SCC สรุปผลการดำเนินการด้าน ESG ปี 2567
หุ้นวิชั่น - บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC สรุปผลการดำเนินการด้าน ESG Net Zero: ในปี 2567 เอสซีจีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1+2) อยู่ที่ 26.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 23.4% เมื่อเทียบกับ 34.24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2563 (ปีฐาน) Go Green: ในปี 2567 รายได้จากสินค้า Green Choice อยู่ที่ 275.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54% ของรายได้รวม อีกทั้งยังสามารถ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 950,000 ตัน CO2 ลดเหลื่อมล้ำ: ในปี 2567 เอสซีจีมีส่วนในการ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมรวม 24,543 คน ผ่านการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา และยกระดับสุขภาวะ เป็นต้น ย้ำความร่วมมือ: เอสซีจีร่วมกับผู้แทนจาก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ GCCA และ UNIDO นำเสนอความคืบหน้าและความสำเร็จของโครงการ Saraburi Sandbox ในหัวข้อ "Saraburi Sandbox: Leading Thailand’s Pathway to a Low Carbon City" ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2567 สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของ โครงการ Saraburi Sandbox ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น เมืองคาร์บอนต่ำ และเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลการดำเนินการด้าน ESG Net Zero ผลการดำเนินงานในปี 2567 เอสซีจีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1+2) อยู่ที่ 26.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 23.4% หากเทียบกับ 34.24 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2563 (ปีฐาน) ซึ่งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเอสซีจีในปี 2573 ตามคำแนะนำของ The Science Based Target Initiatives (SBTi) ที่แนะนำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 2.5% ต่อปี แต่หากรวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายใต้กำลังการผลิตในระดับปกติ เอสซีจีจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 29 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เอสซีจีเดินหน้าปรับแผนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างการเติบโตและคว้าโอกาสใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก (Alternative Fuel) เช่น พลังงานชีวมวล วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างยั่งยืน ในปี 2567 เอสซีจีใช้เชื้อเพลิงทางเลือกคิดเป็น 29% ของพลังงานความร้อนทั้งหมดในทุกธุรกิจ และ 45% สำหรับธุรกิจซีเมนต์ในประเทศไทย Go Green เอสซีจีเดินหน้าพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำภายใต้ฉลาก Green Choice เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้สินค้าที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อคุณภาพชีวิต เอสซีจีตั้งเป้ารายได้จากสินค้า Green Choice เป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของรายได้จากการขายทั้งหมดภายในปี 2573 ในปี 2567 เอสซีจีสามารถสร้างรายได้จากสินค้า Green Choice จำนวน 275.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54% ของรายได้รวม และสามารถ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 950,000 ตัน CO2 ลดเหลื่อมล้ำ เอสซีจีมุ่งพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา และยกระดับสุขภาวะ ตั้งแต่ปี 2565 โดยมีเป้าหมาย 50,000 คนในปี 2573 และมีเป้าหมายอยู่ที่ 5,600 คนในปี 2567 สำหรับปี 2567 เอสซีจีมีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมรวม 24,543 คน โดย สนับสนุนการพัฒนาสร้างอาชีพ 5,025 คน ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพ เช่น โครงการพลังชุมชน ที่อบรมวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในระยะยาว สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการและ SMEs โดยผ่านแพลตฟอร์มการเงิน Siam Validus Capital ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 15,093 คน ผ่านโครงการ แพทย์ดิจิทัลทางไกล โดยใช้ นวัตกรรม DoCare เชื่อมโยงผู้ป่วยและแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล มอบโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนรวม 4,425 คน ย้ำความร่วมมือ โครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox) เอสซีจีร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ GCCA และ UNIDO นำเสนอความคืบหน้าและความสำเร็จของโครงการ Saraburi Sandbox ในหัวข้อ "Saraburi Sandbox: Leading Thailand’s Pathway to a Low Carbon City" ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ COP29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2567 สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของโครงการ Saraburi Sandbox ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น เมืองคาร์บอนต่ำ ภาคพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าเยี่ยมชมโครงการฯ และเร่งผลักดัน Solar Floating คลองเพรียว โดยเสนอแนวทางให้ทั้ง กฟผ. และภาคเอกชนดำเนินการ เพื่อเรียนรู้ข้อจำกัดและโอกาสของโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรวจพื้นที่ คลองเพรียวและบึงบ้านหมอ เพื่อประเมินศักยภาพในการติดตั้ง Solar Floating โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำ ข้อมูลสายส่งโดยรอบ และความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ เสนอให้ยกระดับมาตรฐานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (มอก. 2594-2567) เป็น มอก. บังคับ แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (มอก. 15) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี การบริหารจัดการขยะ ร่วมมือกับ กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี จัดทำโครงการโรงเรียนไร้ขยะ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้าน การจัดการของเสียและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนำร่อง 54 โรงเรียนในจังหวัดสระบุรี ภาคเกษตร ขยายผลการทำนาเปียกสลับแห้ง จากแปลงนำร่องที่อำเภอหนองโดนและเสาไห้ จาก 50 ไร่ในปี 2566 เป็น 1,180 ไร่ในปี 2567 ครอบคลุม 7 อำเภอ ได้แก่ เสาไห้ หนองโดน หนองแซง เมืองสระบุรี บ้านหมอ ดอนพุด และหนองแค การใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้ สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายป่าชุมชน 45 แห่ง สำหรับการเขียนแผนจัดการป่าชุมชนและการตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน ค้นหา Food Bank เพื่อพัฒนาอัตลักษณ์ของป่าชุมชนและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน ฝึกอบรม "อาสาป่าชุมชน" สู้ไฟป่า จังหวัดสระบุรี จำนวน 4 รุ่น