หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงานว่า บล.ฟิลลิป ระบุว่า MTC ใช้กลยุทธ์ในการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในการขยายสินเชื่อ และทำให้กลายเป็น Non-bank ที่มีสาขามากที่สุดในประเทศ และสินเชื่อของ MTC โดดเด่นกว่ากลุ่มมาโดยตลอด และในปี 67 ก็ยังโดดเด่นกว่า ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์กลับดีสวนทางกับกลุ่ม นอกจากนี้ยังมองว่า MTC จะได้ประโยชน์จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล ยังคงประมาณการกำไร และยังคงราคาพื้นฐาน 53 บาท แนะนำ “ทยอยซื้อ”
ขยายสินเชื่อผ่านการขยายสาขา จนเป็น Non-bank ที่มีสาขามากที่สุด
กลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อของ MTC คือการไปเปิดสาขาในชุมชน โดย ณ สิ้น 3Q67 MTC มีสาขาอยู่ทั้งหมดถึง 8,031 สาขาทั่วประเทศ และทำให้ MTC เป็นผู้ประกอบการ Non-bank ที่มีสาขามากที่สุดในไทย และยังมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีกปีละ 500-600 สาขา และถึงแม้จะมีการเปิดสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่สินเชื่อเฉลี่ยต่อสาขาก็ไม่ได้ปรับลดลง และกลับเพิ่มสูงขึ้นได้จากปี 57 ที่มีสินเชื่อเฉลี่ยต่อสาขา 16.9 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 19.5 ล้านบาท ณ 3Q67
สินเชื่อโตเด่นกว่ากลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา MTC มีการปล่อยสินเชื่อที่โดดเด่นกว่ากลุ่มมาโดยตลอด โดยตั้งแต่ปีที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 53 จนถึงสิ้นปี 66 MTC มีสินเชื่อเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 46% ต่อปี จะมีเพียงปี 65 ที่ SAWAD มีการโอนสินเชื่อมาจากธ.ออมสิน และปี 66 ที่ “เงินสดทันใจ” ซื้อหุ้นคืนมาจากธนาคารอื่น ทำให้ MTC ชะลอการปล่อยสินเชื่อลงเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของ MTC น้อยกว่า SAWAD แต่ในปี 67 MTC กลับมาปล่อยสินเชื่อได้โดดเด่นกว่ากลุ่มอีกครั้ง โดย 3Q67 MTC สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่ม 10.99% YTD ในขณะที่ SAWAD สินเชื่อหดตัว 2.47% YTD และ TIDLOR ปล่อยได้เพิ่ม 4.85% YTD และมองว่าด้วยมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ของรัฐบาลจะทำให้กลุ่มรากหญ้ามีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งความต้องการสินเชื่อ และคุณภาพสินทรัพย์ของ MTC
ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง
กนง. เริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่การประชุมในครั้งก่อน และถึงแม้ว่าการประชุมรอบล่าสุดในวันที่ 18 ธ.ค. 67 จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ แต่ก็คาดว่าในปี 68 จะมีการปรับลดลงได้อีก ทำให้คาดว่า MTC จะได้ประโยชน์ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง โดยต้นทุนดอกเบี้ยนั้นคิดเป็น 22% ของต้นทุนทั้งหมดของ MTC ที่ผ่านมาในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ MTC ลดต่ำลง และหากอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาลง คาดว่าจะช่วยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ MTC รวมไปถึงผลประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้
อาจไม่ใช่บริษัทที่ NPL ต่ำสุด แต่คุณภาพสินทรัพย์ดีสวนทางกลุ่ม
ถึงแม้ว่า MTC จะไม่ใช่บริษัทที่มี NPL ต่ำที่สุด โดย ณ 3Q67 จะมี NPL อยู่ 2.82% ในขณะที่ TIDLOR มี NPL เพียง 1.88% และ SAWAD มี NPL 3.39% แต่คุณภาพสินทรัพย์ของ MTC กลับดีสวนทางกับกลุ่ม ในขณะที่คู่แข่งมี NPL เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ MTC กลับสามารถลด NPL ลงมาได้แล้ว 5 ไตรมาสติดต่อกัน โดยสามารถลดจาก 3.36% ใน 2Q66 เหลือ 2.82% ใน 3Q67 และมองว่าด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐ จะทำให้ลูกหนี้ของ MTC มีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น และทำให้ NPL ลดลงได้ต่อ
คงประมาณการ คงราคาพื้นฐาน แนะนำ “ทยอยซื้อ”
ทางฝ่ายยังคงประมาณการกำไรปี 67 ของ MTC ไว้ที่ 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8% Y-Y และคาดว่าปี 68 การที่สินเชื่อจะโตต่อเนื่อง ต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง รวมไปถึงการตั้งสำรองที่อาจจะลดลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอีก 25% Y-Y เป็น 7.3 พันล้านบาท ยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 53 บาท แนะนำ “ทยอยซื้อ”