ปรับแต่งการตั้งค่าการให้ความยินยอม

เราใช้คุกกี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำหน้าที่บางอย่าง คุณจะพบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ทั้งหมดภายใต้หมวดหมู่ความยินยอมแต่ละประเภทด้านล่าง คุกกี้ที่ได้รับการจัดหมวดหมู่ว่า "จำเป็น" จะถูกจัดเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการทำงานของฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์... 

ใช้งานอยู่เสมอ

คุกกี้ที่จำเป็นมีความสำคัญต่อฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์ และเว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หากไม่มีคุกกี้เหล่านี้

คุกกี้เหล่านี้ไม่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้แบบฟังก์ชันนอลช่วยทำหน้าที่บางอย่าง เช่น แบ่งปันเนื้อหาของเว็บไซต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวบรวมความคิดเห็น และฟีเจอร์อื่นๆ ของบุคคลที่สาม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้วิเคราะห์ใช้เพื่อทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมโต้ตอบกับเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้เข้าชม อัตราตีกลับ แหล่งที่มาของการเข้าชม ฯลฯ

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้ประสิทธิภาพใช้เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิภาพหลักของเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นแก่ผู้เยี่ยมชม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้โฆษณาใช้เพื่อส่งโฆษณาที่ได้รับการปรับแต่งตามการเข้าชมก่อนหน้านี้ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

#SCB EIC


รับมือทรัมป์ 2.0 อย่างไร เมื่อไทยยังมีแผลเป็นเศรษฐกิจ

รับมือทรัมป์ 2.0 อย่างไร เมื่อไทยยังมีแผลเป็นเศรษฐกิจ

          การกลับมารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีทรัมป์ได้เร่งให้ความไม่แน่นอนในโลกสูงขึ้น นโยบายทรัมป์ 2.0 กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีผลกดดันเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินงานของธุรกิจทั่วโลก มองไปข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายลักษณะคาดการณ์ยาก พร้อมจะปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับการต่อรอง ในกรณีฐานมองว่าสหรัฐฯ จะใช้นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) แทนนโยบาย Universal Tariffs ที่เคยหาเสียงไว้ และใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะสินค้าหรือบางประเทศเพิ่มเติม (Specific Tariffs) เช่น สินค้ารถยนต์ เหล็กและอะลูมิเนียม หรือสินค้าจากประเทศจีนและแคนาดา           SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นราว 11% จากอัตราเฉลี่ยเดิม ยิ่งหากประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ด้วยแล้ว คาดว่าสงครามการค้ารอบใหม่นี้จะกระทบเศรษฐกิจโลกรวม –1.3% และเร่งให้เงินเฟ้อโลกเพิ่ม 0.5% ในระยะปานกลาง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลลบทางเศรษฐกิจสุทธิน้อยกว่า แต่เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเร่งตัวสูงกว่าจากผลกระทบนโยบายขึ้นภาษีนำเข้า           SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวชะลอลงบ้างที่ 2.6% (เทียบกับ 2.7% ในปีก่อน) จากผลสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้น ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มออกนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยลดผลกระทบจากภายนอกมากขึ้น เช่น ยุโรปและจีนวางแผนขาดดุลการคลังมากขึ้น โดยเยอรมนีมีแผนขยายกฎเกณฑ์การคลังด้านหนี้ (Debt Break) เพื่อเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ พร้อมตั้งกองทุน 500,000 ล้านยูโรเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐตลอด 10 ปีข้างหน้า ด้านจีนวางแผนขาดดุลคลัง 4% ของ GDP สูงเป็นประวัติการณ์ อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นก่อหนี้มากขึ้น และจะกู้เงิน 5 แสนล้านหยวนเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐ           นโยบายการเงินประเทศเศรษฐกิจหลักจะแตกต่างกันและไม่แน่นอนสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยอีก 50 BPS ในปีนี้ตามที่เคยประเมินไว้ แม้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังสูงและเสี่ยงเร่งขึ้นจากนโยบายภาษีนำเข้าของตัวเอง แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 และความไม่แน่นอนของนโยบายที่สูงขึ้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่า Fed รวม 100 BPS ในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าและเงินเฟ้อต่ำกว่า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้รวม 50 BPS เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยนอ่อน และเงินเฟ้อญี่ปุ่นทรงตัวสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืนขึ้น           SCB EIC ยังคงมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 2.4% เศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ 10,000 บาทเฟสที่เหลือ และการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการเร่งเบิกจ่าย อย่างไรก็ดี ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้เงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สำหรับนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไทย เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยพึ่งตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น พร้อมกับการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นด้วยหลังจากจีนมีแผนทยอยลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ กระจายไปตลาดอื่น           ท่ามกลางแรงกดดันจากภายนอกสูงขึ้น ภาคการผลิตไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นการเข้ามาแข่งขันกับตลาดในประเทศมากขึ้น ภาพการลงทุนภาคเอกชนแม้จะกลับมาขยายตัวในปีนี้จากที่หดตัวแรงในปีก่อน แต่เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าทุนตามกระแสการลงทุนทางตรงจากต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนในประเทศด้านอื่นยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก           SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก สะท้อนอาการแผลเป็นโควิดหลายมิติ ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ทั้งจาก (1) แผลเป็นภาคธุรกิจ : รายได้ธุรกิจฟื้นแบบ K-Shape สัดส่วนจำนวนบริษัทผีดิบ (Zombie firm) ยังสูงกว่าก่อนโควิด โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก (2)  แผลเป็นตลาดแรงงาน : แม้ภาพรวมการจ้างงานดีขึ้นต่อเนื่อง แต่คุณภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับแย่ลง โดยแรงงานนอกระบบสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มีรายได้ต่ำกว่าแรงงานในระบบเกือบเท่าตัว มี (3) แผลเป็นภาคครัวเรือน : สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ที่ยังสูงเกือบ 90% แม้จะทยอยลดลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อใหม่หดตัว ทำให้แม้การบริโภคภาคเอกชนปีนี้จะมีปัจจัยบวกชั่วคราวจากโครงการเงินโอน 10,000 บาทเฟสที่เหลือ แต่ปัจจัยรายได้ฟื้นช้า หนี้สูง และการเข้าถึงสินเชื่อที่ลดลงจะยังคงกดดันการบริโภคอยู่ และ (4) แผลเป็นภาคการคลัง : เห็นได้จากหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากเทียบก่อนโควิดและมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้ 70% ในอีกไม่กี่ปี แม้รัฐบาลจะขาดดุลสูงในปีงบประมาณ 2568 นี้ แต่กรอบงบประมาณจะสะท้อนข้อจำกัดการคลังในระยะปานกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยพื้นฐานเชิงโครงสร้างของประเทศที่อ่อนแอเช่นนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบ K-Shape และมีแนวโน้มเติบโตต่ำในระยะข้างหน้า           SCB EIC ประเมิน กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ไปอยู่ที่ 1.5% ณ สิ้นปี สาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ        1)  ภาวะการเงินจะยังตึงตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ขณะที่การขายหุ้นกู้ของธุรกิจที่มีอันดับเครดิตไม่สูงเริ่มมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วเทียบภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา และ 2) เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศเช่นนี้           ในระยะข้างหน้า SCB EIC มองว่า ไทยต้อง “เร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน” ทั้งในระยะสั้นและยาวควบคู่กันไป พร้อมการสื่อสารสาธารณะ ในการผลักดันนโยบายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ทรัพยากรภาครัฐให้ตอบโจทย์การปรับตัวของประเทศ โดยเร่งดำเนินการผ่านนโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และนโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ           มุมมองผลกระทบต่อธุรกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบาย Reciprocal Tariffs และ Specific Tariffs ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกระทบกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ (เช่น จีน) ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง รวมถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ นอกจากนี้ ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงมากขึ้น รวมถึงสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า ซึ่งคาดว่าอาจเป็นความเสี่ยงที่ซ้ำเติมให้การผลิตในบางอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาผลกระทบเชิงบวกในบางธุรกิจที่ไทยอาจเข้าไปเจาะตลาดสหรัฐฯ แทนจีนหรือเม็กซิโกได้           ในสถานการณ์เช่นนี้ SCB EIC มองว่าผู้ประกอบการไทยสามารถใช้กลยุทธ์ 4P ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายของ Trump 2.0 และจากปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ยังอ่อนแอ ประกอบด้วย 1) Product : พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์/แตกต่างและเพิ่มมูลค่า 2) Place : กระจายตลาด 3) Preparedness : บริหารความเสี่ยงทุกมิติ ทั้งห่วงโซ่อุปทานและงบการเงิน 4) Productivity : เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดย : ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย วิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB EIC) นางสาวปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย Industry Analysis  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB EIC)

เปิดมุมมอง รพ.เอกชน ปี 68 ผู้ป่วยต่างชาติพุ่ง 7.6% แรงหนุน เทรนด์สุขภาพ

เปิดมุมมอง รพ.เอกชน ปี 68 ผู้ป่วยต่างชาติพุ่ง 7.6% แรงหนุน เทรนด์สุขภาพ

          หุ้นวิชั่น - ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยปี 2025 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ขยายตัวได้ดีและกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยที่มีแนวโน้มเติบโตปานกลาง อีกทั้ง ยังได้รับแรงสนับสนุนจาก Mega trends ด้านสุขภาพ โดยรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยคาดว่าจะเติบโต 5.6%YOY จากรายได้กลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่ 7.6%YOY หลังจากปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของคูเวตจากการเปลี่ยนนโยบายการส่งผู้ป่วยไปรักษาต่างประเทศของรัฐบาล อีกทั้ง ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลก แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ           ส่วนรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยคาดว่าจะเติบโตปานกลางที่ 5.2%YOY ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2024 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในอัตราที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อเนื่องมายังกำลังซื้อและการใช้จ่ายด้านสุขภาพของชาวไทย อย่างไรก็ดี แนวโน้มการจ่ายเงินคงที่สำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของสำนักงานประกันสังคม และการทำประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยเสริมการเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยชาวไทย           นอกจากนี้ Mega trends ด้านสุขภาพจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งประกอบด้วย 1. การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ของไทยในปี 2024 จากสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เท่ากับ 14% ของประชากรทั้งหมดและคาดว่าในปี 2033 จะเป็นปีที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) จากสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 20% 2. การเติบโตของคนชั้นกลางและกำลังซื้อที่สูงขึ้น จากสัดส่วนจำนวนครัวเรือนยากจนของไทยที่ปรับลดลงและค่าเฉลี่ยรายได้ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น 3. แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น (NCDs) จากสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรค NCDs ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4. พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 และ 5. การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ จากจุดแข็งของไทยในด้านราคา การบริการ และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก           เทรนด์ที่น่าสนใจของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ได้แก่ 1. เทรนด์สุขภาพและเวลเนส จากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น 2. เทรนด์เทคโนโลยีด้านการแพทย์ (Health Tech) ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและยกระดับการดูแลผู้ป่วย           และ 3. เทรนด์ ESG ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลจะต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีผลต่อสุขภาพของประชาชน สำหรับภาวะการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น จากหลายเครือโรงพยาบาลที่วางแผน/เตรียมเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดควบคู่กับการขยายจำนวนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลเดิมพร้อมทั้งยังมีแนวทางพัฒนาธุรกิจการแพทย์ในทิศทางที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย           3 ประเด็นหลักที่ท้าทายธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2025 และในระยะถัดไป ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคที่คาดหวังในคุณภาพการรักษาและการบริการที่คุ้มค่ามากขึ้น, การลงทุนด้าน Health Tech ซึ่งค่อนข้างจำเป็น แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด การลงทุนจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการเบิกจ่ายตามสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต้องเตรียมพร้อมและกระจายความเสี่ยงไม่ให้พึ่งพาฐานลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ที่มา : SCB EIC

SCB EIC คาดรายได้อุตสาหกรรมยางพารา ปี 2568 รายได้ลด 8.8% จากศก.โลกกดดัน

SCB EIC คาดรายได้อุตสาหกรรมยางพารา ปี 2568 รายได้ลด 8.8% จากศก.โลกกดดัน

           หุ้นวิชั่น - SCB EIC คาดว่ารายได้ อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป ในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว 8.8%YOY มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาส่งออกยางพาราโดยเฉลี่ยจะลดลง 6.7%YOY เนื่องจากภาวะขาดดุลในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลาย จากความต้องการใช้ยางพาราโลกที่จะเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและโรคระบาดในพืชที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2025 จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 2025 จะลดลง 2.2%YOY เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนกดดันให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้วและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ที่จะกระทบต่อราคาและปริมาณการส่งออกยางพารา            อนึ่ง อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เล่นสี่รายครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ โดยผู้เล่นจะแข่งขันกันในด้านการกระจายแหล่งรายได้/ตลาด/วัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกราว 80% กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 4 ราย โดย SCB EIC พบว่า ในปี 2023 กลุ่มผู้ผลิตยางพาราแปรรูปขนาดใหญ่ 4 อันดับแรกครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกยางพารารวมกันสูงถึง 80.0% โดยกลุ่มศรีตรัง (STA) มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยไทยฮั้ว เซาท์แลนด์ และวงศ์บัณฑิต ในขณะที่ นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER), ไทยอีสเทิร์น (TEGH) และไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์ (TRUBB) มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับที่ 10, 11 และ 17 ตามลำดับ            โดยกลุ่มบริษัทที่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านตลาด แหล่งวัตถุดิบและราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ต่างชาติแห่ลงทุนไทย หนุนพื้นที่เช่า BC รับทรัพย์

ต่างชาติแห่ลงทุนไทย หนุนพื้นที่เช่า BC รับทรัพย์

          หุ้นวิชั่น -  SCB EIC ส่องอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ โตอย่างจำกัด 1-2% ส่งสัญญาณต่างชาติต้องการพื้นที่ใหม่ หลังตบเท้าเข้าลงทุนไทยเพียบ ด้านพื้นที่ค้าปลีก คาดปี 68 โต 2.5-3.5% ด้านผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่สํานักงาน พื้นที่ค้าปลีกให้เช่า AWC S BC CPN J MBK PLAT SENX รับทรัพย์           ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยถึง แนวโน้มอุุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ว่า ตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่าเผชิญสถานการณ์ Oversupply และความต้องการพื้นที่ฟื้นตัวอย่างจำกัด โดยคาดว่าอุปสงค์พื้นที่สำนักงานให้เช่าในปี 2024-2025 จะกลับมาฟื้นตัวได้เล็กน้อยราว +1% ถึง +2%YOY ต่อปี จากอุปสงค์ของบริษัทในประเทศที่ฟื้นตัวช้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการทำงานรูปแบบ Hybrid workplace และ Office-based hybrid workplace ที่ยังคงกดดันให้ความต้องการพื้นที่ใหม่มีแนวโน้มทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย           โดยคาดว่าความต้องการพื้นที่ใหม่จะมาจากบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ที่ทยอยกลับเข้ามาลงทุน ซึ่งมักสนใจพื้นที่ให้เช่าในโครงการขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีอยู่น้อยรายเป็นหลัก ขณะที่อุปทานใหม่ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่าอุปสงค์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอุปทานใหม่ในปี 2024 และ 2025 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว +2.5% ถึง +4.5%YOY ต่อปี ซึ่งสถานการณ์ Oversupply และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างจำกัดยังคงกดดันให้อัตราค่าเช่าในปี 2024-2025 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง           ส่วนตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าอุปสงค์พื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในปี 2024-2025 จะขยายตัว +2.5% ถึง +3.5%YOY ต่อปี ตามการขยายตัวของอุปทานใหม่ โดยเฉพาะโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มักเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีศักยภาพในการดึงดูดผู้เข้าใช้บริการ (Traffic) ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยังคงมีความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกในโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มักเป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง           อย่างไรก็ตามอุปสงค์พื้นที่ค้าปลีกให้เช่าโดยรวมยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวในระยะต่อไปยังเป็นไปอย่างจำกัด ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนอุปทานใหม่ในปี 2024-2025 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น +5% ถึง +8%YOY ต่อปี และคาดว่าอัตราค่าเช่าในปี 2024-2025 ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก อยู่ที่ราว +1% ถึง +2%YOY ต่อปี           การแข่งขันในตลาดยังมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้เล่นรายใหญ่เป็นหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และกรุงเทพฯ ชั้นกลางบางพื้นที่ ที่มีความหนาแน่นของอุปทานสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ ได้แก่ 1) พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง 2) สร้างความแตกต่าง และยกระดับคุณภาพของพื้นที่ หรือโครงการ เช่น เพิ่มความหลากหลายของประเภทผู้เช่า หรือรูปแบบของพื้นที่เช่าในโครงการ ปรับปรุงพื้นที่ และการให้บริการ 3) บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะต้นทุนการพัฒนาโครงการ และ 4) ให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาโครงการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน           ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งในรายงานฉบับนี้ครอบคลุมธุรกิจพื้นที่สำนักงานให้เช่า และธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง โดยผู้ประกอบการพื้นที่ให้เช่ารายใหญ่มีความได้เปรียบในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายสาขา ทำให้สามารถสร้างการรับรู้ของแบรนด์ไปในวงกว้าง จึงมีความสามารถในการแข่งขันดึงดูด Traffic และความต้องการพื้นที่เช่าได้มากตามมา ทำให้การแข่งขันในตลาดกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีอยู่น้อยราย เช่น AWC, CPN, J, MBK, PLAT, S ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กส่วนใหญ่ยังเน้นพัฒนาโครงการขนาดกลาง-เล็ก และจำเป็นต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอื่น ๆ ทดแทน           ธุรกิจพื้นที่สำนักงานให้เช่า และธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า ได้รับผลกระทบในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์, การจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ, Work from home ไปจนถึง มาตรการ Social distancing ซึ่งส่งผลให้ความต้องการพื้นที่เช่าในช่วงเวลาดังกล่าวชะลอตัวลง และมีการทยอยยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการพื้นที่ให้เช่ารายกลาง-เล็กที่ขาดสภาพคล่องทยอยเลิกกิจการไปในปีต่อ ๆ มา           ขณะที่ผู้ประกอบการพื้นที่ให้เช่ารายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการรายกลางบางส่วนที่ยังรักษากิจการไว้ได้ ส่วนใหญ่หันมาปรับลดอัตราค่าเช่า เพื่อรักษาผู้เช่าให้อยู่ในโครงการต่อไป โดยเป็นการทำสัญญาทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ตั้งแต่ 1-3 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บรรเทาความรุนแรงลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่สำนักงานให้เช่า และธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ารายใหญ่ ซึ่งมีอยู่น้อยรายเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะโครงการของผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงอย่าง CPN และ S ที่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ จนถึงปัจจุบัน ส่วนโครงการของผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจ           ธุรกิจพื้นที่สำนักงานให้เช่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอย่างมาก จากการปิดกิจการของบริษัทในช่วงดังกล่าว ประกอบกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากเดิมที่เป็นการทำงานที่ออฟฟิศ มาเป็นรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid workplace หรือการสลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศและจากที่ไหนก็ได้ ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าลดลง โดยพื้นที่สำนักงานให้เช่าได้ (Occupied space) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2023 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.0 ล้านตารางเมตร จากระดับ 8.4 ล้านตารางเมตรในปี 2020 ซึ่งรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid workplace รวมถึงในปัจจุบัน ที่ปรับรูปแบบมาเป็น Office-based hybrid workplace ซึ่งกำหนดให้มีสัดส่วนจำนวนวันที่ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าจำนวนวันที่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ก็จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าในระยะต่อไป           สำหรับอุปทานใหม่ของพื้นที่สำนักงานให้เช่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2020-2023 ยังขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยราว +1.0% ต่อปี ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่สำนักงานให้เช่าได้กลับหดตัวเฉลี่ยราว -1.5% ต่อปี ทำให้เกิดสถานการณ์ Oversupply ในปัจจุบันสูงถึง 1.5 ถึง 2 ล้านตารางเมตร กดดันให้อัตราการปล่อยเช่า (Occupancy rate) ลดลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราค่าเช่าไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยอัตราค่าเช่าในภาพรวมหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020-2023 เฉลี่ย -6% ต่อปี           ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าสามารถฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ แม้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ที่เป็นข้อจำกัดในการออกไปจับจ่ายใช้สอย หรือรับประทาน อาหารนอกบ้าน รวมถึงการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ Traffic ชะลอตัวในระยะสั้น แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย Traffic ก็กลับมาฟื้นตัวได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าได้ (Occupied space) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2020-2021 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 7.5 ล้านตารางเมตร และทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 และ 7.9 ล้านตารางเมตรในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ ขณะที่อุปทานตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ายังเผชิญสถานการณ์ Oversupply ในปัจจุบันอยู่ที่ราว 3-5 แสนตารางเมตร แม้ยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อุปทานใหม่ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป ทั้งนี้อัตราค่าเช่าในภาพรวมแม้จะหดตัวลง -3%YOY ในปี 2021 แต่ในปี 2022-2023 สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เฉลี่ย 4% ต่อปี           ธุรกิจพื้นที่สำนักงานให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 และ 2025 ยังเผชิญแรงกดดันจากความต้องการพื้นที่เช่าที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร SCB EIC คาดว่าพื้นที่สำนักงานให้เช่าได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024-2025 จะกลับมาฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อยราว +1% ถึง +2%YOY ต่อปี มาอยู่ที่ระดับราว 8.1-8.3 ล้านตารางเมตร หลังจากหดตัว -4%YOY ในปี 2023 เนื่องจากความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าใหม่ที่ยังมีแนวโน้มไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะจากบริษัทในประเทศที่ฟื้นตัวช้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการทำงานรูปแบบ Hybrid workplace และ Office-based hybrid workplace ที่ยังคงกดดันให้ความต้องการพื้นที่ใหม่ของทั้งบริษัทในประเทศและบริษัทต่างชาติยังมีแนวโน้มทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย โดยคาดว่าความต้องการพื้นที่ใหม่จะมาจากบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ทยอยกลับเข้ามาลงทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความต้องการพื้นที่ใหม่จากบริษัทต่างชาติยังเผชิญความท้าทาย จากการแข่งขันดึงดูดการลงทุนที่เข้มข้นจากประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN โดยตัวเลขเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Inflow FDI) ของไทยในช่วงปี 2021-2023 เฉลี่ยอยู่ที่ปีละราว 3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าของอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ปีละราว 4.3-6.8 หมื่นล้านบาทต่อปี           ทั้งนี้บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ส่วนใหญ่สนใจทำเลใจกลางเมือง หรือไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก และนิยมพื้นที่ให้เช่ามาตรฐานสูงเกรด A และ A+ เป็นหลัก ซึ่งมักเป็นโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย เช่น AWC และ S           สำหรับความต้องการพื้นที่จากบริษัทในประเทศส่วนใหญ่คาดว่ายังมาจากการย้ายสำนักงาน ซึ่งมีทั้งการย้ายเข้าสู่พื้นที่ใหม่ในทำเลใจกลางเมืองของบริษัทขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ และการย้ายออกจากทำเลใจกลางเมืองเพื่อลดค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่ลงของบริษัทขนาดกลาง-ขนาดเล็ก รวมถึงบริษัทที่ยังคงรูปแบบการทำงานแบบ Hybrid workplace หรือ Work from anywhere           ทั้งนี้ยังต้องติดตามแนวทางการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่า และอาจส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าในระยะต่อไป โดยเฉพาะจากบริษัทข้ามชาติ ยังมีความไม่แน่นอนสูง เช่น บริษัทข้ามชาติอาจชะลอแผนการลงทุนในบางอุตสาหกรรมเพื่อรอความชัดเจนของนโยบาย           รวมถึงการลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทยที่อาจมีความเสี่ยงชะลอตัวจากนโยบาย America First ที่จะทำให้มีการโยกย้ายการลงทุนหรือฐานการผลิตกลับไปสหรัฐฯ และส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าของบริษัทข้ามชาติลดลง อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า อาจมีโอกาสของการลงทุนย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติออกจากประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง โดยเฉพาะจีน ที่อาจย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้น และส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าจากบริษัทในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน           ในด้านอุปทานตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีแนวโน้มเผชิญสถานการณ์ Oversupply จากอุปทานใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่าอุปสงค์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอุปทานใหม่ในปี 2024 และ 2025 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว +2.5% ถึง +4.5%YOY ต่อปี มาอยู่ที่ระดับราว 10.1-10.4 ล้านตารางเมตร โดยเฉพาะจากโครงการขนาดใหญ่เกรด A และ A+ ทำเลใจกลางเมือง ซึ่งแม้ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มชะลอแผนการเปิดโครงการใหม่ออกไปมากขึ้น แต่คาดว่าจะยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์ Oversupply คลี่คลายลงได้ในระยะสั้น จากอุปทานสะสมเดิมที่อยู่ในระดับสูง จึงต้องติดตามสถานการณ์ Oversupply ต่อไป ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง           จากแนวโน้มความต้องการพื้นที่เช่าที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร และมีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับอุปทานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคามากขึ้น ขณะที่อัตราค่าเช่าของผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีอยู่น้อยรายมีแนวโน้มทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อย กดดันอัตราค่าเช่าในภาพรวมของปี 2024-2025 ให้ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องราว -2% ถึง -4%YOY ต่อปี           ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024-2025 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ กำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง SCB EIC คาดว่าพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 และ 2025 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวในปี 2023 ราว +2.5% ถึง +3.5%YOY ต่อปี มาอยู่ที่ระดับราว 8.1-8.4 ล้านตารางเมตร โดยความต้องการพื้นที่ใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุปทานใหม่เป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่าง CPN, MBK, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด หรือกลุ่มบริษัทในเครือ เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ที่มักจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เช่าที่           มีคุณภาพสูง และมีการบริหารจัดการความหลากหลายของประเภทผู้เช่าได้เป็นอย่างดี จึงมีศักยภาพในการดึงดูด Traffic ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำลังซื้อในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยหนุนให้เกิด Traffic และดึงดูดผู้เช่าเข้าสู่พื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มดังกล่าว           อย่างไรก็ตาม ความต้องการพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ายังเผชิญความเสี่ยงที่ทำให้อัตราการขยายตัวในระยะต่อไปยังเป็นไปอย่างจำกัด ได้แก่ 1) เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า กดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่าง 2) การกลับมาและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 และ 3) ความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจกดดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว           ในด้านอุปทาน ตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีแนวโน้มเผชิญสถานการณ์ Oversupply จากอุปทานใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่าอุปสงค์ โดยอุปทานใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว +5% ถึง +8%YOY ต่อปี หรือกว่า 6-7 แสนตารางเมตรในช่วงปี 2024-2025 ยังคงทำให้สถานการณ์ Oversupply ไม่สามารถคลี่คลายลงได้ในระยะสั้น ทำให้คาดการณ์ว่าอัตราค่าเช่าในปี 2024-2025 ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนักเพียงราว +1% ถึง +2%YOY ต่อปี โดยมาจากการปรับขึ้นอัตราค่าเช่าโครงการขนาดใหญ่ของผู้เล่นรายใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นกลางที่ Traffic ยังหนาแน่นเป็นหลัก    ขณะที่อัตราค่าเช่าของโครงการในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ในภาพรวมยังมีแนวโน้มทรงตัว จากความต้องการพื้นที่เช่า และต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่าในพื้นที่ใจกลางเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม อัตราค่าเช่าในโครงการขนาดใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ อาจมีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อย จากความต้องการพื้นที่เช่าที่สูงกว่าโครงการของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ           ในระยะต่อไป การแข่งขันในตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่า และพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีแนวโน้มกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้เล่นรายใหญ่เป็นหลัก โดยอุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอุปสงค์ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้การแข่งขันยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และกรุงเทพฯ ชั้นกลางบางพื้นที่ ที่มีความหนาแน่นของอุปทานสูง           ผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ารายใหญ่ ซึ่งมีจำนวนน้อยราย ยังคงความได้เปรียบในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ หรือโครงการที่มีขนาดลดลงมาตามความเหมาะสมของพื้นที่ ประกอบกับจุดแข็งด้านแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก ทำให้ยังสามารถดึงดูด Traffic และความต้องการพื้นที่เช่าได้มาก ทำให้ผลประกอบการของผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ารายใหญ่ยังมีแนวโน้มขยายตัว ส่วนผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกขนาดรองลงมายิ่งจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่ผู้ประกอบการพื้นที่สำนักงานให้เช่ารายใหญ่ซึ่งมีอยู่น้อยราย ยังมีแนวโน้มเผชิญสถานการณ์ความต้องการพื้นที่เช่ามีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และมีอยู่จำกัด ประกอบกับสถานการณ์ Oversupply ที่กดดันจากทั้งอุปทานใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่คุณภาพสูงเกรด A และ A+ ด้วยกันเอง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุปทานเดิมที่ยังไม่สามารถปล่อยเช่าพื้นที่ได้ ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่คุณภาพสูง และโครงการที่มีขนาดเล็กหรือมีคุณภาพต่ำกว่าซึ่งมีอัตราค่าเช่าที่ต่ำกว่า ทำให้ผลประกอบการยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างจำกัด และจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปัจจัยกดดันรอบด้าน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการพื้นที่สำนักงานให้เช่าขนาดรองลงมาที่ยิ่งจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาผลประกอบการ โดย SCB EIC มองว่า กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่า และพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าควรเน้นให้ความสำคัญในระยะข้างหน้า ได้แก่ พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง : โดยหลีกเลี่ยงการพัฒนาโครงการในทำเลที่มีการแข่งขันรุนแรง หรือทำเลที่มีสถานการณ์ Oversupply รุนแรง เช่น พื้นที่ใจกลางเมือง พื้นที่สุขุมวิทตอนกลาง-ตอนปลาย พื้นที่รัชดาฯ-ลาดพร้าว เป็นต้น โดยเฉพาะโครงการพื้นที่สำนักงานให้เช่า รวมถึงโครงการ Mixed-use หรือโครงการขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนของพื้นที่สำนักงานให้เช่าสูง ที่ต้องให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ สร้างความแตกต่าง และยกระดับคุณภาพของพื้นที่ หรือโครงการ : ผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานให้เช่า อาจสร้างความแตกต่างของพื้นที่ โดยการเพิ่มความหลากหลายของประเภทผู้เช่าหรือรูปแบบของพื้นที่เช่าในโครงการเพื่อดึงดูด Traffic เช่น การผสมผสานพื้นที่ Supermarket ร้านค้า หรือพื้นที่สำนักงานให้เช่า เข้ากับโรงแรม ร้านอาหาร บริการทางการแพทย์ Wellness center พื้นที่สำหรับการพักผ่อนหรือสันทนาการ พื้นที่สำหรับการศึกษาเรียนรู้สาธารณะ ไปจนถึงพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังรวมถึงการยกระดับหรือปรับปรุงคุณภาพของพื้นที่ หรือโครงการและอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านการลดอัตราค่าเช่า เช่น การปรับปรุงพื้นที่ (Renovation) ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เลือกใช้บริษัทบริหารและจัดการอาคารที่มีมาตรฐาน มีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม มีการออกแบบโดยคำนึงถึงการจัดการเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไร : ทั้งด้านต้นทุนการพัฒนาโครงการ โดยการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดขั้นตอนการก่อสร้างหรือลดการใช้แรงงาน เช่น BIM (Building Information Modeling), Smart construction, เทคโนโลยีการก่อสร้างสำเร็จรูป เป็นต้น การสร้างความร่วมมือกับผู้รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องใน Supply chain รวมถึงด้านต้นทุนการดำเนินงาน โดยการใช้เทคโนโลยีหรือติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เช่น Solar cell, อุปกรณ์การใช้น้ำระบบ Eco power และ EV charger รวมถึงการออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงการใช้แสงจากธรรมชาติ ทิศทางลม เป็นต้น ให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG : โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยการพัฒนาโครงการใหม่ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ในปัจจุบัน มักผ่านการรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น Leadership in Energy and Environmental Design (LEED), Global Real Estate Sustainability Benchmark (GRESB), WELL Building Standard และมาตรฐานอาคารเขียว TREES สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่คำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโครงการมากขึ้น และมีผลต่อการตัดสินใจเช่าพื้นที่ รวมถึงส่งผลต่อความสามารถในการปรับขึ้นของอัตราค่าเช่าตามมา           สำหรับผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยนอกจากการพัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้างความแตกต่างของโครงการ เช่น มีรูปแบบการทำสัญญาเช่าพื้นที่ที่ยืดหยุ่น เน้นเจาะกลุ่มผู้เช่าพื้นที่เฉพาะกลุ่ม อย่างพื้นที่สำนักงานให้เช่าขนาดกลาง-เล็กที่เจาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าขนาดกลาง-เล็กที่เจาะกลุ่มผู้เช่าพื้นที่ที่สอดคล้องไปกับศักยภาพของทำเลนั้น ๆ เช่น ผู้ค้า Street food ในทำเลที่มีนักท่องเที่ยวสูง

abs

ปตท. แข็งแกร่งร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

กรีนโลจิสติกส์มาแรง! LEO-SONIC ตามเทรนด์

กรีนโลจิสติกส์มาแรง! LEO-SONIC ตามเทรนด์

          หุ้นวิชั่น - SCB EIC ส่องแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปี 68 มูลค่า 9 แสนล้าน โต 3.4%  ชี้แนวโน้มราคาน้ำมันลด กดต้นทุนร่วง ส่งซิกเทรนด์ Green-LogTech Logistics มาแรง ด้านบอสใหญ่ LEO เดินหน้าขยายธุรกิจตามแนวทาง ESG ยกระดับขนส่งสู่ตลาดโลก           ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ระบุถึง แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2024-2025 การเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น           ในปี 2567 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่าจะขยายตัว 5.1% (YOY) ตามการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และอัตราค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์โลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากวิกฤตทะเลแดง           ส่วนในปี 2568 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่าจะเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ 3.4% (YOY) คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 9 แสนล้านบาท เนื่องจากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตช้าลง แนวโน้มค่าขนส่งปี 2568           อัตราค่าขนส่งเฉลี่ยในปี 2568 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2567 แต่จะมีความผันผวนมากขึ้น โดยค่าขนส่งทางถนนในประเทศและค่าขนส่งทางอากาศโลกมีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่ค่าขนส่งทางเรือคาดว่าจะลดลง ส่วนราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งส่งผลดีต่อการลดต้นทุน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจทำให้ผู้ให้บริการมีความจำเป็นต้องลดค่าขนส่งเพื่อการแข่งขัน เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์ที่เติบโต           Green Logistics : การให้บริการโลจิสติกส์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นเรื่องสำคัญในระดับโลก ผู้ให้บริการในไทยเริ่มให้บริการ Green Logistics เพิ่มขึ้น           LogTech (Logistics Technology) : การนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น พร้อมลดต้นทุน แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์           การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นใน 3 ด้านหลัก           การขยายบริการที่ทับซ้อนกันมากขึ้น ทั้งในประเภทขนส่งและลักษณะสินค้า ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันด้านราคา           การแข่งขันด้านคุณภาพในการขนส่ง ท่ามกลางการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น           การแข่งขันในธุรกิจจัดส่งพัสดุที่รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งด้านราคาและคุณภาพบริการ ปัจจัยสำคัญที่กระทบธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2568           เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัว และเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ           การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการและยานพาหนะเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม           การใช้เทคโนโลยี AI ในการขนส่ง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทาง สภาพอากาศ และจราจร รวมถึงการประสานงานระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ว่าจ้าง ธุรกิจโลจิสติกส์ความสำคัญและการแบ่งประเภท           ธุรกิจโลจิสติกส์คือธุรกิจที่ให้บริการจัดการเคลื่อนย้ายสินค้า ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ครอบคลุมบริการที่หลากหลาย เช่น การขนส่งสินค้า การบริหารคลังสินค้าและจัดการสินค้าคงคลัง การบริการด้านพิธีการศุลกากร การจัดเก็บสินค้าและลานตู้สินค้า และการบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ประเภทของผู้ประกอบการโลจิสติกส์แบ่งได้ตามบริการที่ให้ ได้แก่           ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า (Freight Transport)           ผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้า (Freight Forwarder)           ตัวแทนขายระวางสินค้า (Cargo Sale Agent)           ผู้ให้บริการคลังสินค้าและกระจายสินค้า (Warehousing & Distribution)           ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโลจิสติกส์ (Logistics Technology)           ผู้ให้บริการ 3PL (Third-Party Logistics) ซึ่งให้บริการโลจิสติกส์หลายประเภทภายใต้ผู้ประกอบการรายเดียว           นอกจากนี้ ธุรกิจโลจิสติกส์ยังแบ่งย่อยตามกลุ่มประเภทการขนส่ง ได้แก่ การขนส่งทางถนน การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางราง และแบ่งตามลักษณะสินค้า เช่น สินค้าทั่วไป สินค้าวัตถุอันตราย สินค้าควบคุมอุณหภูมิ พัสดุสินค้า ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในตลาดหลักทรัพย์ไทย สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก           กลุ่มผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนนเป็นหลัก เช่น ETL, KIAT, MENA, SJWD ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้า           กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุ (Parcel Delivery) ซึ่งทำหน้าที่จัดส่งพัสดุไปยังผู้บริโภค เช่น KEX และ TPL           กลุ่มผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าเป็นหลัก (Freight Forwarder) ซึ่งทำหน้าที่จัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผ่านการนำเข้าและส่งออก รวมถึงจัดการด้านเอกสาร พิธีการศุลกากร และประสานงานระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ขนส่ง เช่น สายเดินเรือ สายการบิน และผู้ให้บริการรถบรรทุก ตัวอย่างผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ได้แก่ ANI, B, III, LEO, MPJ, NCL, SINO, SONIC และ WICE           ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ธุรกิจโลจิสติกส์ การเติบโตของรายได้ในธุรกิจโลจิสติกส์ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ความต้องการขนส่งการค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงการค้าชายแดนและการผ่านแดน ซึ่งได้รับผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เนื่องจากธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ให้บริการกับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในสัดส่วนสูง           การบริโภคภาคเอกชน เช่น การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ           มูลค่าตลาด E-commerce ซึ่งมาจากการดำเนินงานจัดส่งพัสดุไปยังผู้บริโภค 2. อัตราค่าขนส่งซึ่งเป็นผลจากสมดุลระหว่างความต้องการขนส่งและความสามารถในการขนส่ง (Transport Capacity) โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณยานพาหนะขนส่ง ผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด นโยบายรัฐ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทั้งสนับสนุนและสร้างอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า ต้นทุนค่าขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งต้นทุนบางส่วนจะส่งผ่านไปยังผู้ใช้บริการ           ด้าน นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า LEO ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนที่วางไว้ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน           บริษัทยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณค่าให้กับสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เติบโตควบคู่ไปกับการดูแลโลกในระยะยาว           ขณะที่ ดร.สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC กล่าวกับทีมข่าวหุ้นวิชั่นว่า SONIC กำลังศึกษาและพัฒนาโมเดลกรีนโลจิสติกส์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนเปลี่ยนจากการใช้รถบรรทุกน้ำมันเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาราคาค่ารถบรรทุกไฟฟ้าและการประเมินความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการได้อย่างเต็มที่ คาดว่าจะต้องมีรถบรรทุกไฟฟ้าให้บริการลูกค้าราว 3-5 คันในช่วงแรก และกำลังศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของค่าบริการที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง ESG และเสริมสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ. รายงานโดย : มินตรา แก้วภูบาล บรรณาธิการข่าว mai สำนักข่าว Hoonvision

เศรษฐกิจ CLMV ปี 68 แนวโน้มโตลดลง เวียดนามนำกลุ่ม รับอานิสงส์ย้ายฐานการผลิต

เศรษฐกิจ CLMV ปี 68 แนวโน้มโตลดลง เวียดนามนำกลุ่ม รับอานิสงส์ย้ายฐานการผลิต

          หุ้นวิชั่น - SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลกที่จะแผ่วลง           จากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของนโยบาย Trump 2.0 เช่น ผลจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้นทดแทนตลาดสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลักปรับลดน้อยกว่าที่เคยคาดไว้จากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ที่เร่งตัว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศ CLMV มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวได้บ้าง นอกจากนี้ เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตดีจะช่วยสนับสนุนภาคท่องเที่ยวของเศรษฐกิจ CLMV ให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ รวมถึงเศรษฐกิจ CLMV จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกในระยะต่อไป ในปี 2568 SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6.0% (ทรงตัวจากปี 2567) สปป.ลาว 4.3% (ลดลงจาก 4.5% ในปี 2567) เมียนมา 2.2% (ลดลงจาก 2.3% ในปี 2567) และเวียดนาม 6.5% (ลดลงจาก 6.8% ในปี 2567)           ปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากได้ประโยชน์จากกระแสการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ด้วยห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระยะทางการขนส่งไปตลาดจีนที่สั้น ตลาดในประเทศที่เติบโตดี และความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ กัมพูชาจะเติบโตดีรองลงมา จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานในประเทศ และเสถียรภาพการคลังที่ยังมั่นคงสามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงจะเป็นปัจจัยกดดันเพราะกัมพูชาพึ่งพาจีนสูงในหลายด้าน สปป.ลาวยังเปราะบางสูง แม้จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในภูมิภาคอาเซียน แต่เสถียรภาพด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเปราะบางมาก ท่ามกลางค่าเงินกีบอ่อน เงินเฟ้อสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ และต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นหลังถูกจัดอันดับเครดิตที่ระดับ Speculative ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันศักยภาพเศรษฐกิจต่อไป เมียนมาขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซาท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น เงินจัตอ่อนค่า เงินเฟ้อเร่งตัว และการขาดแคลนปัจจัยการผลิตจากเส้นทางการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก           เศรษฐกิจ CLMV จะต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายด้าน ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจมีการกีดกันการค้าประเทศวงกว้างกว่าที่ Trump หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจแข็งขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยปลายทาง (Terminal rate) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะสูงกว่าคาดการณ์เดิม กดดันให้ค่าเงินกลุ่มประเทศ CLMV เผชิญแรงกดดันอ่อนค่ามากขึ้น ส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงช้า และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในบางประเทศที่พึ่งพาการกู้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน มูลค่าหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูงในบางประเทศอาจกดดันการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์และเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในประเทศ รวมทั้งกดดันการลงทุนภายในประเทศ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เนื่องจากจะกระทบต่อผลผลิตการเกษตรและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง CLMV จัดว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลำดับต้น ๆ ของโลก           การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปในปี 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ในปี 2568 มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 2567 และบรรยากาศแวดล้อมทางธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ในระยะปานกลาง SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจ CLMV ยังเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตโดดเด่นและน่าสนใจ สำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดในภูมิภาค รวมถึงต้องการกระจายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาการค้าเสรี บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-dec24 ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : ปัณณ์ พัฒนศิริ นักเศรษฐศาสตร์, ภาวัต แสวงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

หนี้ครัวเรือนไทย  แก้อย่างไรให้ยั่งยืน-ตรงกลุ่ม

หนี้ครัวเรือนไทย แก้อย่างไรให้ยั่งยืน-ตรงกลุ่ม

          ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่คู่เศรษฐกิจไทยมานาน และถูกพูดถึงมากตั้งแต่เกิด COVID-19 โดยเฉพาะแนวนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ผ่านมาแม้ว่าทุกภาคส่วนได้พยายามออกมาตรการแก้หนี้เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังคงลดลงได้ช้าอยู่ในระดับสูงเกือบ 90% สะท้อนประสิทธิผลของแนวนโยบายที่อาจยังเพิ่มความครอบคลุมได้มากขึ้น ตามความต้องการที่แตกต่างกันของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม           สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาส 2/2567 แม้จะปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แต่กลับเป็นผลจากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ลดลงมากเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น ตามความกังวลคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย SCB EIC ประเมินว่า ปัญหาคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบที่แย่ลงและปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มจะคลี่คลายได้ช้าในระยะข้างหน้า ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่คาดว่าจะยังมีทิศทางเข้มงวดต่อเนื่อง โดยพบสาเหตุข้อเท็จจริงผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกหนี้รายย่อยของเครดิตบูโร ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เกิด COVID-19 จนถึงสิ้นปี 2566 ดังนี้ ลูกหนี้บุคคล NPL มากกว่า 70% ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ลูกหนี้บุคคล SM ราว 70-80% มีโอกาสจะกลายเป็น NPL โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่ออื่น แม้ลูกหนี้บุคคล NPL ส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ไปบ้างแล้ว แต่สัดส่วนที่ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติยังค่อนข้างต่ำมาก ทั้งในกลุ่มเจ้าหนี้ Bank และ Non-Bank คิดเป็นเพียง 2% และ 6.4% ตามลำดับ           แนวโน้มปัญหาหนี้ครัวเรือนที่น่าจะคลี่คลายได้ช้า สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2567 ซึ่งพบว่า กลุ่มคนมีหนี้ที่รายได้น้อยยังมีปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีปัญหาหนี้สินสะสม เนื่องจากค้างชำระหนี้บ่อยและจ่ายแค่ขั้นต่ำ โดยเฉพาะผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ซึ่งพบว่าสัดส่วนมากกว่า 80% ที่มีปัญหารายได้ไม่พอจ่าย และมีพฤติกรรมจ่ายหนี้ไม่สม่ำเสมอ ในกลุ่มนี้ยังรวมถึงผู้ที่จ่ายชำระหนี้สม่ำเสมอแต่จ่ายได้แค่ขั้นต่ำด้วย มีปัญหาหนี้นอกระบบหรือหนี้ที่มีดอกเบี้ยผิดนัดแพง ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเลือกคืนหนี้ที่ค้างชำระนานสุดก่อน หรือหนี้ที่เจ้าหนี้ติดตามทวงถามมากสุดก่อน มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่ากลุ่มอื่น พบว่ามากกว่า 60% ของคนมีหนี้รายได้น้อยที่มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ และเกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถกู้เงินในระบบได้เลย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือสถาบันการเงินได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไข           มองไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่า 1 ใน 3 ของครัวเรือนไทยที่มีหนี้จะยังไม่หลุดพ้นจากปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของครัวเรือนที่มีหนี้ (หรือราว 3 ล้านครัวเรือน) อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่า ยังมีลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพที่มีปัญหาการชำระหนี้ชั่วคราว แต่จะสามารถกลับมาคืนหนี้ได้เป็นปกติ หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมได้ทันเวลา แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนไทยอย่างยั่งยืน จึงควรปรับให้ตรงกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มอย่างครบวงจร และสร้างแรงจูงใจปรับพฤติกรรมให้กลับมาคืนหนี้ได้ ดังนี้ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ : “ให้เข้าถึง” ด้วยการดึงลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบผ่าน Risk-based pricing หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ในระบบสามารถช่วยเหลือลูกหนี้วงกว้างมากขึ้น การพัฒนาระบบสินเชื่อด้วยข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เพื่อช่วยประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้เพิ่มเติม การเพิ่มรายได้ผ่านการเสริมทักษะหรือเปลี่ยนอาชีพ และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เน้นพฤติกรรมที่ดีในการก่อหนี้และการจัดลำดับการชำระหนี้ กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ยังไม่ฟื้นตัว : “ให้เริ่มฟื้น” ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ครอบคลุมขึ้น การเพิ่มรายได้ผ่านการเสริมทักษะหรือเปลี่ยนอาชีพ รวมถึงการติดตามและให้คำปรึกษาทางการเงินเชิงรุก กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือ และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ : “ให้ฟื้นต่อ” ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการฟื้นตัวในรูปแบบสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพ การเสริมสร้างความรู้ทางการเงินเน้นสร้างวินัยทางการเงิน และการส่งเสริมการออม โดยภาครัฐสนับสนุนเงินออมสมทบตามสัดส่วน เพื่อสร้างนิสัยการออมระยะยาว กลุ่มที่มีความสามารถในการชำระหนี้ : “ให้มั่นคง” ด้วยการป้องกันความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ผ่านการติดตามสถานะลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง การสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้ชำระคืนหนี้ล่วงหน้า ตลอดจนช่วยสร้างพฤติกรรมที่ดีส่งเสริมวินัยการออมระยะยาวเพื่อเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีผลตอบแทนเพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น           นอกจากนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มสามารถ “จ่ายครบ จบหนี้” ได้อย่างยั่งยืน ควรมีแนวทางช่วยเหลือที่ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่มเพิ่มเติม ต่อยอดจากมาตรการเฉพาะกลุ่มข้างต้น ได้แก่ (1) ขยายความครอบคลุมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบร่วมจ่าย (Copayment) ระหว่างภาครัฐและเจ้าหนี้ในระบบแบบ Risk-sharing ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้ Bank (รวม SFIs) และ Non-Bank ทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจให้ลูกหนี้อยากปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันความครอบคลุมเพิ่มเติมบางส่วนแล้ว ในระยะต่อไปอาจพิจารณาแนวทางขยายความครอบคลุมให้กลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือได้อีกในอนาคต เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดหนี้ในภาคครัวเรือนไทย และ (2) การสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับลูกหนี้ โดยใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลและติดตามสถานะลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปรับมาตรการช่วยเหลือได้เหมาะสมและทันการณ์ ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และจากข้อมูล SCB EIC Consumer survey 2024 สำรวจ ณ 14 - 22 ต.ค. 2567 (จำนวนตัวอย่าง 1,869 คน) อ่านต่อบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม... https://www.scbeic.com/th/detail/product/consumer-survey-debt-131224

abs

เจมาร์ท สร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้าง Synergy Ecosystem

SCB EIC มองเศรษฐกิจมีความท้าทาย กนง. ปีหน้ามีโอกาสลดดอกเบี้ย

SCB EIC มองเศรษฐกิจมีความท้าทาย กนง. ปีหน้ามีโอกาสลดดอกเบี้ย

           หุ้นวิชั่น - กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% ตามที่ SCB EIC มองไว้ โดย กนง. เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงเป็นการรักษา Policy space เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก            สำหรับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กนง. คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.7%YOY และ 2.9%YOY ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ แต่มองว่าความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและความไม่แน่นอนของแนวนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.4% และ 1.1% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ณ เดือนตุลาคมที่ 0.5% และ 1.2%            SCB EIC มองว่าการสื่อสารของ กนง. ครั้งนี้ Hawkish ขึ้นพอสมควรเทียบกับการประชุมครั้งก่อน โดย กนง. ไม่ได้สื่อสารถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม และประเมินว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร แต่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ เช่น SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่เผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น อาทิ กลุ่มยานยนต์            นอกจากนี้ กนง. ไม่ได้แสดงความกังวลมากนักต่อภาวะสินเชื่อที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินว่าสาเหตุหลักของการชะลอตัวมาจาก (1) การชำระคืนสินเชื่อจากธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคการค้า (ธุรกิจขนาดใหญ่) และ (2) ความต้องการสินเชื่อธุรกิจชะลอลงจากกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าหรือฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น SMEs ในภาคการค้า ธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจยานยนต์ อีกทั้ง กนง. ยังประเมินว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้ม จะขยายตัวได้ แม้สินเชื่อธุรกิจชะลอลง ทั้งนี้ SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. ไม่ได้สื่อสารถึงกระบวนการ Debt deleveraging และความเปราะบางในภาคครัวเรือนมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ธปท. ได้สื่อสารแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในการแถลงข่าวโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ไปแล้วในช่วงก่อนหน้า IMPLICATIONS            SCB EIC มองความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า โดยสถานการณ์ในปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก แต่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในประเทศเอง และความท้าทายจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือ ความเปราะบางจากภายในประเทศ สถานการณ์สินเชื่อชะลอลงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยในไตรมาส 3/2024 ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัวทุกหมวด (รูปที่ 1) แม้ กนง. จะประเมินว่าสินเชื่อที่ชะลอลงนี้ยังไม่ได้ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากมองในทางกลับกัน ภาวะสินเชื่อชะลอลงเช่นนี้ กำลังสะท้อน “อาการ” ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย โดยในด้านสินเชื่อครัวเรือนที่หดตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เข้มงวด (รูปที่ 2) จากความเปราะบางภาคครัวเรือนและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ในด้านสินเชื่อธุรกิจ อาจต้องติดตามว่าความต้องการสินเชื่อที่ลดลงสะท้อนความต้องการลงทุนใหม่ของภาคธุรกิจที่ลดลงเพียงใด โดย SCB EIC มองว่าอาการความเปราะบางของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มเห็นนี้จะทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้น้ำหนักในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองอุปสงค์ในประเทศของ กนง. เริ่มมีมากขึ้น ความท้าทายจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump จะทำให้การแข่งขันในภาคการผลิตทั่วโลกรุนแรงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตของไทยที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว และอาจกดดันให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปอีก            การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้บ้างภายใต้ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงต้นปี 2025 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีพัฒนาการสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ 2) นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นหลังจาก Donald Trump สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ (รูปที่ 3) ซึ่งจะทำให้ กนง. ประเมินความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้น พัฒนาการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป            SCB EIC จึงประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีหน้าไปอยู่ที่ 2% ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเผชิญกับความเปราะบางจากภายในและความท้าทายจากภายนอกมากขึ้น รูปที่ 1 : สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หดตัวลงทุกหมวด รูปที่ 2 : มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง รูปที่ 3 : นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปีหน้า บทวิเคราะห์โดย นนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-181224

"ภูเก็ต" ยืนหนึ่งเรื่องท่องเที่ยว พร้อมจริงจังเรื่องยั่งยืน

          หุ้นวิชั่น - ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตดีจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนที่ขยายตัวสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และดีกว่าภาพรวมทั้งประเทศ โดยเป็นผลจากกำลังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นมากแม้จำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว อีกทั้ง เศรษฐกิจภูเก็ตยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในปี 2568 จึงทำให้ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า  การท่องเที่ยวภูเก็ตมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในยุคหลังโควิด-19 ทั้งเทรนด์การท่องเที่ยวและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางสัญชาติมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยรับนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปเป็นหลักและส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาในช่วง High season ตั้งแต่พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพที่เข้ามาใหม่อย่างอินเดีย คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอิสราเอลเป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางเข้ามาในช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม ซึ่งมาเสริมรายได้ให้ภาคท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วง Low season ได้มากขึ้น ความหลากหลายของพฤติกรรมการท่องเที่ยวตามเทรนด์การท่องเที่ยวของแต่ละสัญชาติ โดยนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าพักในย่านเมืองเก่ามากขึ้นจากเดิมที่เน้นพักผ่อนอยู่ริมหาดตลอดทั้งทริป และแต่ละพื้นที่จะมีฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่แตกต่างกัน อย่างเช่น นักท่องเที่ยวอินเดียกว่า 64% จะเข้าพักในพื้นที่ป่าตองด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบความบันเทิงและ Nightlife ขณะที่นักท่องเที่ยวรัสเซียและคาซัคสถานที่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาพำนักในไทยเป็นระยะเวลานาน มักเลือกพักในพื้นที่กะรนที่เงียบและสงบกว่า เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงมากขึ้น จากภาพรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ที่มีสัดส่วนมากขึ้นแทนกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ใหญ่ราคาประหยัด รวมถึงการเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพใหม่ที่ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสูงอย่างนักท่องเที่ยวรัสเซีย อิสราเอล คาซัคสถาน และตะวันออกกลาง จึงทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มไลฟ์สไตล์หรูตามกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา  ในระยะข้างหน้า ภูเก็ตกำลังมุ่งพัฒนาใน 2 ด้านหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐานและความยั่งยืน โดยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภูเก็ตมีแผนในการพัฒนาสนามบินทั้งการขยายสนามบินเดิม และการสร้างสนามบินใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ยังมีแผนพัฒนาระบบคมนาคมภายในจังหวัดให้มีความสะดวกและแก้ไขปัญหาการจราจร พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว สำหรับในด้านความยั่งยืน ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่อยู่ในโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยธุรกิจท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ปัจจุบันโรงแรมและที่พักในภูเก็ตที่ได้รับสัญลักษณ์ความยั่งยืนมีเพียง 4% ของโรงแรมในภูเก็ตทั้งหมด อย่างไรก็ดี ภูเก็ตยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง การจัดการกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น การเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ทันกับการเติบโต การขาดแคลนแรงงานทักษะด้านบริการ การเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของจังหวัดที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งสร้างความท้าทายต่อการวางแผนพัฒนา นอกจากนี้ การเติบโตของภาคท่องเที่ยวภูเก็ตนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชน โดยธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภูเก็ตมากขึ้น ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์ความหลากหลายที่เข้ามาจะสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงการยกระดับสินค้าหรือบริการให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงความคุ้มค่าของบริการและการใช้จ่ายแม้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจภูเก็ตยังสร้างโอกาสการเติบโตให้กับหลายธุรกิจในภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโตไปพร้อมกับภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งนี้การพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตอย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐเป็นกำลังสำคัญ โดย 1. การยกระดับภาคการท่องเที่ยวสู่โซนท่องเที่ยวอันดามัน ให้ครอบคลุมพื้นที่ในหลายจังหวัดอันดามันทั้งพังงาและกระบี่ จะช่วยลดความแออัดของภูเก็ต ลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงให้มากขึ้น 2. การวางทิศทางด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ที่จะช่วยให้ภาพรวมการพัฒนาทั้งจังหวัดเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และยังสามารถสร้างจุดแข็งให้กับจังหวัดในการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้นอีกด้วย และ 3. การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคให้ครบวงจรและเชื่อมต่อพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเป็นระบบ จะช่วยรองรับการเติบโตของภาคท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านความยั่งยืนของภูเก็ตได้เป็นอย่างดี อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่... https://www.scbeic.com/th/detail/product/phuket-041224 ผู้เขียนบทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม นักวิเคราะห์อาวุโส ปุญญภพ ตันติปิฎก นักวิเคราะห์อาวุโส กีรติญา ครองแก้ว นักวิเคราะห์

ค้าปลีกผ่าทางตันโต รอนโยบายภาครัฐชี้ชะตา

ค้าปลีกผ่าทางตันโต รอนโยบายภาครัฐชี้ชะตา

          หุ้นวิชั่น - แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2568 จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่คาดว่ายอดขายของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งจะกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวได้ช้าลง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากช่องทางออนไลน์ที่มี Key players ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะ Platform จากจีน ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตราว 5.1%YOY จากที่คาดว่าจะเติบโต 4.8%YOY ในปี 2567 ทั้งนี้แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตชะลอลง แต่คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มดำเนินการในปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 (เฟส 2 และ3) จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ผู้บริโภคอาจจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยเลือกใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นก่อน และอาจชะลอการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด (Pre-covid) และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะข้างหน้า การเติบโตของ E-commerce ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง แม้จะมีการชะลอตัวลงหลังจากช่วงโรคระบาดผ่านไป อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวกสบาย โดยเฉพาะกลุ่ม Marketplace retailers ซึ่งมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและบริการของแต่ละร้านค้าได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกัน เทรนด์ Social Commerce ก็มีสัดส่วนยอดขายต่อ E-commerce เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงอิทธิพลของ Social media ที่ผู้บริโภคมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG โดยมุ่งเน้นไปที่ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากหลากหลายช่องทาง ตัวอย่างเช่น ลดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ส่งเสริม Circular economy และใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดตั้ง Solar rooftop นอกจากนี้ ยังเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเพิ่มสัดส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เป็นต้น           กลุ่มที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ยังคงเป็นหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น CVS, Supermarket และ Hypermarket ซึ่งมียอดขายที่เติบโต รวมถึงมีการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้ง ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ต่าง ๆ ก็ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ ธุรกิจ Health & Beauty โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน และกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวที่นิยมซื้อสินค้าประเภทนี้ สำหรับกลุ่มที่เติบโตแต่ยังมีข้อจำกัด ได้แก่ กลุ่ม Department store เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง และกำลังซื้อที่เปราะบาง ร้านค้าเฉพาะทางที่มีความหลากหลาย รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ ขณะที่กลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แก่ สินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้า Home & Garden จากการซบเซาของตลาดที่อยู่อาศัย กลุ่ม Modern grocery : ยอดขายของทุกกลุ่ม (CVS, Supermarket, Hypermarket) กลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID แล้ว โดยแม้ว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็นยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้ง หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทยอยปรับตัวดีขึ้น กลุ่ม Department store : ในสถานการณ์กำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวอย่างจำกัด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี กลุ่ม Department store ยังได้แรงหนุนของภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ในปี 2568 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในห้างสรรพสินค้าและส่งผลให้ยอดขายเติบโตดีขึ้น อีกทั้ง ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ กลุ่ม Health & Beauty : ยอดขายเติบโตสอดคล้องกับการที่ผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจสินค้าทั้งในกลุ่มสุขภาพและความงามมากขึ้น ท่ามกลางตัวเลือกในตลาดที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่า ขณะเดียวกัน เทรนด์การรักษาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยยังทำให้มีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเวชศาสตร์ป้องกัน อย่างไรก็ดี ช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social media ทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดมากขึ้น และยังทำให้การแข่งขันในหมวดสินค้าสุขภาพและความงามรุนแรงขึ้นตามไปด้วย กลุ่ม Home & Garden : ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง สาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าหมวดนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการ Renovate ที่อยู่อาศัยจากทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัยบ้านเก่าและกลุ่มที่นิยมซื้อบ้านมือสองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับการซ่อมแซม/ปรับปรุง/ตกแต่งบ้าน มากขึ้นตามไปด้วย ขณะที่การเติบโตของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ทั้งในด้าน Product mixed ให้ตอบโจทย์กลุ่ม Renovate รวมถึงการขยายสาขาที่ต้อง Selective มากขึ้น กลุ่ม Apparel & Footwear : ยอดขายเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินค้าในกลุ่ม Fast fashion ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่ม Traditional fashion ยอดขายยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนกลุ่ม Sportswear และ Luxury fashion ยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ปี 2566 อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจกดดันให้ยอดขายสินค้าแฟชั่นเติบโตได้ไม่มากนัก           ผู้ประกอบการค้าปลีกในไทยมีการตั้งเป้าหมายและแผนการดำเนินงานด้าน ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืน (Sustainable products) คือ ปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปและตัวเลือกที่น้อย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและราคา เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น สำหรับในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้น พบว่าร้านค้าขนาดใหญ่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากมีเงินทุนมากกว่า ขณะที่ร้านค้าขนาดเล็กอาจเริ่มจากการให้ความรู้และเริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย บทวิเคราะห์โดย  ชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

จับตา! รถยนต์ไฟฟ้า ปี68 ยอดขายทะลุ 2แสนคัน

จับตา! รถยนต์ไฟฟ้า ปี68 ยอดขายทะลุ 2แสนคัน

          อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จากนั้นจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป           อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเผชิญความท้าทายจากอุปสงค์ในประเทศที่เปราะบาง ส่งผลให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่กลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์คาดว่าจะทยอยกลับมาคึกคัก โดยได้รับอานิสงส์จากการค้าชายแดนและผ่านแดน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 5.5 แสนคัน ขณะที่ในระยะปานกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าและยังไม่สามารถกลับสู่ช่วง Pre-Covid ได้ในภายในปี 2571 เนื่องจากเผชิญกับผลพวงต่อเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย 1) สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ 2) กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้างเปราะบาง 3) พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น และ 4) การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป นอกจากนี้ เรายังคงต้องติดตาม Vicious cycle ในตลาดยานยนต์ไทย อันเกิดจากการที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มตรึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากมีความกังวลต่อทิศทางราคารถยนต์มือ 2 ที่คาดว่าจะปรับลดลงอีก เพราะปัญหาอุปทานส่วนเกินจากกลุ่มรถยึด ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจะกดดันยอดขายรถยนต์ใหม่ให้ซบเซาต่อเนื่อง และทำให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายต้องหันมาเน้นแข่งขันกันด้วยราคา ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมมูลค่าของหลักประกันหมวดยานยนต์ให้เสื่อมค่าลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรถโดยสารได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหา Overcapacity ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยวบรรเทาลง ทั้งนี้ในระยะปานกลาง จำเป็นต้องจับตาทิศทางการนำเข้ายานยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ซึ่งแม้จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2568 มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่ในระยะปานกลางจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสงค์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อกลุ่มฐานรากที่เปราะบาง ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รายได้ภาคเกษตรผันผวน รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์จากกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรฟื้นตัวได้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับภาคการส่งออกรถจักรยานยนต์ในปี 2568 คาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ เพราะอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และจีน ตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด โดยตลาดรถไฮบริดนับเป็นแรงส่งสำคัญเพราะผู้บริโภคมีการเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง (ราคา 5 แสน – 1 ล้านบาท) รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้ปัจจัยฉุดรั้งการเปิดรับรถ BEV จากฝั่งผู้บริโภคเกิดจากความกังวลใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1) ความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ 2) ปัญหาอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศและตัวเลือกอู่ซ่อมบำรุงรายย่อยยังมีค่อนข้างจำกัด 3) ผลพวงจากสงครามราคารถ BEV ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยปรับลดลง และ 4) ต้นทุนการถือครองบางส่วนยังอยู่ในระดับสูง อาทิ เบี้ยประกันและอัตราการเสื่อมมูลค่า ทั้งนี้ หากพิจารณาพัฒนาการห่วงโซ่อุปทาน EV ในประเทศไทยจะพบว่า กำลังการผลิตรถยนต์ BEV ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยภายในปี 2568 - 2571 จะขยายตัวสู่ระดับ 6 แสนคัน/ปี ไม่เพียงเท่านี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ก็เติบโตสอดรับกับการผลิตรถยนต์เช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุ/สลับแบตเตอรี่ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ประกอบการชาวไทย           อ่านต่อบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม https://www.scbeic.com/th/detail/product/automotive-071124 ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :  ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโสศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

ยานยนต์ไทยเผชิญแรงกดดัน รถ EV ครองตลาด คาดตลาดฟื้นครึ่งหลัง 68

ยานยนต์ไทยเผชิญแรงกดดัน รถ EV ครองตลาด คาดตลาดฟื้นครึ่งหลัง 68

           SCB EIC ชี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องเผชิญความท้าทายรอบด้านจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ทรงตัวต่ำ คาดฟื้นตัวครึ่งหลังปี 2568 ส่วนรถยนต์เชิงพาณิชย์ได้รับแรงหนุนจากการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว ขณะที่รถจักรยานยนต์ยังซบเซาต่อเนื่อง ด้านรถยนต์ไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คาดครองตลาดราว 30% ในปี 2568 ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในตลาด EV ที่ยังต้องจับตาต่อเนื่อง SCB EIC รายงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่ถาโถมจากรอบด้าน             อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญแรงกดดันจากความต้องการในประเทศที่ยังไม่มั่นคง ทำให้ตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ส่วนกลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะกลับมาคึกคักขึ้นได้ เพราะอานิสงส์จากการค้าชายแดนและข้ามพรมแดน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เป็นต้นไป             ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2568 คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 5.5 แสนคัน ขณะที่ในระยะปานกลาง มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าและยังไม่สามารถกลับสู่ช่วง Pre-Covid ได้ในภายในปี 2571 เนื่องจากเผชิญกับผลพวงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งประกอบด้วย 1. สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ 2. กำลังซื้อในภาพรวมค่อนข้างเปราะบาง 3. พฤติกรรมการใช้รถของคนไทยยาวนานขึ้น 4. การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป            นอกจากนี้ เรายังคงต้องติดตาม Vicious cycle ในตลาดยานยนต์ไทย อันเกิดจากการที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มตรึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ เนื่องจากมีความกังวลต่อทิศทางราคารถยนต์มือ 2 ที่คาดว่าจะปรับลดลงอีก เพราะปัญหาอุปทานส่วนเกินจากกลุ่มรถยึด ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวจะกดดันยอดขายรถยนต์ใหม่ให้ซบเซาต่อเนื่อง และทำให้เหล่าตัวแทนจำหน่ายต้องหันมาเน้นแข่งขันกันด้วยราคา ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมมูลค่าของหลักประกันหมวดยานยนต์ให้มีอัตราการเสื่อมค่าที่เร่งขึ้น ผันผวน และประเมินได้ยาก อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ เพราะกิจกรรมขนส่งทางบกกำลังทยอยกลับมาคึกคัก            อุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ปี 2568 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและภาคส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น โดยตลาดรถบรรทุกได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมขนส่งตามแนวชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดรถโดยสารได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก และมีส่วนช่วยให้ปัญหา Overcapacity ในกลุ่มรถบัสนำเที่ยวบรรเทาลง ทั้งนี้ในระยะปานกลาง จำเป็นต้องจับตาทิศทางการนำเข้ายานยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ซึ่งแม้จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน   ยอดขายรถจักรยานยนต์ยังคงมีแนวโน้มซบเซา เพราะกำลังซื้อในกลุ่มฐานรากค่อนข้างเปราะบาง ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2568 มีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ขณะที่ในระยะปานกลางจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสงค์ยังคงเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อกลุ่มฐานรากที่เปราะบาง ทั้งจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รายได้ภาคเกษตรผันผวน รวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความคืบหน้าของมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อและหนุนให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์จากกลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรฟื้นตัวได้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับภาคการส่งออกรถจักรยานยนต์ในปี 2568 คาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ เพราะอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในญี่ปุ่น ยุโรป และจีน ยอดขายรถ Hybrid และ BEV มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าจะครองส่วนแบ่งตลาดราว 30% ในปี 2568 ตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้า (Hybrid และ BEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2568 ยอดขายรถกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราว 2.1 แสนคัน หรือคิดเป็น 30% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศทั้งหมด โดยตลาดรถไฮบริดนับเป็นแรงส่งสำคัญเพราะผู้บริโภคมีการเปิดรับรถกลุ่มนี้มากขึ้น ทั้งในรถระดับกลาง (ราคา 5 แสน – 1 ล้านบาท) รวมถึงตลาดรถหรู ขณะที่ยอดขายรถ BEV มีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดในระยะปานกลางจะทรงตัวอยู่ที่ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาปัจจัยฉุดรั้งการเปิดรับรถ BEV จากฝั่งผู้บริโภค พบว่าเกิดขึ้นจากความกังวลใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ 2. ปัญหาอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศและตัวเลือกอู่ซ่อมบำรุงรายย่อยยังมีค่อนข้างจำกัด 3. ผลพวงจากสงครามราคารถ BEV ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยปรับลดลง 4. ต้นทุนการถือครองบางส่วนยังอยู่ในระดับสูง อาทิ เบี้ยประกันและอัตราการเสื่อมมูลค่า สำหรับพัฒนาการห่วงโซ่อุปทาน EV ในประเทศไทยพบว่า กำลังการผลิตรถยนต์ BEV ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยภายในปี 2568 - 2571 จะขยายตัวสู่ระดับ 6 แสนคัน/ปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็เติบโตควบคู่ไปกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุ/สลับแบตเตอรี่ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ EV ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากภาคธุรกิจสัญชาติไทย

ส่องวิชั่นตลาดที่อยู่อาศัย สู้วิกฤติกำลังซื้อถดถอย

ส่องวิชั่นตลาดที่อยู่อาศัย สู้วิกฤติกำลังซื้อถดถอย

           หุ้นวิชั่น - ตลาดที่อยู่อาศัยยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวช้าของกำลังซื้อ ซึ่งกดดันให้ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2024-2025 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง            ปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจทั้งค่าครองชีพ ค่าใช้จ่าย และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ย และความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ ยังคงกดดันการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง ที่ส่วนใหญ่ตัดสินใจยังไม่ซื้อที่อยู่อาศัย หรือชะลอการซื้อออกไป โดยคาดว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 จะหดตัวราว -10%YOY และหดตัวต่อเนื่องราว -1% ถึง -3%YOY ในปี 2025 ส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 มีแนวโน้มหดตัวราว -9%YOY แต่อาจเริ่มทรงตัวได้ หรือหดตัวเล็กน้อยราว +0% ถึง -2%YOY ในปี 2025 ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ในต่างจังหวัด มีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลเล็กน้อย เนื่องจากมีสัดส่วนกำลังซื้อกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่างที่สูงกว่า            การเปิดโครงการใหม่ในปี 2024-2025 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการระมัดระวังในการเปิดโครงการ จากหน่วยเหลือขายสะสมที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ต้นทุนก่อสร้างยังอยู่ในระดับสูง            จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลคาดว่าจะหดตัวราว -28%YOY ในปี 2024 และหดตัวต่อเนื่องอีกราว -2% ถึง -4%YOY ในปี 2025 โดยเป็นการเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-บนเป็นหลัก เพื่อเน้นเจาะกลุ่มกำลังซื้อที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาอัตรากำไรได้ ท่ามกลางภาวะต้นทุนการก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งวัสดุก่อสร้าง แรงงาน และราคาที่ดิน ส่วนการเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง เน้นเฉพาะทำเลที่มีศักยภาพ และระบายสินค้าคงเหลือมากขึ้นแทน            ภาวะตลาดที่ซบเซาและการแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์ในหลายด้าน กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง 2) ตอบโจทย์ความต้องการผู้ซื้อแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด 3) ขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ 4) บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาอัตรากำไร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Industry overview            ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ ไปจนถึงรายกลางและเล็กที่มีรูปแบบการประกอบธุรกิจ และจุดแข็งในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน ทั้งประเภทที่อยู่อาศัย ระดับราคา และความเชี่ยวชาญในแต่ละทำเล ทั้งนี้นับตั้งแต่การประกาศใช้มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2019 ไปจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรงในปี 2020 ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวค่อนข้างมาก และฟื้นตัวได้ช้า อีกทั้งผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็ก และปูนซีเมนต์ที่ราคาพุ่งสูงขึ้นในปี 2021-2022 ส่งผลกระทบต่อรายได้ อัตรากำไร รวมถึงสภาพคล่องของธุรกิจ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบ ทั้งด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์ และเงินลงทุน รวมถึงยังสามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาดึงดูดกำลังซื้อ เพื่อระบายสต็อก และรักษาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ TOP 8 ที่ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว รวมถึงมีเงินลงทุนเพียงพอในการกลับมาเดินหน้าพัฒนาโครงการในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการระดับบน เพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อที่มีคุณภาพ ทำให้รายได้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วและครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจำนวนมากยังประสบปัญหาสภาพคล่อง และไม่สามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มที่สามารถประคองธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เจาะตลาดอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล หรือหัวเมืองสำคัญ ที่มีจุดแข็งในด้านแบรนด์ และฐานลูกค้าในพื้นที่ หมายเหตุ : *บริษัทที่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจอื่นในสัดส่วนที่มากกว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลัักทรััพย์์แห่่งประเทศไทย            ในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และปัจจัยค่าครองชีพ ภาระค่าใช้จ่าย และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง กดดันการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง ส่วนกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-บน แม้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ยังเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอุปสงค์โดยรวมทั้งตลาด จึงยังไม่สามารถพยุงตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวมได้มากนัก และส่งผลให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศขยายตัวเล็กน้อยจากระดับ 9.3 แสนล้านบาทในปี 2019 มาอยู่ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาทในปี 2023 สะท้อนถึงการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยที่สูงขึ้น จากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1) กำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ายังมีอยู่สม่ำเสมอ 2) ราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะราคาที่ดินที่เร่งตัวขึ้นมาก            ในด้านอุปทานยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าอุปสงค์ค่อนข้างมาก สะท้อนจากการเปิดโครงการใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2022-2023 ที่ระดับ 1.0-1.1 แสนหน่วยต่อปี  ขณะที่หน่วยขายได้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2022-2023 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับเพียง 9 หมื่นหน่วยต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการซื้อ Pre-sale โครงการคอนโดมิเนียมที่จะเกิดการโอนกรรมสิทธิ์จริงในช่วง 1-3 ปีถัดมา นอกจากนั้น ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงาน และราคาที่ดินในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันไปพัฒนาโครงการระดับราคาปานกลาง-บนมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อที่มีศักยภาพ และสามารถบริหารจัดการอัตรากำไรได้มากกว่าโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง ที่มีอัตราการยกเลิกการซื้อ และโอกาสถูกปฏิเสธสินเชื่อที่สูง            ส่วนในด้านนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ จากรัฐบาลในปี 2025 คาดว่ามีโอกาสสูงที่จะมีการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อไป รวมถึงมาตรการอื่นที่เคยมีการประกาศใช้ในช่วงที่ผ่านมาช่วยสนับสนุน เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการลดหย่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น ส่วนมาตรการผ่อนคลาย LTV คาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่า ขณะที่มาตรการที่ต้องมีการแก้กฎหมายหรือมีความละเอียดอ่อนสูง เช่น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดเกิน 49% หรืออนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบ รวมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี คาดว่ายังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า แต่ยังคงต้องติดตามในระยะต่อไป Industry outlook and trend            ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2024 มีแนวโน้มหดตัว จากปัจจัยกดดันด้านการฟื้นตัวของกำลังซื้อ และในปี 2025 ยังคงหดตัวต่อเนื่องในอัตราที่ลดลง โดยคอนโดมิเนียมยังคงได้รับความสนใจมากกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น            SCB EIC คาดว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2024 และ 2025 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด จากปัจจัยกดดัน ได้แก่ 1) แรงกดดันด้านการฟื้นตัวของกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง ที่ส่วนใหญ่ตัดสินใจยังไม่ซื้อที่อยู่อาศัย หรือชะลอการซื้อออกไป แม้กลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-บนจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะพยุงตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม 2) ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค และ 3) ต้นทุนการก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นตาม จากราคาที่ดิน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยว อย่างภูเก็ต ซึ่งในปี 2025 มีโอกาสที่จะประกาศใช้ผังเมืองใหม่ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหลายจังหวัด ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นอีกและส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะโครงการแนวราบที่ต้องใช้พื้นที่ที่ดินขนาดใหญ่ รวมถึงยังเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างสำคัญ อย่างเหล็ก และปูนซีเมนต์ แม้จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต            อย่างไรก็ดี ตลาดที่อยู่อาศัยยังมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 1) กำลังซื้อจากต่างชาติที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 แม้ในช่วงปี 2024-2025 อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากฐานที่สูงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยไม่ให้หดตัวลงไปมาก โดยเฉพาะด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลาง-บน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ โดยกำลังซื้อจากชาวจีนยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดราว 50% ของมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่กำลังซื้อจากชาติอื่นยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาด เช่น ไต้หวัน เมียนมา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา 2) จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดกำลังซื้อเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ  รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ อย่างภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ และ 3) การก่อสร้างและเปิดใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ในหลากหลายทำเลได้มากขึ้น            อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยกดดันที่ยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยสนับสนุน SCB EIC คาดว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 จะหดตัวราว -10%YOY และหดตัวต่อเนื่องในอัตราที่ลดลงราว -1% ถึง -3%YOY ในปี 2025 ส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 มีแนวโน้มหดตัวราว -9%YOY แต่อาจเริ่มทรงตัวได้ หรือหดตัวเล็กน้อยราว +0% ถึง -2%YOY ในปี 2025 ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ในต่างจังหวัด มีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2025 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องราว -1%YOY ถึง -3%YOY            และปริมณฑลเล็กน้อย เนื่องจากมีสัดส่วนกำลังซื้อกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2024-2025 จะยังคงมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสองอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปัจจัยด้านความคุ้มค่า และราคาที่ถูกกว่ามือหนึ่งซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่างที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร            SCB EIC มองว่าในปัจจุบันและแนวโน้มในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงได้รับความนิยมค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยประเภทอื่น เนื่องจากพฤติกรรมผู้ซื้อมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับทำเล ทั้งความสะดวกต่อการเดินทาง และใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงตลาดคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่มากกว่า 80% อยู่ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่กำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่างสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบ และมีราคาต่ำกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีขนาดใกล้เคียงกันในทำเลเดียวกัน ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 จะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทเดียวที่สามารถทรงตัวได้ หรือหดตัวเพียงเล็กน้อย ส่วนในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ราว +2% ถึง +4%YOY จากแรงหนุนของการโอนกรรมสิทธิ์ในตลาดมือสองที่ยังสูง การทยอยโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่กลับมาสร้างหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายในปี 2022-2023 และการทยอยโอนกรรมสิทธิ์จากการจัดโปรโมชัน เพื่อระบายสต็อกของผู้ประกอบการ คาดว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์ปี 2025 ยังมีอัตราการหดตัวสูงกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่นอยู่ที่ราว -5%YOY ถึง -7%YOY            สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบ SCB EIC มองว่า ตลาดบ้านเดี่ยวบ้านแฝดในช่วงปี 2024-2025 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยเป็นการหดตัวในตลาดมือหนึ่งมากกว่ามือสอง เนื่องจากกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่างยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว ประกอบกับราคาบ้านเดี่ยวบ้านแฝดมือหนึ่งเร่งตัวมากขึ้นตามราคาที่ดิน โดยคาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวบ้านแฝดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะหดตัวราว -14%YOY ในปี 2024 และหดตัวอีกราว -3% ถึง -5%YOY ในปี 2025 ขณะที่ทาวน์เฮาส์จะเป็นตลาดที่มีแนวโน้มหดตัวสูงกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น เนื่องจากกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง ยังเปราะบาง ประกอบกับความนิยมลดลง โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่เผชิญการแข่งขันจากคอนโดมิเนียมในระดับราคาเดียวกัน ซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านทำเลได้ดีกว่า โดยคาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024 จะหดตัวราว -30%YOY ในปี 2024 และหดตัวต่อเนื่องอีกราว -5% ถึง -7%YOY ในปี 2025 ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กำลังซื้อที่ยังมีแนวโน้มซบเซา และหน่วยเหลือขายสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การเปิดโครงการใหม่ในปี 2024-2025 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง หน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2025 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องราว -2%YOY ถึง -4%YOY            ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-บนเป็นหลัก เพื่อเน้นเจาะกลุ่มกำลังซื้อที่มีศักยภาพ และหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกปฏิเสธสินเชื่อ หรือการยกเลิกการซื้อ นอกจากนี้ การเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-บนยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาอัตรากำไรได้ ท่ามกลางภาวะต้นทุนการก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งวัสดุก่อสร้าง แรงงาน และราคาที่ดิน ส่วนการเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง เน้นเฉพาะทำเลที่มีศักยภาพ และหันไประบายสินค้าคงเหลือมากขึ้นแทน ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะหดตัวราว -28%YOY ในปี 2024 และหดตัวต่อเนื่องในอัตราที่ลดลงอีกราว -2% ถึง -4%YOY ในปี 2025            แม้อุปทานใหม่ในปี 2024-2025 จะมีแนวโน้มหดตัว แต่อุปสงค์ที่หดตัวในอัตราที่สูงกว่า ส่งผลให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบระดับราคาปานกลางขึ้นไป ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาดูดซับจากอุปสงค์ที่มีอยู่จำกัด ส่วนในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลาง-ล่าง ที่แม้จะมีการเปิดโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์การถูกปฏิเสธสินเชื่อ หรือยกเลิกการซื้อ โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียม ที่จะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมเร่งตัว โดย SCB EIC คาดว่าหน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2024-2025 จะขยายตัวราวปีละ +2% ถึง +4%YOY ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ AREA Competitive landscape            ในระยะต่อไป การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างเข้มข้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์ ทั้งพัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้ออย่างตรงจุด  ขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ            ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ตลาดที่อยู่อาศัยยังต้องพึ่งพากำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-บนเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่ม TOP 8 ยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง จากปัจจัยด้านเงินลงทุนและสภาพคล่องที่สูง ทำให้สามารถพัฒนาโครงการระดับราคาสูงเจาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-บนได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาโครงการได้หลากหลายรูปแบบและหลายระดับราคา ทำให้มีโอกาสเข้าถึงความต้องการซื้อในตลาดที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างทั่วถึงมากกว่าผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ที่ส่วนใหญ่ยังต้องเน้นการพัฒนาโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง ซึ่งยังต้องเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร SCB EIC มองว่า กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรเน้นให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระยะข้างหน้า คือ พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง : หลีกเลี่ยงทำเลที่มีการแข่งขันรุนแรง หรือมีหน่วยเหลือขายสะสมสูง รวมถึงควรกระจาย Portfolio ให้มีตัวเลือกที่อยู่อาศัยในหลากหลายระดับราคา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม เพิ่มโอกาสในการขายที่อยู่อาศัย รวมถึงยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด : โดยเน้นพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงลด Pain point ของผู้ซื้อ ผ่านการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ซื้อ รวมถึงความสามารถในการจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับรูปแบบ ฟังก์ชัน หรือบริการเสริมต่าง ๆ ที่แตกต่างจากโครงการทั่วไป โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับรายได้ ช่วงอายุ วิถีชีวิต เพื่อนำมาสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย การกำหนดราคา รวมถึงการทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ : กำลังซื้อชาวต่างชาติที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ชั้นใน และชั้นกลาง รวมถึงภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ จะเป็นอีกทางเลือกในการสร้างรายได้ในช่วงที่กำลังซื้อในประเทศยังซบเซา บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาอัตรากำไร : การนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดขั้นตอนการก่อสร้าง ลดการใช้แรงงาน รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือกับผู้รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องใน Supply chain จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น            นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น            ผู้ประกอบการจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การกำหนดขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ การใช้วัสดุก่อสร้าง และเครื่องมือเครื่องจักรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคอนโดมิเนียม เนื่องจากมีมาตรฐานระดับสากล และระดับประเทศรองรับ เช่น Leadership in Energy & Environmental Design (LEED), WELL Building Standard, อาคารเขียวตามมาตรฐาน Thai's Rating of Energy and Environmental Sustainability (TREES) แต่ในระยะต่อไป คาดว่าจะมีมาตรฐานรับรองที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบที่คาดว่าจะมีข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้น เช่น การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรหรือช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดสัดส่วนต้นไม้ยืนต้นต่อพื้นที่เปิดโล่งในโครงการ (โดยห้ามย้ายต้นไม้มาจากที่อื่น) ไปจนถึงการกำหนดให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน รวมถึงการใช้แสงและลมจากธรรมชาติ ภายในที่อยู่อาศัย นอกเหนือจากการนำเสนอฟังก์ชันการอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ด้าน ESG โดยทั่วไป ที่โครงการต่าง ๆ ได้มีการนำมาใช้บ้างแล้ว อย่างเช่นการติดตั้ง Solar roof, EV charger และระบบ Smart home โดยท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG จะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ ช่วยประหยัดต้นทุน ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ภาคผนวก ภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมายเหตุ : * บริษัทที่มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจอื่นในสัดส่วนที่มากกว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ในที่นี้จะคำนวณเฉพาะรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ** รายได้และกำไรของผู้ประกอบการกลุ่ม TOP 8 มีอัตราการหดตัวที่สูงกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายที่เหลือ เนื่องจากฐานที่สูงกว่าในช่วงก่อนหน้า โดยหากพิจารณา Net Profit Margin และ ROE ประกอบ จะเห็นว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการกลุ่ม TOP 8 ยังอยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายที่เหลือค่อนข้างมาก ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลัักทรััพย์์แห่่งประเทศไทย   ที่มา เชษฐวัฒก์ ทรงประเสริฐ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

SCB EIC ท่องเที่ยวส่งออกหนุนเศรษฐกิจไตรมาส 4 แจกเงินหมื่นช่วยประคองแต่ผลกระตุ้นมีจำกัด

SCB EIC ท่องเที่ยวส่งออกหนุนเศรษฐกิจไตรมาส 4 แจกเงินหมื่นช่วยประคองแต่ผลกระตุ้นมีจำกัด

           SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส และการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจไทยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและส่งออกในไตรมาส 4 แม้ภาคการผลิตฟื้นตัวช้า ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทมีผลบวกจำกัด เงินเฟ้อจะทยอยเข้าสู่กรอบในไตรมาส 4 ปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในปีหน้า            เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตแบบ Soft landing ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภาคการผลิตหดตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ภาคบริการยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวเร่งขึ้นได้ โดยมีอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทยอยลดลงเป็นปัจจัยสนับสนุน แต่ต้องจับตาความเสี่ยงจาก 1) สงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยเฉพาะบทบาทอิหร่านและสงครามขยายวงเข้าไปในเลบานอน 2) การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศที่จะกระทบเศรษฐกิจและการค้าโลกตามมา รวมถึง 3) การเลือกตั้งในญี่ปุ่นที่อาจนำไปสู่การยกระดับกำลังทหารของญี่ปุ่นและความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค            นโยบายการเงินโลกตึงตัวลดลง SCB EIC ประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยอีก 50 BPS หลังลด 50 BPS ในไตรมาส 3 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะลดดอกเบี้ยอีก 25 BPS หลังปรับลดแล้ว 75 BPS ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยอีก 25 BPS ในเดือน พ.ย. หลังปรับลดไป 25 BPS ในไตรมาส 3 และอาจมีโอกาสลดเพิ่มอีก 25 BPS ในเดือน ธ.ค. ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องหลังลดดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 30 BPS ตั้งแต่ต้นปี            เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและส่งออก นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 จากกลุ่มตลาดประเทศระยะไกล รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศจะได้ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและเมืองน่าเที่ยว การส่งออกไทยจะขยายตัวดีขึ้น โดยมีแรงหนุนสำคัญจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยยังฟื้นตัวได้ช้าและมีสัญญาณการฟื้นตัวไม่ชัดเจน ขณะที่สินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากสถานการณ์น้ำท่วมและค่าเงินบาทแข็ง สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เกษตรเริ่มคลี่คลายลงบ้าง โดยพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบยังไม่สูงมากหากเทียบกับภัยน้ำท่วมในอดีต SCB EIC ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรอยู่ที่ราว 4,700 ล้านบาท (0.03% ของ GDP) โดยคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวจะเสียหาย 0.83 ล้านไร่            สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาทจะเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมในปีนี้ SCB EIC ประเมินโครงการนี้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเม็ดเงินทั้งหมดอาจไม่ได้ใช้จ่ายลงเศรษฐกิจ สะท้อนจากผลสำรวจ SCB EIC consumer survey ที่พบว่า ผู้ได้รับสิทธิบางส่วนจะนำเงินไปออมหรือชำระหนี้ รวมถึงใช้จ่ายเงินนี้แทนรายจ่ายปกติที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว สำหรับการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะแผ่วลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง 7 เดือนติดต่อกันและอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน            SCB EIC มองเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้ากรอบในช่วงต้นไตรมาส 4 และจะทรงตัวใกล้เคียงขอบล่างในช่วงปีหน้า อย่างไรก็ดี มาตรการกีดกันการค้าในโลกที่จะออกมาเพิ่มขึ้นและสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงขึ้นจะเริ่มเป็นปัจจัยส่งผลมาที่เงินเฟ้อในระยะปานกลางมากขึ้น            อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยเริ่มปรับลดลง 0.25% ในเดือน ต.ค. เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้และไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ในภาวะสินเชื่อชะลอตัว และดอกเบี้ยที่ลดลงยังอยู่ในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ SCB EIC มองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งภายในไตรมาส 1/2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง สถานการณ์มีแนวโน้มน่ากังวลมากขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะผ่อนคลายลงอีกเอื้อต่อการลดดอกเบี้ยของไทย            เงินบาทจะยังผันผวนสูง ในระยะ 1 เดือนข้างหน้าค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยต้องจับตาจังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed และสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้เงินบาทมี Correction อ่อนค่าได้ในระยะสั้น ก่อนจะทยอยกลับสู่เทรนด์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี

พฤอา
311234567891011121314151617181920212223242526272829301234567891011