หุ้นวิชั่น – 24 ธ.ค. 67 – Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ คาดนโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หนุน 3 กลุ่มสินทรัพย์ราคาทะยาน ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย บริการการสื่อสาร และกลุ่มสถาบันการเงิน 2. กลุ่มประเทศที่ราคาหุ้นขึ้นช่วงสงครามการค้า คือ อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น และ 3. กลุ่มสินทรัพย์ได้ประโยชน์จากนโยบายการเงิน – การคลัง คือ ตราสารหนี้ รีท และทองคำ พร้อมชี้ราคาหุ้นจีน น้ำมัน และพลังงานจ่อดิ่ง แนะหลีกเลี่ยงลงทุน
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลูกค้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนี้ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคล ได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย บริการการสื่อสาร และกลุ่มสถาบันการเงิน 2. กลุ่มประเทศที่ราคาหุ้นมักปรับขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเกิดสงครามการค้า ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น และ 3. สินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายการเงิน – การคลัง สหรัฐฯ ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น รีท และทองคำ พร้อมทั้งแนะนำให้หลีกเลี่ยงสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ หุ้นจีน น้ำมัน และพลังงาน
สำหรับรายละเอียดแต่ละสินทรัพย์มีดังนี้
- กลุ่มอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคล
ธุรกิจในสหรัฐฯจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการลดภาษีนิติบุคคลจากอัตรา 21% เหลือ 15% และขึ้นภาษีนำเข้า (Tariff) จะช่วยให้ทั้งรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ สูงขึ้นทันทีและช่วยหนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นดีกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในโลก สำหรับหุ้นกลุ่มที่จะได้อานิสงค์สูงสุดจากประเด็นนี้ คือ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ TISCO ESU คาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 2568 จะปรับขึ้น 6.8% ตามด้วยกลุ่มบริการการสื่อสาร (Commucation Services) และกลุ่มสถาบันการเงิน (Financials) โดยกำไรต่อหุ้นในปี 2568 จะปรับขึ้น 5.1% และ 4.6% ตามลำดับ โดยทั้งสามกลุ่มจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคล และมีความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้จากสงครามการค้าในระดับต่ำ
- กลุ่มประเทศที่ราคามักปรับขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเกิดสงครามการค้า
ในช่วงที่สหรัฐฯ เดินหน้ามาตรการขึ้นภาษีนำเข้า จะกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง สวนทางกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2560 – 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์ใช้มาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวพบว่า นอกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้น 43% ในช่วง 3 ปี แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีตลาดหุ้นประเทศอื่นปรับตัวขึ้นตามไปด้วย คือ ตลาดหุ้นอินเดียปรับขึ้น 55% ตลาดหุ้นเวียดนามปรับขึ้น 34% และตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้น 21% เนื่องจาก ทั้งสามประเทศได้รับผลกระทบสงครามการค้าอย่างจำกัดและเศรษฐกิจในประเทศได้รับปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ
และหากมองไปข้างหน้า 3 ประเทศนี้ก็ยังมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวในการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งมีสัดส่วนกว่า 50% ของ GDP ของแต่ละประเทศ โดยประเทศอินเดียและเวียดนามถูกมองว่าเป็นทางเลือกในการเป็นผู้ผลิตหรือเป็นทางผ่านของการส่องออกสินค้าไปทั่วโลกแทนจีน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีปัจจัยช่วยจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงและอ่อนไหวต่อประเด็นสงครามการค้าต่ำ ทำให้ทั้ง 3 ประเทศมีภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจต่อการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ อีกด้วย
- สินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายการเงิน – การคลัง สหรัฐฯ
ในปี 2568 ธนาคารทิสโก้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.50 – 4.75% ซึ่งสินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์จากการสถานการณ์ดังกล่าวคือ ตราสารหนี้ระยะสั้น และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) นอกจากสินทรัพย์ดังกล่าวจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่สินทรัพย์อื่นๆ จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์อีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารทิสโก้ยังมองว่า “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ทรัมป์เดินหน้านโยบายต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นก็ทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังเช่นในสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งหนี้สาธารณะพุ่งสูงถึง 39% ในระยะเวลาเพียง 4 ปี การเพิ่มขึ้นของหนี้ส่งผลโดยตรงต่อราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 53% ตามแนวโน้มปริมาณหนี้ ด้วยความสัมพันธ์ที่สูงมากถึง Correlation Coefficient = 0.9
- สินทรัพย์ที่แนะนำ หลีกเลี่ยง !
ธนาคารทิสโก้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนใน “หุ้นจีน” ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ ในการกีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจภายในประเทศยังชะลอตัวจากมาตรการภาครัฐฯ ที่ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ รวมถึง “หุ้นกลุ่มน้ำมันและพลังงานสะอาด” ที่มีความเสี่ยงถูกกดดันจากแนวโน้ม Supply ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า Demand ของโลกรวมถึงได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์สนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวลดลงได้