กะทิไทย… สินค้าที่กำลังเฉิดฉายในเวทีโลก

          หุ้นวิชั่น – การส่งออกกะทิไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารโลก สนค. แนะผู้ประกอบการให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตมะพร้าวตามมาตรฐานสากลและที่คู่ค้ากำหนด เพื่อคว้าโอกาสเพิ่มการส่งออกไปตลาดโลกมากขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยปี 2566 ไทยมีผลผลิตมะพร้าว 0.94 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการใช้ ประมาณ 1.14 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35 จากปี 2565) ความต้องการใช้ ของไทยแบ่งเป็น การบริโภคในประเทศ ร้อยละ 38 และการใช้เพื่อส่งออกร้อยละ 62

ในปี 2566 ไทยส่งออกกะทิ เป็นมูลค่า 353.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,208 ล้านบาท) สำหรับ 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) ไทยส่งออกกะทิไปยัง 131 ประเทศทั่วโลก เป็นมูลค่า 341.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,064 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.85 จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่ไทยส่งออกกะทิสำเร็จรูป (มีสัดส่วนถึงร้อยละ 93.13) กะทิสำเร็จรูปเป็นสินค้าศักยภาพและมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.26 และ 18.12 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ นอกจากนี้ กะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ แม้ยังมีสัดส่วนการส่งออกน้อย แต่เป็นสินค้าที่น่าจับตามอง โดยในปี 2567 ไทยส่งออกกะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.83 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 70.50) เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วนร้อยละ 10.43) และสวิตเซอร์แลนด์ (สัดส่วนร้อยละ 6.21)

การส่งออกกะทิของไทยแต่ละกลุ่ม สรุปได้ดังนี้

(1) กะทิสำเร็จรูป ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 326.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (11,277 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.26 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 317.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (11,235 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.12 มีสัดส่วนร้อยละ 93.13 ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย

(2) กะทิผง ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 8.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (303 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.33
และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 7.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (267 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93
มีสัดส่วนร้อยละ 2.22 ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย

(3) กะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 4.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (165 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 20.07 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกกลับมาขยายตัว โดยมีมูลค่า 5.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (189 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.83 มีสัดส่วนร้อยละ 1.57 ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย

(4) กะทิแช่แข็ง ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 1.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (60.42 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 98.63 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (16.09 ล้านบาท) ลดลง
ร้อยละ 72.56 มีสัดส่วนร้อยละ 0.13 ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย

(5) กะทิอื่น ๆ ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 11.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (403 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.51 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 10.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (357 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น
ร้อยละ 1.51 มีสัดส่วนร้อยละ 2.95 ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ต.ค.) ไทยส่งออกกะทิขยายตัวในตลาดคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 24.21 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 38.73) ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 9.08 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 7.53) แคนาดา ขยายตัวร้อยละ 22.92 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 6.41) สหราชอาณาจักร ขยายตัวร้อยละ 3.49 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 6.34) และเนเธอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 37.49 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.53)

การส่งออกกะทิที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ข้อมูลจาก The Business Research Company ระบุว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มโลก ในปี 2567 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 6.4 และคาดว่าปี 2571 จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.9 นอกจากนี้ กะทิยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หากบริโภค
ในปริมาณที่เหมาะสม อาทิ กรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (MCTs) ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน และกรดลอริก (Lauric Acid) ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและให้พลังงานแก่ร่างกาย อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชที่ไม่มีกลูโคสหรือแล็กโทส จึงเหมาะสำหรับการใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์จากนมบางชนิด

ที่ผ่านมา ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการปลูกและผลิตมะพร้าวให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ อาทิ การปลูกมะพร้าวพันธุ์ใหม่ที่มีต้นเตี้ยทดแทนสวนมะพร้าวเดิม ทำให้เก็บเกี่ยวง่ายและมีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานกว่า รวมถึงมีโครงการนำร่อง GAP-Monkey Free Plus (GAP-MFP) เพื่อรับรองแปลงผลิตมะพร้าวปลอดภัยและการเก็บมะพร้าวที่ไม่ได้ใช้ลิง ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรขอรับมาตรฐานดังกล่าว ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครื่องมือเก็บมะพร้าวอีกด้วย

นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากไม่มีพิกัดศุลกากรระดับสากลสำหรับสินค้ากะทิ ทำให้ ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลการค้ากะทิของโลกได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยหลายรายเป็นผู้ส่งออกกะทิรายสำคัญของโลก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีความต้องการนำเข้ามะพร้าว สำหรับแปรรูปเป็นกะทิเพื่อส่งออก แสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการแปรรูปและส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิ นอกจากนี้ หากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ

ในกระบวนการผลิตมะพร้าว ตั้งแต่การปลูก การเก็บ และการแปรรูป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดรับกับ ความต้องการของประเทศคู่ค้า รวมทั้งเพิ่มเติมประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และการมีสวัสดิการแรงงานที่ดี ก็จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้ไทยคว้าโอกาสการส่งออกไปยังตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำมันดิบ NYMEX ปิดบวก 69.46 ดอลลาร์/บาร์เ

น้ำมันดิบ NYMEX ปิดบวก 69.46 ดอลลาร์/บาร์เ

อีสท์สปริง เสนอกองพันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น IPO 20-25 ธ.ค.นี้ ชูยิลด์ 1.80%

อีสท์สปริง เสนอกองพันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น IPO 20-25 ธ.ค.นี้ ชูยิลด์ 1.80%

กองทุนลดหย่อนภาษีเด่น 2024 ที่ไม่ควรพลาด

กองทุนลดหย่อนภาษีเด่น 2024 ที่ไม่ควรพลาด

คาดค่าเงินบาทวันนี้ กรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

คาดค่าเงินบาทวันนี้ กรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด