หุ้นวิชั่น – ATP30 ไขปมความปลอดภัยรถบัส รับส่งพนักงาน จากปาก คุณปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งพนักงาน โดยให้บริการรถรับ-ส่งจากที่พักไปยังโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการในประเทศไทย โดยธุรกิจหลักแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริการขนส่ง (Transport Services) ให้บริการรับ-ส่งพนักงานตามเส้นทางที่กำหนดในเขตนิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบการต่างๆ ผ่านยานพาหนะหลากหลายประเภท เช่น รถบัส รถตู้ รถมินิบัส และรถกระบะ
บริการบริหารจัดการ (Management Services) ให้บริการบริหารจัดการด้านการขนส่งและยานพาหนะ รวมถึงการบริหารกองรถสำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่ง บริการให้เช่ายานพาหนะ (Vehicle Rental Services) ให้เช่ารถสำหรับการขนส่งพนักงานหรือการใช้งานในกิจการต่าง ๆ รวมถึงบริการเช่ารถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการนำเสนอโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จุดเด่นและความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการยานพาหนะจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีการให้บริการด้วยกองรถที่ประกอบด้วย บริษัทมีลูกค้าจำนวน 68 ราย โดยมีรถโดยสารที่ให้บริการทั้งสิ้น จำนวน 687คัน ประกอบด้วย รถบัสโดยสาร จำนวน 267 คัน รถมินิบัสโดยสาร จำนวน 51 คัน รถตู้/รถตู้ วีไอพีโดยสาร จำนวน 359 คัน รถไฟฟ้าโดยสาร จำนวน 8 คันและรถกระบะให้บริการ จำนวน 2 คัน และยังมี Backlog สำหรับรายได้ค่าบริการที่ยังไม่ได้รับรู้ 1,500 ล้านบาท ของสัญญาคงเหลือ
นายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวหุ้นวิชั่นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถบัสและรถรับส่งพนักงานในประเทศไทย โดยกล่าวถึงความเข้มงวดในการออกกฎหมายและมาตรการควบคุมด้านความปลอดภัยมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาเกิดเหตุเพลิงไหม้จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
มาตรการในการตรวจสอบความปลอดภัยของผู้ประกอบการควรได้รับการพิจารณาและนำไปปฏิบัติในระดับเบื้องต้นก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายในระดับประเทศ เพราะปัจจุบันการตรวจสอบยังไม่สามารถครอบคลุมทั่วประเทศได้ เนื่องจากมีรถให้บริการหลายลักษณะและมีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงควรให้ความสำคัญกับมาตรการของผู้ประกอบการในการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงภายในองค์กรให้ดียิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการควรมีการตรวจเช็ครถอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงฝึกอบรมพนักงานขับรถให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูงสุด เพื่อให้บริการมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
มาตรการด้านความปลอดภัยของรถโดยสารที่บริษัทให้ความสำคัญ โดยมาตรการนี้ครอบคลุมถึงการตรวจสอบอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ภายในรถอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสาร และการตรวจสอบอุปกรณ์ภายในรถโดยสาร เช่น เครื่องดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน และระบบความปลอดภัยอื่น ๆ ควรได้รับการตรวจเช็คอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีฉุกเฉิน
ขณะที่ การตรวจสอบระบบรถโดยสารในส่วนอื่น ๆ ควรดำเนินการเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบระบบหล่อเย็น น้ำมันเครื่อง การรั่วซึมของของเหลวต่าง ๆ และแรงดันลมยางก่อนออกให้บริการทุกครั้ง สำหรับ การตรวจสอบรายเดือน ควรครอบคลุมถึงสภาพของยางรถยนต์ ประตูฉุกเฉิน ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ และอุปกรณ์ในห้องโดยสาร เช่น เข็มขัดนิรภัย เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ การตรวจสอบพฤติกรรมของพนักงานขับรถก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและการให้บริการที่ดีที่สุด มาตรการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี
นายปิยะ กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางธุรกิจในช่วงที่เหลือปี 2567 ค่อนข้างมั่นใจว่าจะเติบโตดีพอสมควร เพราะบริษัทจะมีลูกค้าใหม่เข้ามา บริษัทได้รับสัญญาบริการรับส่งพนักงานของโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ 4 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท สยามไอซิน จำกัด โดยจะเริ่มให้บริการส่งบุคลากร เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 จนถึง 30 กันยายน 2572 ด้วยรถบัส จำนวน 10 คัน และรถตู้จำนวน 2 คัน
บริษัท ไดกิ้น คอมเพรสเซอร์ อินดัสทรีย์ จำกัด โดยจะเริ่มให้บริการรับส่งบุคลากร เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จนถึง 31 ตุลาคม 2570 ด้วยรถบัส จำนวน 10 คัน บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด โดยจะเริ่มให้บริการส่งบุคลากร เป็นระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 จนถึง 30 พฤศจิกายน 2572 ด้วยรถบัสไฟฟ้า จำนวน 4 คัน และ บริษัท เอ็นเอส สยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด โดยจะเริ่มบริการรับส่งบุคลากร เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ด้วยรถตู้ จำนวน 6 คัน
บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อปิดดีลกับลูกค้าใหม่อีก 2-3 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในต้นปี 2568 โดยบริษัทมีแผนที่จะมุ่งเน้นการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าหรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้น
ในปี 2568 บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าอีก 20 คัน เพื่อสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตระหนักถึงการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับหลักการและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) มาโดยตลอด
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในแบบ 56-1 One Report ประจำปี 2567 ซึ่งได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ตรวจสอบอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียน ฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร (CFO) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 495.59 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 33.12 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 632.45 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 29.17 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 รายได้รวมเพิ่มขึ้นอีกเป็น 671.48 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 28.98 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 353.78 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.50 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวและแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น แม้กำไรสุทธิจะยังมีการปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่บริษัทยังคงรักษาระดับรายได้ให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ
รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision