หุ้นวิชั่น – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวดีขึ้น จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานยังเปราะบางในบางภาคส่วน และปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงกดดันเศรษฐกิจในระยะยาว
เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการเงินโอน 10,000 บาท สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ไม่รวมรถยนต์และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในบางภาคส่วนยังชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ด้อยลง
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดที่ไม่ใช่อาหารปรับลดลง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ภาคการค้า และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียและจีนชะลอลงส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายสัญชาติ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนักท่องเที่ยวระยะยาว (long-haul) โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นตามจำนวน นักท่องเที่ยวพำนักในไทยสะสม ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มยุโรป รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อวันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เงินโอน 10,000 บาท) โดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นใน 1) หมวดสินค้าไม่คงทน จากปริมาณการใช้น้ำมันและยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว และยาสูบ 2) หมวดสินค้าคงทน ตามยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 3) หมวดสินค้ากึ่งคงทน จากปริมาณการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้า และ 4) หมวดบริการ จากหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ลดลง
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากหมวด 1) เคมีภัณฑ์ ตามการผลิตยา 2) เครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการซื้อทดแทนหลังน้ำท่วมคลี่คลาย และ 3) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากอาหารสัตว์สำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์นม อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ ปิโตรเลียม จากปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ตามการส่งออกที่ชะลอลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตามการส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปยังตลาดอาเซียน ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปลดลง หลังปัญหาการขาดแคลนอุปทานของประเทศคู่ค้าคลี่คลายต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันปาล์มและยางไปอินเดีย และน้ำตาลไปกัมพูชา รวมถึงหมวดยานยนต์ลดลงตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ในทุกหมวดจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามปริมาณการนำน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมนำเข้า รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวัน 2) สินค้าอุปโภคและบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือจากจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าเครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์จากญี่ปุ่นและจีน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นตาม 1) การนำเข้าสินค้าทุน โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักร เครื่องมือที่ใช้ในงานทั่วไป มอเตอร์ไฟฟ้า และเรือ 2) ยอดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ จากเครื่องจักรและเครื่องมือทั่วไป และ 3) ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามรถแทรกเตอร์ สำหรับการลงทุนด้านการก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ อิฐบล็อก ซีเมนต์ และพื้นสำเร็จรูปคอนกรีต รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างปรับดีขึ้นจากพื้นที่ฯ เพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุตสาหกรรมและโรงงาน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษา และการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของหน่วยงานด้านคมนาคมและด้านการศึกษา สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการเบิกจ่ายในโครงการด้านการสื่อสารและสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงานจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หมวดอาหารสดลดลงจากราคาผักตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังปัญหาน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว โดยราคาอาหารปรับสูงขึ้น แต่ราคาของใช้ส่วนตัวปรับลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลลดลง จากการส่งกลับกำไรที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อนหน้า ตลาดแรงงานปรับแย่ลงจากการจ้างงานในภาคบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ภาคการค้า ยานยนต์ และก่อสร้าง สอดคล้องกับสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น
ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และการค้า ขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนส่ง รวมถึงการระดมทุนผ่านสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และร้านอาหาร
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2567 เฉลี่ยอ่อนค่าลงตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น