บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) [STA]
- ประกอบธุรกิจยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแบบครบวงจร
- ผลิตและส่งออกยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น และถุงมือยาง
- เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่สุดในประเทศและอันดับต้นๆของโลก
Key Highlights
- ดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ของอุปสงค์ทั่วโลก ตั้งแต่ธุรกิจสวนยางพารา ผลิตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น รวมถึงถุงมือยางและท่อไฮดรอลิกแรงดันสูง โดยมียางแท่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักมากกว่า 70%
- ขยายกำลังการผลิตมากกว่า 4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568 โดยเป็นส่วนของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ไปในโรงงานผลิตอีก 5 ที่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่ยังมีต่อเนื่อง
- เสนอขายหุ้นกู้ 5 ชุด เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จองซื้อ 31 มกราคม 2568 และ 3-4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยชุดที่ 1 อายุ 2 ปี เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย) และชุดที่ 2-5 เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยระหว่าง 3.4% – 4.0% ต่อปี ตามอายุ 3, 5, 8, 10 ปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยบริษัทไม่มีประวัติการเลื่อนหรือผิดนัดชำระหุ้นกู้
รู้จัก “ศรีตรัง” ผู้ประกอบธุรกิจยางพาราครบวงจรรายใหญ่ต้นๆของโลก
บริษัทยางพาราแห่งแรกในไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA) ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 เริ่มต้นประกอบธุรกิจผลิตยางแผ่นรมควัน ต่อมาเริ่มผลิตน้ำยางข้น ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ และขยายประเภทผลิตภัณฑ์ครอบคลุมยางแท่งตามลำดับ จนในปี 2534 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาได้ขยายแหล่งจัดจำหน่ายและฐานการดำเนินธุรกิจไปในต่างประเทศ และได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ในปี 2554 ถือเป็นบริษัทยางพาราจดทะเบียนไทยแห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนใน SGX
ธุรกิจยางธรรมชาติแบบครบวงจร (Fully Integrated Natural Rubber Company)
ปัจจุบัน ธุรกิจของศรีตรังครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ด้วยการมีพื้นที่เพาะปลูกสวนยางพาราและพืชเศรษฐกิจอื่น ครอบคลุมกว่า 47,000 ไร่ ใน 19 จังหวัดทั่วประเทศ และธุรกิจกลางน้ำ อย่างการผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติขั้นพื้นฐานทุกประเภท เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น ด้วยกำลังการผลิตกว่า 3.8 ล้านตันต่อปี จากจำนวน 36 โรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และประเทศไอวอรี่โคสต์ รวมถึง เมียนมา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางที่มีศักยภาพ ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำ ที่ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ รวมถึงจำหน่ายถุงมือยางไนไตรล์ที่ใช้ในทางการแพทย์และทางอุตสาหกรรมไปในมากกว่า 175 ประเทศทั่วโลก ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง (Installed Capacity) ของถุงมือยางมากกว่า 51,000 ล้านชิ้นต่อปี ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายใต้บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT) ซึ่งได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2563
ประเภทผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก
1) ธุรกิจสวนยางพารา ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่สำหรับการทำสวนยางพาราขนาดใหญ่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสม ส่งผลดีต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตและการทำกำไรดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทสามารถนำไม้ยางพาราขายให้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมการผลิตไม้พาเลทอีกด้วย
2) ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ซึ่งถือว่าบริษัทเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่ครบวงจรรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลกด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 10% ของอุปสงค์ทั่วโลก โดยมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมอย่าง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น
- ยางแท่ง ((Technically Specified Rubber: TSR) แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ STR10, STR20 และ STR Compound ซึ่งจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ โดยยางแท่ง STR 20 ซึ่งมีคุณภาพรองลงมาจาก STR 10 เป็นประเภทยางแท่งที่มีปริมาณส่งออกมากที่สุดของประเทศไทย
- ยางแผ่น (Ribbed Smoked Sheet: RSS) ประกอบด้วย ยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ยางล้อรถยนต์ สายพาน ท่อน้ำ รองเท้า อะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ยางแผ่นรมควันชนิดพิเศษ ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูง และมีความใสที่สามารถมองเห็นทะลุได้
- น้ำยางข้น (Concentrated Latex: LTX) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าอื่น เช่น ถุงมือยาง ยางยืด กาว เป็นต้น โดยมี นาทูเท็กซ์ (NATUTEX) เป็นน้ำยางเพื่อใช้ในการผลิตถุงมือของบริษัทโดยเฉพาะ
3) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประกอบด้วย ถุงมือยาง (ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์) ถุงมือทางการแพทย์ รวมไปถึง ท่อไฮดรอลิกแรงดันสูง ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติด้วยโรงงานขนาดใหญ่สุดในประเทศในการผลิตท่อไฮดรอลิกเพื่อใช้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมอื่นๆ
โครงสร้างรายได้: ยางแท่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก
บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งเป็นหลัก หรือคิดเป็น 72% ของรายได้จากการขายปี 2566 ตามมาด้วย ถุงมือยาง (23%) ยางแผ่นรมควัน (5%) และน้ำยางข้น (0.4%) และอื่นๆ
ผลการดำเนินงานดีขึ้นตามราคาและปริมาณขายยางพารา
บริษัทมีรายได้จากการขายใน 9M2567 สูงขึ้น 29.7% YoY มาอยู่ที่ 81,116.9 ล้านบาท มาจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้นจากการเร่งซื้อยางของผู้ผลิตยางล้อ เพื่อนำไปสต๊อกก่อนการบังคับใช้กฎ EUDR ประกอบกับไม่มีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเหมือนปีก่อนที่เกิดเอลนีโญ ขณะที่กำไรสุทธิ แม้ลดลงในไตรมาสสาม 17% QoQ แต่พลิกจากขาดทุนในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แสดงถึงการเติบโตของธุรกิจยางธรรมชาติตามราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้ง กำไรสุทธิในงวดเก้าเดือนเติบโตขึ้นอย่างมากอยู่ที่ 816 ล้านบาท จากขาดทุนปีก่อน (9M2566) 12.3 ล้านบาท
แผนการเติบโตสู่การเพิ่มกำลังการผลิตยางธรรมชาติมากกว่า 4.1 ล้านตันต่อปี
บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตส่วนของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติจาก 3.85 ล้านตันในปี 2567 สู่กำลังการผลิต 4.14 ล้านตัน ภายในปี 2568 (กำลังการผลิตติดตั้ง) แบ่งเป็น TSR Plants ในประเทศเมียนมาและไอวอรี่โคสต์ รวมถึงในจังหวัดเชียงราย และสกลนคร และ LTX Plants ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 5 ที่นี้จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2568
หุ้นกู้ STA ไม่เคยมีประวัติเลื่อนหรือผิดนัดชำระ
ทริสคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันอยู่ที่ A- ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงที่ สะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในธุรกิจยางธรรมชาติ และความสามารถในการแข่งขันจากกลยุทธ์การขยายธุรกิจในแนวดิ่ง ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ถุงมือยางและยางธรรมชาติยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีภาระหนี้ที่สูงขึ้นตามราคายาง ซึ่งเป็นวงจรขึ้น-ลงและความผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมถึงกำไรที่ไม่ได้สูงมากสำหรับลักษณะของธุรกิจยางพารา
ประวัติอันดับเครดิต
ข้อกำหนดการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน บริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ มีหน้าที่ดำรงอัตราส่วนของหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity Ratio) ณ วันสิ้นงวดบัญชีรายไตรมาส ไม่เกิน 3:1 ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทดำรงอัตราส่วนดังกล่าวเท่ากับ 0.59 เท่า
หุ้นกู้คงค้าง ณ ปัจจุบัน ของบริษัทมีอยู่ 18 รุ่น รวมมูลค่า 21,838 ล้านบาท (มูลค่าเงินต้น) ซึ่งลดลงจากการชำระคืนรุ่นล่าสุดในไตรมาส 4/2567 มูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ STA ส่วนใหญ่เป็นการออกในระยะยาวอายุตั้งแต่ 2 -12 ปี ซึ่งหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระงวดต่อไป คือในเดือนมีนาคม ปี 2568 มูลค่า 2,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 มีมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาท
บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้ 5 ชุด เพื่อจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อชำระคืนหนี้จากการออกตราสารหนี้ (roll-over) โดยเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1 เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ส่วนชุดที่ 2-5 เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 ไม่มีการชำระดอกเบี้ย รอประกาศราคาเสนอขายและอัตราส่วนลด
- ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2571 อัตราดอกเบี้ย 3.40% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
- ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2573 อัตราดอกเบี้ย 3.70% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
- ชุดที่ 4 อายุ 8 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2576 อัตราดอกเบี้ย 3.85% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
- ชุดที่ 5 อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2578 อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2568 และ 3-4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ หุ้นกู้ชุดที่ 1: ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
หุ้นกู้ชุดที่ 2-5: ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ปัจจัยเสี่ยง
- ความผันผวนด้านราคาของยางธรรมชาติ การเติบโตอุปสงค์ของยางธรรมชาติและถุงมือยาง สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย รวมถึงการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศของประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งทิศทางราคายางธรรมชาติในไตรมาสล่าสุดยังคงมีความผันผวนอย่างมากอยู่
- ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จากรายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่ของบริษัท อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 85% ของรายได้ทั้งหมด ทำให้หากเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อาจส่งผลกระทบทางลบต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน รวมถึงส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของบริษัท
- ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ อย่างความเสี่ยงทางด้านข้อกฏหมาย การแทรกแซงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อการดำเนินธุรกิจ ผลการดำเนินงานในกลุ่มบริษัทฯ
อ่านรายละเอียดเพิ่ม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/dffc5b71-423b-4e94-95db-4e0ece5d2bc5