หุ้นวิชั่น – KResearch เปิด 5 ธุรกิจดาวรุ่งปี 68 อาหาร เครื่องดื่มสุขภาพ, การแพทย์ ความงาม, ท่องเที่ยว/ฮีลใจ, สินค้า บริการเด็ก, ธุรกิจกรีน/ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำเทรนด์ ส่อง MASTER KLINIQ TRP ติดโผ
ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) คาดการเติบโตของธุรกิจในปี 2568 ยังเสี่ยงกดดันจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้าสังคมสูงอายุกระทบการใช้จ่ายและสภาพอากาศแปรปรวน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Smart Spending, Self-healing, Sustainability เป็น 3 เทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวตาม
5 ธุรกิจรุ่งได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ, การแพทย์และความงาม, ท่องเที่ยว/ฮีลใจ, สินค้าและบริการเด็ก, ธุรกิจกรีน/ปล่อยคาร์บอนต่ำ
ขณะที่ 5 ธุรกิจร่วงได้แก่ ผลิตสินค้าแฟชั่นเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง, ดีลเลอร์รถยนต์สันดาป, อสังหาริมทรัพย์, Trader ซื้อมาขายไป, ธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง.
หลายปัจจัยแวดล้อมยังคงกดดันการทำธุรกิจในปี 2568
1.เศรษฐกิจเสี่ยงโตชะลอเจ้าของกิจการยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแม้ว่าอาจได้แรงหนุนบางส่วนจากมาตการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐแต่ด้วยค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงระมัดระวังหรือฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2568 การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโต2.4% ชะลอลงจากปี 2567 ที่จะโตราว4.6%
2.แข่งขันรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้าโดยเฉพาะสินค้าจีนราคาถูกเช่นเหล็กแฟชั่นของใช้ส่วนตัวเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งเป็นต้นซึ่งไทยมีมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดจากจีนคิดเป็น 1 ใน 4 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดรวมถึงยังมีความเสี่ยงจากนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศต่างๆทำให้อาจเห็นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนมากขึ้นและส่งผลให้ธุรกิจที่ดำเนินกิจการในไทยแข่งขันลำบากสะท้อนจากอัตราการใช้กำลังการผลิต 10 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 58% ลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ที่โตเฉลี่ย 62.5% (ปี 2564-2566)
3.สังคมสูงอายุกดดันการใช้จ่ายไทยจะเข้าสู่ Super-aged Society ในปี 2571 หรือมีจำนวนผู้สูงอายุราว 14 ล้านคนคิดเป็น20% ของประชากรทั้งหมดแต่ผู้สูงอายุกว่า 34% มีรายได้ต่ำกว่า30,000 บาทต่อปีสะท้อนถึงการใช้จ่ายที่จำกัด ขณะเดียวกันค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะยิ่งกดดันค่าใช้จ่ายในภาพรวมจากการที่ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ราว 37% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ 3%
4.สภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคเกษตรรายได้ครัวเรือนและธุรกิจรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง/ที่อยู่อาศัยนอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจนนำมาซึ่งการออกมาตรการต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM, พ.ร.บ. Climate Change ซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าของกิจการโดยเฉพาะที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมเช่นสหภาพยุโรปทำให้มีต้นทุนในการปรับตัวของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นและต้องใช้เวลากว่าที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาจากการเปลี่ยนผ่านเพื่อตอบรับกับประเด็นนี้
ส่อง 3 เทรนด์ผู้บริโภคที่ธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวตามเพื่อเพิ่มยอดขาย
- Smart Spending – ใช้จ่ายอย่างรู้ค่า/คุ้มค่าคุ้มราคาแม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแต่ความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงวางแผนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเลือกใช้จ่ายเฉพาะสินค้าที่จำเป็นหรือซื้อสินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคาสะท้อนจากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคกว่า 32% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 2 มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการซื้อสินค้า/ใช้บริการลง เช่น ลดทานข้าวนอกบ้าน/ลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นต้น
- Self-healing – ฮีลใจ/ทันกระแส/มีStoryสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกดดันให้คนไทยเกิดภาวะเครียดสะสมนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้นซึ่งจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี2558 เป็น 2.9 ล้านคนในปี 2566 แต่คนที่เสี่ยงมีปัญหาอาจสูงถึง 10 ล้านคนโดยเฉพาะในวัยเด็กและเยาวชนรวมถึงวัยทำงาน ดังนั้นธุรกิจสินค้า/บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือการฮีลใจน่าจะได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้นหากเจ้าของกิจการสามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสที่มาไวไปไว
- Sustainability – กระแสรักษ์โลกตอบโจทย์ตลาดไทยและต่างประเทศการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นทำให้ทั่วโลกรวมถึงไทยตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นสะท้อนได้จากการสำรวจพบว่าคนไทยกว่า 90%ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเช่นค่าไฟเพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนจัดราคาสินค้าสูงขึ้นจากผลผลิตผันผวนมีปัญหาสุขภาพจาก PM2.5 ดังนั้นธุรกิจที่ปรับตัวรับกับเทรนด์ดังกล่าวก็น่าจะสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ
เปิดโผ 5 ธุรกิจรุ่ง-ร่วง ปี2568
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2568 จะต้องสอดรับไปกับเทรนด์ผู้บริโภคโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการทำให้สินค้าหรือบริการมีความคุ้มค่าคุ้มราคาและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้ทันกระแสรวมถึงตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืน ได้แก่
อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มูลค่าตลาดขยายตัว 5-7% จากการใส่ใจดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ
การแพทย์และความงาม แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยังโต 4-6% ตามเทรนด์ใส่ใจสุขภาพและการรักสวยรักงาม
ท่องเที่ยว/ฮีลใจ เช่น สัตว์เลี้ยง คอนเสิร์ต มูเตลู หมีเนย หมูเด้ง มีแนวโน้ม โตตามกระแส Self-health เช่น มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโต 10-15% ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น
สินค้าและบริการเกี่ยวกับเด็ก มูลค่าตลาดขยายตัวราว 4% จากการที่พ่อ แม่ยังคงใส่ใจ และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยให้กับเด็ก
ธุรกิจกรีน/ปล่อยคาร์บอนต่ำ ผลสำรวจพบว่า 58% ของผู้บริโภค เต็มใจที่จะจ่ายสินค้า/บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในจำนวนดังกล่าว 37% เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับราคาสินค้าปกติ
ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจการแพทยืและความงาม ได้แก่ บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ KLINIQ และ บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) หรือ TRP
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึง MASTER PPA (Purchase Price Allocation) ไม่มีผลในระดับที่มีนัยสำคัญต่อประมาณการ
เพื่อประกอบมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 3 (ปรับปรุง 2558) เมื่อกิจการมีโอกาสเข้าซื้อหรือมีการควบรวมกิจการ ต้องมีการบันทึกบัญชีโดยการปันส่วนราคาซื้อ (Purchase Price Allocation, PPA) จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบัญชีที่ต้องหาวิธีการเพื่อหาสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่างๆ เพื่อนำไปบันทึกบัญชีให้ลงตัวใกล้เคียงกับราคาซื้อมากที่สุด ซึ่งหากยังคงเหลือส่วนต่างอยู่อีกโดยที่หาสินทรัพย์ที่จะปันส่วนเข้าไปไม่ได้จึงจะบันทึกเป็นค่าความนิยม หรือ Goodwill นั่นเอง โดยระยะเวลาในการวัดมูลค่าไม่เกินกว่า 1 ปี นับจากวันที่ซื้อ ซึ่งได้กำหนดหลักการและข้อกำหนดทางการเงินสำหรับผู้ซื้อกิจการหรือซื้อเงินลงทุน ดังต่อไปนี้ รับรู้และวัดมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้มา หนี้สินที่รับมา และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมในผู้ถูกซื้อ รับรู้และวัดมูลค่าค่าความนิยม (Goodwill) ที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจหรือกำไรจากการ ต่อรองราคาซื้อ และกำหนดข้อมูลที่ต้องเปิดเผยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินลักษณะและผลกระทบทางการเงินจากการรวมธุรกิจ
บริษัทร่วมที่ซื้อกิจการมาและไม่อยู่ในระดับที่มีอำนาจควบคุมหรือรวมงบการเงินจะต้องมีการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนให้ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ซื้อมา ซึ่งซื้อในราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม ทำให้เมื่อมีการวัดมูลค่าต้องมีการปรับเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวก่อนนำส่วนแบ่งกำไรไปรวมในงบการเงินของผู้ซื้อ เมื่อสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจึงต้องมีการทยอยตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนที่ไปหักออกจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมสินทรัพย์หลักที่มีการวัดมูลค่าเพิ่มขึ้นในบริษัทร่วมของ MASTER ใน 3Q67 ได้แก่ อาคารและอุปกรณ์, ความสัมพันธ์กับลูกค้า (เฉพาะบริษัทที่มีลูกค้าประจำเป็นระยะเวลานาน) และ Trademark
ระยะเวลาในการตัดจำหน่ายอยู่ที่ 5 ปีสำหรับ WIND และ 10 ปีสำหรับบริษัทอื่นๆ และจะเริ่มรับรู้การตัดจำหน่ายก้อนแรกเมื่อซื้อครบ 1 ปี ซึ่งจะสูงกว่าปกติ เพราะเป็นการรับรู้ค่าตัดจำหน่ายของรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในไตรมาสถัดไปจะทยอยรับรู้เป็นรายไตรมาสหรือ 25% ของที่รับรู้ไปในก้อนแรก ต่อเนื่องจนครบเวลา 5–10 ปีในแต่ละบริษัทร่วม
ใน 3Q67 มีบริษัทที่ซื้อกิจการมาครบ 1 ปี ได้แก่ Rattinan, Kin Corporation, Dr. Chen, และ WIND มูลค่าตัดจำหน่ายรวม 7.2 ล้าน บาท ส่วน 4Q67 ทั้ง 4 บริษัทจะยังคงมีค่าตัดจำหน่ายส่วนนี้อยู่ต่อเนื่อง แต่มูลค่าจะลดลงเพราะมูลค่าจะเป็นรายไตรมาส หรือราว 1.8 ล้าน บาท (เกิดจาก 7.2 ล้านต่อปีหาร 4 ไตรมาส)
ปี 2568 จะมีบริษัทร่วมที่ซื้อกิจการครบ 1 ปี ได้แก่ TYP และ Twinkle Star ในเดือนกุมภาพันธ์, Korawin และ V Square ในเดือนพฤษภาคม เป็นต้น สำหรับมูลค่าจะถูกตัดจำหน่ายเมื่อครบ 1 ปี ไม่สามารถระบุได้ว่าเท่าใด แต่สามารถทราบตัวเลขเบื้องต้นได้จากการจ้างที่ปรึกษาอิสระที่มีความเชี่ยวชาญ มาประเมินมูลค่าที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อมูลเพิ่มเติมบริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป
อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในปี 67–68 ที่รวมผลกระทบจาก PPA แล้วที่ 40–50 ล้าน บาท และ 80–100 ล้าน บาท ตามลำดับ เทียบกับประมาณการของเราที่ 40 ล้าน บาท ในปี 2567 และ 80 ล้าน บาท ในปี 2568 รายการตัดจำหน่ายมูลค่า PPA ที่เกิดขึ้นจึงไม่มีผลต่อประมาณการของเรา และยังคงประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายสิ้นปี 2568 ที่ 68.50 บาท ปัจจุบันซื้อขายที่ PER68 ต่ำเพียง 22.7 เท่า คงคำแนะนำ “ซื้อ”
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) ระบุถึง KLINIQ ว่า ฝ่ายวิเคราะห์ลดเป้ารายได้ปี 24F เหลือ 2.94 พันลบ. +29% YoY (เดิม 3.0 พันลบ.) และอัตรากำไรเหลือ 11% (เดิม 13.0%) และปี 25F รายได้ 3.5 พันลบ. +19% และอัตรากำไร 12% จากผลกระทบของสาขาใหม่ที่เปิดเร่งตัวในช่วง 1Q24 จำนวน 10 แห่ง (จากปกติเปิดไตรมาสละ 3-4 แห่ง) ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและ Breakeven นานกว่าปกติที่เฉลี่ย 3-6 เดือน โดยเฉพาะแบรนด์ L.A.B.X (18% ของรายได้) รายได้ 3Q24 ยังต่ำกว่าเป้าราว 30 ลบ. (LABX มี 21 สาขาหรือต่ำกว่าเป้าเฉลี่ยสาขาละ 4.7 แสนบาท/เดือน จากปกติรายได้ราว 3 ลบ./สาขา/เดือน) ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างปรับกลยุทธ์ทั้ง การเปลี่ยน Presenter, การลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการเพิ่มฐานลูกค้าประจำ
มองผ่านจุดต่ำสุดโดยมอง 4Q24F ทิศทางจะดีขึ้น มอง Margin เริ่มฟื้นตัว ทั้งจากสาขาใหม่ที่เริ่มดีขึ้นและศูนย์ศัลยกรรม (15% ของรายได้) ยังเป็นโมเมนตัมเด่น, การคุมค่าใช้จ่ายจะเริ่มเห็นผลมากขึ้น
9M24 เปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 15 สาขา แบ่งเป็น THE KLINIQUE 7 สาขา, L.A.B.X 7, L’Ckinic 1 สาขา โดยคาดว่าจะเปิดอีก 6 สาขาใน 4Q24F แบ่งเป็น THE KLINIQUE 2 สาขา, L.A.B.X 3 สาขา และสปา 1 สาขา และแผนปี 25F จะกลับมาเปิดตามปกติ 10 แห่ง (มีทำเลแล้ว 6 แห่ง)
ศูนย์ศัลยกรรมเติบโตสูงต่อเนื่องหลังเริ่ม Breakeven ใน 4Q23 โดย 3Q24 U-rate เฉลี่ยอยู่ราว 43-45% และเกือบ 50% ณ สิ้นไตรมาส เพิ่มจาก 37-39% ใน 2Q24 สามารถทำกำไรสุทธิได้ราว 10 ลบ./ไตรมาส ขณะที่ศูนย์ศัลยกรรมใหม่คาดใกล้ประกาศเร็วๆ นี้ และบริษัทยังวางแผนเปิดทัน 4Q25F (เรายังไม่รวมในประมาณการ)
ฝ่ายวิเคราะห์มีมุมมอง “Slightly negative” ต่อข้อมูลที่ได้รับและเราปรับลดกำไรปี 2024-26F ลงเฉลี่ย 8% จากการปรับรายได้ลดลง โดยกำไรใหม่ปี 2024-25F คาด 305 ลบ. (+6%) และ 360 ลบ. (+18%) ตามลำดับ กำไรปี 25F กลับมาเติบโตดีจากสาขาใหม่ปี 24F เต็มปี ขณะที่สาขาใหม่ปี 25F กลับสู่ระดับปกติ
ระยะสั้น 4Q24F คาดกำไรเบื้องต้น 81 ลบ. (+4% YoY, +4% QoQ) ฟื้นตัวอ่อนๆ ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น
มองหุ้นปรับลงมาสะท้อน Earnings cut จากตลาดจากแนวโน้มสาขาใหม่ 1Q24 ยังฟื้นช้ากว่าคาด โดยอยู่ในโซน Valuation น่าสนใจ มี PER 24F ที่ 21 เท่า (ค่าเฉลี่ย -1SD) แนะนำ “Buy” จาก TP 25F ใหม่ 36.0 บาท อิง PER 22 เท่า (ค่าเฉลี่ย -1SD)
นอกจากนี้ KSS ระบุถึง TRP ว่า กำไรสุทธิ 3Q24 อยู่ที่ 38 ลบ. -10% YoY, +49% QoQ รายได้ทยอยฟื้นจากจุดต่ำสุด โดยมีกำไรพิเศษราว 5 ลบ. จากการลดอัตราภาษีเหลือ 8% จากปกติ 20% เนื่องจากการปรับปรุงรายได้ภาษีจ่าย ขณะที่การดำเนินงานหลัก รายได้ยังลดลง -24% YoY และ -9% QoQ คล้ายกับ 1H24 จากการแข่งขันที่สูงและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยธุรกิจหลักคือ ดึงหน้า (60% ของรายได้) ยังเป็นธุรกิจหลักที่ลดลง แต่รายได้เพิ่มจากการปรับตัว ทั้งเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น ศัลยกรรม (จมูก, กระพุงแก้ม) และความงามอื่นๆ (ผม, ผิวหนัง) ขณะที่ Gross margin อยู่ที่ 53.2% เทียบกับ 3Q23/2Q24 ที่ 54.3%/51.4% และ SG&A/Sales ที่ 25.0% เทียบกับ 3Q23/2Q24 ที่ 22.2%/29.2% ลดลง YoY ทั้งคู่ จากฐานรายได้และการแข่งขัน แต่เป็นภาพฟื้นตัว QoQ
แนวโน้ม 4Q24 ยังฟื้นตัว ส่วนปี 25F คาดฟื้นตัวแต่มี Downside จากการเปิดโรงพยาบาลใหม่ใน 1Q25F กำไร 9M24 คิดเป็น 73% ของทั้งปี 24F ที่ 146 ลบ. (-24%) ยังคงไว้ มองกำไร 4Q24F ยังลด YoY, +QoQ ตามฤดูกาล ขณะที่กำไรปี 25F คาดอยู่ที่ 198 ลบ. +36% แต่มี Downside 10% จากแนวโน้มรายได้ที่ยังเติบโตช้าและแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่ใน 1Q25F (ห้องผ่าตัดเพิ่มจากปัจจุบัน 6 ห้อง เป็น 12 ห้อง) คาดจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 10-20 ลบ./ปี ซึ่งแผนปรับปรุงทั้งเพิ่มศัลยกรรมใหม่ ขยายไปกลุ่ม Skin รวมถึงการปรับการตลาดและการขาย มองว่ายังต้องใช้เวลาในการรับรู้จากกลุ่มลูกค้าทั้งกลุ่มเดิม (อายุ 40+)(80% ของรายได้) และกลุ่มวัยรุ่น & คนทำงานช่วงเริ่มต้น (20% ของรายได้)
แนะนำ “Buy” เชิงตั้งรับจาก TP 25F ที่ 11.40 บาท อิง PER 20x หุ้นปรับลง YTD -48% และซื้อขายที่ PER 25F ที่ 16x ซึ่งเป็น Valuation โซนลงทุน แต่ยังมี Downside กำไร 25F จึงแนะนำ “Buy” เชิงตั้งรับจาก TP 25F ที่ 11.4 บาท อิง PER 20 เท่า
ขณะที่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงในปี 2568 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้ากึ่งคงทนและคงทนที่ถูกกดันจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังต้องแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน รวมถึงธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูงก็มีความเสี่ยงที่ยอดขายลดลงจากเทรนด์ความยั่งยืนที่เติบโต ได้แก่
ธุรกิจผลิตสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ผู้บริโภคยังระวังการใช้จ่าย อีกทั้งยังต้องแข่งกับสินค้านำเข้าทั้งจีน ญี่ปุ่นและเหาหลีทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงยอดขายหดตัว
ดีลเลอร์รถยนต์สันดาป (ICE) การเปลี่ยนผ่านสู่ EV มากขึ้น กดดันยอดขายรถยนต์สันดาป (ICE) ให้มีแนวโน้มหดตัวลง นอกเหนือไปจากผลกระทบด้านกำลังซื้อ
อสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มหดตัวจากความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ยังไม่กลับมา ขณะที่จำนวนยูนิตสะสมที่รอการขายยังสูง
ซื้อมาขายไป หรือ Trader ผู้ผลิตหันมาใช้ช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย (Omni-channel) ในการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง
ธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง โดนกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า นอกเหนือจากการแข่งกับสินค้านำเข้า เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทำให้ธุรกิจมิต้นทุนในการปรับตัวเพิ่มขึ้น