หุ้นวิชั่น-ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน ภาวะตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2/2568 ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่แพ้ไตรมาส 1/2568 ที่นอกจากจะมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของสงครามการค้าฯ และสงครามในตะวันออกกลาง ในประเทศเองก็เผชิญกับแผ่นดินไหวเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งปิดทำการซื้อขายทุกตลาด ทั้ง SET mai TFEX ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.2568 ก่อนแจ้งเปิดการซื้อขายตามปกติในวันจันทร์ที่ 31 มี.ค.2568 แต่ด้วยความกังวลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ช่วงเปิดตลาดภาคเช้าดัชนีฯ ปรับตัวลงทันที โดยทำระดับต่ำสุดเอาไว้ที่ 1,155.05 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 ปี (นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563) ถือเป็นสถิติไตรมาสแรกที่ดูไม่สวยเท่าใดนัก
ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2568 นักวิเคราะห์ฯ ได้มีการประเมินกรอบดัชนีหุ้นไทย ต่ำสุดไว้ที่ 1,080-1,100 จุด และมีแนวต้านสูงสุดที่ 1,350 จุด ซึ่งปัจจัยกดดันยังเป็นเรื่องของสงครามการค้าฯ ที่มีโอกาสทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยหนุน อย่างการเสนอขายของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thailand ESG Extra Fund : Thai ESGX) คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาพยุงหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 2 นี้
พร้อมแนะกลยุทธ์นักลงทุน ลงทุนในหุ้นรายตัว ที่ผลการดำเนินงานยังมีการเติบโตดี รวมถึงหุ้นปันผลสูง และหุ้น Value Play
บล.พาย มอง SET ไตรมาส 2 ไร้สัญญาณบวก
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2/2568 ยังไม่เห็นสัญญาณบวก เนื่องจากเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ยังเติบโตในระดับต่ำ โดยเครื่องยนต์ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักยังดูอ่อนแอ ทั้งการบริโภคที่โตต่ำราว 3-4% จากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งคิดเป็น 89% ของ GDP ส่งผลกระทบมายังการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวออกไป
ขณะที่การส่งออก และการท่องเที่ยว เผชิญแรงกดดันจากมาตรการทางภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตราสูงถึง 25% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.5% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เม.ย. และจะเริ่มดำเนินการเก็บภาษีในวันที่ 3 เม.ย.นี้ รวมถึงประกาศเก็บภาษีตอบโต้กับทุกประเทศ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ เดือนม.ค.-ก.พ.2568 สหรัฐมีการเร่งการนำเข้า ทำให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตดี แต่มองว่าจากนี้ไปการส่งออกที่เคยเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก อาจไม่ถึงแล้ว
ส่วนภาคการท่องเที่ยว เจอผลกระทบจากแผ่นดินไหว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอการเข้ามาประเทศชั่วคราว ขณะที่ภาพรวม 3 เดือนแรกโตได้เพียง 3% จากทั้งปีตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 38-39 ล้านคน มองว่าอาจไปไม่ถึงเป้าหมายดังกล่าว
“การลงทุนในไตรมาส 2/2568 เป็นภาวะซึมๆ จากมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่คอยกดดันภาพรวม และเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในระดับต่ำ โดยสภาพัฒน์ ได้คาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตเหลือเพียง 2.1% และอาจเห็นการปรับลดคาดการณ์ของสำนักวิจัยอื่นเพิ่มเติมด้วย”
*Sector หลักไร้แรงขับเคลื่อน
กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่เป็น Sector ใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ภาพรวมในไตรมาส 2/2568 ยังไม่ดี เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากสงครามการค้าฯ ซึ่งจะคาดหวังให้เป็นตัวที่ผลักดันตลาดนั้นเป็นไปได้ยากมาก
กลุ่มสื่อสาร คาดผลการดำเนินงานทรงตัว เป็นไปตาม GDP
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองกลาง-ลบเล็กน้อย แม้ว่าราคาหุ้นไม่แพง และมีปันผลดี แต่การเติบโตไม่เด่น โดยเฉพาะในแง่ของสินเชื่อธนาคารที่ไม่โต จากการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการเติบโตจะมาจากการลดค่าใช้จ่าย การตั้งสำรองฯ ที่ลดลง
กลุ่มค้าปลีก ยังดูเหนื่อย แนะนำให้ดูเป็นรายตัว เช่น กลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งบ้าน จากความต้องการซ่อมบ้านหลังแผ่นดินไหว
กลุ่มท่องเที่ยว ยังยากที่จะเติบโต จากคาดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยน้อยลงกว่าเป้าหมาย
ให้กรอบแนวรับไว้ที่ 1,100 จุด และแนวต้าน 1,250 จุด เนื่องจากกังวลว่านโยบายภาษีของทรัมป์จะรุนแรงขึ้น แต่ก็มีความหวังจากกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thailand ESG Extra Fund : Thai ESGX) ที่เตรียมเสนอขายในไตรมาส 2/2568 เข้ามาพยังหุ้นไทย
*ชู 4 หุ้นเด่น ผลงานโต
นายวทัญ แนะกลยุทธ์การลงทุน เน้นลงทุนหุ้นเป็นรายตัว ที่มีผลประกอบการดี และมีปันผล ประกอบด้วย
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ BBL ราคาเป้าหมายที่ 172 บาท, KBANK ราคาเป้าหมาย 180 บาท
Commerce ได้แก่ CPALL ราคาเป้าหมาย 80 บาท
ศูนย์การค้า ได้แก่ CPN ราคาเป้าหมาย 80 บาท
บล.หยวนต้า ลุ้น SET ฟื้นครึ่งหลัง Q2
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในไตรมาส 2/2568 ตลาดหุ้นไทยยังโดนกดดันจากสงครามการค้าฯ, การขึ้นเครื่องหมาย XD ของหุ้นขนาดใหญ่หลายตัว และ Sell in May ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าตลาดหุ้นในเดือนพ.ค.มักจะปรับตัวลงบ่อยครั้ง ทำให้ SET น่าจะเคลื่อนไหว “ทรงตัว” ในช่วงครึ่งไตรมาส และน่าจะปรับตัวขึ้นได้ในครึ่งหลังของไตรมาส 2 นี้ เป็นผลจากคาดการณ์ที่ว่า บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จะรายงานผลการดำเนินงาน หรือกำไรออกมาดี รับอานิสงค์จากมาตรการ Easy E-Receipt และการส่งออกในไตรมาส 1/2568 ที่เติบโต ขณะเดียวกันยังมีแรงหนุนจากกองทุน Thai ESGX ที่คาดหวังจะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาราว 1-2 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้
ให้กรอบแนวรับไว้ที่ 1,100-1,150 จุด และแนวต้าน 1,250-1,300 จุด มองว่าหากผ่านพ้นสงครามการค้าฯ ไปได้ มีโอกาสที่ SET จะเด้งสูง และตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเกณฑ์ควบคุม Naked Short Selling คาดช่วงจำกัดดาวไซด์
แนะลงทุน 6 หุ้น ธีมปันผลสูง (Dividend Plays) และ Value Play ได้แก่
3BBIF
CPALL
GULF
LH
PTTGC
BAM
บล.ทิสโก้ ลุ้น SET เด้งหลังสงกรานต์ ชี้ต้นเดือนเม.ย.จังหวะเหมาะสะสมหุ้น
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมาแล้วกว่า -17% ในช่วงหลังจากนี้บล.ทิสโก้มองว่าดัชนีหุ้นไทยจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนทั้งในและต่างประเทศ คือ
การซื้อหุ้นคืน - นับตั้งแต่ต้นปี มีบริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่งประกาศซื้อคืนหุ้นรวมวงเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าในปีที่แล้วทั้งปี บล. ทิสโก้มองส่งผลดีต่อราคาหุ้นโดยตรงและแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
TESGX - ถึงแม้บล. ทิสโก้ไม่ได้คาดว่าจะมีเม็ดเงินจาก LTF สูงถึง 3 ใน 4 หรือ 75% แปลงเป็น TESGX และมีเม็ดเงินลงทุนใหม่ราว 2-3 หมื่นล้านบาทไหลเข้า TESGX เหมือนกับที่ทางการประเมินไว้ แต่ก็น่าจะช่วยพยุงตลาดได้ไม่มากก็น้อยในระยะสั้น
แนวโน้มสภาพคล่องเพิ่มขึ้น – นอกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะลดปริมาณการลดสภาพคล่องในระบบลง (QT Tapering) จากเดิมเดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เหลือเดือนละ 5 พันล้านดอลลาร์ฯ สภาพคล่องมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงไตรมาส 2 นี้หลังจากที่หนี้สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นชนเพดานแล้ว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีแต่การใช้จ่ายเงินออกไปจากบัญชีเงินฝากหลัก (TGA) ภาพนี้จะคล้ายกับช่วงปี 2566 ที่หนี้สหรัฐฯ ขึ้นชนเพดาน ทำให้สภาพคล่องในระบบสูงขึ้นและสามารถขับเคลื่อนหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 8% ในช่วงไตรมาส 2 ของเวลาดังกล่าว
การผลักดันร่างกฎหมายลดภาษีของสหรัฐฯ - พรรครีพับลิกันเตรียมผลักดันร่างกฎหมายลดภาษีมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ควบคู่กับการตัดงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในระยะ 10 ปี คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าในช่วงไตรมาส 2 นี้ และมีผบบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้
“ปกติในช่วงครึ่งแรกเดือนเม.ย. จะเป็นช่วงที่มีวันหยุดต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนมักเลือกชะลอการลงทุนชั่วคราว อย่างไรก็ดีหลังผ่านพ้นช่วงหยุดยาว บล.ทิสโก้ คาดว่านักลงทุนจะกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงครึ่งเดือนหลัง ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยหลังสงกรานต์มักกลับมาคึกคักขึ้น จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงหลังสงกรานต์นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา SET Index มีโอกาสสูงถึง 74% ที่จะปรับตัวขึ้น และให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย +1.4% ผสานกับช่วงครึ่งเดือนแรกคาดจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์และซึมซับในราคาหุ้นมากแล้ว เพราะฉะนั้นนักลงทุนอาจหาจังหวะทยอยสะสมในช่วงครึ่งเดือนแรก เพื่อหวังผลในช่วงครึ่งเดือนหลัง” นายอภิชาติ กล่าว
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้แนะนำเลือกลงทุนหุ้นที่แนวโน้มงบไตรมาส 1/2568 เติบโต ได้รับผลกระทบจำกัดจากสงครามการค้า แนะนำ BJC, CPN, EKH ผสานกับหุ้นที่คาดว่าจะมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุนราคาหุ้น Outperform ในระยะสั้น เด่น AEONTS, HMPRO, PTTEP, SCCC ดังนั้น
หุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้ แนะนำในเดือน เม.ย. คือ AEONTS, BJC, CPN, EKH, HMPRO, PTTEP และ SCCC ด้านแนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้อยู่ที่ 1,150 - 1,100 จุด และแนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,190 - 1,200 จุด ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองในช่วงนี้ คือ ในวันที่ 2 เม.ย.2568 สหรัฐฯ จะประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีดังกล่าว เพราะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และมีส่วนต่างของภาษีกับสหรัฐฯ ในระดับค่อนข้างสูง โดยหากสหรัฐฯ บังคับใช้ Reciprocal Tariffs กับประเทศไทยด้วยการขึ้นภาษีโดยเฉลี่ยราว 5% (อิงมาจากส่วนต่างของอัตราภาษีที่ไทยเรียกเก็บสูงกว่าสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย) คาดจะส่งผลกระทบเชิงลบ (Downside Risk) ต่อ GDP ไทยในปีนี้ราว 0.3-0.5% จาก GDP ปีนี้ที่ บล.ทิสโก้คาดว่าจะโต 2.8%
อย่างไรก็ดีสัญญาณล่าสุดจากทรัมป์ระบุว่า Reciprocal Tariffs จะมีความยืดหยุ่นและในมุมมองของบล.ทิสโก้เชื่อว่าจะถูกใช้แบบเฉพาะในกลุ่มสินค้าหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Targeted Tariffs) มากกว่าที่จะใช้เป็นวงกว้างในทุกกลุ่มสินค้า (Broad-based Tariffs) และอาจเปิดช่องในการเจรจาด้วยการทิ้งระยะเวลาการมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 30 วันอย่างที่เคยทำมาในช่วงต้นปีนี้
ด้านทางเลือกการลงทุนหุ้นต่างประเทศ ภาพรวมตลาดหุ้นโลกในเดือนที่ผ่านมาเริ่มเผชิญแรงเทขายโดยเฉพาะในหุ้นสหรัฐฯ (NASDAQ -8% และ S&P500 -6%) และบล.ทิสโก้มองว่าในเดือน เม.ย. มีความไม่แน่นอนสำคัญคือการขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้นานาประเทศของทรัมป์ในวันที่ 2 เม.ย. ทำให้บล.ทิสโก้มองว่าช่วงต้นเดือนจะเป็นจังหวะในการสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่สามารถผ่านสงครามการค้าได้และมีความสามารถในการแข่งขันสูง เช่น BYD และบล.ทิสโก้ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีน (SHCOMP +0.45%) และฮ่องกง (HSI +0.78%) เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทำให้ DR แนะนำของบล.ทิสโก้ในเดือนนี้ ได้แก่ BYDCOM80 และ HK01
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด SET โอกาสฟื้นแตะ 1,300-1,350 จุด ใน Q2/68
นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า แม้ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความไม่แน่นอนด้านภาษีการค้า แต่ Valuation ที่ปรับตัวลงต่ำกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 ทำให้เริ่มกลับมาน่าสนใจในแง่มูลค่า โดยคาดว่า SET Index มีโอกาสฟื้นขึ้นที่ระดับ 1,300 -1,350 จุดในช่วงไตรมาส 2/2568
InnovestX แนะนำให้นักลงทุนเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง มีรายได้หลักจากในประเทศ และได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หุ้นเด่นที่แนะนำในไตรมาสนี้ ได้แก่ BCH กลุ่มโรงพยาบาลเชิงรับ พร้อมรายได้จากในประเทศ CPALL, CPF หุ้นบริโภคในประเทศที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัว KTB, TRUE กลุ่มธนาคารและเทคโนโลยีที่มีความแข็งแกร่ง
สำหรับต่างประเทศ แนะนำลงทุนในตลาดจีนและ Emerging Markets ที่ได้รับแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ โดยเน้นไปที่บริษัทที่มีเงินปันผลสูง มีสัดส่วนรายได้ภายในประเทศสูงและมีลักษณะเชิงรับ ได้แก่ Verizon, UnitedHealth, Iberdrola, Hong Kong Exchange, Trip.com, Tencent, Alibaba
นายรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงาน Wealth Products & Strategy บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ไตรมาส 2/2568 ตลาดการลงทุนยังเผชิญความผันผวนสูงจากมาตรการภาษี Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลก แม้ภาคเทคโนโลยียังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจถูกกดดันจากความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง ทำให้ InnovestX แนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากมีความน่าสนใจลดลง และมีความเห็นเป็นกลางกับหุ้นไทยแต่เริ่มมอง downside จำกัดและมีโอกาสฟื้นตัวได้ระยะสั้น ขณะเดียวกันมีมุมมองด้านบวกสำหรับตลาดจีน โดยเฉพาะหุ้น A-Shares เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐและการหันกลับมาสนับสนุนภาคเอกชน และสำหรับตลาดเวียดนามจากประเด็นโอกาสการยกระดับตลาดหุ้นขึ้นสู่ Emerging market พร้อมแนะนำกระจายพอร์ตสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ ซึ่งมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในภาวะความผันผวนสูง
ทั้งนี้ หุ้นเชิงรับ (Defensive Stocks) อย่าง Healthcare และ Utility คาดว่าจะยังคงให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นเติบโต (Growth Stocks) โดยนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงสามารถพิจารณากองทุนตราสารหนี้ เช่น UGIS-N ควบคู่กับกองทุนหุ้นต่างประเทศ อย่างหุ้นจีน A-Sharesกองทุน KFCSI300-A และหุ้นเวียดนาม กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A รวมถึงกองทุนหุ้นเชิงรับอย่าง LHHEALTH-A ซึ่งเน้นกลุ่ม Healthcare เพื่อสร้างสมดุลพอร์ตในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน
บล.กรุงศรี มอง Q2/68 อาจเห็น SET เจอฐาน และค่อยๆ ฟื้นตัว
ทีมกลยุทธ์ บล.กรุงศรี ประเมิน SET ไตรมาส 2/2568 เจอฐาน และ ค่อยๆ ฟื้นตัว โดยมีกรอบแนวรับ 1,130-1,080จุด แนวต้าน 1,268-1,340 จุด แนะนำถือน้ำหนักหุ้นไทย 50% , หุ้นต่างประเทศลดลงเหลือ 20% พันธบัตร 20% และสินทรัพย์ทางเลือก 10%
ปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย
มาตรการระยะสั้น : กองทุน ThaiESGX รองรับเงินจาก LTF ที่ครบก าหนด 1.6 แสนล้านบาท บรรเทา Overhang ในตลาด
มาตรการระยะกลาง-ยาว: ThaiESGX พิเศษ (พ.ค.-มิ.ย. 2025), กองทุน TISA และ "หวยเกษียณ" สร้างฐานเงินลงทุนระยะยาว
นโยบายการเงิน-การคลังที่สอดประสาน: ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย, มาตรการ "คุณสู้เราช่วย", การผ่อนปรน LTV
การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital Wallet เฟส 3 และเร่งประมูลโครงการขนาดใหญ่
การลงทุนจากต่างชาติในโครงการ Data Center (สิงคโปร์, จีน, สหรัฐ) หนุน New S Curve
แนะนำลงทุน 3 ธีมหลัก
Deep Value Stocks ที่มีส่วนลดเทียบค่าเฉลี่ยระยะยาวสูง มีความมั่นคง และมี ESG Score ที่ดี
Thailand Structural Reform หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
Thailand New Investment Cycle ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S Curve
โดยมีหุ้นเด่นในไตรมาส 2/2568 ได้แก่ BDMS, CPALL, MINT, KBANK, MTC, LH, ADVANC
ส่วน Mid-Small Cap Play : BCH, BTS, JMT, ERW, AMATA
ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม
Trade War 2.0 ที่อาจรุนแรงเกินคาด ส่งผลต่อเงินเฟ้อและการลดดอกเบี้ยของ Fed
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดตั้งแต่ 22 มี.ค.2568
ประเด็นการส่งกลับชาวอุยกูร์ กระทบการเจรจา FTA กับสหรัฐและยุโรป
หนี้ครัวเรือนระดับสูง 85-90% ของ GDP เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภค
นักท่องเที่ยวจีนเสี่ยงต่ำกว่าเป้า จากประเด็นความปลอดภัยและปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ดัชนีเป้าหมายสำหรับ SET ในปีนี้ กำหนดไว้ที่ 1,418 จุด (ปรับลดจาก 1,660 จุด) โดยใช้สมมติฐานกำไรตลาดปี 2567 ที่ 90 บาทต่อหุ้น (ปรับลดจาก 95 บาท) ตามหลักอนุรักษ์นิยมเพื่อสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันการค้าต่อราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ ได้มีการปรับลด Target PER เหลือ 15.7 เท่า จากเดิม 17.3 เท่า อันเนื่องมาจากภาพเม็ดเงินลงทุนภายในที่อยู่ในช่วงรอยต่อเพื่อฟื้นตัวจากโซนฐานแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับตลาดในระยะถัดไป