย แต่เป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับไทยที่จะพัฒนาคุณภาพสินค้าและสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจด้วย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
20 กันยายน 2567