บทบาทการจัดอันดับ ESG ขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน

          ปัจจุบันเรื่องการประกอบธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงหรือเป็นความคาดหวังจากผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) ในทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ทำให้เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานกำกับดูแล ที่กระตุ้นให้บริษัทมีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อสื่อสารให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจถึงนโยบาย เป้าหมาย แผนธุรกิจ การจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันนอกจากบริษัทต้องรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่ได้เปิดเผยเองแล้ว (Internal Assurance) ในระดับสากลยังมีการพูดไปถึงการรับรองการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability Reporting Assurance)[1] โดยหน่วยงานรับรองภายนอก (External Assurance) ที่มีแนวโน้มในการนำมาใช้อีกด้วย เพื่อให้ข้อมูลมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และช่วยลดปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing)[2]

          แม้ปัจจุบันยังไม่มีคำนิยามหรือคำจำกัดความของ ESG ที่เป็นที่ตกลงร่วมกันในระดับสากล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มิติ E-S-G ของแต่ละบริษัทอาจมีความหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ พันธกิจ วิสัยทัศน์ ตลอดจนคุณค่าหลักของกิจการ ดังนั้น การประเมินหรือการจัดอันดับด้าน ESG (ESG Ratings) จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีข้อมูลเพื่อสามารถเปรียบเทียบการดำเนินการด้าน ESG ของแต่ละบริษัท สำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ทั้งนี้ จากรายงาน Rate the Raters 2023: ESG Ratings at a Crossroads ซึ่งจัดทำโดย The SustainAbility Institute by ERM[3]พบว่า ร้อยละ 53 ของผู้ลงทุนสถาบัน นำการจัดอันดับ ESG ของบริษัทมาใช้ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน และมากกว่าร้อยละ 94 ใช้การจัดอันดับ ESG อย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78 ในปี 2561 – 2562 สะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้ข้อมูลการจัดอันดับด้าน ESG ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้จัดอันดับด้าน ESG ในระดับสากล (ESG Ratings Provider) มีการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนไทยหลายบริษัทด้วย

          ในปี 2564 องค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) ได้เผยแพร่รายงาน Environmental, Social and Governance (ESG) Ratings and Data Products Providers[4] ซึ่งได้ศึกษาและทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและกลไกของการจัดอันดับด้าน ESG และการให้บริการข้อมูล ESG ซึ่งจะมีผลเกี่ยวพันต่อระบบนิเวศของการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Ecosystem) โดย IOSCO ได้ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้จัดอันดับด้าน ESG ควรกำหนดปัจจัยที่ครบถ้วนเพื่อให้สามารถจัดอันดับที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งเปิดเผยแหล่งข้อมูลที่ใช้ วิธีการจัดอันดับ (Methodologies) การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความโปร่งใสระดับสูงในการปฏิบัติงาน และการรักษาความลับของข้อมูล ส่วนหน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสนใจในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการจัดอันดับด้าน ESG มากขึ้น ตลอดจนวางแนวทางการกำกับดูแลผู้จัดอันดับด้าน ESG อย่างเหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมในประเทศของตน เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังพบว่า หน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศได้นำหลักการและข้อเสนอแนะของ IOSCO มาใช้ประกอบการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลผู้จัดอันดับด้าน ESG เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น
สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง ซึ่งจัดทำหลักจรรยาบรรณ (Codes of Conducts) เพื่อให้ผู้จัดอันดับด้าน ESG นำไปปรับใช้และเปิดเผยผลการปฏิบัติของตนต่อสาธารณะเพื่อสร้าง
ความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่สหภาพยุโรปและอินเดีย ได้ออกกฎเกณฑ์ (Regulations) กำหนดให้ผู้จัดอันดับด้าน ESG ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล จึงจะสามารถให้บริการในประเทศของตนได้ เป็นต้น

          สำหรับตลาดทุนไทยมีการประเมินหรือจัดอันดับที่นำปัจจัย ESG มาประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน อย่างเช่น โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) โครงการ ASEAN Corporate Governance Scorecard[5] ที่ดำเนินการโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ที่ได้พัฒนามาสู่ SET ESG Ratings และกำลังจะยกระดับการประเมินด้วยเกณฑ์สากลของ FTSE Russell ESG Scores ดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

          การประเมินหรือการจัดอันดับดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของ ESG ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และมีการปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และสามารถเปรียบเทียบ (Peer Pressure) กับบริษัทจดทะเบียนอื่น อันจะนำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตอบโจทย์ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนช่วยยกระดับความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนและตลาดทุนโดยรวม

          ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนานโยบายเพื่อตลาดทุนที่ยั่งยืนได้ตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน
ซึ่งเป็นถนนที่ทุกภาคส่วนเดินไปข้างหน้าร่วมกัน จังหวะการก้าวเดินของแต่ละภาคส่วนจึงควรบูรณาการไปด้วยกัน ดังนั้น “ความร่วมมือ” รวมทั้งการติดตามพัฒนาการด้วยความเข้าใจและปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดผลที่ดียิ่งขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (Trust and Confidence) สำหรับตลาดทุนไทยต่อไป

[1] สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากบทความ “ทิศทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและการกำกับดูแลกิจการ” จัดทำโดย
ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 หรือ link:  https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2567/190767.pdf

[2] การฟอกเขียว หมายถึง การทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจผิดว่าบริษัทมีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน
โดยที่ในความเป็นจริงบริษัทมิได้กระทำเช่นนั้น

[3] ข้อมูลเพิ่มเติม Link: https://www.erm.com/globalassets/sustainability.com/thinking/pdfs/2023/rate-the-raters-report-april-2023.pdf

[4] ข้อมูลเพิ่มเติม Link: https://www.iosco.org/library/pubdocs/pdf/IOSCOPD690.pdf

[5] หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum) ได้ริเริ่มให้มีการประเมินและจัดอันดับ
บรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมการประเมิน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2567

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2567

เมืองไทยประกันชีวิต ผนึกกำลัง AIS  มอบความอุ่นใจรับเทศกาลปีใหม่

เมืองไทยประกันชีวิต ผนึกกำลัง AIS มอบความอุ่นใจรับเทศกาลปีใหม่

‘วิชินี โอรพันธ์’ ผู้บริหารหญิงแห่งธนชาตประกันภัย สร้างทีมงานอย่างมืออาชีพ เสริมแกร่งช่องทางจำหน่าย สู่เบี้ยประกันภัยหมื่นล้าน

‘วิชินี โอรพันธ์’ ผู้บริหารหญิงแห่งธนชาตประกันภัย สร้างทีมงานอย่างมืออาชีพ เสริมแกร่งช่องทางจำหน่าย สู่เบี้ยประกันภัยหมื่นล้าน

หนี้ครัวเรือนไทย  แก้อย่างไรให้ยั่งยืน-ตรงกลุ่ม

หนี้ครัวเรือนไทย แก้อย่างไรให้ยั่งยืน-ตรงกลุ่ม

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด