พลังงาน ชี้ โรงไฟฟ้าสำรอง จำเป็น พร้อมปรับแผนดึงลงทุน กับค่าไฟเหมาะสม

          หุ้นวิชั่น – กระทรวงพลังงาน ชี้แจง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพื่อรับรองความต้องการใช้ตลอดเวลา ถึงแม้บางโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องก็ตาม ซึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการลงทุนด้าน Data Center การใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าไทยอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน

          วันนี้ (14 มกราคม 2568) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้มีการปรับแผนโดยจะมีการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตก็จะปรับตัวลงด้วย

          นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ

          “ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1) ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริงๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน และ 2) ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผ่านมา ภาพรวมในการผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้” นายวีรพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

DSI แจ้งความดำเนินคดีกับ “เอก สายไหมต้องรอด กับพวก” ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

DSI แจ้งความดำเนินคดีกับ “เอก สายไหมต้องรอด กับพวก” ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ธอส. จัด ประมูลบ้านมือสองออนไลน์  จำหน่ายได้ 106 รายการ มูลค่า 133 ลบ.

ธอส. จัด ประมูลบ้านมือสองออนไลน์ จำหน่ายได้ 106 รายการ มูลค่า 133 ลบ.

โบรกมองบวก วิสัยทัศน์ทักษิณ คาดรัฐ - ก.ล.ต. ยกระดับธรรมาภิบาล

โบรกมองบวก วิสัยทัศน์ทักษิณ คาดรัฐ - ก.ล.ต. ยกระดับธรรมาภิบาล

ธปท. สำรองธนบัตร 4 หมื่นล้าน รองรับตรุษจีน 2568 พร้อมมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธปท. สำรองธนบัตร 4 หมื่นล้าน รองรับตรุษจีน 2568 พร้อมมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด