เตรียมเก็บภาษีคาร์บอน เพิ่มรายได้รัฐ-ลดก๊าซเรือนกระจก

 

          นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เผยร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืบหน้าแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบทุกภาคส่วน คาดบังคับใช้ได้ภายในปี 2569 โดยกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในการบังคับและสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกัน เตรียมเก็บภาษีคาร์บอนเป็นรายได้ผ่านกรมสรรพสามิต หวังจูงใจประชาชนให้ลดการใช้พลังงาน

           นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอนุกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการพิจารณาครบทั้ง 14 หมวดแล้ว ซึ่งจะต้องประเมินผลสัมฤทธิ์และผลกระทบของกฎหมายก่อนดำเนินการขั้นต่อไป

          หลังการประเมิน ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะถูกโพสต์ลงเว็บไซต์เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลา 15 วัน ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่าง พ.ร.บ. ก่อนส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินกระบวนการออกเป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เร็วที่สุดในปี 2569หรือปี 2026

          ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทั้งบังคับและสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวทางสิ่งแวดล้อม โดยการใช้เครื่องมือดังกล่าวจะเป็นไปตามความเหมาะสม และคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่ยุคของการลดก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั่วโลก

          นายพิรุณเน้นว่าการมีกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากที่ผ่านมา การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของภาคธุรกิจและประชาชน ขาดกฎหมายบังคับใช้โดยตรง การมีกฎหมายนี้จะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้การลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

          ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) จะดำเนินการเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกดำเนินการผ่านกรมสรรพสามิต ซึ่งเตรียมออกภาษีคาร์บอนเพิ่มเติมในหมวดสิ่งแวดล้อม โดยมีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่อัตรา 6 บาท ซึ่งอาจมีการปรับลดลงเหลือ 5 บาท พร้อมเพิ่มภาษีคาร์บอนอีก 1 บาท โดยภาษีคาร์บอนนี้จะเก็บจากกลุ่มน้ำมันและปิโตรเลียม ทั้งนี้ หากผู้ใช้ประหยัดการใช้พลังงานก็จะมีภาระจ่ายภาษีน้อยลง จึงไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความกังวลสำหรับเฟสที่ 2 จะมีการดำเนินการหลังจากที่ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) มีผลบังคับใช้

          ทังนี้  ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเนื้อหา 13 หมวด (เช่น นโยบาย/แผน การลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว บทลงโทษ) และเพิ่มอีก 1 หมวด (Thailand CBAM)

  • หมวด 1-3 เป็นหลักพื้นฐาน เช่น สิทธิของประชาชน เป้าหมาย คณะทำงาน
  • หมวด 4 กองทุนสภาพภูมิอากาศ จะเป็นนิติบุคคลที่แยกออกจากกรม โดยจะให้เงินสนับสนุน (Grant) แก่โครงการที่สนับสนุน Net Zero Pathway เช่น การจัดหาข้อมูล การลดและใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย โดยกองทุนนี้จะขอเงินจากภาครัฐถึงปี 2030 และจะเริ่มมีรายได้จาก ETS โดยคาดว่า 2031-2037 จะมีรายได้รวมประมาณ 137,900 ล้านบาท
  • หมวด 5 แผนแม่บทระยะยาว
  • หมวด 6 ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ บัญชีรายประเทศ (T1 Default T2 T3 ใช้เทคโนโลยีวัด) และบัญชีรายอุตสาหกรรม เพื่อเรียกข้อมูลจากอุตสาหกรรม
  • หมวด 7 แผนลดก๊าซเรือนกระจก
  • หมวด 8 ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ระบบเดียวกับ EU สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส และ EU CBAM รายได้จะนำไปสนับสนุน SME เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero โดยมีระบบจัดการสิทธิตามแผนดังนี้:
    • จัดสรรสิทธิไม่เกิน 5 ปี
    • ประกาศแผนจัดสรรล่วงหน้า 1 ปี ก่อนเริ่มระยะเวลาจัดสรร
    • ประกาศรายชื่อนิติบุคคล 10 เดือนก่อนเริ่มจัดสรร
    • คืนสิทธิแก่กรมภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสุดแต่ละปี
    • ใช้คาร์บอนเครดิตไม่เกิน 15% ของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องคืน
    • เก็บสิทธิเพื่อคืนในปีถัดไปตามจำนวนที่กำหนดในแผนจัดสรร
  • หมวด 9 ระบบภาษีคาร์บอน เก็บเฉพาะการใช้งาน รายได้จากภาษีจะนำไปใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยจะเก็บจากกลุ่มน้ำมันและปิโตรเลียม และหากผู้ใช้ประหยัดก็จะจ่ายภาษีน้อยลง ส่วนรายได้ 10% จะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา 26 โดยมีกรมสรรพสามิตเป็นผู้จัดการ
  • หมวด 10 คาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถนำมาค้าขายได้ในระบบ ETS แต่จำกัดเพียง 15% มีทั้งคาร์บอนเครดิตตามข้อตกลงระหว่างประเทศและคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ
  • หมวด 11 การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการใช้ตัวชี้วัดระดับโลก (Core Global Indicator) พร้อมการพัฒนาโครงการต้นแบบในพื้นที่และสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า (early warning system) และ climate risk profile ระดับ 5×5 ตารางกิโลเมตร
  • หมวด 12 Thailand Taxonomy แบ่งกลุ่มธุรกิจเป็นเขียว เหลือง แดง ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่หลัง พ.ร.บ. ออก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ จะเป็นผู้ดูแล
  • หมวด 13 บทกำหนดโทษ

          ใน COP29 จะมีการหารือเรื่อง Global Stocktake (GST) เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ ตามข้อตกลงปารีส ครอบคลุมเรื่องเทคโนโลยี การปรับตัว การสูญเสียและความเสียหาย และการเงินเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราคาทองเช้าวันนี้ ปรับลดลง 100 บาท

ราคาทองเช้าวันนี้ ปรับลดลง 100 บาท

ส่งออกทูน่าปี 68 ฟื้นตัวแรง! คาดมูลค่าส่งออกโต6.2%

ส่งออกทูน่าปี 68 ฟื้นตัวแรง! คาดมูลค่าส่งออกโต6.2%

MRT ร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่  จอดรถฟรี 24 ชม. เปิดให้บริการข้ามปีถึงตี 2

MRT ร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่ จอดรถฟรี 24 ชม. เปิดให้บริการข้ามปีถึงตี 2

เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน มอบความสุขต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card

เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน มอบความสุขต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด
live-sticky
LIVE