หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า เปิดมาตรการกระตุ้น 5 ด้านของรัฐบาล จะเป็นความหวังให้กับเศรษฐกิจไทย 1.มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ 2. การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3. ภาคการเกษตร 4. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ และ 5. การบริโภคภาคเอกชน
แม้เศรษฐกิจโลกจะยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย-ยูเครนที่ยังอาจจะไม่สงบ รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยประเทศที่มีสัดส่วนการค้าต่อ GDP ในระดับสูงมีโอกาสได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากนโยบายของคุณ Donald Trump ที่นำเสนอนโยบายในช่วงหาเสียงว่าจะขึ้นภาษีกับประเทศจีน 60% และประเทศอื่น 10-20% ดังนั้นฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลกระทบไม่น้อย เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยคิดเป็นถึง 60% ของ GDP อีกทั้งยังมีผลกระทบทางอ้อมคือภาคการท่องเที่ยว หากเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว
อย่างไรก็ดีฝ่ายวิเคราะห์เห็นถึงศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังมีปัจจัยบวกจากภายในประเทศคือการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้างจากปัจจัยการเมืองที่ไม่แน่นอน แต่ฝ่ายวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสไม่มากที่จะเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง
ในวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมซีอีโอระดับโลก (Forbes Global CEO Conference) เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ของเศรษฐกิจไทยว่า การขยายตัวในช่วงที่ผ่านมายังไม่ดีนัก โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงในด้านการพัฒนาต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในรายละเอียดมาตรการที่คุณแพทองธารนำเสนอมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ประเมินถึงผลกระทบและความเป็นไปได้ของมาตรการระยะสั้น ดังนี้
- มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์
- สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร เพื่อเสริมสภาพคล่องและกระตุ้นการลงทุน การจ้างงานในธุรกิจโรงแรม
- สินเชื่อเพื่อซื้อ สร้าง หรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นบวกต่อกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น SIRI, SPALI, ASW, AL และ LH
- การลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท
- เร่งการลงทุนผ่าน BOI และ EEC โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ฝ่ายวิเคราะห์มองว่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจะเป็นบวกต่อผู้ใช้บริการเดินรถไฟฟ้าอย่าง BTS และ BEM เนื่องจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่างค่าโดยสารที่ปรับลดลงให้กับผู้เดินรถ ส่วนนโยบายที่เร่งการลงทุนจะเป็นบวกกับกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอย่าง CK และ STEC รวมไปถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอย่าง WHA และ AMATA
- ภาคการเกษตร
โครงการช่วยเหลือเกษตรผ่านโครงการไร่ละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินในระยะสั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกรอบใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อการบริโภคในระยะถัดไป เป็นบวกต่อกลุ่ม Domestic Play อย่างไฟแนนซ์และค้าปลีก เช่น CPALL, CPAXT, GLOBAL, SWAD และ TIDLOR
- ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
โครงการของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมไปถึงโครงการอื่นๆ อย่าง “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” และงานเฟสติวัลต่างๆ ในช่วงเทศกาล ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนสูงต่อเศรษฐกิจไทย และภาครัฐยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมนี้จึงยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวก เพราะนอกจากจะสนับสนุนกลุ่มการท่องเที่ยวแล้ว ยังได้ประโยชน์ในทางอ้อมต่อกลุ่ม Domestic Play เนื่องจากจะช่วยให้รายได้ของภาคบริการขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- การบริโภคภาคเอกชน
-
- โครงการช่วยเหลือเงินอุดหนุนค่าครองชีพ เริ่มจากกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการและผู้สูงอายุ
- โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการอาชีพอิสระ
- โครงการแก้ปัญหาหนี้สิน โดยการลดภาระของลูกหนี้ ซึ่งจะครอบคลุมถึงลูกหนี้กว่า 3 ล้านบัญชี