BCH คาดไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ จะช่วยผลักดันรายได้กลับมาฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบจากรายได้ประกันสังคมที่ลดลงในไตรมาส 2 พร้อมเดินหน้าขยายโรงพยาบาลรับดีมานด์เพิ่ม
ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH เปิดเผยว่า การบันทึกรายได้จากสำนักงานประกันสังคมในกลุ่ม high cost care (RW ≥ 2) ที่ไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 7,200 บาท/RW จากเดิม 12,000 บาท/RW ส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของบริษัทประมาณ 80 ล้านบาท โดยผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2567 และไม่มีผลกระทบในไตรมาส 3/2567 ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ มียอดผู้ป่วยทั้ง IPD และ OPD ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคตามฤดูกาล และแนวโน้มที่ผู้รับบริการใส่ใจดูแลสุขภาพและความงามมากขึ้น ประกอบกับการดำเนินการตามแผนงานของศูนย์การแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ ทำให้จำนวนผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเครือ BCH เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การขยายระยะเวลาของโครงการความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วยการผ่าตัด 5 กลุ่มโรค และการเข้าร่วมการตรวจสุขภาพเชิงรุกให้แก่ผู้ประกันตน จะช่วยเพิ่มรายได้จากการผสมผสานระหว่างรายได้จากผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยในโครงการประกันสังคม
บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่รักษามาตรฐานสูง พร้อมทั้งพิจารณาเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เช่น บริการ Telemedicine และการขยายฐานผู้ป่วยผ่านการขยายโรงพยาบาลในพื้นที่แห่งใหม่ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่ในโรงพยาบาลเดิม เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตในอัตราเลขหลักเดียวระดับสูง (High Single Digit)
สำหรับการขยายโรงพยาบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีจำนวนเตียงจดทะเบียนประมาณ 268 เตียง ใช้งบลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนจากเงินสดภายในกิจการและเงินกู้ยืมระยะยาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงที่ดินและยื่นขอรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 และเปิดให้บริการในต้นปี 2570
ส่วนโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ระยอง บริษัทได้ซื้อที่ดินขนาดประมาณ 30 ไร่ ในอำเภอเมือง จังหวัดระยอง มูลค่ารวม 180 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกิจการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ระยอง ตามแผนขยายธุรกิจ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2569 และเปิดให้บริการภายในปี 2571 ซึ่งจังหวัดระยองมีจำนวนผู้ประกันตนประมาณ 517,000 ราย และมีจำนวนเตียงอยู่ที่ 24 เตียงต่อประชากร เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มี 55 เตียงต่อประชากร สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ นอกจากนี้ จังหวัดระยองยังตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้บริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการตั้งโรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าว