แนวโน้มตลาดหุ้นกู้ และหุ้นกู้เสนอขายต้นปี 68 [HoonVision x FynnCorp]

 

            หุ้นวิชั่น – หุ้นกู้ครบกำหนดปี 2568 มูลค่ากว่า 860,000 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade กว่า 75% ซึ่งเป็นหุ้นกู้กลุ่มที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศยังไม่กลับมา จากเหตุการณ์หุ้นกู้ผิดนัดชำระ ส่งผลให้หุ้นกู้กลุ่ม High Yield ยังคงให้ผลตอบแทนที่สูงตามความเสี่ยง

            หุ้นกู้กลุ่ม ENERG, FIN, PROP ยังคงมีมูลค่าคงค้างมากสุดตามลำดับ สะท้อนจากมูลค่าการออกหุ้นกู้ในปี 2567 มากสุดและหุ้นกู้ครบกำหนดปี 2568 สูงสุดรวมมูลค่าเกือบ 449,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดชำระทั้งหมดในปีนี้ ทำให้ปี 2568 เราอาจเห็นหุ้นกู้ roll over จาก 3 กลุ่มนี้มาก

            หุ้นกู้เสนอขายต้นปี 2568 ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม PROP และ ENERG ซึ่งเราได้เปรียบเทียบโดยดูจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และ ความสามารถในการชำระดอกเบี้ยของผู้ออกแต่ละราย ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินระยะสั้นเบื้องต้น

 

ภาพรวมในปีที่ผ่านมาและแนวโน้มตลาดหุ้นกู้ 2568

            ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ของไทยในปี 2567 ได้เผชิญกับภาวะดอกเบี้ยที่ยังคงสูง ก่อนที่ในเดือนตุลาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% ต่อปี มาเป็น 2.25% ต่อปี ซึ่งทาง กนง. มองว่าเป็นการลดในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ และในเดือนธันวาคม กนง. ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เนื่องจากสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งถูกประเมินไว้ที่ 2.7% และ 2.9% สำหรับปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ท่ามกลางเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานในปี 2567 – 68 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้าและยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการปรับลดดอกเบี้ยที่ผ่านมา เป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางใหญ่ในโลกที่มีการปรับลดลงก่อนหน้าอย่าง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสวิส (SNB) ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) และตามด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งคงดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่ตลาดคาด

            โดยตลอดทั้งปี 2567 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงาน กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) มีมูลค่าการขายสะสมสุทธิประมาณ 67,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากผลรวมของการขายตราสารหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปีจากการที่ Fed ยังคงดอกเบี้ยระดับสูง และในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ภายหลังที่ กนง. ปรับลดดอกเบี้ย จึงอาจส่งผลให้ Fund flow ในช่วงดังกล่าวไหลออก ต่อมา เดือนธันวาคม มียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 5,870 ล้านบาท จากความคาดหวังของนักลงทุนต่างชาติที่มองทิศทางดอกเบี้ยไทยอาจลดลงในอนาคต ประกอบกับความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งสะท้อนผ่านการเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวรวม 20,232 ล้านบาทในเดือนธันวาคม

            อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2567 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government Bond Yield Curve) ปรับตัวลดลงในรุ่นอายุหลักเดือน แต่ปรับตัวสูงขึ้นในรุ่นอายุ 3 ปีขึ้นไป สะท้อนสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังน้อย (5.4% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย) อาจไม่ส่งผลต่อ Yield อย่างมีนัยสำคัญมากเมื่อเทียบกับจำนวนนักลงทุนในประเทศที่อาจมองแนวโน้มตลาดต่างออกไป ทำให้ Yield ระยะยาวสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงตามมุมมองนักลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2568 จะยังสูงโดยเฉพาะในหุ้นกู้กลุ่ม Non-Investment Grade ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังไม่กลับมาจากเหตุการณ์ผิดนัดชำระและเลื่อนนัดชำระของผู้ออกหุ้นกู้ตลอด 2 ปีมานี้ รวมถึงความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจ

            จากปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้มูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปี 2567 ลดลงมาอยู่ที่ 908,186 ล้านบาท หรือลดลง 8.62% จากปี 2566 ซึ่งมีมูลค่าเสนอขาย 993,895 ล้านบาท โดยเฉพาะหุ้นกู้กลุ่ม High Yield (Non-investment grade และ non-rated) ที่มีมูลค่าการออกลดลงถึง 38.7% YoY ขณะที่หุ้นกู้ Investment Grade มีมูลค่าการออกใกล้เคียงปีก่อน (-2.7% YoY) สะท้อนว่าหุ้นกู้ในกลุ่มนี้ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอยู่

            หากดูเป็นรายกลุ่มธุรกิจ (Sector) พบว่า กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) เป็น sector ที่มีการออกหุ้นกู้มากที่สุดในปี 67 มูลค่า 155,919 ล้านบาท ตามมาด้วย กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) 134,894 ล้านบาท และ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) 128,889 ล้านบาท ส่งผลให้ทั้ง 3 เป็นกลุ่มมีมูลค่าคงค้างในตลาดปัจจุบันมากสุด และยังเป็นกลุ่มที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดในปี 2568 มากที่สุดตามลำดับ รวมมูลค่า 448,951 ล้านบาท จากยอดหุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดในปี 2568 ทั้งหมด 862,391 ล้านบาท ดังนั้น เป็นไปได้ที่เราจะเห็นหุ้นกู้ roll over โดยเฉพาะของ 3 กลุ่มนี้ในปี 2568 ค่อนข้างมาก

หุ้นกู้เสนอขายต้นปี 2568

            ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2568 มีหุ้นกู้เสนอขายในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) และพลังงาน (ENERG) โดยเราได้รวมหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็น 6 sector ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีมูลค่าหุ้นกู้คงค้างในตลาดปัจจุบันมากสุดติด 9 อันดับแรก พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับผู้ออกในกลุ่มเดียวกัน ดังนี้

Sector: Property Development (PROP)

            กลุ่ม PROP ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการออกหุ้นกู้มาอย่างต่อเนื่อง และมีหุ้นกู้ออกมาในต้นปีนี้จำนวน 9 บริษัท ได้แก่ S, Noble, MQDC, DHOUSE, SIRI, AP, SC, CWTTG และ ORI ด้วยอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ 4.50% ไปจนถึง 7.50% ต่อปีตาม Rating องค์กรและหุ้นกู้ โดยเราได้เปรียบเทียบอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ในกลุ่มผู้ออก sector เดียวกัน เพื่อสะท้อนโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ยิ่งมีค่าสูงแสดงถึงโครงสร้างเงินทุนที่มีหนี้สินมากกว่าส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (ICR) ถ้าค่านี้สูง แสดงถึงความสามารถของบริษัทในการจ่ายดอกเบี้ยจากกำไร (EBIT) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงทางการเงินในระยะสั้น

            จากกราฟด้านล่าง แสดงให้เห็นว่า DHOUSE และ AP มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำกว่า 1 แสดงถึงการมีส่วนเงินทุนของตัวเองมากกว่าหนี้สิน ขณะที่ AP, SC, SIRI และ S มีอัตราส่วน ICR มากกว่า 2 สะท้อนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งและบริหารต้นทุนดอกเบี้ยที่โดดเด่นกว่าผู้เล่นอื่น

Sector: Energy & Utilities (ENERG)

            หุ้นกู้กลุ่ม ENERG เสนอขายต้นปี 2568 มีจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ BSRC, AGE และ SUPER ซึ่งหากดูค่า D/E ratio ตามกราฟด้านล่าง จะเห็นว่า BSRC มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำกว่า AGE และ SUPER ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 และมีค่า ICR สูงกว่า สะท้อนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงตามมา

Sector: Finance & Securities (FIN)

            กลุ่ม FIN เป็น Sector ที่มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดชำระในปี 2568 มากที่สุด ด้วยมูลค่า 184,204 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายปัจจุบัน ได้แก่ MTC และ SCAP แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน หากเปรียบเทียบทั้ง 2 บริษัท จะพบว่า SCAP มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนน้อยกว่า ในขณะที่ MTC แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่า

Sector: Food & Beverage (FOOD)

            สำหรับกลุ่ม FOOD ที่เสนอขายหุ้นกู้ในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท CPF และ BTG ซึ่งทั้งคู่มี Rating องค์กรและหุ้นกู้เป็น A โดยหากเปรียบเทียบทั้ง 2 ผู้ออก จะพบว่า BTG มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำกว่า และ มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับ CPF

Sector: Information & Communication Technology (ICT)

            กลุ่ม ICT ประกอบไปด้วย TRUE เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป และ INET เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว TRUE จะมีอัตราส่วนที่สูงกว่าทั้งอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่สูงกว่าเช่นกัน

Sector: Transportation & Logistics (TRANS)

            กลุ่ม TRANS ได้แก่ BTSG และ TTA ซึ่งหากวิเคระห์อิงจาก D/E และ ICR พบว่า TTA มีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยได้ดีกว่า ขณะที่ BTSG พึ่งพาหนี้สินในโครงสร้างทางการเงินมากกว่า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Infrastructure) และลักษณะธุรกิจของ BTSG ที่มีระยะเวลาคืนทุนยาวจากรายได้หลักมาจากค่าบริการผู้โดยสาร ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจของ TTA ที่เป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ

            หมายเหตุ: การเปรียบเทียบอัตราส่วนข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ความน่าลงทุนเบื้องต้น ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดและวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มเติมได้ในเอกสาร fact sheet รวมไปถึง สภาพคล่องและลักษณะธุรกิจของแต่ละบริษัทผู้ออก เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

อ่านรายละเอียดเพิมเติม https://app.visible.vc/shared-update/ab0b9719-0f5e-405a-aa09-ee837232663d

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

[Vision Exclusive] ปีของการลงทุนทอง Q2 แตะ 3พันดอลลาร์

[Vision Exclusive] ปีของการลงทุนทอง Q2 แตะ 3พันดอลลาร์

คาดค่าเงินบาทวันนี้ กรอบ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

คาดค่าเงินบาทวันนี้ กรอบ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 34.40-34.60 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทวันนี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 34.40-34.60 บาท/ดอลลาร์

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียม การยื่นรายงานประจำปีบริษัทจดทะเบียน

ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียม การยื่นรายงานประจำปีบริษัทจดทะเบียน

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด