หุ้นวิชั่น – พาณิชย์รายงานตัวเลข ส่งออกไทย ต.ค. ทะยานสูงสุดในรอบ 19 เดือน โต 14.6% หนุนโดยสินค้าเทคโนโลยี-อาหาร มูลค่ารวมกว่า 27,222 ล้านดอลลาร์ แนวโน้มส่งออกไตรมาส 4 แกร่ง คาดทั้งปีแตะเป้า 300,000 ล้านดอลลาร์ เติบโต 4% ท่ามกลางปัจจัยหนุนและความท้าทายรอบด้าน แต่คาดปีหน้า 2568 โตต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม และ 10 เดือนแรกของปี 2567
การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (896,735 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 14.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 10.7 ทำมูลค่าสูงสุด
ในรอบ 19 เดือน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์
อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของ
ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้
กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.9 และ
เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.8
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนตุลาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 28,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.9 ดุลการค้า ขาดดุล 794.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 250,398.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.6 ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนตุลาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 896,735 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 934,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 ดุลการค้า ขาดดุล 37,965 ล้านบาท ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 8,854,630 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3
เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 9,199,289 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดุลการค้า 10 เดือนแรก
ของปี 2567 ขาดดุล 344,659 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง
4 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.8 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อิรัก และแคเมอรูน) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 32.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.4 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 18.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิตาลี ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 28.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแคนาดา)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 3.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน
(หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 30.6 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) น้ำตาลทราย หดตัว
ร้อยละ 12.8 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เมียนมา และจีน แต่ขยายตัว
ในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 46.2
กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา มาเลเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน กัมพูชา ญี่ปุ่น และลาว) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.7 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 77.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสิงคโปร์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 27.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 43.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 18.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และมาเลเซีย)
เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 4.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และสหรัฐฯ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 2.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม และกัมพูชา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 44.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.1 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เม็กซิโก ไต้หวัน สาธารณรัฐเช็ก และมาเลเซีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ อาร์เจนตินา บราซิล และอิรัก) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 34.7 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ไต้หวัน เวียดนาม และมาเก๊า แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ CLMV สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร
ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 16.3
โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 25.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 22.1 และ CLMV ร้อยละ 27.9 กลับมาขยายตัวในตลาดจีน ร้อยละ 8.5 ญี่ปุ่น ร้อยละ 7.0 และอาเซียน (5) ร้อยละ 6.8 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัว
ในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 12.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 1.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 31.5 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 58.1 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 3.0 ในตลาดขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลีย และแอฟริกา หดตัวร้อยละ 14.0 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 118.9
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 25.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 13.8
ตลาดจีน กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์
มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.8
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 7.0 (กลับมาขยายตัวในรอบ 9 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 5.9
ตลาดสหภาพยุโรป (27) ขยายตัวร้อยละ 22.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญ
ที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.3
ตลาดอาเซียน (5) กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.4
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 27.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผ้าผืน เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 11.0
ตลาดเอเชียใต้ กลับมาขยายตัวร้อยละ 12.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 9.5
ตลาดทวีปออสเตรเลีย กลับมาหดตัวร้อยละ 14.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.1
ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 1.9 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.2
ตลาดแอฟริกา หดตัวร้อยละ 3.1 (กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว เครื่องยนต์สันดาปภายใน และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.5
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 31.5 (ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้
10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 13.8
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้
10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.8
ตลาดสหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 58.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.7
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเติบโต
อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (working target) ตามที่ได้ตั้งไว้ โดยประมาณการว่าส่งออกทั้งปี 2567 จะเติบโต 4% หรือมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น
การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
เพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ทางฝ่ายมีมุมมองเชิงบวกต่อตัวเลขการส่งออก ตามการส่งออกที่ขยายตัวเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส 4/2567 โดยมองเป็น Sentiment ทางบวกต่อ SET Index โดยเฉพาะหุ้นที่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ดังนี้
1) สินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา (+12 เดือนต่อเนื่อง) ข้าว (+5 เดือนต่อเนื่อง) ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป (กลับมาขยายตัวหลักจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า)
2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+13เดือนต่อเนื่อง) อาหารสัตว์เลี้ยง (+13 เดือนต่อเนื่อง) และอาหารทะแลกระป๋องและแปรรูป (+4 เดือนต่อเนื่อง)
3) สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+7 เดือนต่อเนื่อง) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+4 เดือนต่อเนื่อง) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+8 เดือนต่อเนื่อง) ผลิตภัณฑ์ยาง (+4 เดือนต่อเนื่อง) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (กลับมาขยายตัวหลักจากหดตัวเมื่อเดือนก่อนหน้า) เคมีภัณฑ์ (+4 เดือนต่อเนื่อง) เม็ดพลาสติก (กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน)
โดยมองหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ CCET, CPF, DELTA, HANA, HTECH, ITC, IVL, PTTGC, STA, STGT, TFG
ในทางกลับกัน ทางฝ่ายมอง SET Index มีแนวโน้มตอบรับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการส่งออกอย่างจำกัด ท่ามกลางการนำเข้าเดือนต.ค.67 ที่ขยายตัวอย่างเร่งตัวขึ้น และเป็นการขยายตัวอย่างเร่งตัวขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาญบ่งชี้ถึงสินค้าจีนที่ยังเข้าหลั่งไหลเข้าสู่ไทย สะท้อนจากข้อมูลใน 9M67 ที่บ่งชี้ว่าไทยนำเข้าจากจีนขยายตัว 11.06% y-y และเป็นการขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า (ยกเว้น สินค้าเชื้อเพลิง และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง) ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการ (โดยเฉพาะ MSME ซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่) ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าราคานำเข้าจากจีน ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ต้น-ปลายน้ำ รวมถึงคาดเป็นแรงกดดันทางอ้อมต่อการบริโภคภาคเอกชน