หุ้นวิชั่น – กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าครม.ก.พ นี้ คาดเริ่มบังคับใช้ปี 69 พร้อมตั้งกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) เริ่มต้น 5,000 ล้านบาท ขณะที่แผนเก็บภาษีคาร์บอนเริ่มคาดการณ์ในปี 2570 โดยตั้งเพดานเบื้องต้นไว้ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จากนั้นจะเข้ากฤษฎีกา เพื่อตรวจร่าง พ.ร.บ. ก่อนจะนำเสอไปที่สภา โดยคาดว่าจะเป็นสภาสมัยหน้า ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2568
ซึ่งร่างกฎหมายฯ จะเป็นการสร้างสมดุลในมิติการบังคับและการสนับสนุนให้ประเทศเกิดความพร้อมและมีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกการเงินจากกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) ร่วมกับการจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน (Taxonomy) และกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อเร่งการลงทุนและการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศภายใต้กฎกติกาและกลไกทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งนี้คาดหวังว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2569 หรือปี 2026
ทั้งนี้ การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับและลดภาระในการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะนำไปใช้พิจารณารูปแบบของกระบวนการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ที่จะเชื่อมกับการส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระยะยาวต่อไป
ส่วนกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) จะเริ่มดำเนินการหลังจากร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลบังคับใช้ โดยเงินกองทุนเริ่มต้นจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในระยะแรก เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในขอบเขตการทำงาน ทั้งในด้านการจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างไรก็ตาม กลไกการสนับสนุนเงินกองทุนจะเปลี่ยนแปลงจากการให้เงินสนับสนุนเต็มจำนวน เป็นการสนับสนุนบางส่วน เช่น สนับสนุน 75% และให้ผู้ประกอบการออกเงินเองอีก 25% โดยจะมีคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนอย่างชัดเจน พร้อมแยกการบริหารจัดการออกมาเป็นองค์กรใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงานและบริหารเงินกองทุนดังกล่าว
ขณะที่ กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) จะถูกกำหนดโดยกรม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในตลาด โดยในด้านมาตรฐาน เน้นสนับสนุนการใช้มาตรฐานไทย เช่น T-VER และ Premium T-VER แทนการพึ่งพามาตรฐานต่างประเทศอย่าง Vera (VCS) หรือ Gold Standard ทั้งนี้ ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตปัจจุบันยังเป็นแบบ OTC (Over the Counter) ซึ่งเป็นการตกลงราคากันเอง และไม่มีราคากลางที่ชัดเจน โดยราคาจะขึ้นอยู่กับประเภทของคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการโซลาร์มีราคาต่ำกว่าโครงการป่า ซึ่งมีราคาสูงกว่า
Premium T-VER อยู่ระหว่างการพิจารณารับรองจาก ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) เพื่อยกระดับมาตรฐานเทียบเท่า VCS และ Gold Standard โดยกระบวนการพิจารณานี้จะเน้นตอบโจทย์ด้านความมั่นใจในระบบชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) หากเกิดการสูญเสีย และความโปร่งใสของข้อมูล ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยกรมฯ จะใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาระบบให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
ส่วนประเด็นภาษีคาร์บอน(carbon tax) คาดว่าจะเริ่มหลังจากพ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะเป็นปี 2027 หรือปี 2570 ทั้งนี้ ในอาเซียนมีประเทศที่นำร่องเก็บภาษีไปแล้ว คือ ประเทศสิงคโปร์ ราคาอยู่ที่ สิงคโปร์กำหนดราคาคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอน ส่วนประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายดังกล่าว เช่นเดียวกัน ฟิลิปปินส์ ก็เตรียมเก็บภาษีเช่นเดียวกัน ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมาย โดยก็มีความคาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอนได้รองลงมาจากสิงคโปร์ ซึ่งการที่ ไทยล่าช้ากว่าสิงคโปร์ เพราะดำเนินการทำครบทั้ง Ecosystem อย่างไรก็ดีประเมินราคาเก็บภาษีคาร์บอนเบื้องต้น ตั้งไว้ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน หรือราว 30,000 บาทตันคาร์บอน โดยการจะกำหนดต้องหาจุดยึดโยงให้ได้ แต่ราคานี้เป็นราคาเพดาน ที่ตั้งไว้ ไม่ใช่ว่าจะเก็บเท่ากันหมด เป็นจุดที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านไม่กระทบทุกคน