SUN Q3/67 กำไรพุ่ง 66.8% บริหารต้นทุนดี พร้อมปันผล 0.15 บาทต่อหุ้น

           SUN รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 140.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้รายได้จากการขายลดลงร้อยละ 10 สาเหตุจากการลดการสั่งซื้อของคู่ค้าต่างประเทศ แต่ยอดขายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มสินค้าพร้อมทาน SUN ยังคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมนโยบายป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน

           บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าในไตรมาส 3/2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 913.0 ล้านบาท ลดลง 100.8 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2566 รายได้จากการขายต่างประเทศลดลงเนื่องจากในปี 2566 สภาพอากาศเหมาะสม ทำให้คู่ค้าเร่งซื้อสินค้าเพื่อชดเชยสินค้าที่ขาดในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ในปี 2567 คู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะทวีปเอเชีย มีสินค้าพอเพียงในการจำหน่ายจึงไม่เร่งนำเข้าสินค้า ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปอเมริกายังคงขยายตัวได้ โดยเติบโตขึ้นจากกลุ่มสินค้ากระป๋องและสินค้าแช่แข็งในส่วนของลูกค้ารายเดิมที่มาซื้อเพิ่ม ปริมาณวัตถุดิบรับเข้ายังคงเป็นไปตามแผน โดยลูกค้าเริ่มกลับมาซื้อเพิ่มในไตรมาส 3/2567 ทำให้รายได้จากการขายสูงขึ้น 86.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567

           รายได้จากการขายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มสินค้าพร้อมทาน (RTE) โดยเฉพาะมันหวานเผา ถั่วแระญี่ปุ่น ข้าวโพดพร้อมทาน ธัญพืชพร้อมทาน และลำไยลอยแก้ว โดยมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวโพดหวานผสมถั่วแระญี่ปุ่น ข้าวโพดคลุกชีส ถั่วรวมต้มน้ำตาล และข้าวโพดข้าวเหนียวคลุกมะพร้าววางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ

           สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาส 3/2567 มีจำนวน 140.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.8 จากไตรมาส 3/2566 เนื่องจากบริษัทสามารถบริหารต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้นจากการปรับปรุงสายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมีการใช้ระบบอัตโนมัติ (automation) ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังคงมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยมีกำไรจากตราสารอนุพันธ์และอัตราแลกเปลี่ยน 62.1 ล้านบาท

           ในงวดเก้าเดือนของปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 2,505.3 ล้านบาท ลดลง 347.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.2 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเก้าเดือนของปี 2566 สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทและบริษัทย่อยในงวดเก้าเดือนของปี 2567 มีจำนวน 260.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเก้าเดือนของปีก่อน แม้ว่ารายได้จากการขายจะลดลงร้อยละ 12.2 แต่บริษัทสามารถบริหารต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้นจากการปรับปรุงสายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายลดลงตามสัดส่วนของยอดขายที่ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายบริหารเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนและผลประโยชน์พนักงาน รวมถึงค่าเช่าโกดังสินค้าที่สูงขึ้น บริษัทยังคงมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยมีกำไรจากตราสารอนุพันธ์และอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 25.5 ล้านบาท

           สถานะการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 2,333.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 355.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.0 จากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 สาเหตุหลักมาจากสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 239.2 ล้านบาท เนื่องจากมีวัตถุดิบเข้าผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ – สุทธิเพิ่มขึ้น 58.5 ล้านบาทจากโครงการ Mini Factoryz และโครงการปรับปรุงไลน์ผลิต

 

บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 864.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 253.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.4 จากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินจำนวน 287.5 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้ บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,468.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากกำไรสุทธิ 260.0 ล้านบาท และกำไรเบ็ดเสร็จอื่น 2.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการวัดมูลค่าตามวิธีคณิตศาสตร์ประกันภัยของหนี้สินผลประโยชน์พนักงาน โดยหนี้สินผลประโยชน์พนักงานลดลงและกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอัตราคิดลดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีการจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดจำนวน 161.2 ล้านบาท

พร้อมอนุมัติเงินปันผล 0.15 บาทต่อหุ้น วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) : 20 พ.ย. 2567 โดยวันที่จ่ายปันผล : 04 ธ.ค. 2567

แชร์:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

OKJ ขยายสาขา-แบรนด์ โตแกร่ง  แนะ

OKJ ขยายสาขา-แบรนด์ โตแกร่ง แนะ "ซื้อ" เป้า 17 บาท

โบรกคัดหุ้นเด่น Commerce Sector รับอานิสงส์มาตรการภาครัฐฯ

โบรกคัดหุ้นเด่น Commerce Sector รับอานิสงส์มาตรการภาครัฐฯ

KTB จับตาสำรองฯลดลง โบรกชี้ Q4 กำไรพุ่ง65%

KTB จับตาสำรองฯลดลง โบรกชี้ Q4 กำไรพุ่ง65%

CPALL โบรกปล่อยประเด็นลบ CPAXT คาด Q4 ผลประกอบพีคตาม high season

CPALL โบรกปล่อยประเด็นลบ CPAXT คาด Q4 ผลประกอบพีคตาม high season

ข่าวล่าสุด

ทั้งหมด