KBANK กำไร 9 เดือนแรกพุ่ง 15.41% แตะ 38,104 ล้านบาท

          ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK  เผยกำไร 9 เดือนแรกปี 2567 พุ่ง 15.41% จากการเติบโตของรายได้สุทธิและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตั้งสำรองอย่างระมัดระวังเพื่อรองรับความเสี่ยง NPL อยู่ที่ 3.20% แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ธนาคารยังคงมุ่งมั่นขยายธุรกิจและดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

          ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานต่อหลักทรัพย์ ว่าไตรมาส 3 ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,965 ล้านบาท ลดลงจำนวน 688 ล้านบาท หรือ 5.43% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลัก ๆ เกิดจากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ส่วนใหญ่จากธุรกิจประกัน อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียมรับของบริการการค้าระหว่างประเทศ และค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ประกอบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง และธนาคารมีการยกระดับกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ 3.61% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิที่เพิ่มจากการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อธนาคารเพียงในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการดังกล่าว อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 21,501 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนจากการที่ธนาคารยังคงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการตั้งสำรอง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) มีจำนวน 11,652 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นไปตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ

          สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 85,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 3,861 ล้านบาท หรือ 4.75% เป็นผลจากรายได้จากการดำเนินงานสุทธิเติบโตจำนวน 7,501 ล้านบาท หรือ 5.29% สูงกว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวน 3,640 ล้านบาท หรือ 6.02% ตามการขยายตัวของปริมาณธุรกิจ แม้ว่าการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) จะลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงตั้งสำรองฯ ตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง รองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงได้ตั้งสำรองฯ สำหรับไตรมาส 3 ปี 2567 จำนวน 11,652 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ส่งผลให้กำไรสุทธิมีจำนวน 38,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 5,087 ล้านบาท หรือ 15.41% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

          รายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 149,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 7,501 ล้านบาท หรือ 5.29% โดยมีรายการหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่มีจำนวน 113,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 3,436 ล้านบาท หรือ 3.14% ตามภาวะตลาด โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกค้าสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ 3.66%

          รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีจำนวน 24,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,178 ล้านบาท หรือ 4.98% เติบโตหลัก ๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการบริหารความมั่งคั่งผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งของธนาคารและบริษัทย่อย รวมทั้งพันธมิตร และค่าธรรมเนียมรับจากการให้บริการด้านเครดิต นอกจากนี้ มีการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน และรายได้จากการลงทุน รวมทั้งรายได้จากการปริวรรตเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 36,229 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจำนวน 4,065 ล้านบาท หรือ 12.64%

          ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 64,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 3,640 ล้านบาท หรือ 6.02% จากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขยายช่องทางการให้บริการลูกค้า และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามการขยายตัวของปริมาณธุรกิจ โดยธนาคารและบริษัทย่อยยังคงมุ่งเน้นการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เกิดความคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.95% ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน

          ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,367,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 จำนวน 83,469 ล้านบาท หรือ 1.95% หลัก ๆ จากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินด้านสินทรัพย์มีจำนวน 663,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 94,449 ล้านบาท หรือ 16.60% จากการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อสุทธิมีจำนวน 2,321,531 ล้านบาท ลดลงจำนวน 49,961 ล้านบาท หรือ 2.11% จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ สะท้อนการบริหารความสมดุลของความเสี่ยงและผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้มีประสิทธิผลสูงสุดอย่างระมัดระวังรอบคอบ สำหรับเงินให้สินเชื่อธุรกิจที่ไม่มีหลักประกันบางส่วนที่หยุดดำเนินการ ธนาคารจึงมีแผนการขายในอนาคตและได้โอนย้ายไปเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน รวมทั้งมีแผนให้บริษัทย่อยของธนาคารจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์จำกัด (มหาชน) (BAM) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามที่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

          สำหรับเงินรับฝากมีจำนวน 2,770,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 70,558 ล้านบาท หรือ 2.61% ส่งผลให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 87.85% ทั้งนี้ หากไม่รวมปริมาณเงินรับฝากที่เพิ่มในระยะสั้น อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.20% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น และพิจารณาดำเนินการตั้งสำรองฯ อย่างเพียงพอตามหลักความระมัดระวัง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 150.72% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 20.58%

          กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3 ปี 2567 ยังมีภาพการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการลงทุนและการบริโภคของครัวเรือนที่มีแรงกดดันจากด้านต้นทุน ภาระหนี้สิน รวมถึงกระแสรายได้ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถประคองแนวโน้มการขยายตัวได้ แต่ต้องติดตามผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมและความผันผวนของค่าเงินบาท ตลอดจนแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสัญญาณการฟื้นตัวช้าของการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่าง ๆ ธนาคารกสิกรไทยยังคงมุ่งเน้นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 3+1 เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

SEAFCO ยืนหนึ่งฐานราก ขึ้นค่าแรงไม่เป็นปัญหา

SEAFCO ยืนหนึ่งฐานราก ขึ้นค่าแรงไม่เป็นปัญหา

BIZ ลุ้นเซ็นงานใหม่ 500 ล้านบาทใน Q1/68 หนุนรายได้โต 10%

BIZ ลุ้นเซ็นงานใหม่ 500 ล้านบาทใน Q1/68 หนุนรายได้โต 10%

GULF – INTUCH ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ ADVANC และ THCOM วันที่ 25 ธ.ค.นี้

GULF – INTUCH ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ ADVANC และ THCOM วันที่ 25 ธ.ค.นี้

UAC รับสินเชื่อ 100 ลบ. จาก ธ.อิสลาม เดินหน้าลงทุนต่อในอินโดฯ และลาว

UAC รับสินเชื่อ 100 ลบ. จาก ธ.อิสลาม เดินหน้าลงทุนต่อในอินโดฯ และลาว

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด