หุ้นวิชั่น – ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) (KSS) สรุปประเด็นสำคัญกรณี THAI เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (6-12 ธ.ค.)
THAI เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) ในอัตรา 1 หุ้นเดิม ต่อ 4.5 หุ้นเพิ่มทุน ที่ราคา 4.48 บาท/หุ้นที่ปรึกษาทางการเงินประเมินมูลค่ายุติธรรมของหุ้น THAI ที่ 4.89-6.29 บาท ด้วยวิธี EV/EBITDA ที่ 4-5x อิงจากค่าเฉลี่ยสายการบิน Full service ทั่วโลก และสมมติฐาน EBITDA ปี 2025F ที่ 45,067 ล้านบาท
THAI กลับมามีกำไรปกติ 24,866 ล้านบาท ในปี 2023 และคาดว่ากำไรปกติจะอยู่ที่ 17,282 ล้านบาท ในปี 2024F (9M24 มีกำไรปกติแล้ว 10,996 ล้านบาท) ทั้งนี้ คาดว่ากำไรปี 2024F จะลดลงเพราะค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ สูงขึ้น และในปี 2025F คาดว่า THAI จะมีกำไรปกติเติบโตต่อเนื่องที่ 20,803 ล้านบาท (+20% YoY) ณ สิ้น 3Q24 THAI มีหนี้ที่มีดอกเบี้ย 1.7 แสนล้านบาท และมีส่วนทุนติดลบ -2.8 หมื่นล้านบาท และการแปลงหนี้เป็นทุนในเดือน พ.ย.24 (ราคาแปลงเป็นทุนที่ 2.5452 บาท/หุ้น) ซึ่งเจ้าหนี้ใช้สิทธิ์ 90% ทำให้ลดหนี้ลงได้ 5.3 หมื่นล้านบาท และมีหุ้นเพิ่มจากการแปลงหนี้เป็นทุนครั้งนี้จำนวน 20,989 ล้านหุ้น (เทียบกับหุ้นสามัญเดิม THAI ที่ 2,183 ล้านหุ้น) หากการขายหุ้นเพิ่มทุน (RO) ครั้งนี้ขายได้ 100% จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น THAI ฟื้นกลับมาเป็นบวก 69,486 ล้านบาท และ THAI จะมีเงินสดในมือกว่า 103,786 ล้านบาท (จากเงินสดเพิ่มทุน 44,005 ล้านบาท และเงินสด ณ สิ้น 3Q24 ที่ 59,782 ล้านบาท)
หลังเสร็จสิ้นการเพิ่มทุนครั้งนี้ THAI จะทำเรื่องขอออกจากแผนฟื้นฟูและให้หุ้น THAI กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งประมาณกลางปี 2025F
ความเห็นและคำแนะนำ
มองหุ้น THAI น่าสนใจจากผลการดำเนินงานฟื้นตัวเป็นกำไร และฐานะทางการเงินแข็งแรงขึ้น พร้อมสำหรับการลงทุนในอนาคต ราคาหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงิน หรือมี Upside ราว 9-40%
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้น THAI มีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ดังนี้
มองผลการดีขึ้นของ THAI เกิดจาก 3 ส่วน คือ (1) การฟื้นฟูกิจการทำให้ THAI ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (2) อุตสาหกรรมการบินในปี 2023-2024 มีปัจจัยบวกจาก Supply จำกัด ขณะที่ Demand ฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย และ (3) THAI (อาจ) ได้ประโยชน์จากต้นทุนและค่าใช้จ่ายพิเศษจากคู่ค้าและเจ้าหนี้ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น จึงมีความไม่แน่นอนว่าหากสิ้นสุดปัจจัยบวกข้อ (2) และ (3) ผลประกอบการของ THAI จะยังแข็งแกร่งหรือไม่
การที่ THAI ล้มเหลวในการดำเนินงานและต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในอดีตส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามามีบทบาทใน THAI มากเกินไปของรัฐบาล ทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ และล่าสุด (เดือน พ.ย.24) มีสัญญาณว่ารัฐบาลเตรียมกลับมามีบทบาทใน THAI มากขึ้นอีกครั้ง ด้วยการส่งตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มทุน ทำให้มีตัวแทนจากรัฐบาลเพิ่มเป็น 3 คน ในผู้บริหารแผนทั้งหมด 5 คน และหลังการปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้เราคาดว่ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐจะมีสัดส่วนการถือหุ้น THAI ไม่น้อยกว่า 40% โดยเจ้าหนี้บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของรัฐบาล และอยู่ระหว่างยื่นฟ้องศาลเพื่อล้มเลิกมติดังกล่าว
มีความเสี่ยงกรณีมีแรงขายทำกำไรจาก (1) ผู้ถือหุ้นเดิม (2.2 พันล้านหุ้น) ที่ถือหุ้น THAI ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีราคา ปิด (17 พ.ค. 21) ที่ 3.32 บาท และ (2) เจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนที่ 2.5452 บาท/หุ้น (2.1 หมื่นล้านหุ้น) อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มนี้มี Lock-up Period 1 ปี นับแต่หุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และ 25% ของหุ้นกลุ่มนี้สามารถขายได้เมื่อครบกำหนด 6 เดือน
ผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะขาดสภาพคล่องราว 6 เดือน เนื่องจากคาดว่าหุ้น THAI จะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ราวกลางปี 2025F