หุ้นวิชั่น – บล.เอเชียพลัส ส่องภาพเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยที่ยังขับเคลื่อนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งยังต้องการแรงกระตุ้นทั้งในส่วนของนโยบายการคลังที่เข้มข้น และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งล่าสุดทางคุณกิตติรัตน์เสนอให้ กนง. ควรลดดอกเบี้ยให้เร็วกว่านี้ เพื่อหลีกหนีจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ขณะที่ทางฝั่งกระทรวงการคลังยังเห็นมาตรการกระตุ้นเรื่อยๆ ผ่านการรวบรวมข้อมูลของฝ่ายวิจัยฯ ที่ว่ารัฐบาลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้-รายจ่าย/ GDP พบว่าในปี 2567 สัดส่วนรายได้สุทธิหลังหักกา จัดสรร/GDP อยู่ที่ 15.1% ส่วนสัดส่วนงบประมาณรายจ่าย/GDP อยู่ที่ 18.9% ซึ่งปีหน้าตัวเลขยังสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 19.8% ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2568 มีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 8.7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าอาจเป็นการหาแหล่งเงินทุนเดินหน้าโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท รวมถึงมาตรการอื่นๆที่เตรียมไว้กระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
ซึ่งล่าสุด กระทรวงการคลังเตรียมนำมาตรการ EASY E-RECEIPT เข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า โดยมีรายละเอียด คือ โครงการให้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท(ตั้งแต่ 1 ม.ค.68 เป็นต้นไป) โดยต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากอ้างอิงจากข้อมูลปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ 70,000 ล้านบาท หรือกระตุ้น GDP ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 0.18%
อย่างไรก็ตาม ในมุมความเสี่ยงภาระผูกพันของประเทศ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กำลังถูกแลกมาด้วยการก่อหนี้สิน โดยหนี้สาธารณะ/GDP ของไทยเดือน ต.ค. 67 ล่าสุดอยู่ที่ 63.99% ซึ่งภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง70% รัฐบาลยังก่อหนี้ได้อีกแค่ 1.1 ล้านล้านบาท เท่านั้น อีกทั้งยอดหนี้สาธารณะของบ้านเรายังเติบโตเร็วกว่า GDP GROWTH มาเป็นเวลานาน หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า อาจมีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะ/GDP จะเกินกรอบเป้าหมายได้
โดยสรุป เศรษฐกิจไทยถ้าจะฟื้นแรง ต้องการแรงผลักจากนโยบายการคลังเพิ่มเติม แต่ติดที่หนี้สาธารณะ/GDP ของไทยสูง ใกล้ชนเพดาน จึงทำให้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกินกรอบทางวินัยได้