หุ้นวิชั่น - PTTGC เผยไตรมาส 4/67 ขาดทุนสุทธิรวม 11,738 ล้านบาท ส่วนทั้งปีขาดทุน 29,811 ล้านบาท รายได้ปี 2567 ที่ 604,045 ล้านบาท พร้อมกลยุทธ์ Portfolio Transformation เตรียมงบลงทุน 840 ล้านเหรียญฯ (2568-2572) มุ่งขยายธุรกิจเคมีภัณฑ์และพลังงานใหม่คาดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ดันความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่ม หนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อนุมัติการจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.50บาทต่อหุ้น กำหนด วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล(XD) : 03 มี.ค. 2568 และ กำหนดวันที่จ่ายปันผล วันที่ 24 เม.ย. 2568
นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 4/2567ในไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 132,372 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากไตรมาส 3/2567 และ ลดลงร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจาก กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นที่ปรับตัวลดลง จากราคาผลิตภัณฑ์ของ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ปรับลดลง สอดคล้องกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบโลกที่ปรับลง และ กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ที่ราคาปรับตัวลดลงในไตรมาสนี้เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงมีความท้าทายจากปัจจัยกดดันทาง เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ราคาปิโตรเคมีส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการประกาศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีน
ผลประกอบการทางการเงิน
ในไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ รายงาน Adjusted EBITDA อยู่ที่ 2,663 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 68 โดยมีปัจจัยหลักจาก ธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่ออุปสงค์ปลายทางของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี การเริ่มดำเนินการของกำลังการผลิตใหม่ในตลาด โดยเฉพาะจากประเทศจีน ส่งผลให้ราคาขายเม็ดพลาสติก โพลิเอทิลีนเฉลี่ยปรับตัวลดลง
ส่วนต่างราคากลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ปรับตัวลดลง
สำหรับ ธุรกิจโรงกลั่น มี ค่าการกลั่น (GRM) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดย GRM ในไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 3.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษปรับลดลง เนื่องจากผลกระทบจาก กลุ่มบริษัท Vencorex การปรับลดตามฤดูกาลของธุรกิจอื่นๆ ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะใน ทวีปยุโรปและอเมริกา ส่งผลให้ปริมาณการขายของ บริษัท allnex ปรับลดลง
ผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบ
ในไตรมาส 4/2567 บริษัทฯ รับรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับราคาสัญญาซื้อวัตถุดิบอีเทน จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น
รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานปกติ
• ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (Stock loss) และกลับรายการการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (NRV Reversal) รวมเป็นกำไร 941 ล้านบาท
• กำไรจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงด้านราคา 253 ล้านบาท
• ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิและผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน รวมเป็นขาดทุน 1,033 ล้านบาท
• รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในไตรมาสนี้ จำนวน 725 ล้านบาท โดย ผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนในธุรกิจปิโตรเคมียังคงอ่อนตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโพลิโพรพิลีนเป็นหลัก
กลยุทธ์การบริหารจัดการ Portfolio และผลกระทบทางการเงิน
ในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ดำเนินยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ Portfolio เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ (Portfolio Transformation) แต่ต้องเผชิญความท้าทายจาก
• สภาวะการแข่งขันอุตสาหกรรมที่รุนแรง
• การปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัท Vencorex และบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC)
บริษัทฯ ได้รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ไปในไตรมาส 3 ปี 2567 โดยใน ไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทฯ รับรู้ประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ซึ่งประกอบด้วย:
• ประมาณการหนี้สินของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในอนาคตของกลุ่มบริษัท Vencorex จำนวน 1,455 ล้านบาท
• ประมาณการหนี้สินของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในอนาคตของ PTTAC จำนวน 2,836 ล้านบาท
ผลขาดทุนสุทธิ
เมื่อรวมปัจจัยทั้งหมดแล้ว บริษัทฯ รายงานผลขาดทุนสุทธิรวม 11,738 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2567
ผลประกอบการในปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 604,045 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก รายได้ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นที่ปรับตัวลดลง จากราคาผลิตภัณฑ์ของ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป และ กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ที่ลดลง แม้ว่าปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง เนื่องจากในปี 2566 มี การหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงโมโนเอทิลีนไกลคอลในช่วงครึ่งปีแรก และโรงงานฟีนอลหน่วยที่ 2
โดยภาพรวมในปี 2567 บริษัทฯ มี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 31,766 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 17 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากผลประกอบการของ กลุ่มผลิตภัณฑ์โรงกลั่นที่อ่อนตัวลงตาม GRM โดย ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบปรับลดลง เป็นหลัก และผลประกอบการของ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทำให้อุปสงค์ยังคงชะลอตัวและอุปทานของภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นในระหว่างปี นอกจากนี้ บริษัทฯ รับรู้ รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานปกติ ได้แก่
ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (Stock loss) และรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (NRV) รวม 2,457 ล้านบาท กำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงินรวม 383 ล้านบาท
ผลขาดทุนจากเงินลงทุนที่รับรู้ในปีนี้จำนวน 1,462 ล้านบาท โดยขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจาก ผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งได้รับผลกระทบจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ PVC ที่ลดลงเป็นหลัก
กลยุทธ์และการปรับโครงสร้างธุรกิจ
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ดำเนินแนวทางตาม ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ Portfolio ของธุรกิจให้เข้มแข็ง (Portfolio Transformation) เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว โดยได้ปรับโครงสร้างธุรกิจของ 2 บริษัทหลัก ได้แก่
1️กลุ่มบริษัท Vencorex – ผู้ผลิต HDI และ HDI Derivatives ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 100
2️ PTTAC – บริษัทในกลุ่มธุรกิจอะคริโลไนไตรล์และเมทิลเมทาคริเลต ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่ยังถือหุ้นร้อยละ 50
• เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 Vencorex France และ Vencorex TDI ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เพื่อขอเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจในชั้นศาลตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส
• เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งรับคำร้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3-4 เดือน
• เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลาของกระบวนการดังกล่าวไปจนถึงเดือนมีนาคม 2568
• บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท Vencorex และประมาณการหนี้สินสำหรับกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ รวม 10,028 ล้านบาท ปัจจุบัน Vencorex มีความคืบหน้าในการสรรหาผู้ซื้อสินทรัพย์ในฝรั่งเศส ไทย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2568
• เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ PTTAC มีมติอนุมัติแผนยุติการดำเนินกิจการ ทำให้บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียจาก PTTAC รวม 11,773 ล้านบาท
ผลกระทบทางการเงิน
เมื่อรวมปัจจัยทั้งหมด บริษัทฯ รายงาน ขาดทุนสุทธิรวม 29,811 ล้านบาท (-6.62 บาท/หุ้น) ในปี 2567 พิจารณาจาก Adjusted EBITDA ในปี 2567 กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น มีผลประกอบการลดลงจาก ผลกระทบของ GRM ที่ลดลงมากกว่าครึ่ง จาก 9.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2566 เป็น 4.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2567 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจาก ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบที่ลดลง
กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ทรงตัว
ผลประกอบการโรงโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางของ ส่วนต่างผลิตภัณฑ์เอทิลีนและแนฟทาที่เพิ่มขึ้น ในปี 2567 บริษัทฯ มี การหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ได้แก่โรงงานโอเลฟินส์หน่วยที่ 2/2 ในไตรมาส 1 และไตรมาส 3
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง มีผลประกอบการดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างมาก เนื่องจาก ปริมาณขายรวมที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก หลังจากปี 2566 มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของ โรงโมโนเอทิลีนไกลคอลในช่วงครึ่งปีแรก และโรงฟีนอลหน่วยที่ 2
กลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ มีผลประกอบการลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากส่วนต่างผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกอ่อนตัวลง แม้ว่าราคาเฉลี่ยของ เม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และ ปริมาณขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2
กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน มีผลประกอบการลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณขายของผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ลดลงร้อยละ 10 โดยภาครัฐมีการปรับนโยบายลด ส่วนผสมไบโอดีเซลจาก B7 เป็น B5 ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ มีผลประกอบการลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจาก Vencorex ได้รับแรงกดดันจากราคาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันสูง รวมถึงอุปสงค์ของลูกค้าที่ชะลอตัวลง ขณะที่ allnex มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า จากปริมาณขายที่เติบโตใน ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2568 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตในระดับคงที่ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับร้อยละ 3.2 เช่นเดียวกับในปี 2567 (IMF ตุลาคม 2567) โดยมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัว มีปัจจัยสนับสนุนจากการลดลงของเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการขนส่งในบางภูมิภาค รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้การบริโภคและการลงทุนฟื้นตัวได้ดีขึ้น ช่วยลดแรงกดดันต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจโดยรวมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์หลังเข้ารับตำแหน่งที่อาจส่งผลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจโดยรวม
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น
บริษัทฯ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2568 อยู่ที่เฉลี่ย 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยความต้องการน้ำมันดิบจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากปี 2567 เนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกและการใช้พลังงานหมุนเวียนในหลายประเทศยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ ด้านอุปทานน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกพลัสเพื่อรักษาสมดุลของตลาด ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากประเทศนอกกลุ่มโอเปก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล และกายอานา จะช่วยลดความตึงตัวของอุปทานในตลาดลง
สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของโรงกลั่น บริษัทฯ คาดว่าสถานการณ์ราคาและส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ในปี 2568 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากปี 2567 เนื่องจากอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตโรงกลั่นใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดีย ด้านอุปสงค์คาดการณ์ว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนจะช่วยสนับสนุนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น
บริษัทฯ คาดการณ์ว่าส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล (10 ppm) กับน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 14-17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนต่างราคาน้ำมันเตากำมะถันต่ำ (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) กับน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 9-12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนต่างราคาน้ำมันแก๊สโซลีนกับน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 11-15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการยังคงบริหารจัดการรูปแบบการผลิต และสัญญาขายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการการจัดหาน้ำมันดิบในการผลิตและส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสม โดยบริษัทฯ คาดการณ์อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นในปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 91
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง
แนวโน้มสถานการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์ฟีนอลในปี 2568 บริษัทฯ คาดว่าส่วนต่างของผลิตภัณฑ์ฟีนอล (P2F) จะอยู่ที่ 230-250 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ใกล้เคียงกับปี 2567 อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ฟีนอล อะซิโทน และบิสฟีนอลเอ ยังคงมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และจะค่อยๆ มีทิศทางดีขึ้น ในส่วนของอุปทานกำลังการผลิตใหม่ในประเทศจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะมีผู้ผลิตบิสฟีนอลเอในญี่ปุ่นประกาศปิดกิจการไป
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ตลาดของผลิตภัณฑ์โมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) บริษัทฯ คาดว่าราคา MEG จะอยู่ที่ 510-540 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน คาดว่าจะยังคงมีปัจจัยกดดัน ทั้งจากทางด้านอุปสงค์ที่ยังคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ อีกทั้งยังมีหน่วยการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นในปี 2568 ซึ่งยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันราคา
กลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์และเคมีภัณฑ์
แนวโน้มสถานการณ์ตลาดเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนในปี 2568 บริษัทฯ คาดว่าราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก HDPE จะเฉลี่ยอยู่ที่ 980 – 1,010 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2567 คาดการณ์ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์จะฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นำโดยประเทศกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความผันผวนและถูกกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศจีน ด้านอุปสงค์คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดการณ์อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงโพลิเอทิลีนในปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 107
กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ
คาดการณ์ว่าความต้องการของผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบผิวอุตสาหกรรม (Coating Resin) มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2567 จากการเติบโตของความต้องการของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะยังคงสูงกว่าการเติบโตของ GDP โดยรวม เนื่องจากสัญญาณบวกของการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมปลายทาง เช่น กลุ่มยานยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าจะเห็นการแข่งขันด้านราคามากขึ้น โดยเฉพาะจากกำลังการผลิตใหม่
ประมาณการงบลงทุนในช่วง 5 ปี (2568-2572) ของกลุ่มบริษัท จำนวนรวม 840 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็น
1.งบลงทุนของบริษัทฯ และบริษัทย่อย (ไม่รวม allnex) ที่ 183 ล้านเหรียญฯ ประกอบด้วยปี 2568 จำนวน 163 ล้านเหรียญฯ, ปี 2569 จำนวน 20 ล้านเหรียญฯ
2.งบลงทุนบริษัท Allnex จำนวนรวม 657 ล้านเหรียญฯ ประกอบด้วย ปี 2568 จำนวน 126 ล้านเหรียญฯ, ปี 2569 จำนวน 141 ล้านเหรียญฯ, ปี 2570 จำนวน 160 ล้านเหรียญฯ, ปี 2571 จำนวน 138 ล้านเหรียญฯ และปี 2572 จำนวน 92 ล้านเหรียญฯ
ทั้งนี้ยังงบลงทุนที่ยังไม่ได้นับรวม ได้แก่ งบซ่อมบำรุงประจำปีประมาณ 400 ล้านเหรียญฯ (รวมบริษัท allnex Holding GmbH) , งบลงทุน เช่น โครงการเกี่ยวกับไอที & ดิจิทัล, โครงการปรับปรุงอาคารสำนักงาน, โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เป็นต้น, งบลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจของ Allnex รวมถึงโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วและโครงการลงทุนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแต่ไม่รวมโครงการ M&A ขนาดใหญ่ และสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเหรียญสหรัฐต่อสกุลยูโรอยู่ที่ 1.12 สำหรับงบลงทุนของบริษัท allnex