บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) [SHR]
Holding Company ถือหุ้นในบริษัทที่บริหารจัดการโรงแรมระดับนานาชาติ
ธุรกิจโรงแรมทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 36 แห่ง
โรงแรมภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อย่าง SANTIBURI, SAii และอื่นๆ
Key Highlights
เน้นการทำธุรกิจโรงแรมระดับ Upper Upscale ผ่านการบริหารจัดการ 4 รูปแบบ ได้แก่ การบริหารเองภายใต้เเบรนด์ของบริษัท ภายใต้สัญญาแฟรนไชส์ ภายใต้สัญญาบริหารจัดการโดยบุคคลภายนอก และในลักษณะร่วมค้า
เติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ พร้อมกับพัฒนายกระดับแบรนด์ทราย (SAii) และ Reposition & Rebrand โรงแรมศักยภาพในสหราชอาณาจักร
เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุดแก่ประชาชนทั่วไป อายุ 2 ปี และ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.5% -5.0% ต่อปี ตามลำดับ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จองซื้อในระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2568 โดยปัจจุบัน บริษัทมีหุ้นกู้คงค้าง 1 รุ่น มูลค่า 1,300 ล้านบาท
S Hotels: Flagship Company ด้านธุรกิจโรงแรมของกลุ่มสิงห์ เอสเตท
บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่ง SHR ประกอบธุรกิจผ่านการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารจัดการโรงแรม เน้นการลงทุนในโรงแรมระดับนานาชาติ รวมถึงขยายธุรกิจและพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทมีโรงแรมทั้งสิ้น 36 แห่ง รวม 4,290 ห้อง ทั้งในไทย 4 โรงแรม และในต่างประเทศ อย่าง สาธารณรัฐมัลดีฟส์ (4 โรงแรม) สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ (2 โรงแรม) สาธารณรัฐมอริเชียส (1 โรงแรม) และสหราชอาณาจักร (25 โรงแรม) ซึ่งรายได้มากกว่า 80% มาจากต่างประเทศ โดยมาจากโรงแรมของบริษัทในสหราชอาณาจักรเป็นหลัก (36%)
การบริหารจัดการโรงแรมดังกล่าว แบ่งได้เป็น 4 รูปแบบหลัก ดังนี้
โรงแรมที่บริหารจัดการและดำเนินการเอง ภายใต้แบรนด์ของบริษัท (Self-Managed) ได้แก่ SANTIBURI, SAii และ Konotta Maldives
โรงแรมที่บริหารจัดการและดำเนินการเองภายใต้สัญญาแฟรนไชส์ (Self-Managed with Franchise Agreement) ผ่านแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CROSSROADS อย่าง SAii Lagoon Maldives และ Hard Rock Hotel Maldives
โรงแรมที่บริหารจัดการภายใต้สัญญาบริหารจัดการโดยบุคคลภายนอก (Third-party Hotel Management Agreement) ด้วยการว่าจ้างผู้ประกอบการโรงแรมภายนอก ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้แบรนด์ Outrigger, Mercure, Castaway, The Unlimited Collection
โรงแรมที่มีการดำเนินงานในลักษณะร่วมค้า เช่น SO/ MALDIVES และ Holiday Inn
โดยโรงแรมส่วนใหญ่ของบริษัทจะอยู่ในระดับบน (Upper Upscale) เป็นหลัก ดังรูป
อัตราการเข้าพักโรงแรมในฟิจิทะลุ 90% ส่งผลบวกต่อรายได้
รายได้จากการให้บริการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 7,745.6 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 7.2% YoY ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงบริษัทมีการปรับปรุงห้องพักให้ทันสมัยและตอบโจทย์ การกำหนดราคาตรงเป้าหมาย ทำให้โรงแรม Outrigger โรงแรมในโครงการ CROSSROADS และโรงแรมที่บริษัทบริหารเองในไทย มีรายได้เพิ่มขึ้น 45%, 8% และ 5% YoY ตามลำดับ โดยโรงแรม Outrigger ทั้งในสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ และมอริเชียส มีอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) โตขึ้นโดดเด่น
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือน มีผลขาดทุนสุทธิ 13.4 ล้านบาท จากส่วนแบ่งขาดทุนจากกิจการร่วมค้าเป็นหลัก และผลกระทบจากการรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์ อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 6.4% YoY ส่วนหนึ่งมาจากการออกหุ้นกู้ในไตรมาส 4 ปี 2566
ผลการดำเนินงาน
เติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ ภายใต้งบ 1.5 หมื่นล้านบาท
ภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนโอกาสการเติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ด้วยงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับพัฒนายกระดับแบรนด์ทราย (SAii) ในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับลักซ์ซัวรี่ และวางงบกว่า 1 พันล้านในการปรับปรุงห้องพัก ขณะที่แผน Reposition & Rebrand โรงแรมศักยภาพในสหราชอาณาจักร คาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2569
ในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักที่มีให้บริการ (RevPAR) ในภาพรวมโตอยู่ที่ 5-10% YoY โดยเฉพาะในไทยที่คาดว่าจะโตระหว่าง 20-25% ท่ามกลางปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว
หุ้นกู้ SHR
ทริสคงอันดับอันดับเครดิตองค์กรที่ BBB+ แนวโน้มเป็น Negative ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 จากการเป็นบริษัทลูกหลักของบริษัท สิงห์ เอสเตท และมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ของบริษัทแม่ ท่ามกลางผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้นและอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ทริสยังคาดว่า บริษัทจะเข้าลงทุนในโรงแรมเพิ่มเติมในช่วง 2567 - 2569 ส่งผลต่อรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนแนวโน้มจาก Stable เป็น Negative เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ (S) ส่วนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ถูกจัดอันดับเครดิตที่ BBB (6 มกราคม 2568)
ประวัติอันดับเครดิตองค์กร
ข้อกำหนดการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน ผู้ออกหุ้นกู้จะดำรงอัตราส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity Ratio) ตามงบการเงินรวมไม่เกินกว่า 2.5 เท่า โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทดำรงอัตราส่วนนี้เท่ากับ 0.71 เท่า
ส่วนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ปรับตัวดีขึ้น ณ สิ้นไตรมาส 3 มาอยู่ที่ 1.30 เท่า จาก 1.34 เท่าในปี 2566 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม Tourism & Leisure ในปี 2566 อยู่ที่ 3.09 เท่า
หุ้นกู้คงค้าง บริษัทเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปี 2566 ทำให้ในปัจจุบันมีหุ้นกู้คงค้างจำนวน 1 รุ่น มูลค่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือนตุลาคม 2569 และบริษัทมีเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 1,876.5 ล้านบาท
เสนอขายหุ้นกู้แก่ประชาชนทั่วไป เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวน 2 ชุด เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2568 ได้แก่
ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี
ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2571 อัตราดอกเบี้ย 5.0% ต่อปี
วัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อ 1) ให้บริษัทย่อยกู้ยืม นำเงินไปชำระคืนหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงิน (มูลค่าหนี้รวม 2,835 ล้านบาท) 2) สนับสนุนการลงทุน ปรับปรุงและพัฒนาโรงแรม หรือขยายธุรกิจ 3) ใช้เป็นเงินทุนสำรองระยะสั้นในการประกอบกิจการ
โดยมี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ได้แก่
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด
ปัจจัยเสี่ยง
ความเสี่ยงเรื่องโครงสร้างหนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ 89% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้เป็นเงินลงทุนของบริษัทย่อย เป็นต้น โดยผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จะมีสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทที่ด้อยกว่าหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อน
ความเสี่ยงจากการจัดหาเงินทุนและสภาพคล่อง การจัดหาเงินทุนจากภายนอกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ผลประกอบการ ภาวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกสูง หากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จะมีผลต่ออัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก ซึ่งส่งผลต่อผลการดำเนินงาน ดังนั้น หากความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรลดลง จะส่งผลให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือเงื่อนไขการกู้ยืมมีความยากมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเลือกใช้เครื่องมือในการจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมตามสถานการณ์ ทำให้ ณ ปัจจุบัน บริษัทสามารถจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการได้ตามแผนงาน ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยผ่านการทำ IRS Hedging บนเงินกู้ยืมในสกุลดอลล่าร์สหรัฐและปอนด์ ซึ่งเป็นเงินกู้หลักของบริษัทในสัดส่วนเฉลี่ยกว่า 90% ของวงเงินกู้ยืม
ความเสี่ยงจากอำนาจผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมมากว่า 50% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนรวมดังกล่าวสามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เกือบทั้งหมด
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/e6ce568b-4838-4f7e-aebe-25ed226805b5