สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 11 – 15 พ.ย. 67 และแนวโน้มสัปดาห์วันที่ 18 – 22 พ.ย. 67
ตลาดกังวลอุปสงค์น้ำมันโลกอ่อนแอ และนโยบายของ Trump หนุนดอลลาร์แข็งค่ากดดันราคาน้ำมันดิบ
- IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2567 เพิ่มขึ้น 920,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 102.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดลง 20,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และปี 2568 เพิ่มขึ้น 990,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 103.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปรับลดลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากครั้งก่อน) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและจีนชะลอตัว ประกอบกับจีนปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทำให้การใช้น้ำมันลดลง
- สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นของจีนนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ต.ค. 67 ลดลง 6% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงติดต่อกัน 7 เดือน จากโรงกลั่นอิสระ (Teapot) ในมณฑล Shandong ลดอัตราการกลั่นอยู่ที่ 59% (-18% จากปีก่อนหน้า) นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้โรงกลั่น 3 แห่งของบริษัท Sinochem กำลังการกลั่นรวม 380,000 บาร์เรลต่อวัน (ประมาณ 3% ของทั้งประเทศ) ล้มละลายในเดือน ก.ย. 67
- วันที่ 14 พ.ย. 67 ดัชนีดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (DXY Index) ช่วงซื้อขายระหว่างวัน (Intraday Trade) แตะระดับ 06 จุด สูงสุดในรอบ 1 ปี โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5% จากระดับ 103.42 ในวันที่ 5 พ.ย. 67 (วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ) จากความเชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนาย Donald Trump ผู้ชนะการเลือกตั้ง อนึ่ง ล่าสุดดัชนี DXY ยังคงเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับ 107 จุด
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve: Fed) นาย Jerome Powell กล่าวต่อที่ประชุม Business Leaders ในเมือง Dallas ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 67 ว่า Fed ไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 17-18 ธ.ค. 67 เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานยังมั่นคง อย่างไรก็ดีดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 67 อยู่ที่ +2.6% จากปีก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 3 เดือน ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ +2% จากปีก่อนหน้า