หุ้นวิชั่น – คาดการณ์ส่งออกไทยปี 2568 มูลค่าแตะ 307,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 2.5 จากปี 2567 แม้ได้รับแรงหนุนจากสินค้าเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และการย้ายฐานการผลิต แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้า นโยบายกีดกันทางการค้า และความผันผวนของค่าเงินบาท ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป อาจถูกกดดัน แต่ตลาดอาเซียนยังเติบโตแข็งแกร่ง
วิเคราะห์ ทิศทางการส่งออกและ ตลาดส่งออก สินค้าของไทย ปี 68
ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2568
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าการส่งออกของไทย จะขยายตัวร้อยละ 2 – 3 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) หรือคิดเป็นมูลค่า 306,000 – 309,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่ากลาง 307,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากฐานปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 5.2) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ แล้ว แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะต้องติดตามการประกาศมาตรการของสหรัฐฯ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยในปี 2568
- ปัจจัยหนุนมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) การทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง (3) วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางของไทย (สินค้า PCB) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ (4) การได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต จากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
- ปัจจัยท้าทายมี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจการค้า ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ (3) ปริมาณการค้าที่ขยายตัวลดลง จากการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า และ (4) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน
สินค้าส่งออกของไทยในปี 2568
- การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร จากอิทธิพลของลานีญาตั้งแต่กลางปี 2567 อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อนจะยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อการผลิตภาคการเกษตร ตลาดยังคงขยายตัวได้ดี ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในส่วนของผลของราคาส่งออกสินค้าเกษตรน่าจะลดลง จากอุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้นผลจากการยกเลิกมาตรการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ นอกจากนี้ปัญหาโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่ชะงักงันน่าจะผ่อนคลายลงความรุนแรงของปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือตะวันออกกลางคาดว่าจะมีระดับทรงตัว ขณะที่ค่าเงินบาทคาดว่าจะแข็งค่ากว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรไทยเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การเผชิญกับคู่แข่งผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกและยกระดับผลผลิตได้ดีทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าบางประเทศ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรต้องปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนให้แข็งขันได้
- สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง
- การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย คาดว่าผู้ส่งออกจะเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มมีสัญญาณชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป เนื่องจากการออกมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนขึ้นซึ่งจะสร้างอุปสรรคในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนในระยะต่อไป นอกจากนี้สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงตามการปรับลดลงของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อย่างไรก็ดีไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น wafer หรือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สอดรับกับกระแสการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว
- สินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รถยนต์ EV และเคมีภัณฑ์ อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหมือนกัน และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง
ตลาดส่งออกของไทยในปี 2568
คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จะเติบโตปานกลาง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สร้างความเสี่ยงให้เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง การชะลอการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายลงเพิ่มเติม จึงอาจจะไม่เห็นการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมากนัก ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะกลับมารุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักจะช่วยเพิ่มการลงทุนและการบริโภคให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่ตลาดอาเซียนคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการส่งออกในปีหน้าจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนและฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก และคว้าโอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะรักษาตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเพิ่มเติมตลาดรองที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา
ที่มา : กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขัน