ถ้าทรัมป์ชนะเลือกตั้งตามโพล
หุ้นวิชั่น – บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนก่อนการเลือกตั้ง แต่ปีนี้ S&P 500 ปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งแตกต่างจากค่าเฉลี่ย -4.2% ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น การลอบสังหารทรัมป์และการถอนตัวของไบเดน โอกาสชนะของทรัมป์เพิ่มขึ้นจากการใช้แคมเปญที่เน้นประเด็นฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดภาษี และสร้างงาน โดยโพลล์ Real Clear Politics ชี้ทรัมป์นำแฮร์ริส หากพรรครีพับลิกันครองทั้งสองสภา (Republican Sweep) จะเพิ่มโอกาสในการผ่านนโยบายสำคัญของทรัมป์ได้ง่ายขึ้น นโยบายการลดภาษี (TCJA) ลงเหลือ 15% นั้น แม้จะสามารถยื่นร่วมกับการอนุมัติงบประมาณในรูปแบบที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ถูก filibuster ในวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม การผ่านกฎหมายดังกล่าวยังต้องการเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีวุฒิสมาชิกรีพับลิกันสายกลาง (moderate Republican senators) จะลังเลหรือไม่สนับสนุนการลดภาษี TCJA เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่สูงเกินกว่า 100% ของ GDP รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณถึง 6% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสมัยแรกของทรัมป์ที่ขาดดุลเพียง 3.4% อันสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น ทำให้การผ่านกฎหมายอาจมีความไม่แนนอนในประเด็ตดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ส่วนนโยบาย Trump 2.0 ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เร็วกว่าก็คือ นโยบายเพิ่มภาษีนำเข้า เพราะเป็นอำนาจของประธานาธิบดี (หากไม่ขัดมาตรา 232 และ 301) ดังนั้น หากมีผลบังคับใช้ ก็จะสร้างความผันผวนต่อตลาดคล้ายกับปี 2018 จากการประเมินปัจจัยต่างๆ ทั้งความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ การขยายตัวของสงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงการตอบสนองของนักลงทุนต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เป็นที่ชัดเจนว่าปี 2025 อาจไม่ใช่ปีที่ราบรื่นสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในอดีต เหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายรัฐบาลมักสร้างความผันผวนให้กับตลาด ตัวอย่างเช่นในปี 2018 ยุค Trump 1.0 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนมากจากปัญหาสงครามทางการค้ากับจีน แม้ว่าในช่วงดังกล่าวนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม
ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับผลกระทบต่อการค้าไทย เรามองว่าหากมี Trade war ระลอกใหม่เกิดขึ้นจริง ก็น่าจะส่งผลกระทบกับกับสินค้าส่งออกไทย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ และกลุ่มที่เสียประโยชน์ ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่เสียประโยชน์:
แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่
- กลุ่มสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจีน ได้แก่ สินค้าขั้นต้นและขั้นกลางในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเกษตร เช่น ส่วนประกอบแผงวงจรพิมพ์ และน้ำยางข้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน สัดส่วนการส่งออกสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไปจีนลดลงเหลือเพียง 7% ขณะที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 36% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวทั้งหมด เท่ากับว่าลดการพึ่งพิงการส่งออกไปยังจีนค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ผลกระทบน่าจะน้อยกว่าการขึ้นภาษีในครั้งก่อน ส่วนการส่งออกยางพารา เรามองว่าไทยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยส่งออกยางพาราไปจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 39% ของมูลค่าการส่งออกยางพาราไทยทั้งหมด
- กลุ่ม Price-sensitive products เช่น ข้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยไทยมีความเสียเปรียบด้านต้นทุน ซึ่งหากสหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้ากับทุกสินค้ากับทุกประเทศ ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าว
กลุ่มที่ได้ประโยชน์:
- สินค้าไทยที่มีโอกาสเข้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ถุงมือยาง ยางรถยนต์ ไปจนถึงหลอดและท่อยาง ซึ่งในส่วนนี้ไทยมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันเหนือประเทศคู่แข่ง เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบยางพาราในประเทศ
- ส่วนอีกกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลาย ซึ่งประกอบด้วยคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของ HDD รวมถึง Semiconductor และ IC ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ยังมีทิศทางเติบโตที่ดี โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 12% ต่อปี (CAGR ในช่วงปี 2023-2033) อันเป็นผลมาจากความต้องการในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามเรายังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทุกประเภทจากทุกประเทศว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากอาจไม่สอดคล้องกับมาตรา 232 และ 301 ดังนี้
- มาตรา 232 – กฎหมายนี้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
- มาตรา 301 – ให้อำนาจประธานาธิบดีในการตอบโต้ประเทศที่มีการกระทำการค้าที่ยุติธรรม เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
การใช้มาตรการภายใต้กฎหมายทั้งสองนี้ควรมีเหตุผลสนับสนุน และไม่ควรดำเนินการในลักษณะครอบคลุมแบบหว่านแห ดังนั้น ในทางปฏิบัติ การขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทุกประเภทและทุกประเทศจึงอาจไม่ไปไกลถึงจุดนั้น ส่งผลให้ผลกระทบต่อการค้าไทยจากประเด็นนี้อาจไม่รุนแรงเท่าที่กังวล
ผลกระทบต่อตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นทั่วโลกมักปรับตัวขึ้นหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่รอบนี้อาจต่างออกไป เนื่องจากข้อมูลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 4 ครั้งในอดีต ระหว่างปี 2004-2016 ชี้ให้เห็นว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วง 1-3 เดือนหลังจากนั้น (Post-election rally) โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมพบว่าจาก 3 ใน 4 ครั้งที่ตลาดปรับตัวขึ้นนั้น เศรษฐกิจโลกอยู่ในวงจร mid cycle ในขณะที่อีก 1 ครั้ง คือในช่วงปี 2008 ที่เศรษฐกิจถดถอย ตลาดกลับให้ผลตอบแทนติดลบ
ข้อสังเกตดังกล่าวทำให้เห็นว่าวงจรเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาร่วมเพื่อประเมินแนวโน้มผลตอบแทนภายหลังการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งปี 2024 จึงอาจให้ผลต่างออกไปจากค่าเฉลี่ยทางสถิติเรื่อง post-election rally เนื่องจากวงจรเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ใน late cycle และมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับความกังวลเรื่องสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นโลกรอบนี้มีแนวโน้มผันผวนและอาจให้ผลตอบแทนติดลบในช่วง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง
สำหรับตลาดหุ้นไทย ในกรณีที่แฮร์ริสได้รับชัยชนะ แนวนโยบายส่วนใหญ่คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนัก จึงทำให้ไม่ต้องประเมินผลกระทบต่างไปจากเส้นทางเดิมมากนัก อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังต่อไปนี้
-
- กลุ่มบวกที่ดำเนินธุรกิจในไทย จากโอกาสของการส่งออกสินค้าทดแทนจีน หรือการย้ายฐานการผลิต ได้แก่
- กลุ่มถุงมือยาง: STGT
- อิเล็กทรอนิกส์: DELTA
- กลุ่มนิคมฯ: WHA, AMATA
- กลุ่มโรงไฟฟ้าในนิคมฯ: WHAUP
- กลุ่มบวกที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม จะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง และได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต
- กลุ่มค้าปลีก: BJC, CRC (การบริโภคในเวียดนามมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาคการส่งออก เพราะได้รับค่าแรงและการจ้างงานมากขึ้น)
- กลุ่มวัสดุก่อสร้าง: SCGD
- กลุ่มนิคมฯ: WHA, AMATA
- กลุ่มบวกที่ดำเนินธุรกิจในไทย จากโอกาสของการส่งออกสินค้าทดแทนจีน หรือการย้ายฐานการผลิต ได้แก่