KTB รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 11,107 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปี กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 9.4% อยู่ที่ 33,381 ล้านบาท เน้นบริหาร Portfolio อย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมการเงินและร่วมยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank เพื่อเตรียมความพร้อมรับอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เผยภาพรวมผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3/2567
เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเป็นการขยายตัวที่ไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-shaped Economy โดยมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก และได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดภาระค่าใช้จ่าย และการเพิ่มรายได้ให้กับภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตและภาคการส่งออกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่ส่วนใหญ่ยังคงเปราะบางและขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวจึงทำให้ฟื้นตัวได้ช้า ส่วนภาคครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2567 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 11,107 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินทรัพย์ รักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 184.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 181.3 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ทั้งนี้สินเชื่ออยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการบริหารจัดการ Portfolio รักษาสมดุลด้านความเสี่ยงและผลตอบแทน แม้มีกำรชำระคืนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 2.8 บริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.4 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสมใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา รองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 98,301 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.1 จากสิ้นปี 2566 มี NPLs Ratio เท่ากับร้อยละ 3.14
เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยืดหยุ่นและระมัดระวัง บริหารจัดการ Portfolio เพื่อรักษาสมดุลและมีคุณภาพ ส่งผลให้รายได้รวมจากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 4.3 ธนาคารบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.4 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม
ภาพรวมผลประกอบการสำหรับช่วงเก้าเดือนของปี 2567
ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 33,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน บริหารจัดการ Portfolio อย่างสมดุลและมีคุณภาพ ประกอบกับการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งจากหนี้สูญรับคืน ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานขยายตัวร้อยละ 9.9 ธนาคารได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 42.5 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายอย่างระมัดระวัง โดยธนาคารตั้งค่าเผื่อด้อยค่าทรัพย์สิน
รอการขายตามศักยภาพของทรัพย์สินอย่างเหมาะสม อีกทั้งธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ครอบคลุมลูกค้าในทุกภาคส่วน และเพื่อเตรียมความพร้อมรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่เหมาะสม ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
ณ 30 กันยายน 2567 ธนาคาร (งบเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 18.95 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้นร้อยละ 20.97 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอโดยรักษาระดับของ Liquidity Coverage ratio (LCR) อย่างต่อเนื่อง สูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด
ธนาคารกรุงไทย ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” ล่าสุด ธนาคารได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศอีกครั้ง โดยบริษัท กรุงไทย เวนเจอร์ส จำกัด (Krungthai Ventures) บริษัทเงินร่วมลงทุนภายใต้ธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมลงทุนในบริษัท เสิร์ชเอ็นจินอ็อปทิไมเซชั่น จำกัด ผู้ก่อตั้งโกเธอร์ (Gother) แพลตฟอร์มบริการท่องเที่ยวออนไลน์ของไทย เชื่อมต่อ Ecosystem ที่แข็งแกร่งของธนาคาร ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และแอปฯ เป๋าตัง พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย และ SMEs ให้เติบโตแข็งแกร่ง อีกทั้ง ธนาคารยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเงิน สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างมีคุณภาพของคนไทยและธุรกิจไทย ลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารตระหนักถึงสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง ธนาคารได้เร่งบรรเทาความเดือดร้อนในการดำรงชีพและออกมาตรการทางการเงินเพื่อลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประสบภัย ครอบคลุมการลดดอกเบี้ยและลดค่างวดชำระหนี้ พร้อมเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพ ตลอดจนการซ่อมแซมทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย
ธนาคารมุ่งมั่นขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการดำรงชีพของลูกค้าประชาชน และเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จึงเดินหน้าขยายความร่วมมือเพิ่มเติม ภายใต้ “โครงการรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน” โดยมีความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ กำลังพล สหกรณ์ข้าราชการ สหกรณ์จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น และอยู่ระหว่างขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบาง ลดภาระทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่องในการดำรงชีพ พร้อมส่งเสริมความรู้ สร้างวินัยทางการเงิน ตามแนวทางการแก้หนี้ยั่งยืน และแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย