หุ้นวิชั่น – PTT อัดงบ 54,463 ล้านบาท 5 ปี! เดินหน้าขยายท่อก๊าซ เสริมแกร่งความมั่นคงพลังงาน ศึกษาและแสวงหาโอกาสในการขยายการลงทุน ด้าน PTTEP ประกาศแผนลงทุน 5 ปี (2568-2572) วงเงินรวม 1.74 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เน้นขยายธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานลมนอกชายฝั่ง ไฮโดรเจน และเทคโนโลยี CCS มุ่งสู่เป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593
นางสาวภัทรลดา สง่าแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หรือ PTT รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (“ปตท.”) ขอเรียนให้ทราบว่า คณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2568 – 2572) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น ร้อยละ 100 วงเงินรวม 54,463 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” โดยเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 64 ของงบลงทุน 5 ปี
โครงการหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง – โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7รวมถึงการลงทุนเพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน ปตท. ยังมีการลงทุนผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น ร้อยละ 100 เช่นการลงทุนของบริษัทในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
นอกจากนี้ ปตท. ยังคงศึกษาและแสวงหาโอกาสในการขยายการลงทุนในอนาคต เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตามวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท.
ด้านนางชนมาศ ศาสนนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ขอแจ้งแผนการดําเนินงานประจําปี 2568 ของ ปตท.สผ. และบริษัทย่อย (ปตท.สผ.) ภายใต้แผนกลยุทธ์ Drive-Decarbonize-Diversify เพื่อขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 รวมถึงขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) โดยจัดสรรงบประมาณประจําปี 2568 รวมทั้งสิ้น 7,819 ล้านดอลลาร์ สรอ. ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จํานวน 5,299 ล้านดอลลาร์ สรอ. และรายจ่ายดําเนินงาน (Operating Expenditure) จํานวน 2,520 ล้านดอลลาร์ สรอ.
เป้าหมายการดําเนินงานของบริษัทในปี 2568 ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งและขยายการลงทุนในธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมในต่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยให้ความสําคัญกับแผนงานหลัก ดังนี้
1.เพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน
โครงการผลิตหลักที่สําคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่
- โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ)
- โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช)
- โครงการอาทิตย์
- โครงการเอส 1
- โครงการคอนแทร็ค 4
- โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย
- โครงการซอติก้า และ โครงการยาดานา ในประเทศเมียนมา ที่มีการนําก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตหลักในต่างประเทศที่สําคัญ เช่น
- โครงการในประเทศมาเลเซีย
- โครงการในประเทศโอมาน
โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจํานวน 3,676 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานสําหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง) และ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน) ในธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดําเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกําหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลําดับ โดยได้ตั้งงบประมาณสําหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2568 ทั้งสิ้นจํานวน 77 ล้านดอลลาร์ สรอ.
2.เร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา (Development Phase)
โครงการหลักที่อยู่ในระยะพัฒนา ได้แก่
- โครงการสัมปทานกาชา
- โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2
- โครงการโมซัมบิก แอเรีย 1
รวมถึงโครงการพัฒนาในประเทศมาเลเซีย เช่น
- โครงการมาเลเซีย เอสเค405บี
- โครงการมาเลเซีย เอสเค417
- โครงการมาเลเซีย เอสเค438
โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,464 ล้านดอลลาร์ สรอ.
3.เร่งดำเนินการสำรวจในโครงการปัจจุบัน ทั้งโครงการที่อยู่ในระยะสำรวจ โครงการในระยะพัฒนา รวมถึงโครงการที่ดำเนินการผลิตแล้ว เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 127 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลของโครงการในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศเมียนมา
ปตท.สผ. ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจ พลังงานลมนอกชายฝั่ง, ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service), ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC)
ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต พร้อมกับการดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต่อไป