หุ้นวิชั่น - TOP โชว์ฟื้นตัวในไตรมาส 4/67 มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 4,218 ล้านบาท ส่วนทั้งปีทำกำไรสุทธิ 9,959 ล้านบาท ขณะที่โครงการ Clean Fuel Project (CFP) เดินหน้าต่อเนื่อง หลังขยายงบลงทุนเพิ่ม รวมกว่า 18,165 ล้านบาท พร้อมอนุมัติ ปันผล 0.70 บาท/หุ้น XD 27 ก.พ. 68 และกำหนดจ่าย 28 เม.ย. นี้
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลประกอบการ ในไตรมาส 4/2567 กลุ่มไทยออยล์มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้จากการขาย 111,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,944 ล้านบาท จากปริมาณการขายที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม ไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันอยู่ที่ 7.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาสที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจัยหลักที่หนุนให้กำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน, น้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าด, น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตากับน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบดูไบ ที่เพิ่มขึ้นจากอุปทานในภูมิภาคที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น เนื่องจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของจีนมีแนวโน้มลดลงจากการปรับลดส่วนลดภาษี
ขณะที่ ส่วนต่างน้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าดกับน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้น จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี รวมถึง ส่วนต่างน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบ ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตความร้อนในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ ส่วนต่างน้ำมันเตากำมะถันสูงกับน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานที่ลดลงจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ OPEC+
ด้าน Crude Premium ในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารอะโรเมติกส์ปรับตัวลดลง จาก ส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลดลง เนื่องจากความต้องการเสื้อผ้าและสิ่งทอไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ประกอบกับ กำไรจากธุรกิจปลายน้ำ เช่น สาร PTA ยังคงถูกกดดัน ขณะที่ ส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ปรับตัวลดลง จากปริมาณสารเบนซีนคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และการเปิดดำเนินการของโรงผลิตสารเบนซีนหลังปิดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับ กำไรขั้นต้นจากกลุ่มธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับทำความสะอาดปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังสิ้นสุดฤดูมรสุม ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับเพิ่มสูงขึ้น จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวหลังผ่านฤดูฝน และอุปทานที่ยังคงตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ในเกาหลีใต้
ด้าน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยใน Q4/67 เทียบกับ Q3/67 ปรับลดลง ส่งผลให้ใน Q4/67 กลุ่มไทยออยล์มีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาท หรือ 2.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันลดลง 3,370 ล้านบาท ส่งผลให้ กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 5.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจาก Q3/67
เมื่อรวม การกลับรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 2,105 ล้านบาทใน Q4/67 เทียบกับ รายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 2,097 ล้านบาทใน Q3/67 และ ผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 224 ล้านบาท (รวมเฉพาะรายการที่เกิดจากการป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์) แล้ว กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA อยู่ที่ 6,472 ล้านบาท เทียบกับ ผลขาดทุน EBITDA 4,268 ล้านบาทในไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ ใน Q4/67 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน 6 ล้านบาท ลดลง 56 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า และมี ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 487 ล้านบาท (โดยเป็นผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ 233 ล้านบาท) เทียบกับ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 1,645 ล้านบาทใน Q3/67
เมื่อหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว ส่งผลให้ ใน Q4/67 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาท หรือ 1.24 บาทต่อหุ้น เทียบกับ ขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาทใน Q3/67
เมื่อเทียบปี 2567 กับปี 2566 กลุ่มไทยออยล์มีอัตราการใช้กำลังการกลั่นลดลง เนื่องจากมีการหยุดเดินเครื่องนอกแผนของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 (Crude Distillation Unit 3: CDU-3) เป็นเวลา 13 วัน ในเดือนมกราคม 2567 และมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 1 (Crude Distillation Unit 1: CDU-1) และหน่วยที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 11 วัน ในเดือนพฤษภาคม 2567 ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์หลายรายการที่ปรับลดลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 455,857 ล้านบาท ลดลง 3,545 ล้านบาท
ด้าน กำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดลง จากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน, น้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบที่ปรับลดลง อันเนื่องมาจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นใหม่ที่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับตัวสูงขึ้น จาก ส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณเบนซีนคงคลังของจีนอยู่ในระดับต่ำในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี อย่างไรก็ตาม กำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับลดลง จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง ประกอบกับ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับลดลง เช่นกัน
ส่งผลให้ กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 2.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 5,105 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่มี รายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 80 ล้านบาท ลดลง 45 ล้านบาท จากปี 2566 เมื่อรวมกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 626 ล้านบาท (รวมเฉพาะรายการที่เกิดจากการป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์) ส่งผลให้ กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA 22,026 ล้านบาท ลดลง 13,427 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงิน 265 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 52 ล้านบาท และมีกำไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้ 1,134 ล้านบาทเมื่อหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว
ส่งผลให้ ปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 9,959 ล้านบาท ลดลง 9,484 ล้านบาท เทียบกับปี 2566
บริษัทฯและบริษัทในกลุ่มมีแผนการลงทุนโครงการในอนาคตที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี 2568 ถึงปี 2570 รวมจำนวนทั้งสิ้น 438 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประกอบด้วยโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ของบริษัทฯ ผ่านการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงโครงการอื่นของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ตามรายละเอียดประมาณการรายจ่ายสำหรับแผนการลงทุนปี 2568 – 2570
สรุปแผนการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP)
โครงการ CFP มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทฯ โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายกำลังการกลั่นน้ำมัน เพื่อให้สามารถ กลั่นน้ำมันดิบได้มากขึ้นและหลากหลายชนิดขึ้น ซึ่งช่วยให้เกิด การประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) ลดต้นทุนวัตถุดิบ และเสริมสร้าง ความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึง สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ให้เข้าลงทุนในโครงการ CFP โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท และ ดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท บริษัทฯ ได้ลงนามใน สัญญาออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction - EPC) กับผู้รับเหมาหลัก ได้แก่
• PSS Netherlands B.V. สำหรับงานออกแบบวิศวกรรมและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในต่างประเทศ
• กิจการร่วมค้า (Unincorporated Joint Venture) ของ
o Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd.
o Petrofac South East Asia Pte. Ltd.
o Saipem Singapore Pte. Ltd.
สำหรับงานก่อสร้างและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในประเทศไทยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโครงการ CFP ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ทั้งในขั้นตอนการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาอุปกรณ์ และการก่อสร้าง ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการเพิ่มขึ้น และต้อง ขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไปจากที่คาดการณ์ไว้เดิม
ที่ประชุม คณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2564 ได้พิจารณาอนุมัติ
• การขยายกรอบวงเงินดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างของโครงการ CFP จาก 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท
• เพิ่มขึ้นอีก 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,278 ล้านบาท ต่อมา ในการประชุม คณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาอนุมัติ
• งบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการ CFP
• เพิ่มงบประมาณของโครงการอีกประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,165 ล้านบาท
• ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการไปอีก 24 เดือน ตามเงื่อนไขในสัญญา EPC การปรับปรุงแผนงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้โครงการ CFP สามารถดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ และ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีการอนุมัติ TOP ปันผล 0.70 บาท ขึ้น XD 27 กุมภาพันธ์ 2568 กำหนดการจ่ายเงิน 28 เมายน 2568