ปรับแต่งการตั้งค่าการให้ความยินยอม

เราใช้คุกกี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำหน้าที่บางอย่าง คุณจะพบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ทั้งหมดภายใต้หมวดหมู่ความยินยอมแต่ละประเภทด้านล่าง คุกกี้ที่ได้รับการจัดหมวดหมู่ว่า "จำเป็น" จะถูกจัดเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการทำงานของฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์... 

ใช้งานอยู่เสมอ

คุกกี้ที่จำเป็นมีความสำคัญต่อฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์ และเว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หากไม่มีคุกกี้เหล่านี้

คุกกี้เหล่านี้ไม่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้แบบฟังก์ชันนอลช่วยทำหน้าที่บางอย่าง เช่น แบ่งปันเนื้อหาของเว็บไซต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวบรวมความคิดเห็น และฟีเจอร์อื่นๆ ของบุคคลที่สาม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้วิเคราะห์ใช้เพื่อทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมโต้ตอบกับเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้เข้าชม อัตราตีกลับ แหล่งที่มาของการเข้าชม ฯลฯ

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้ประสิทธิภาพใช้เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิภาพหลักของเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นแก่ผู้เยี่ยมชม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้โฆษณาใช้เพื่อส่งโฆษณาที่ได้รับการปรับแต่งตามการเข้าชมก่อนหน้านี้ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

#FynnCorp


หุ้นกู้ CK หนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศ [HoonVision X FynnCorp]

หุ้นกู้ CK หนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของประเทศ [HoonVision X FynnCorp]

         หุ้นวิชั่น - CK เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของไทย ครอบคลุมโครงการต่าง ๆ ตั้งแต่ระบบขนส่งมวลชนจนถึงโครงการพลังงาน มีรายได้หลักจากสัญญาก่อสร้าง และรายได้เกินครึ่งมาจากต่างประเทศ          กระแสเงินสดจากการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง และรายได้จากสัญญาก่อสร้างยังเติบโตต่อเนื่อง จากมูลค่างานในมือ (Backlog) เกือบ 300,000 ล้านบาท          บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2568 ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ให้แก่นักลงทุนทั่วไป ช่วง [18 และ 21-22] เมษายน 2568 จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ทั้งหมด 4 ชุด หุ้นกู้ CK          กว่าประสบการณ์ 50 ปีในธุรกิจก่อสร้าง สู่การเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน            บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) ก่อตั้งในปี 2515 เพื่อประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งภาคเอกชน ลูกค้าหลักคือ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กองทัพบก และกองทัพอากาศ และได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2537 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดในกลุ่มธุรกิจก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท            ขอบเขตงานของ CK ครอบคลุมถึงการก่อสร้างอาคารและงานโยธาทั่วไป ตั้งแต่ระบบขนส่งมวลชน ท่าอากาศยาน ถนน ทางด่วน สะพาน พลังงาน ท่าเรือ ไปจนถึง อาคาร ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในนาม บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด Source: The Company's Website            บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค ซึ่งในธุรกิจก่อสร้างนั้น บริษัทเป็นทั้งผู้รับเหมาโดยตรง (Main Contractor) ด้วยวิธีการประกวดราคาหรือเจรจาต่อรองจากเจ้าของโครงการโดยตรง และผู้รับเหมาช่วง (Sub Contractor) โดยการรับจ้างจากผู้รับเหมารายอื่นที่ได้รับงานโดยตรงจากเจ้าของโครงการ (Main Contractor) ซึ่งถือเป็นการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่มีศักยภาพ            นอกจากเป็นผู้รับเหมาแล้ว บริษัทยังเป็นนักลงทุนในโครงการสาธารณูปโภค เช่น ในระบบคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภคน้ำ และระบบพลังงานไฟฟ้า โดยการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM), บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) และบริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลักให้กับบริษัทเหล่านี้อีกด้วย            โดยโครงสร้างรายได้ของ CK มาจากการเป็นผู้รับเหมาโดยตรง คิดเป็น 96.62% ของรายได้รวมในปี 2567 และรายได้อื่นจากค่าบริหารโครงการ เงินปันผล และอื่นๆ อีก 3.38% ซึ่งบริษัทมีรายได้จากต่างประเทศ 50.11% และในประเทศ 49.89%            ณ สิ้นปี 2567 บริษัทมี Backlog (งานที่ยังไม่ส่งมอบ) รวมมูลค่า 298,557 ล้านบาท จาก 11 โครงการ รับรู้รายได้ไปแล้ว 69,983 ล้านบาท หนึ่งโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน สิงหาคม 2568 และจะรับรู้รายได้เพิ่ม ประมาณ 1,200 ล้านบาท โครงการที่เหลือ คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จระหว่างปี 2570 - 2576 ผลการดำเนินงาน            รายได้จากสัญญาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.67% YoY (+973 ล้านบาท) ในปี 2567 อยู่ที่ 37,457.87 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้ของสัญญาก่อสร้างที่มีอยู่และโครงการใหม่ ส่วนรายได้อื่นอยู่ที่ 1,312.04 ล้านบาท ลดลง 10.8% YoY ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย 3.74% YoY จากค่าใช้จ่ายบริหารและต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น            โดยรายได้จากสัญญาก่อสร้างนี้ รับรู้จากโครงการหลัก อย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (สายสีม่วงใต้) โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ            โครงการที่อยู่ในช่วงปลายโครงการ เช่น สัญญางานก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำบางมด - สำโรง            โครงการใหม่ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น เช่น โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรีและสวนสาธารณะพื้นที่แขวงบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ รวมถึง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานแข็งแกร่ง            บริษัทมีรายได้จากสัญญาก่อสร้างเพิ่มขึ้นในปี 2567 ขณะเดียวกัน กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,547.04 ล้านบาท สะท้อนการมีแหล่งรายได้และกระแสเงินสดจากสัญญาก่อสร้างอย่างต่อเนื่องในระยะยาว จากการที่บริษัทเน้นการประมูลโครงการก่อสร้างและสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐ โดยกระแสเงินสดดังกล่าว ยังครอบคลุมกระแสเงินสดที่ใช้ในการลงทุนและจัดหาเงิน ซึ่งมีมูลค่ารวม 3,136.02 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินสดเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,404 ล้านบาท สะสมให้บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 10,188 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 รายได้สัญญาก่อสร้างเติบโตต่อเนื่อง จากการลงนามโครงการใหม่            ในเดือนพฤศจิกายน 2567 บริษัททำสัญญากิจการร่วมค้ากับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ ซีเคเอสที-โออาร์ มูลค่าสัญญากว่า 58,950 ล้านบาท เพื่อรับจ้างงานก่อสร้างโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี โดยบริษัทมีสัดส่วนการลงทุน 51% และมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 64 เดือน (5-6 ปี)            นอกจากนั้น ในปี 2567 บริษัทได้ลงนามสัญญารับจ้างจากบริษัทในเครืออย่าง BEM และ TTW จำนวน 6 โครงการ ด้วยสัญญามูลค่ารวม 125,707 ล้านบาท และได้ลงนามสัญญาอีก 1 โครงการจากการชนะการประกวดราคา มูลค่าประมาณ 552 ล้านบาท แนวโน้มในปี 2568            บริษัทมีโครงการที่จะเข้าร่วมประกวดราคาคิดเป็นมูลค่าประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงและการก่อสร้างซับซ้อน อย่างไรก็ตาม CK มีจุดเด่นด้วยประสบการณ์และความพร้อมทั้งด้านการเงิน บุคลากร การบริหารจัดการ ทำให้บริษัทมีศักยภาพเติบโตในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิต A- จากการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศ            ในด้านอันดับเครดิต พบว่าทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและจัดอันดับหุ้นกู้ที่ระดับ A- และแนวโน้มอันดับเครดิต Stable ณ วันที่ 3 มีนาคม 2568 สะท้อนความสามารถในการรับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ซับซ้อน ซึ่งบริษัทเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลาย ทำให้ได้รับสัญญาก่อสร้างและสร้างรายได้ประจำระยะยาว            อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังมีภาระหนี้สินในระดับสูงจากอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (D/E ratio) จาก 2.72 เท่า ในปี 2566 มาเป็น 3.27 เท่าในปี 2567 แต่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (IBD) ลดลงตามเงินกู้ยืมทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงอัตรากำไรค่อนข้างน้อยของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง ประวัติการปรับอันดับเครดิตองค์กร (Issuer Rating)            ข้อกำหนดการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน ตามข้อกำหนดสิทธิ (Financial Covenant) บริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ต้องรักษาอัตราส่วนของหนี้สินสุทธิที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) ตามงบการเงินรวมไม่เกิน 3 เท่า โดย ณ สิ้นปี 2567 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.67 เท่า            หุ้นกู้คงค้างของบริษัท (Outstanding bonds) ในปัจจุบันอยู่ที่ 41,102 ล้านบาท จากหุ้นกู้ 24 รุ่น โดย CK ออกหุ้นกู้มาแล้ว 81 รุ่น ตั้งแต่ปี 2543 และไม่มีประวัติการผิดนัดชำระหรือดอกเบี้ยของหุ้นกู้ นอกจากนี้ บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 เป็นมูลค่า 7,200 ล้านบาท ในเดือน พฤษภาคม สิงหาคม และ พฤศจิกายน ตามลำดับ ขณะที่มีเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวน 10,188 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2567 CK's Bond Outstanding Value (THB Million)            หุ้นกู้เสนอขายใหม่ บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2568 ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ให้แก่นักลงทุนทั่วไป ช่วง [18 และ 21-22] เมษายน 2568 จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย [3.3 - 3.5%] ต่อปี อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย [3.6 - 3.8%] ต่อปี อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย [3.8 - 4.0%] ต่อปี อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย [4.0 - 4.2%] ต่อปี ปัจจัยเสี่ยง ความเสี่ยงจากภาระหนี้สินในระดับสูง แม้ CK จะมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 10,188 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2568 ที่ 7,200 ล้านบาท แต่หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (IBD) คิดเป็นกว่า 90% ของหนี้สินรวมในปี 2567 ถือเป็นระดับที่สูง ทำให้บริษัทต้องบริหารกระแสเงินสดอย่างรัดกุมสำหรับการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงการออกตราสารหนี้เป็นหลัก หรือคิดเป็นประมาณ 75% ของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2567 รวมมูลค่ากว่า 41,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น เช่น เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ความเสี่ยงเรื่องต้นทุนที่บริษัทต้องแบกรับ จากการเปลี่ยนแปลงของราคาวัสดุก่อสร้าง ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจและตลาดวัสดุก่อสร้างที่เคลื่อนไหวตามอุปสงค์และอุปทาน รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ รวมถึงข้อจำกัดการจ้างแรงงานต่างด้าว

อ่านเกมส์ ศึกกลุ่มรับเหมาก่อสร้างไทย พร้อมโอกาสเติบโต [HoonVision x FynnCorp]

อ่านเกมส์ ศึกกลุ่มรับเหมาก่อสร้างไทย พร้อมโอกาสเติบโต [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: แนวโน้มกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังมีปัจจัยหนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ผู้รับเหมารายใหญ่ ยังคงได้เปรียบในการแข่งขัน ในด้านผู้เล่นใหญ่ในอุตสาหกรรม ช.การช่าง (CK) ครองมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ถึง 80% และเป็นบริษัทที่ทำกำไรสุทธิได้สูงสุดของกลุ่ม ขณะที่ อิตาเลียนไทยฯ (ITD) ทำรายได้สูงสุด ในกลุ่มก่อสร้างโครงการภาครัฐ CK ถือเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในกลุ่ม และ ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง (UNIQ) โดดเด่นเรื่อง Dividend Yield สูง กลุ่มธุรกิจก่อสร้างยังมีแนวโน้มขยายตัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการใหญ่ รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และโครงการ Data Center 3 โครงการจากบริษัทในไทย จีน และสิงคโปร์ สะท้อนการเติบโตของเทคโนโลยี AI และส่งเสริมการก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลฮับของไทย นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ธุรกิจก่อสร้าง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินการก่อสร้างภาครัฐในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 3% จากการได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นของหน่วยงานหลักที่ลงทุนภาคก่อสร้าง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และการเปิดประมูล การเริ่มก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ขณะที่ SCB EIC คาดการก่อสร้างภาคเอกชนจะขยายตัวเล็กน้อย จากแรงกดดันของตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะตลาดโครงการระดับราคาปานกลาง - ล่าง ท่ามกลางภาวะ Oversupply ของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรม ยังคงได้รับปัจจัยบวกเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการเข้าประมูลรับงานก่อสร้างจากโครงการภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าสูง มีสัดส่วนมากกว่าการก่อสร้างภาคเอกชน และเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รวมถึง Megaprojects ด้านการคมนาคมที่จะเปิดประมูลในปี 2568 นี้ รวมมูลค่าโครงการกว่า 4 แสนล้านบาท CK ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ ในกลุ่มผู้เล่นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง สามารถแบ่งได้ตามกุล่มที่รับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐเป็นหลัก กลุ่มที่รับงานภาคเอกชนเป็นหลัก กลุ่มที่รับงานก่อสร้างอื่นๆ กลุ่มควบคุมงานก่อสร้าง รวมไปถึงรับงานเฉพาะด้าน หากพิจารณาผู้เล่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่รับงานโครงการภาครัฐเป็นหลัก ได้แก่ ITD, CK, NWR, RT, UNIQ, CIVIL, SQ ซึ่งจากข้อมูล มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ในปัจจุบัน พบว่า CK ครองตลาดถึง 80% ตามมาด้วย UNIQ (6%), ITD (5%), CIVIL (4%), SQ (3%) ขณะที่บริษัทขนาดเล็กอย่าง RT และ NWR มีสัดส่วน 1% ITD ทำรายได้สูงสุด แต่ CK ทำกำไรนำโด่ง แม้ว่า ITD มีรายได้รวมในปี 2567 สูงสุดที่ 72,454.98 ล้านบาท ตามมาด้วย CK (38,763.91 ล้านบาท) และ UNIQ (10,448.46 ล้านบาท) ซึ่ง ITD และ CK เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีประสบการณ์ มีเป้าหมายการรับงานโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงในต่างประเทศ และการลงทุนสร้างงานในลักษณะสัมปทานโครงการ จึงส่งผลให้มีโอกาสในการทำรายได้มากกว่าผู้เล่นในกลุ่ม แต่เมื่อดูที่กำไรสุทธิ พบว่า CK มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นสูงสุด มูลค่า 1,445.50 ล้านบาท ตามมาด้วย UNIQ (183.04 ล้านบาท), CIVIL (114.88 ล้านบาท) และ RT (71.15 ล้านบาท) CIVIL - RT ใช้เงินทุนคุ้มค่า, UNIQ แจกปันผลสูงสุด เมื่อดูอัตราส่วนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) พบว่า CIVIL และ RT มี ROE สูงสุดที่ 6.2% และ 6.02% ตามลำดับในปี 2567 สะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้เงินทุนในการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ดีเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วน RT, UNIQ และ CK เด่นในด้าน ROA สะท้อนว่าบริษัทใช้สินทรัพย์ที่มีในการสร้างกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าผู้เล่นในกลุ่ม ส่วนในแง่ของเงินปันผล UNIQ มี Dividend Yield สูงสุดที่ 3.95% ตามมาด้วย CK (2.09%) และ CIVIL (1.26%) สะท้อนว่าบริษัทเหล่านี้จ่ายเงินปันผลสูงในกลุ่มเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน กล่าวโดยสรุป CK ถือว่าเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในภาพรวม โดยติดสามอันดับแรก ทั้งในแง่ผลการดำเนินงาน การสร้างผลตอบแทน และการจ่ายปันผล จากการที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่ม ส่วน UNIQ อาจดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการรายได้จากเงินปันผล และแม้ไม่ได้เป็นผู้เล่นใหญ่สุดในกลุ่ม แต่บริษัทมีความสามารถในการบริหาร ควบคุมต้นทุนดีขึ้นต่อเนื่องจากการซื้อเป็นจำนวนมาก ปัจจัยเสี่ยง การแข่งขันที่รุนแรงจากผู้รับเหมาก่อสร้างจากจีน ส่งผลให้ผู้เล่นของไทยเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคต นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างจากจีน จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้ง Supply Chain ของธุรกิจก่อสร้างในประเทศ การฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัย จากอุปสงค์ที่มีการโอนกรรมสิทธฺ์ทั่วประเทศยังคงลดลงในปีที่ผ่านมาแม้จะมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง อย่างไรก็ตาม REIC คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2568 จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าที่ 1.6% และ 1.4% ตามลำดับ ความล่าช้าของการเปิดประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ กระแสเงินสด และต้นทุนของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม หมายเหตุ: การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นการดูอัตราส่วนทางการเงินเบื้องต้นเทียบกับคู่แข่งในช่วงระยะเวลาเดียว (2024) ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน อ่านรายละเอียดเพิ่ม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/458bb195-88b7-4a0c-8827-d715d087bcb1

ERW ผู้พัฒนาลงทุนในธรุกิจโรงแรมชั้นนำ [HoonVision x FynnCorp]

ERW ผู้พัฒนาลงทุนในธรุกิจโรงแรมชั้นนำ [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: ERW หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของหุ้นกลุ่ม Tourism ได้รับปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทลงทุนและพัฒนาธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น คลุมตั้งแต่ระดับ 5 ดาว จนถึงบัดเจ็ท ภายใต้แบรนด์ เช่น Grand Hyatt Erawan, Novotel, Mercure, Holiday Inn, Ibis และ HOP INN แผนขยายการลงทุนกลุ่มโรงแรมที่เติบโต เช่น กลุ่มโรงแรมบัดเจ็ท และเพิ่มสัดส่วนรายได้และกำไรจากฐานลูกค้าในต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจโรงแรมแนมโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยปี 2567 อยู่ที่ 35.5 ล้านคน โตขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มหลักแม้จะยังไม่ฟื้นตัวเท่าระดับเดียวกับปี 2562 คิดเป็น 18.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย 13.9% อินเดีย 6% เกาหลี 5.3% รัสเซีย 4.9% ไต้หวันและญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งสร้างรายได้มากกว่า 1.6 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับภาครัฐบาลได้กระตุ้นการท่องเที่ยวต่างชาติผ่านนโยบายฟรีวีซ่า ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวในประเทศยังคงเติบโตจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ อย่างเช่น มาตรการลดหย่อนภาษีที่มาจากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง ส่งผลให้การท่องเที่ยวเมืองรองในปี 2567 ที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2568 ขยายตัว 7.5% รวมมูลค่าประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ 40 ล้านคน และการเตินทางภายในประเทศคาดไว้มากกว่า 205 ล้านครั้ง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ประกอบกับมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ จึงส่งผลบวกต่อธุรกิจโรงแรม ทั้งด้านอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก อีกทั้งทางผู้ประกอบการก็ได้มีการปรับปรุงห้องพัก รวมถึงยกระดับการบริการ ทำให้ราคาห้องพักเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ได้วิเคราะห์ถึงอัตราการเข้าพัก และราคาห้องพักเฉลี่ยในปี 2568 กลับมาสูงกว่าช่วงปี 2562 แต่เป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยอัตราการเข้าพักคาดว่าอยู่ที่ 74% และราคาห้องเฉลี่ยอยู่ที่ 2,056 บาทต่อคืนต่อห้อง The Erawan Group Public Company Limited [Ticker: ERW] บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ERW) ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้รับปัจจัยบวกข้างต้น ส่งผลให้กลุ่มบริษัทสามารถฟื้นตัวได้อย่างดี และมีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยจุดเริ่มต้นของ ERW มาจากกลุ่มผู้ก่อตั้งบริษัทจาก 3 ตระกูล ได้แก่ คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ, คุณสุพล วัธนเวคิน และคุณวิทย์ เจนวัฒนวิทย์ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2525 ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท อัมรินทร์ พลาซ่า จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าให้เช่าในระยะแรก ต่อมา ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2531 จนในปี 2537 ได้เริ่มประกอบธุรกิจลงทุน พัฒนาและดำเนินธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจหลัก โดยมีธุรกิจอื่น อย่างธุรกิจให้เช่าพื้นที่อาคาร และรับจ้างบริหารอาคาร รองลงมา กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)" ในปี 2548 และดำเนินธุรกิจเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจโรงแรม ปัจจุบัน บริษัทมีโรงแรมและรีสอร์ตรวม 89 แห่ง ห้องพักจำนวน 11,545 ห้อง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 67) ซึ่งอยู่ในไทยเป็นหลัก (74 แห่ง) รวมถึงในฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์โรงแรมชั้นนำทั้ง 10 แบรนด์ แบ่งไปในแต่ระดับ ได้แก่ โรงแรมระดับ 5 ดาว - Grand Hyatt Erawan, JW Marriott และ The Naka Island a Luxury Collection โรงแรมระดับกลาง - Courtyard by Marriott, Novotel, Mercure และ Holiday Inn โรงแรมชั้นประหยัด - Ibis Style และ Ibis โรงแรมบัดเจ็ท - HOP INN ซึ่งมีทั้งในไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ในการบริหารโรงแรมดังกล่าว ERW มีการจ้างบริษัทผู้รับจ้างบริหารโรงแรมที่เป็นองค์กรชั้นนำ มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ 3 ราย อย่าง Hyatt International, Marriott International และ IHG เพื่อบริหารโรงแรมทั้งหมด 5 แห่ง รวมถึงได้รับสิทธิ์สัญญาแฟรนไชส์ ภายใต้การบริหารของ 1) AccorHotels ซึ่งประกอบไปด้วยแบรนด์ Novotel, Mercure, Ibis, Ibis Style และ 2) IHG ได้แก่ Holiday Inn นอกจากนี้ บริษัทได้มีการพัฒนาแบรนด์ของตนเอง อย่าง HOP INN ซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารงานเอง มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นในประเทศที่เดินทางเป็นประจำ ธุรกิจพื้นที่ให้เช่าและบริหารอาคาร นอกจากธุรกิจโรงแรม บริษัทยังมีธุรกิจพื้นที่ให้เช่า อย่าง อาคารเอราวัณ แบงค็อก ซึ่งเป็นศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ มีพื้นที่ให้เช่า ประมาณ 6,554 ตารางเมตร (5 ชั้น) และธุรกิจงานบริหารอาคาร ได้แก่ อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานและพื้นที่ให้เช่า ประมาณ 42,847 ตารางเมตร (25 ชั้น) ซึ่งมีกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ เป็นเจ้าของอาคาร โครงสร้างรายได้ บริษัทมีรายได้จากกลุ่มโรงแรมระดับ 5 ดาวเป็นหลัก หรือ คิดเป็น 40% ของรายได้จากการดำเนินงานในปี 2566 ตามด้วยรายได้จากกลุ่มโรงแรมระดับกลาง 27% โรงแรมชั้นประหยัด 13% และกลุ่มโรงแรม HOP INN ในไทย (12%) ฟิลิปปินส์ (7%) ตามลำดับ ขณะที่ธุรกิจการเช่าพื้นที่มีสัดส่วนรายได้ส่วนน้อย (1%) และหากดูเป็นรายได้ตามพื้นที่ พบว่า กรุงเทพฯ ยังคงเป็นโซนที่สร้างรายได้หลักให้กลุ่มบริษัท หรือ คิดเป็น 62% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในปีเดียวกัน รายได้ตามกลุ่มธุรกิจและตามพื้นที่ (2566) ในด้านอัตราการเข้าพัก (Occupancy) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มโรงแรมทุกระดับ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมระดับกลางและชั้นประหยัด และส่วนของค่าห้องพักเฉลี่ย (ARR) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นค่อนข้างสอดคล้องไปกับอัตราการเข้าพัก ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักในภาพรวม (RevPAR) เติบโตในอัตราสูงมากกว่า 50% สะท้อนการฟื้นตัวของโรงแรมที่มากทั้งราคาที่สูงขึ้นและอัตราการเข้าพักที่ดีขึ้น สถิติการดำเนินงานด้านห้องพัก (2566) ผลการดำเนินงาน รายได้จากการดำเนินงาน (รายได้จากการประกอบกิจการโรงแรม ค่าเช่าและบริการ) อยู่ที่ 5,657 ล้านบาทใน 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวขึ้นประมาณ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แม้ว่าในไตรมาส 3 ปี 2567 ผลประกอบการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตก น้ำท่วม รวมถึงจากเหตุการณ์ Hyatt Incident ซึ่งล้วนเป็น One off event โดยรายได้สอดคล้องไปกับกำไรสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีการขยายตัวสูงขึ้นกว่า 71% YoY ส่วนหนึ่งมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและกำไรจากผลต่างของสินทรัพย์สิทธิการใช้และหนี้สินจากการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่าที่เพิ่มเข้ามา แต่หากพิจารณากำไรสุทธิก่อนรายการพิเศษดังกล่าว จะเพิ่มขึ้น 5% YoY อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการเข้าพักจะลดลงเล็กน้อยในช่วง 9 เดือน จาก trend การท่องเที่ยวที่ปรับตัวต่ำลง ท่ามกลางค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่น แต่ในภาพรวม อัตราการเข้าพักยังคงรักษาระดับได้ดีอยู่ที่ประมาณ 80% และบริษัทยังคงมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น (ARR) ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) เฉลี่ยสูงขึ้นที่ประมาณ 5% YoY จากปัจจัยบวกของนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย รวมถึงมาตรการฟรีวีซ่าของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมชั้นประหยัดเติบโตถึง 15% YoY สถิติการดำเนินงานด้านห้องพัก (9M2567) แผนการเติบโตผ่านการพัฒนาและขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดตัวโรงแรมใหม่รวม 13 แห่ง ทั้งในไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ทั้งหมด 1,257 ห้อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในไทยจำนวน 12 แห่ง ซึ่งจะมุ่งเน้นการลงทุนกลุ่มโรงแรมบัดเจ็ท ประกอบกับเพิ่มสัดส่วนรายได้และกำไรจากฐานลูกค้าในต่างประเทศ และปรับปรุงโรงแรมระดับ 3-5 ดาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลง Risk Factors ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินทรัพย์ จากการที่ธุรกิจโรงแรมของบริษัทกระจุกตัวอยู่ในประเทศไทยเป็นหลักและในประเทศฟิลิปปินส์ หากเกิดเหตุการณ์สำคัญหรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัท บริษัทจึงเน้นการลงทุนให้คลอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง และในอนาคต จะมีการวางแผนลงทุนขยายเครือข่ายโรงแรมไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อให้เกิดการกระจายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงด้านการแข่งขัน ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงิน แต่ด้วยทำเลที่ตั้งและแบรนด์ที่แข็งแกร่งของบริษัท ทำให้มีความได้เปรียบการแข่งขัน รวมถึงมีการขยายโรงแรมไปในระดับบัดเจ็ท ซึ่งมีการแข่งขันน้อยกว่าตลาดอื่น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมากขึ้น ความเสี่ยงจากการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ จากแผนการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการลงทุน ความล่าช้า กฎระเบียบต่างๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงโดยมีมาตรการควบคุมดูแลโครงการลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการทำ Due Diligence วางแผนขั้นตอนการลงทุนอย่างละเอียด รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Natural Currency Hedging) และประเมินความเสี่ยงทางการตลาดและการเมืองอย่างสม่ำเสมอ หุ้น ERW ERW ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มท่องเที่ยว (Tourism) ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ วันที่ 6 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 15,833.65 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่เติบโตโดดเด่น อยู่ที่ 902.9 ล้านบาท ในงวด 9 เดือนปี 2567 ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากรายการพิเศษ ประกอบกับผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น จึงส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิ (NPM) เพิ่มขึ้นมาที่ 15.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน และกำไรต่อหุ้น (EPS) สูงขึ้นมาอยู่ที่ 0.19 ขณะเดียวกัน บริษัทมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.46% และ 15.92% ตามลำดับในงวด 9 เดือน และตัวอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ลดลงมาอยู่ที่ 2.18 เท่า สะท้อนแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งด้านกำไร ความมั่นคงทางการเงิน และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ในเรื่องการจ่ายปันผล ERW มีอัตราส่วนเงินปันผลตอบเทน (Dividend Yield) ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 อยู่ที่ 1.45% ขณะที่ หุ้นในกลุ่ม Tourism มีอัตราดังกล่าวอยู่ที่ 1.54% แสดงให้เห็นว่า บริษัทมุ่งเน้นการขยายธุรกิจให้เป็นไปตามแผนระยะยาวมากกว่าการจ่ายปันผลได้ ซึ่งเมื่อดูราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น (P/E) ในช่วงเวลาเดียวกัน P/E ของ ERW อยู่ที่ 19.2 เท่า และของกลุ่มท่องเที่ยวอยู่ที่ 29.8 เท่า อ่านรายละเอียดเพิ่ม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/ce31f0e8-b51a-4810-8fe0-ffc9acb409dd

SHR ธุรกิจโรงแรมระดับนานาชาติในเครือสิงห์ เอสเตท [HoonVision x FynnCorp]

SHR ธุรกิจโรงแรมระดับนานาชาติในเครือสิงห์ เอสเตท [HoonVision x FynnCorp]

บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) [SHR] Holding Company ถือหุ้นในบริษัทที่บริหารจัดการโรงแรมระดับนานาชาติ ธุรกิจโรงแรมทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 36 แห่ง โรงแรมภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อย่าง SANTIBURI, SAii และอื่นๆ Key Highlights เน้นการทำธุรกิจโรงแรมระดับ Upper Upscale ผ่านการบริหารจัดการ 4 รูปแบบ ได้แก่ การบริหารเองภายใต้เเบรนด์ของบริษัท ภายใต้สัญญาแฟรนไชส์ ภายใต้สัญญาบริหารจัดการโดยบุคคลภายนอก และในลักษณะร่วมค้า เติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ พร้อมกับพัฒนายกระดับแบรนด์ทราย (SAii) และ Reposition & Rebrand โรงแรมศักยภาพในสหราชอาณาจักร เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุดแก่ประชาชนทั่วไป อายุ 2 ปี และ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.5% -5.0% ต่อปี ตามลำดับ เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จองซื้อในระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2568 โดยปัจจุบัน บริษัทมีหุ้นกู้คงค้าง 1 รุ่น มูลค่า 1,300 ล้านบาท S Hotels: Flagship Company ด้านธุรกิจโรงแรมของกลุ่มสิงห์ เอสเตท บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่ง SHR ประกอบธุรกิจผ่านการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารจัดการโรงแรม เน้นการลงทุนในโรงแรมระดับนานาชาติ รวมถึงขยายธุรกิจและพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 บริษัทมีโรงแรมทั้งสิ้น 36 แห่ง รวม 4,290 ห้อง ทั้งในไทย 4 โรงแรม และในต่างประเทศ อย่าง สาธารณรัฐมัลดีฟส์ (4 โรงแรม) สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ (2 โรงแรม) สาธารณรัฐมอริเชียส (1 โรงแรม) และสหราชอาณาจักร (25 โรงแรม) ซึ่งรายได้มากกว่า 80% มาจากต่างประเทศ โดยมาจากโรงแรมของบริษัทในสหราชอาณาจักรเป็นหลัก (36%) การบริหารจัดการโรงแรมดังกล่าว แบ่งได้เป็น 4 รูปแบบหลัก ดังนี้ โรงแรมที่บริหารจัดการและดำเนินการเอง ภายใต้แบรนด์ของบริษัท (Self-Managed) ได้แก่ SANTIBURI, SAii และ Konotta Maldives โรงแรมที่บริหารจัดการและดำเนินการเองภายใต้สัญญาแฟรนไชส์ (Self-Managed with Franchise Agreement) ผ่านแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CROSSROADS อย่าง SAii Lagoon Maldives และ Hard Rock Hotel Maldives โรงแรมที่บริหารจัดการภายใต้สัญญาบริหารจัดการโดยบุคคลภายนอก (Third-party Hotel Management Agreement) ด้วยการว่าจ้างผู้ประกอบการโรงแรมภายนอก ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้แบรนด์ Outrigger, Mercure, Castaway, The Unlimited Collection โรงแรมที่มีการดำเนินงานในลักษณะร่วมค้า เช่น SO/ MALDIVES และ Holiday Inn โดยโรงแรมส่วนใหญ่ของบริษัทจะอยู่ในระดับบน (Upper Upscale) เป็นหลัก ดังรูป อัตราการเข้าพักโรงแรมในฟิจิทะลุ 90% ส่งผลบวกต่อรายได้ รายได้จากการให้บริการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 7,745.6 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 7.2% YoY ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงบริษัทมีการปรับปรุงห้องพักให้ทันสมัยและตอบโจทย์ การกำหนดราคาตรงเป้าหมาย ทำให้โรงแรม Outrigger โรงแรมในโครงการ CROSSROADS และโรงแรมที่บริษัทบริหารเองในไทย มีรายได้เพิ่มขึ้น 45%, 8% และ 5% YoY ตามลำดับ โดยโรงแรม Outrigger ทั้งในสาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ และมอริเชียส มีอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) โตขึ้นโดดเด่น อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือน มีผลขาดทุนสุทธิ 13.4 ล้านบาท จากส่วนแบ่งขาดทุนจากกิจการร่วมค้าเป็นหลัก และผลกระทบจากการรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์ อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 6.4% YoY ส่วนหนึ่งมาจากการออกหุ้นกู้ในไตรมาส 4 ปี 2566 ผลการดำเนินงาน เติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ ภายใต้งบ 1.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนโอกาสการเติบโตผ่านการเข้าซื้อกิจการและสินทรัพย์ในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ด้วยงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกับพัฒนายกระดับแบรนด์ทราย (SAii) ในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับลักซ์ซัวรี่ และวางงบกว่า 1 พันล้านในการปรับปรุงห้องพัก ขณะที่แผน Reposition & Rebrand โรงแรมศักยภาพในสหราชอาณาจักร คาดว่าจะเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2569 ในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักที่มีให้บริการ (RevPAR) ในภาพรวมโตอยู่ที่ 5-10% YoY โดยเฉพาะในไทยที่คาดว่าจะโตระหว่าง 20-25% ท่ามกลางปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว หุ้นกู้ SHR ทริสคงอันดับอันดับเครดิตองค์กรที่ BBB+ แนวโน้มเป็น Negative ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 จากการเป็นบริษัทลูกหลักของบริษัท สิงห์ เอสเตท และมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์ของบริษัทแม่ ท่ามกลางผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้นและอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยรายวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ทริสยังคาดว่า บริษัทจะเข้าลงทุนในโรงแรมเพิ่มเติมในช่วง 2567 - 2569 ส่งผลต่อรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนแนวโน้มจาก Stable เป็น Negative เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ (S) ส่วนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ถูกจัดอันดับเครดิตที่ BBB (6 มกราคม 2568) ประวัติอันดับเครดิตองค์กร ข้อกำหนดการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน ผู้ออกหุ้นกู้จะดำรงอัตราส่วนของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity Ratio) ตามงบการเงินรวมไม่เกินกว่า 2.5 เท่า โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทดำรงอัตราส่วนนี้เท่ากับ 0.71 เท่า ส่วนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ปรับตัวดีขึ้น ณ สิ้นไตรมาส 3 มาอยู่ที่ 1.30 เท่า จาก 1.34 เท่าในปี 2566 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม Tourism & Leisure ในปี 2566 อยู่ที่ 3.09 เท่า หุ้นกู้คงค้าง บริษัทเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรกในปี 2566 ทำให้ในปัจจุบันมีหุ้นกู้คงค้างจำนวน 1 รุ่น มูลค่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือนตุลาคม 2569 และบริษัทมีเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 1,876.5 ล้านบาท เสนอขายหุ้นกู้แก่ประชาชนทั่วไป เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวน 2 ชุด เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2568 ได้แก่ ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2571 อัตราดอกเบี้ย 5.0% ต่อปี วัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อ 1) ให้บริษัทย่อยกู้ยืม นำเงินไปชำระคืนหนี้ที่มีต่อสถาบันการเงิน (มูลค่าหนี้รวม 2,835 ล้านบาท) 2) สนับสนุนการลงทุน ปรับปรุงและพัฒนาโรงแรม หรือขยายธุรกิจ 3) ใช้เป็นเงินทุนสำรองระยะสั้นในการประกอบกิจการ โดยมี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ ได้แก่ - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) - ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) - ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) - บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) - บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ปัจจัยเสี่ยง ความเสี่ยงเรื่องโครงสร้างหนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ 89% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้เป็นเงินลงทุนของบริษัทย่อย เป็นต้น โดยผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จะมีสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทที่ด้อยกว่าหนี้ที่มีลำดับได้รับชำระคืนก่อน ความเสี่ยงจากการจัดหาเงินทุนและสภาพคล่อง การจัดหาเงินทุนจากภายนอกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ผลประกอบการ ภาวะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกสูง หากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จะมีผลต่ออัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) และรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก ซึ่งส่งผลต่อผลการดำเนินงาน ดังนั้น หากความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรลดลง จะส่งผลให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือเงื่อนไขการกู้ยืมมีความยากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเลือกใช้เครื่องมือในการจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมตามสถานการณ์ ทำให้ ณ ปัจจุบัน บริษัทสามารถจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการได้ตามแผนงาน ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยผ่านการทำ IRS Hedging บนเงินกู้ยืมในสกุลดอลล่าร์สหรัฐและปอนด์ ซึ่งเป็นเงินกู้หลักของบริษัทในสัดส่วนเฉลี่ยกว่า 90% ของวงเงินกู้ยืม ความเสี่ยงจากอำนาจผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมมากว่า 50% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนรวมดังกล่าวสามารถควบคุมมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เกือบทั้งหมด รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/e6ce568b-4838-4f7e-aebe-25ed226805b5

abs

เจมาร์ท สร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้าง Synergy Ecosystem

แนวโน้มหุ้นกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ [HoonVision x FynnCorp]

แนวโน้มหุ้นกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ [HoonVision x FynnCorp]

          หุ้นวิชั่น - รายได้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เติบโตขึ้นในปีที่ผ่านมาตามอัตราค่าขนส่งและมูลค่าการส่งออกและนำเข้า ขณะที่ไทยยังเผชิญกับการขาดดุลทางการค้ามูลค่ากว่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปีก่อน โดย Freight forwarder เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามองท่ามกลางสภาวะการแข่งขันรุนแรง รวมถึงความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีห้าผู้เล่นที่จดทะเบียนใน SET ได้แก่ ANI, III, WICE, SINO และ B กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์แม้ชะลอตัวลง แต่แนวโน้มยังเติบโต           รายได้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในปี 2567 เติบโตขึ้นตามอัตราค่าขนส่งและตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่ขยายตัว 5.1% และ 5.7% YoY ในช่วง 11 เดือนแรกของปี ตามลำดับ (คิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ) ขณะเดียวกัน ไทยยังเผชิญกับการขาดดุลทางการค้ามูลค่า 6,270 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิง TPSO) โดยการส่งออกของไทยเติบโตเป็นอันดับที่ 6 ในภูมิภาคเอเชีย ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อเมริกา จีน และ ญี่ปุ่น           ในปี 2568 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) คาดรายได้ของผู้ให้บริการจะเติบโตชะลออยู่ที่ 3.4% YoY มูลค่าประมาณ 9 แสนล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจมาพร้อมการกีดกันการค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภายในประเทศเติบโตช้าลง ขณะที่อัตราค่าขนส่งเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับปี 2567 แต่จะมีโอกาสผันผวนมากขึ้น ซึ่งค่าขนส่งมีแนวโน้มทรงตัวยกเว้นค่าขนส่งทางเรือที่คาดว่าจะลดลง ส่วนต้นทุนจะลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก           โดยสภาวะการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจยังคงสูงต่อเนื่องทั้งในด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งผู้ให้บริการ Freight forwarder จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่อาจมีแนวโน้มขยายตัวและเป็นโอกาสที่ผู้ให้บริการเหล่านี้ เพิ่มคุณภาพการบริการ ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน หรือผู้ให้บริการรายเล็กอาจเล็งเห็นโอกาสในการเน้นให้บริการเฉพาะทาง (Niche services) มากขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อย่างเช่น การขนส่งสินค้าแช่เย็น (Cold chain) ยา หรือสินค้าอันตราย เป็นต้น หรือแม้แต่การกระตุ้นให้มองหาโอกาสในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่าง CLMV เปรียบเทียบหุ้นกลุ่ม TRANS: ผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้า           หุ้นขนส่งและโลจิสติกส์ (TRANS) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็นกลุ่มได้หลากหลาย อย่างเช่น กลุ่มผู้ให้บริการขนส่งสินค้า (Freight transport) กลุ่มบริการขนส่งคน ทั้งทางบก ทางอากาศ และกลุ่มผู้ให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้า (Freight forwarder) เป็นต้น ในที่นี้ เราจะกล่าวถึงกลุ่มที่เป็น Freight forwarder ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ส่งสินค้า ทำหน้าที่แทนผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในเรื่องจัดการขนส่ง เอกสาร พิธีการศุลกากร และไม่ได้มีเรือเดินทะเลหรือตู้คอนเทนเนอร์เป็นของตัวเอง แต่จะเป็นคนกลางประสานงานระหว่างผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้ขนส่ง (สายเดินเรือ สายการบิน ผู้ให้บริการรถบรรทุก) โดยผู้เล่นกลุ่มนี้ที่จดทะเบียนใน SET ได้แก่ ANI, III, WICE, SINO และ B (อ้างอิงการวิเคราะห์การจัดกลุ่มจาก SCB EIC)           ANI (Asia Network International) ถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่ม Freight forwarder ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) มากกว่า 6,200 ล้านบาท ตามมาด้วย III (Triple i Logistics) มูลค่ากว่า 4,038.8 ล้านบาท, WICE (2,333.8 ล้านบาท), SINO (842.4 ล้านบาท) และ B (565.2 ล้านบาท) ตามลำดับ (อิงข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค. 68) รายได้กลุ่ม Freight forwarder โตเฉลี่ย 44% ตามการขนส่งสินค้าทางทะเลและอากาศ           ในปี 2567 รายได้ใน 9 เดือนแรกของกลุ่ม Freight forwarder นี้ โตขึ้นเฉลี่ย 44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งมีสัดส่วนการโตมากกว่าผู้เล่นอื่นในกลุ่ม TRANS ด้วยกัน และเติบโตตามการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก           หากดูเป็นรายบริษัท จะพบว่า ANI เติบโตขึ้นเกือบ 50% YoY จากการขยายสัญญาสายการบินเพิ่มขึ้น ปริมาณการขนส่งเพิ่ม 24.5% โดยเฉพาะจากประเทศฮ่องกง จีนและเวียดนาม ส่วน III (Triple) มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เน้นการให้บริการ Multimodal Transportation (ใช้วิธีการขนส่งมากกว่าหนึ่งประเภท) เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านไปยังประเทศปลายทางด้วยการใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ท่ามกล่างการเติบโตของ e-Commerce อีกทั้ง WICE เติบโตจากรายได้ของบริการ Sea Freight (ความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเล) ที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อนกว่า 37% ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอเมริกา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ SINO ที่รายได้เพิ่มขึ้น 120% จากปริมาณความต้องการ Sea Freight สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐอเมริกาและยุโรป ผลการดำเนินงานได้รับผลจากอัตราแลกเปลี่ยนและการแข่งขันที่รุนแรง           อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะโตขึ้น แต่ผู้เล่นเหล่านี้ได้เผชิญกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับ ต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้นตามค่าขนส่ง ราคาน้ำมัน การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น รวมถึงการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโต โดยสรุปเป็นรายบริษัท ดังนี้ ANI: ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น จากการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตของสัญญาสายการบิน ประกอบกับผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน III: กำไรขั้นต้นลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางการแข่งขันสูงขึ้นในธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล WICE: ต้นทุนในการบริการเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมันสูงขึ้นในไตรมาส 3 SINO: ต้นทุนการบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่า Freight ที่สูงขึ้นและการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้บริษัทต้องรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน           จากเหตุผลข้างต้น ส่งผลให้กำไรสุทธิใน 9 เดือนแรกปี 2567 ของผู้เล่นกลุ่มนี้ ลดลงเฉลี่ย 44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน           หากดูจากอัตราส่วน ROE และ ROA ใน 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า III (Triple), WICE และ ANI มีอัตราส่วนเหล่านี้สูงเป็น 3 อันดับแรกของกลุ่ม แสดงถึงประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นและการใช้สินทรัพย์ของบริษัทในการสร้างกำไรที่ดี โดย III เป็นผู้นำทั้งด้าน ROE และ ROA สะท้อนถึงความได้เปรียบจากค่าบริการและสามารถเพิ่มรายได้จากบริการที่เน้น Multimodal Transport หรืออาจมีการควบคุมต้นทุนได้ดีเมื่อเทียบกับผู้เล่นในกลุ่ม ส่วน ANI เด่นเรื่องการใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ WICE มี ROE สูงกว่ารองลงมา           จากกราฟแสดงให้เห็น III มี Dividend Yield สูงสุด (อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล) สะท้อนการจ่ายปันผลระดับสูงกว่าคู่แข่งและหากดูจาก P/E ราคาหุ้นไม่สูงเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มองหาราคาหุ้นที่คุ้มค่าและเน้นผลตอบแทนจากปันผล ส่วน WICE มี Dividend yield สูงรองลงมา ขณะที่ P/E สูงเป็นอันดับสอง สะท้อนว่านักลงทุนอาจมองถึงการเติบโตดี พร้อมมีเงินปันผลสูง อ่านรายละเอียดเพิ่ม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/5b104f10-1620-4149-9f28-19612c68ebcc

SUPER สร้างอาณาจักรพลังงานทดแทน [HoonVision x FynnCorp]

SUPER สร้างอาณาจักรพลังงานทดแทน [HoonVision x FynnCorp]

บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) [SUPER] Key Highlights: ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยแสงอาทิตย์เป็นแหล่งรายได้หลัก บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก หรือคิดเป็น 78.4% ของรายได้รวมในปี 2566 รองลงมา คือ รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตามลำดับ กระแสเงินสดจากธุรกิจสัมปทาน โครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานรัฐ บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานรัฐบาลทั้งในไทยและเวียดนาม และมุ่งขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อสร้างกระเเสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้งมีการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน Strategic partner ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงินจน D/E ratio ลดลง อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าในไทยเติบโต กระทรวงพลังงานตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน จากการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ท่ามกลางแผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนใน PDP 2024 เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน SUPER เสนอขายหุ้นกู้ 2 ชุด เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป และ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน จองซื้อตั้งแต่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2568 แบ่งเป็น ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.25-5.50% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.75-6.00% ต่อปี ภาพรวมธุรกิจ SUPER ก่อนจะมาเป็น SUPER ในปัจจุบัน บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SUPER) เดิมใช้ชื่อ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอิฐมวลเบา และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2548 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเริ่มดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนในปี 2556 บริษัทเริ่มจากการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโครงการแรก หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง อย่างการจดทะเบียนเป็น Holding Company โดย SUPER มีรายได้หลักจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหลากหลายแห่ง อีกทั้งประกอบธุรกิจด้านการดูแลบำรุงรักษาโรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน และถือหุ้นในธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทน ด้วยแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหลัก SUPER ประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะ 2) กลุ่มผลิตและจำหน่ายน้ำดิบและน้ำประปา และ 3) กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอื่นๆ โดยธุรกิจหลัก คือ พลังงานทดแทน คิดเป็น 92.6% ของรายได้รวมทั้งหมดในปี 2566 (พลังงานแสงอาทิตย์ 78.4%, พลังงานขยะ 9.7% และ พลังงานลม 4.5%) ตามมาด้วย ธุรกิจจำหน่ายน้ำฯ คิดเป็น 2.2% และกลุ่มเทคโนโลยี 0.8% กำลังการผลิตมากกว่า 2,300 MW พร้อมสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐ บริษัทมีกำลังการผลิตทั้งหมด 2,353.8 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็นกำลังการผลิตที่เสนอขายตาม PPA (Power Purchase Agreement) ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) 1,626.1 MW จำนวน 184 โครงการ ทั้งในไทยและเวียดนาม แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายกับหน่วยงานภาครัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย: EGAT, การไฟฟ้านครหลวง: MEA, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค: PEA และการไฟฟ้าเวียดนาม: EVN) และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเอกชน (Private PPA) ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกปริมาณ 727.7 MW กลยุทธ์การเติบโต เน้นธุรกิจสัมปทาน โครงสร้างพื้นฐานกับหน่วยงานรัฐ บริษัทเน้นการขยายกำลังการผลิตจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อเร่งการโตของรายได้และสร้างกระแสเงินสดได้ต่อเนื่อง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20-25 ปี กับหน่วยงานรัฐ (ปัจจุบันอายุสัญญาคงเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 18-19 ปี) และสร้างโครงการเพื่อให้มีรายได้จากสัมปทานที่มั่นคงต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 44,500 ล้านบาท พร้อมกับสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ด้วยการมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic partner) ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ทำให้บริษัทมีกำไรพิเศษ เพื่อนำไปปรับดอกเบี้ยตามแผน ช่วยลดต้นทุนทางการเงินและนำไปลงทุนเพิ่มเติม ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 ลดลงไปอยู่ที่ 2.21 เท่า จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.80 เท่า นอกจากนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นโครงการในไทยเป็นหลัก โดยมองสัดส่วนรายได้ในอนาคตเป็นไทย 70% และเวียดนาม 30% Industry Analysis: ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในไทย การใช้ไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว ในปี 2566 กระทรวงพลังงานรายงาน การใช้ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 203,923 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เพิ่มขึ้น 3.4% YoY และใน 9 เดือนแรกของปี 2567 การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.1% YoY อยู่ที่ 163,311 GWh จากภาคอุตสาหกรรม (41%) ครัวเรือน (29%) และธุรกิจ (25%) โดยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 9.1% YoY และ 7.5% YoY ตามลำดับ การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวมถึงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 การผลิตพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 223,295 GWh เพิ่มขึ้น 3.5% YoY โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนการผลิตคิดเป็น 58% และ 10% ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน น้ำมัน พลังน้ำ และไฟฟ้านำเข้า มีปริมาณลดลง ส่วนใน 9M2567 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.6% YoY มาอยู่ที่ 180,438 GWh กระทรวงพลังงานตั้งเป้าใน PDP 2024 เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยคาร์บอน ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) ซึ่งอยู่ในระหว่างการนำเสนอร่าง โดยวางแผนเร่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จากเดิมที่จะเข้าระบบทั้งหมด 24,000 MW หลังปี 2573 เป็นให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ 10,000 MW แรกภายในปี 2573 และส่วนที่เหลือเข้าระบบหลังปี 2573 เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายของ COP26 ที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 รวมทั้งพิจารณาถึงเป้าหมาย 40% ของแผนในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (NDC) (อ้างอิงข่าวสารจากกระทรวงพลังงาน ณ วันที่ 17 มิ.ย. 67) พลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเติบโตโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และลม ด้วยแรงสนับสนุนจาก Private และ Public PPA โดยเฉพาะในกลุ่มนอกระบบที่มีการขยายตัวมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตตามแผน PDP 2024 และการเข้าสู่ Net Zero ของไทย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะเวียดนาม มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมากด้วยสภาพภูมิประเทศและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงไทยที่มีสภาพที่เหมาะในการติดตั้ง Wind Turbine Power ที่จะผลิตไฟฟ้าได้อีกจำนวนมาก ดังนั้น เรามองว่ากลุ่มธุรกิจของ SUPER ที่เน้นพลังงานแสงอาทิตย์และยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม รวมถึงโครงการที่กำลังก่อสร้าง จะมีโอกาสเติบโตไปได้อีกในอนาคต Financial Performance: ผลการดำเนินงาน รายได้จากการขายและให้บริการในภาพรวม 9M2567 ลดลงเล็กน้อย ขณะที่รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มพลังงานการผลิตของโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจรที่จังหวัดหนองคาย และมีการปรับขึ้นของค่าไฟพื้นฐาน (FT) ตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ รายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ได้รับผลกระทบจากการจำหน่ายหุ้นกลุ่มบริษัทย่อยภายใต้ Sunflower สัดส่วน 90% ทำให้สถานะเปลี่ยนจากบริษัทย่อย เป็นบริษัทร่วม อีกทั้ง รายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม ประสบกับค่าความเข้มแสงลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาพอากาศและฤดูกาลของประเทศเวียดนาม ส่วนโครงการพลังงานลมที่เวียดนาม ได้รับผลจากสภาพอากาศและความเร็วลมเฉลี่ยลดลงกว่าปีก่อน กำไรสุทธิใน 9M2567 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาอยู่ที่ 2,060.72 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยเป็นจำนวน 2,256.02 ล้านบาท (Sunflower และ SEE1) รายได้จากการขายและให้บริการ หุ้นกู้ SUPER ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ SUPER ที่ระดับ BBB ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable และ SUPER ได้รับอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน อยู่ที่ BBB- จากสินทรัพย์ในการผลิตไฟฟ้าของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และกระจายตัวดี ด้วยโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วมากกว่า 100 แห่งในสถานที่ตั้งหลากหลาย รวมถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและหน่วยงานภาครัฐของไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามพร้อมกับภาระดอกเบี้ยในระดับสูงทำให้เป็นปัจจัยกดอันดับเครดิตของทริส ประวัติอันดับเครดิต การดำรงอัตราส่วนทางการเงิน บริษัทในฐานะผู้ออกหุ้นกู้มีหน้าที่ดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) ตามข้อกำหนดสิทธิ ไม่เกิน 3:1 ณ วันที่ 31 ธันวาคมในแต่ละปี โดย ณ 30 กันยายน 2567 บริษัทดำรงอัตราส่วนนี้ เท่ากับ 1.99 เท่า ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 2.48 เท่า จากการจ่ายชำระคืนเงินกู้และภาระหนี้ของกลุ่ม Sunflower ที่ไม่ได้ถูกนำมารวมแล้ว หุ้นกู้คงค้างของบริษัท (Outstanding bonds) ปัจจุบันเหลืออยู่ทั้งหมด 5 รุ่น รวมมูลค่าประมาณ 6,160 ล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่ง SUPER ออกหุ้นกู้มาแล้วทั้งหมด 15 รุ่น ตั้งแต่ปี 2560 และไม่เคยมีประวัติการเลื่อนหรือผิดนัดชำระหุ้นกู้ ซึ่งจากรูปด้านล่างแสดงมูลค่าหุ้นกู้เทียบกับเงินสด ณ สิ้นไตรมาส หุ้นกู้เสนอขายใหม่ 2 ชุดแก่ประชาชนและผู้ลงทุนสถาบัน เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน แบ่งเป็น ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 อัตราดอกเบี้ย 5.25% - 5.50% ต่อปี และชุดที่ 2 อายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 อัตราดอกเบี้ย 5.75 - 6.00% ต่อปี โดยวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อ 1) ชำระคืนหุ้นกู้ SUPER252A ที่จะครบกำหนดเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีมูลค่า 800 ล้านบาท 2) เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นที่มีกับสถาบันการเงินที่จะครบกำหนดเดือนเมษายน 2568 และ 3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น ปัจจัยเสี่ยง การลงทุนโครงการใหม่ในอนาคต บริษัทมีแผนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือ ผลประกอบการไม่เป็นตามที่คาด อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้ การเป็น Holding Company เนื่องจากรายได้หลักของบริษัท มาจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม ทำให้เงินที่จะนำมาใช้ชำระคืนหนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการประกอบธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเป็นหลัก ไม่ได้มาจากธุรกิจของตนเอง Roller Risk จากการที่บริษัทมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตหลายโครงการ ทำให้บริษัทต้องจัดเตรียมกระแสเงินสดไว้เพื่อเสริมสภาพคล่องช่วง 1-3 ปีข้างหน้า จากภายในกิจการและการกู้ยืมสถาบันการเงิน บริษัทจึงจำเป็นต้องออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด (Roll over) รายละเอียดเพิมเติม https://app.visible.vc/shared-update/e0a84481-50c4-4c94-9273-4068f726e482

วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]

วิเคราะห์ผู้เล่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์: HANA [HoonVision x FynCorp]

เซมิคอนดักเตอร์ในไทย เริ่มก้าวสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ           หากพูดถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ คงหนีไม่พ้น เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผงวงจรควบคุมและประมวลผลข้อมูลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิด ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่ถูกคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ตามความต้องการใช้ AI, Data Center, IoT, EV, เครื่องมือแพทย์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบหลัก           หากดูจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในส่วนกลางน้ำ (Midstream) และปลายน้ำ (Downstream) ซึ่งจะเป็นขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนประกอบ (components) และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (finished goods) เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) โดยในปี 2566 BOI รายงาน ไทยมียอดส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.5 ล้านล้านบาท หรือ 25% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเป็นมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มูลค่า 5.1 แสนล้านบาท           นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากในไทยช่วง 2 ปีมานี้ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ไต้หวัน และญี่ป่น จนในปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศ นโยบายสส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ           บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าดึงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (2568-2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในภูมิภาค ซึ่งในเดือนธันวาคม 2567 บริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ ภายใต้กลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของ Foxconn เข้ามาตั้งฐานการผลิตแห่งที่ 4 ของโลกในไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท โดยตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอมตะซิตี้ ระยอง ซึ่งบริษัทมีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา           ดังนั้น การที่ FITI เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย จะเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) และจะเป็นโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่ดีของผู้เล่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยได้ อีกทั้ง ในปี 2567 นี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง HANA ได้มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิป (Wafer Fabrication) แห่งแรกในไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดสำคัญที่ไทยจะเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ HANA: 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก           บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA) ซึ่งบริษัทแม่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 และได้เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทและบริษัทย่อยให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Electronics Manufacturing Service: EMS) แก่ลูกค้า (Original Equipment Manufacturer: OEM) ผ่านฐานการผลิตรวมทั้งสิ้น 7 แห่ง ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย จีน สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และเกาหลี ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของ HANA แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตและประกอบแผงวงจร “PCBA” การผลิตและประกอบและทดสอบวงจร “IC” และการผลิตและประกอบ RFID และ Liquid Crystal on Silicon “LCOS”           1) ผลิตภัณฑ์ประเภทแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA) - Printed Circuit Board Assembly Source: 56-1 One Report 2566           PCBA เป็นการประกอบแผงวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ลงบนแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ที่เป็นฐานสำหรับยึดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมต่อวงจรให้แผ่นวงจรไฟฟ้าให้สามารถทำงานได้ โดย HANA มีโรงงานผลิต PCBA 3 แห่ง อยู่ที่จังหวัดลำพูน ประเทศไทย ที่เมืองเจียซิง ประเทศจีน และจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา 2) ผลิตและทดสอบการทำงานของผลิตภัณฑ์แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC Assembly) Source: 56-1 One Report 2566           แผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC) คือ สารกึ่งตัวนำที่ประกอบด้วยส่วนประกอบวงจร เช่น ตัวต้านทาน (Resistor) ตัวเก็บประจุตัวเหนี่ยวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด เป็นต้น ซึ่งเชื่อมต่อด้วยสายไฟวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการพัฒนาขนาดที่เล็กลง โดยโรงงานประกอบ IC ของบริษัทมี 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย เมืองเจียซิง ประเทศจีน และที่จังหวัดชุงชองบุกโด ประเทศเกาหลีใต้ 3) การผลิตและประกอบ RFID Source: 56-1 One Report 2566           RFID หรือ Radio Frequency Identification คือ อุปกรณ์แสดงตำแหน่งหรือระบุตัวตน ด้วยการอ่านรหัสคลื่นวิทยุ ใช้สำหรับรับส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วแบบไร้สาย ส่วน Microdisplay เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสัญญาณทางไฟฟ้าเป็นสัญญาณภาพที่มีความละเอียดสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ LCoS (Liquid Crystal on Silicon) อุปกรณ์ MEMS หรือ HTP (High-Temperature Polysilicon) ซึ่งใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ เช่น แว่นตาแสดงภาพเหมือน (Virtual and Augmented Reality Goggles) เครื่องฉายภาพ (Multimedia Projector) เป็นต้น โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ เมืองทวินส์เบิร์กและโซลอน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา โครงสร้างรายได้           บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ PCBA เป็นหลัก คิดเป็น 61% ของรายได้จากการขายทั้งหมดในปี 2566 ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ IC Assembly หรือ 33% ส่วน RFID & Microdisplay มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 6% ซึ่งแบ่งรายได้ตามประเทศที่ตั้งหน่วยการผลิตได้ตามรูปด้านล่าง Source: 56-1 One Report 2566 สภาพตลาดและการแข่งขัน           HANA ถือว่าเป็น 1 ใน 50 บริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ซึ่งมีเพียงไม่กี่ผู้เล่นในไทยที่ทำธุรกิจเช่นนี้ แต่ถ้าดูผู้เล่นในไทยที่ผลิต PCBA จะเป็น SMT, Benchmark, Fabrinet และ SVI ส่วนคู่แข่งในด้าน IC Assembly ได้แก่ UTAC และ SMT ขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่นอกประเทศที่ให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร อย่างเช่น IMI, Flextronics, Solectron, Plexus และ Pemstar นี้ บริษัทหลีกเลี่ยงที่จะแข่งขันโดยตรง โดยเน้นการรับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทไมโครอิเล็กทรอนิกส์ การร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. ลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในไทยภายใน 2 ปี ยังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์           บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. มีแผนร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตชิปชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) แห่งแรกของไทย (Wafer Fabrication) ภายใต้ บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1) ภายหลังที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจาก BOI ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และออกบัตรส่งเสริมในเดือนสิงหาคม 2567 โดยโรงงานจะถูกก่อสร้างในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน ด้วยระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร 2 ปีโดยประมาณ และคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาสแรก ปี 2570 Source: 56-1 One Report 2566           บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด มีแผนลงทุนกว่า 11,500 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชิปต้นน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นชิป (Wafer) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ มีคุณสมบัติแตกต่างจากชิปทั่วไปที่ผลิตจากซิลิคอน ตรงที่มีความสามารถทนไฟขั้นสูงสามารถแปลงแรงดันไฟฟ้ากำลังสูง เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานในวงกว้างตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน อุปกรณ์ Cloud Computing อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้า EV/OBC รวมทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทำให้ SiC มีความยากในการผลิตและต้นทุนสูง           อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความต้องการในอุตสาหกรรม (FT1 Business Demand) ที่ชะลอตัวลงในปัจจุบัน ทำให้บริษัทยังคงจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 ถึงความเหมาะสมที่จะตัดสินใจลงทุน ระยะเวลาเริ่ม รวมถึงมูลค่าเงินที่จะลงทุนในโครงการ Risk Factors ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ราคาขายและอุปสงค์ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลกที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามการค้า ภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย สภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะถดถอยและปัญหาพลังงาน           อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านนี้ โดยการรักษาฐานลูกค้าและกระจายการผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และจากนโยบายการค้าของสหรัฐที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบทางธุรกิจสำหรับโรงงานผลิตในจีน บริษัทจึงปรับกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นลูกค้าในจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ สงครามการค้าอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้โรงงานในประเทศที่เหลือของบริษัท ความเสี่ยงของระบบห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสามารถเกิดขึ้นได้อีกโดยเฉพาะจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานโลกมีความซับซ้อนและบูรณาการมากขึ้น ทำให้บริษัทมีการประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์ในส่วนวัตถุดิบและชิ้นส่วนหลักในการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่ค้าที่เป็นพันธมิตร ความเสี่ยงของฐานลูกค้ารายใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงหลักที่กลุ่มฐานลูกค้ารายใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ การเปลี่ยนเจ้าของกิจการหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงโดยมีสัดส่วนสินค้าที่ผลิต กระจายตัวอยู่ในตลาดที่หลากหลายในอุตสาหกรรมและมีสัดส่วนการกระจายการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ด้วยการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุดมียอดขายไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดขายกลุ่มบริษัท หุ้น HANA           หุ้น HANA มี Market Cap อยู่ที่ 21,514.41 ล้านบาท (อิงข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 67) หรือเป็นอันดับที่ 4 ให้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลต่อต้นทุนเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลง รวมถึงการตั้งด้อยค่าสินค้าคงคลัง ขณะที่ความต้องการใน SiC ยังคงอ่อนตัวลงและราคาลดลงจากการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ชะลอตัว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาษี EV ที่กระทบต่อการผลิตที่ตลาดจีน           อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 ปี 2567 หน่วยงานพาวเวอร์ มาสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ในเกาหลีใต้ (PMS) และหน่วยงานฮานา เทคโนโลยี (HTI) ในสหรัฐอเมริกามียอดขายเพิ่มขึ้น 40% YoY และ 20% YoY ตามลำดับ Unit: THB Million           ในด้านเงินปันผล บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลตั้งแต่ 30% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวมหลังหักเงินสำรองต่างๆทุกประเภท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการลงทุนและกระแสเงินสด โดยล่าสุด (13 ธันวาคม 67) บริษัทได้จ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.25 บาทต่อหุ้น (DPS) ซึ่งมูลค่าที่ลดลงอาจเกิดจากการวางแผนเก็บเงินสดไว้ลงทุน อย่างเช่นการสร้างโรงงาน หรือเน้นการเติบโตในระยะยาวมากกว่า รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/8ebd9f84-5a2d-47c2-a2c5-068bd4084898

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

เทียบ 2 หุ้นวัสดุก่อสร้าง: HMPRO และ GLOBAL [HoonVision x FynnCorp]

เทียบ 2 หุ้นวัสดุก่อสร้าง: HMPRO และ GLOBAL [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: แนวโน้มการเติบโตของตลาดวัสดุก่อสร้างดีขึ้น ตามดีมานต์ทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชน ส่งผลดีต่อผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มอย่าง HMPRO และ GLOBAL ด้วยจำนวนสาขากว่า 133 แห่ง และ 127 แห่งทั้งในและต่างประเทศ ตามลำดับ HMPRO ชูกลยุทธ์ปรับ Product Mix และขยายสาขาในประเทศ ซึ่งเน้นเป็นสาขาตามจังหวัดใหญ่ พร้อมกับการเพิ่มยอดขายสินค้าอัตรากำไรสูงอย่าง Private Brand เพื่อเพิ่มกำไร โดย HMPRO เจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย เน้นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน GLOBAL มุ่งขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมสินค้าหลากหลายสำหรับงานก่อสร้าง โดย GLOBAL เน้นการขายสินค้าวัสดุก่อสร้างให้แก่กลุ่มผู้รับเหมา ซึ่งมีสาขากระจายไปทุกภูมิภาค รวมถึงมีการขยายสาขาไปในประเทศเพื่อนบ้าน กลยุทธ์ที่แตกต่างตามเป้าหมายของการลงทุนที่ต่างกัน HMPRO เน้นการจ่ายปันผลอัตราสูงและผลตอบเเทนที่สม่ำเสมอ ส่วน GLOBAL เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่มองหาการเติบโตของมูลค่าหุ้นในระยะยาว รองรับศักยภาพในอนาคตผ่านการขยายธุรกิจ ตลาดวัสดุก่อสร้างแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากงานลงทุนภาครัฐและเอกชนเริ่มฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ           แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ตลาดวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอการเปิดโครงการใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดจากสถาบันการเงินซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงการหดตัวของการลงทุนภาครัฐจากความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ในช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องการรีโนเวตเพื่อเร่งยอดขาย ท่ามกลางทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเงินลงทุนในปีงบประมาณ 2568 ที่เพิ่มขึ้น เกิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 หมื่นบาทและแจกเงินเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งดีมานต์จากทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ ลูกค้ารายย่อย ถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในประเทศอย่าง HomePro และ Global HMPRO: หนึ่งในผู้นำธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับบ้านภายใต้ One Stop Shopping Home Center           บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2544 ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “HMPRO” โดยประกอบธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายสินค้าในกลุ่ม Hard Line อย่าง วัสดุก่อสร้าง สี อุปกรณ์ปรับปรุงบ้าน ห้องน้ำ และ สุขภัณฑ์ เครื่องครัว อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่ม Soft Line อย่าง สินค้าประเภทเครื่องนอน พรม ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ สินค้าตกแต่ง และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อีกทั้งมีบริการเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีก (Home Service) อย่าง การติดตั้งก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคาร บ้าน และที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร (One Stop Shopping Home Center) ครอบคลุมถึงบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน (Emergency Service) 24 ชั่วโมง           นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจให้บริการพื้นที่เพื่อร้านค้าเช่า มีการจัดสรรพื้นที่และพัฒนาเป็น “มาร์เก็ต วิลเลจ” (Market Village) ผู้เช่าส่วนใหญ่ ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ธนาคาร ร้านหนังสือ ร้านสินค้าไอที เป็นต้น ปัจจุบัน บริษัทมีสาขาในรูปแบบ “มาร์เก็ต วิลเลจ” ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ หัวหิน ภูเก็ต (ฉลอง) ราชพฤกษ์ และรังสิตคลอง 4 ลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าต่างกันของ HomePro และ Mega Home           ในส่วนธุรกิจค้าปลีก บริษัทใช้ชื่อทางการค้า "โฮมโปร" (HomePro) และ “เมกาโฮม” (Mega Home) โดย Mega Home เป็นแบรนด์ที่เน้นการค้าส่งสินค้าวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เครื่องใช้ภายในบ้าน เจาะกลุ่มช่างก่อสร้างและผู้รับเหมา เจ้าของโครงการอสังหาฯ ครอบคลุมในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ HomePro เป็นกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน ที่เน้นการค้าปลีกในกลุ่มลูกค้าผู้อยู่อาศัย           หากแบ่งตาม 3 Business Units พบว่าโฮมโปรมีสัดส่วนรายได้มากที่สุด คิดเป็น 79% ของรายได้ทั้งหมด ตามด้วย เมกาโฮม 18% และหากแบ่งตามรายได้ของกลุ่มสินค้าและบริการพบว่า รายได้จากกลุ่มสินค้า Hard Line มีสัดส่วนมากสุด หรือ 62.1% ของรายได้รวมปี 2566 ตามมาด้วย สินค้ากลุ่ม Soft Line 13.2% และรายได้อื่นๆ ซึ่งรวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าสนับสนุนการขาย สัดส่วน 6.2% ส่วนรายได้จากบริการ Home Service คิดเป็น 1.1% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือจะเป็นรายได้จากบริษัทย่อย           บริษัทมีช่องทางการจัดจำหน่าย (Offline) ทั้งหมด 133 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ได้แก่ 1) HomePro ในประเทศไทย 92 สาขา 2) HomePros ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าจำนวน 5 สาขา 3) Mega Home 29 สาขา 4) HomePro ที่ประเทศมาเลเซีย 7 สาขา           และช่องทางการขาย Online ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท และ Market place เช่น Shopee Lazada TikTok กลยุทธ์การเติบโตผ่าน Private Brands และการขยายสาขา           บริษัทมีการพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองหลากหลาย (Private Brand) ครอบคลุมทั้งสินค้ากลุ่ม Hard Line และ Soft Line ซึ่งมีอัตราการทำกำไรที่ดีเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไปอยู่ที่ 10% - 15% โดยสัดส่วนยอดขายของ Private Brand ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ของโฮมโปร อยู่ที่ 20.8% และเมกาโฮมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 21.1% จากเป้าที่วางไว้ 21%           บริษัทมีแผนการขยายสาขา ซึ่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีการขยายไปแล้ว 3 สาขาในรูปแบบ Hybrid (การเปิดโฮมโปรและเมกาโฮมในพื้นที่เดียวกัน) ที่ระยองและหนองคาย และในไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทมีแผนจะขยายอีก 4 สาขา ได้แก่ โฮมโปรแบบ Hybrid 1 สาขา และ standalone 2 สาขา รวมถึง เมกาโฮมอีก 1 สาขา (Hybrid) ทำให้สิ้นปี 2567 บริษัทจะมีสาขาทั้งหมด 137 สาขา GLOBAL: ศูนย์รวมวัดสุก่อสร้างและตกแต่งบ้านครบวงจรรายใหญ่ในประเทศ           บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2538 โดยโกลบอลเฮ้าส์สาขาแรกตั้งอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในปี 2540 และได้ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จนเสนอหุ้นไอพีโอในปี 2552 ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ "GLOBAL" เพื่อประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ในงานก่อสร้าง ต่อเติม ตกแต่ง บ้านและสวน ภายในอาคารหลังเดียวขนาดใหญ่ลักษณะเป็นแวร์เฮ้าส์สโตร์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “โกลบอลเฮ้าส์” (Global House)           กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Global คือ กลุ่มลูกค้าเจ้าของบ้าน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ช่าง ผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็ก ร้านค้าวัสดุก่อสร้างขนาดเล็ก ไปจนถึงโครงการก่อสร้างและที่พักอาศัย โดยสินค้าที่จัดจำหน่ายมีมากกว่า 300,000 รายการ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) ประเภทวัสดุก่อสร้าง สำหรับงานด้านโครงสร้าง (ปูนซีเมนต์ เหล็ก ตะปู หลังคา อุปกรณ์ติดตั้ง ท่อน้ำ ปั๊มน้ำ งานเกษตรและตกแต่งสวน) 2) ประเภทวัสดุตกแต่ง สำหรับงานตกแต่งอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ ประตู หน้าต่าง วัสดุปูพื้น เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า กลุ่มสี เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เป็น House Brand ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทมากกว่า 10,000 รายการ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้าระดับเดียวกันในท้องตลาด           โดยกลุ่มสินค้าทั้ง 2 ประเภทหลัก มีสัดส่วนรายได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งกลุ่มวัสดุตกแต่งคิดเป็น 49.02% ของรายได้รวมปี 2566 ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สร้างรายได้ 47.74% ที่เหลือจะเป็นรายได้อื่น (รายได้บริการขนส่ง ค่าเช่ารับ ดอกเบี้ยรับ) และรายได้จากบริษัทย่อย คิดเป็น 1.79% และ 1.45% ตามลำดับ กลยุทธ์การเติบโตผ่านการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสินค้าที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่           ปัจจุบัน บริษัทมีสาขาทั้งหมด 90 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้มีการขยายสาขาไปทั้งหมด 7 แห่งในปี 2567 กระจายตามจังหวัดต่างๆ และวางแผนจะขยายในปี 2568 อีก 11 สาขา เพื่อให้เกิน 100 สาขาทั่วประเทศ ตามเป้าที่เคยกำหนดไว้ โดยมีที่ดินที่รองรับไว้แล้วในภาคต่างๆ มากกว่า 15 แปลง นอกจากนั้น ยังได้มีการขยายสาขาในต่างประเทศ โดยบริษัทมีสาขาในประเทศพม่า 12 สาขา อินโดนีเซีย 15 สาขา กัมพูชา 2 สาขา และลาว 8 สาขา เปรียบเทียบ HMPRO และ GLOBAL           ในหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง HMPRO และ GLOBAL ถือเป็นสองผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่ม ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) กว่า 127,500 ล้านบาท และ 82,700 ล้านบาทในปัจจุบัน ตามลำดับ แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน แต่ทั้งสองบริษัทมีการเจาะกลุ่มลูกค้าต่างกัน: HMPRO เน้นการเจาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเจ้าของที่อยู่อาศัยในเขตเมือง เน้นงานตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงมีบริการครบวงจร (Home Service) ส่วน GLOBAL เน้นกลุ่มลูกค้าช่างและผู้รับเหมาในระดับภูมิภาค ในพื้นที่ชานเมืองและหัวเมืองใหญ่ สินค้าจะเป็นวัสดุก่อสร้างเป็นหลักแบบครบวงจรในราคาที่คุ้มค่า           โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ผลการดำเนินงานทั้งสองบริษัท ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และการเข้าสู่ฤดูฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายในสาขาลดลง จนส่งผลต่อยอดขายที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า           ในด้านสินค้าคงคลัง HMPRO มีอัตราการหมุนเวียนสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover Ratio) ที่สูงกว่า เนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นจำหน่ายสินค้าที่สอดคล้องกับเทรนด์การตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตามความนิยมและเทคโนโลยี ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มักมีรอบชีวิตที่สั้นและต้องหมุนเวียนเร็วเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและหลีกเลี่ยงสินค้าล้าสมัย ซึ่งแตกต่างจาก GLOBAL ที่เน้นสินค้าก่อสร้างพื้นฐานที่มีอายุการใช้งานยาวและไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ จึงสะท้อนการมี Turnover ที่ต่ำกว่า HMPRO สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในกลยุทธ์และประเภทสินค้าที่จำหน่ายระหว่างสองบริษัท           ในด้านของเงินปันผล HMPRO มีอัตราส่วนการจ่ายปันผล (Dividend Payout Ratio) อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงถึงนโยบายที่มุ่งเน้นการคืนกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก และมีการตอบแทนผู้ถือหุ้นผ่านเงินปันผลได้ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นจุดดึงดูดสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง ขณะที่ GLOBAL มีการจ่ายปันผลที่ต่ำกว่า สะท้อนว่าบริษัทอาจเลือกเก็บกำไรไว้สำหรับการลงทุนและการขยายธุรกิจในอนาคต           นอกจากนั้น ราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 พบว่า HMPRO อยู่ที่ 19.77 เท่า ขณะที่ GLOBAL อยู่ที่ 34.27 เท่า ดังนั้น หากพิจารณาแล้ว หุ้น HMPRO จะโดดเด่นด้านการจ่ายปันผลในระดับสูง เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอและผลตอบแทนที่มั่นคงต่อเนื่อง ขณะที่ หุ้น GLOBAL เป็นหุ้นที่ถูกมองว่าอาจมีโอกาสในการเติบโตได้ในอนาคต จากการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ จึงสะท้อนผ่าน P/E ที่สูงกว่า ประกอบกับ แนวโน้มการจ่ายปันผลที่มากขึ้น อาจสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ https://app.visible.vc/shared-update/682ea04f-47fe-4be6-8c34-a5a44dec5bbd

GRAMMY & RS: การปรับโฉมธุรกิจบันเทิงสู่โอกาสการเติบโตใหม่ [HoonVision x FynnCorp]

GRAMMY & RS: การปรับโฉมธุรกิจบันเทิงสู่โอกาสการเติบโตใหม่ [HoonVision x FynnCorp]

          GRAMMY & RS: การปรับโฉมธุรกิจบันเทิงสู่โอกาสการเติบโตใหม่           Key Highlights การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัว อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งจากกระแสดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง อาทิ อีคอมเมิร์ซและสุขภาพ ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง GRAMMY และ RS จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน GRAMMY ปรับโฉมจากธุรกิจเพลงสู่การเป็นบริษัทบันเทิงครบวงจร มุ่งเน้นการเติบโตในด้านคอนเทนต์ดิจิทัล การจัดคอนเสิร์ต และการผลิตภาพยนตร์ โดยอาศัยจุดแข็งจากคลังเพลงมากกว่า 40,000 เพลงและการสร้างพันธมิตรในแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างการเติบโตระยะยาว RS ก้าวสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซและความงาม ผ่านแบรนด์ Well U และ Lifestar พร้อมขยายช่องทางอีคอมเมิร์ซผ่าน RS Mall รุกตลาด CLMV และเปิดตัวผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง สะท้อนความสามารถในการขยายธุรกิจในตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง การพลิกโฉมธุรกิจสร้างโอกาสการลงทุนที่น่าจับตา GRAMMY และ RS แสดงให้เห็นศักยภาพการเติบโตผ่านกลยุทธ์ที่แตกต่าง แม้ยังเผชิญความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ สำหรับ GRAMMY คำแนะนำคือ "ถือ" (Hold) เนื่องจาก Forward P/E ที่ 22 เท่าอยู่ในกรอบที่เหมาะสม (20-22 เท่า) แต่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนศักยภาพการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ ส่วน RS อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นฟูธุรกิจคอมเมิร์ซและขยายตลาดสุขภาพและสัตว์เลี้ยง คำแนะนำคือ "รอดู" (Wait and See) เพื่อติดตามผลลัพธ์จากกลยุทธ์ใหม่และความสามารถในการสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต           วิวัฒนาการของธุรกิจบันเทิงไทย: เมื่อค่ายเพลงปรับตัวสู่ธุรกิจที่มากกว่าดนตรี อุตสาหกรรมดนตรีโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านจากยุคสื่อกายภาพสู่ยุคดิจิทัลได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างรายได้และรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ แม้ตลาดดนตรีดิจิทัลในประเทศไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยมูลค่าถึง 1.9 พันล้านบาทในปี 2566 แต่การแข่งขันที่เข้มข้นและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องแสวงหาแนวทางใหม่เพื่อสร้างการเติบโตและความยั่งยืนทางธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีดิจิทัลได้สั่นคลอนโมเดลธุรกิจดนตรีแบบดั้งเดิม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวทั้งในมิติการสร้างสรรค์เนื้อหา การจัดจำหน่าย และการสร้างรายได้ ขณะเดียวกัน การเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลก็ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ในการเข้าถึงผู้ฟังและเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพย์สินทางปัญญาด้านดนตรี ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนากลยุทธ์ที่ผสานความสมดุลระหว่างการรักษาธุรกิจหลักและการแสวงหาโอกาสเติบโตในรูปแบบใหม่ ในบริบทของไทย บริษัทบันเทิงชั้นนำได้รับมือกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) และ อาร์เอส (RS) ที่เลือกเส้นทางแตกต่างกันในการพัฒนาธุรกิจ ในขณะที่บริษัทหนึ่งมุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจดนตรีผ่านการปรับโครงสร้างและขยายช่องทางดิจิทัล อีกบริษัทหนึ่งใช้ความเชี่ยวชาญด้านความบันเทิงเป็นสะพานสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง กลยุทธ์การปรับตัวของทั้งสององค์กรอาจสร้างโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในตลาดทุนไทย หากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจประสบความสำเร็จ ด้วยฐานทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่งและความพยายามในการสร้างกระแสรายได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งจากการปรับธุรกิจดนตรีให้เข้ากับยุคดิจิทัลและการขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งสององค์กรอาจสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจในระยะยาวหากการปรับโมเดลธุรกิจเป็นไปตามแผน การติดตามความคืบหน้าในการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจของทั้งสององค์กรจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินโอกาสการลงทุนในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้           วิเคราะห์ธุรกิจจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY): 40 ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านจากค่ายเพลงสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจบันเทิง           จุดเริ่มต้นและการเติบโตของธุรกิจ GRAMMY บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 โดยคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ภายใต้ชื่อ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เริ่มต้นจากการเป็นค่ายเพลงที่ผลิตผลงานเพลงไทยสากลและบริหารศิลปินชั้นนำในประเทศ บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2545 และในช่วงระหว่างปี 2530-2545 ถือเป็นยุครุ่งเรืองที่ GRAMMY มีรายได้หลักจากการจำหน่ายเทปและซีดี (70% ของรายได้รวม) ด้วยยอดขายเฉลี่ย 20-30 ล้านชิ้นต่อปี อัลบั้มยอดนิยมสามารถทำยอดขายได้ถึง 1-2 ล้านชิ้น รายได้เพิ่มเติมมาจากคอนเสิร์ตและอีเวนต์ (20%) และลิขสิทธิ์ (10%) อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะการเติบโตของสตรีมมิ่งและการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ยอดขายสื่อกายภาพลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2550 บริษัทจึงเริ่มปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจโดยขยายสู่ธุรกิจโทรทัศน์และภาพยนตร์ จนถึงปี 2555 สัดส่วนรายได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ รายได้จากธุรกิจเพลงลดลงเหลือ 45% ขณะที่ธุรกิจสื่อและความบันเทิงเติบโตเป็น 40% และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อยู่ที่ 15%           การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญและธุรกิจในปัจจุบัน           ตั้งแต่ปี 2557 GRAMMY ได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลและโฮมช้อปปิ้ง (O Shopping) ซึ่งช่วยกระจายรายได้และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจเพลงเพียงอย่างเดียว ปี 2560 สัดส่วนรายได้ของบริษัทเปลี่ยนเป็น ธุรกิจเพลง 35% สื่อและความบันเทิง 35% โฮมช้อปปิ้ง 20% และภาพยนตร์ 10% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2566 เมื่อ GRAMMY ตัดสินใจแยกธุรกิจเพลงออกมาภายใต้บริษัทใหม่ "GMM Music Co., Ltd." ซึ่งได้รับการจัดตั้งเพื่อมุ่งเน้นการบริหารธุรกิจเพลงอย่างครบวงจร รวมถึงเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ของ GMM Music เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพในการเติบโต           ปัจจุบัน ธุรกิจของ GRAMMY แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก โดยมีสัดส่วนรายได้ในไตรมาส 1/2567 ดังนี้: ธุรกิจเพลงและบริหารศิลปิน (69% ของรายได้): ผลิตและจำหน่ายเพลงดิจิทัล บริหารลิขสิทธิ์เพลงและศิลปิน จัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี เช่น "Rock Mountain 2024" และ "90's Forever Concert" ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง (21%): ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม O Shopping ที่เน้นสินค้ากลุ่มสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจภาพยนตร์ (4%): ผ่านแบรนด์ GDH ซึ่งสร้างภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธุรกิจอื่นๆ (6%): เช่นธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ผลิตคอนเทนต์สำหรับทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่าง ช่อง GMM25           การปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ทางธุรกิจของ GRAMMY สะท้อนถึงความจำเป็นในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมดนตรี จากค่ายเพลงที่พึ่งพารายได้จากการขายสื่อกายภาพเป็นหลัก สู่การเป็นบริษัทบันเทิงที่มีรายได้หลากหลายและมีความยืดหยุ่นสูง การปรับตัวครั้งสำคัญในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการขยายสู่ธุรกิจสื่อ การลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือการแยกธุรกิจเพลงออกมาเป็นบริษัทเฉพาะ ล้วนเป็นการวางรากฐานเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว           ผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจต่อผลประกอบการและฐานะการเงินของ GRAMMY ณ ปัจจุบัน           GRAMMY ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคอนเทนต์ดิจิทัล ลิขสิทธิ์เพลง และคอนเสิร์ต ผลประกอบการในปี 2564-2566 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 4,215 ล้านบาทในปี 2564 เป็น 5,988 ล้านบาทในปี 2566 (+42%) โดยรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 48.38% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 39.34% ในปี 2566 เนื่องจากต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายบริหารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 126.85 ล้านบาท           ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 GRAMMY มีรายได้รวม 4,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 4,159 ล้านบาท (+7%) โดยได้รับแรงหนุนจากการจัดคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีมากขึ้น เช่น Rock Mountain Music Festival ที่พัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ และคอนเสิร์ตใหญ่ เช่น PALMY Universe Concert นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ GDH สองเรื่องยังประสบความสำเร็จอย่างมากในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ ช่วยสนับสนุนรายได้และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบันเทิง           GRAMMY ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันผ่านธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น คอนเทนต์ดิจิทัล คอนเสิร์ต และภาพยนตร์ การจัดการต้นทุนและการขยายตัวในธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว           โอกาสการเติบโตของ GRAMMY           การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของ GRAMMY ได้สร้างปัจจัยการเติบโตใหม่ที่สำคัญให้กับบริษัท โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจและการกระจายแหล่งรายได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสใหม่ในยุคดิจิทัล ปัจจุบัน GRAMMY ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยการเติบโตที่ช่วยผลักดันรายได้และกำไรของบริษัท: การเติบโตของรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงดิจิทัลและคอนเทนต์ ธุรกิจลิขสิทธิ์เพลงและคอนเทนต์ดิจิทัลของ GRAMMY เติบโตแข็งแกร่งจากการขยายตัวของตลาดสตรีมมิ่งที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปีในช่วง 2564-2566 บริษัทมีคลังเพลงขนาดใหญ่กว่า 40,000 เพลงและการผลิตเพลงใหม่กว่า 200 เพลงต่อปี รายได้จากลิขสิทธิ์เพลงดิจิทัลเติบโต 35% ในปี 2566 และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากการขยายความร่วมมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลก เช่น Spotify และ YouTube Music การฟื้นตัวของธุรกิจจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นหลังการเปิดประเทศ ในปี 2566 GRAMMY จัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ 15 งาน สร้างรายได้รวม 850 ล้านบาท เติบโต 120% จากปีก่อน และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 45% ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าจัดคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 25 งาน โดยรวมถึงการร่วมงานกับศิลปินต่างประเทศและการขยายตลาดไปยัง CLMV เพื่อเพิ่มฐานผู้ชมและรายได้ การเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์ผ่าน GDH GDH ประสบความสำเร็จในการผลิตภาพยนตร์คุณภาพสูงที่สร้างรายได้เฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อเรื่อง สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 80 ล้านบาท บริษัทวางแผนเพิ่มการผลิตภาพยนตร์เป็น 4-5 เรื่องต่อปีในปี 2567-2568 และขยายการผลิตซีรีส์สำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 50% พร้อมทั้งเพิ่มความหลากหลายในเนื้อหาเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น โอกาสการเติบโตจาก O Shopping ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งของ GRAMMY มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการขยายฐานลูกค้าออนไลน์ ยอดขายออนไลน์เติบโต 45% ในปี 2566 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 35% ของรายได้รวม บริษัทตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งยอดขายออนไลน์เป็น 50% ภายในปี 2568 ผ่านการลงทุนในแอปพลิเคชัน ระบบโลจิสติกส์ และการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพและอัตรากำไร GRAMMY มีแผนเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจาก 40% เป็น 45% ภายในปี 2568 โดยการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง เช่น ลิขสิทธิ์ดิจิทัลและคอนเทนต์ พร้อมทั้งควบคุมต้นทุนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในไตรมาส 1/2567 อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 41% ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์นี้และแนวโน้มที่แข็งแกร่งในอนาคต           ความเสี่ยงหลักของ GRAMMY           แม้ว่า GRAMMY จะมีการปรับตัวเชิงกลยุทธ์และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่แข็งแกร่ง แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงจากการแข่งขันในธุรกิจคอนเทนต์และสื่อดิจิทัล การแข่งขันในตลาดคอนเทนต์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการลงทุนของแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น Netflix, Disney+, และ Prime Video ซึ่งลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทในปี 2566 เพื่อผลิตคอนเทนต์ไทย เพิ่มขึ้น 85% จากปีก่อน การแข่งขันนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีอำนาจต่อรองที่สูง ทำให้ส่วนแบ่งรายได้ต่อคอนเทนต์ที่ GRAMMY ได้รับลดลงในบางกรณี ซึ่งอาจกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยี พฤติกรรมการบริโภคสื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่ใช้เวลามากขึ้นกับ Short-form Content เช่น TikTok และ Reels ในปี 2566 เวลาการใช้งาน Short-form Content เพิ่มขึ้น 45% ขณะที่การรับชมทีวีดิจิทัลลดลง 15% ส่งผลกระทบต่อรายได้โฆษณาของ GMM25 ที่ลดลง 12% ในปี 2566 นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI เช่น Generative AI อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตคอนเทนต์ ทำให้ต้นทุนลดลงแต่ยังต้องปรับตัวให้ทันกับมาตรฐานคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีใหม่อาจลดความเกี่ยวข้องของ GRAMMY ในตลาดได้ ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง (O Shopping) แม้ O Shopping เป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญของ GRAMMY (คิดเป็น 21% ของรายได้รวม) แต่ธุรกิจนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ เช่น Shopee และ Lazada ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน โลจิสติกส์ และเครือข่ายลูกค้า ในปี 2566 ส่วนแบ่งตลาดของ O Shopping ลดลงจาก 8% เป็น 6% และอัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 35% เป็น 32% การแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดและการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่อีคอมเมิร์ซอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจนี้ และสร้างความผันผวนต่อรายได้รวมของ GRAMMY            วิเคราะห์ธุรกิจอาร์เอส (RS): จากรากฐานธุรกิจเพลงสู่ผู้นำด้านคอมเมิร์ซและสุขภาพ           จุดเริ่มต้นและโครงสร้างธุรกิจเดิมของ RS           บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เริ่มต้นในปี 2519 โดยคุณเกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ในชื่อ "Rose Sound" และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546 บริษัทเริ่มต้นในฐานะค่ายเพลงที่มีจุดเด่นจากกลุ่มศิลปินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยสากล ลูกทุ่ง หรือเพลงวัยรุ่น โดยในช่วงปี 2535-2545 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของธุรกิจเพลง RS สร้างรายได้หลักจากการจำหน่ายเทปและซีดี คิดเป็น 80% ของรายได้รวม โดยมีการขายเฉลี่ย 15-20 ล้านชิ้นต่อปี รายได้ที่เหลือมาจากคอนเสิร์ตและอีเวนต์ (15%) และลิขสิทธิ์ (5%) อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2550 ยอดขายสื่อกายภาพเริ่มลดลงจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้ช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้ RS ขยายสู่ธุรกิจสื่อ เช่น การผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสื่อเป็น 45% ในปี 2553 ขณะที่ธุรกิจเพลงลดลงเหลือ 50% และรายได้อื่นๆ อยู่ที่ 5% การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบัน           ปี 2557 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับ RS โดยบริษัทได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสำหรับช่อง 8 และเริ่มต้นธุรกิจคอมเมิร์ซผ่าน RS Mall โดยนำเสนอสินค้าแบบโฮมช้อปปิ้งผ่านช่องทางโทรทัศน์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ในปี 2560 สัดส่วนรายได้จากคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 40% สื่อ 45% และธุรกิจเพลงลดลงเหลือเพียง 15%           ในปี 2563 RS ได้ขยายตัวเข้าสู่ตลาดสุขภาพและความงาม ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ Well U และการเข้าซื้อกิจการ Lifestar เพื่อตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภคด้านสุขภาพ การขยายตัวนี้ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัท และในปี 2566 สัดส่วนรายได้ของ RS เปลี่ยนไปดังนี้: คอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (39%): ธุรกิจนี้ครอบคลุม RS Mall, Well U, และ Lifestar โดยเน้นโมเดล "Star Commerce" ซึ่งใช้ดาราและอินฟลูเอนเซอร์ร่วมในการขาย สื่อและความบันเทิง (45%): รวมรายได้จากช่อง 8 และ COOLanything ซึ่งยังคงสร้างความนิยมด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ธุรกิจเพลง (16%): ยังคงมีรายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์เพลง การจัดคอนเสิร์ต และผลิตคอนเทนต์           การปรับโมเดลธุรกิจของ RS จากค่ายเพลงสู่ผู้นำด้านคอมเมิร์ซและสุขภาพ สะท้อนวิสัยทัศน์ในการมองเห็นโอกาสและความกล้าในการเปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าและความเชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์ ผสานกับการจับเทรนด์สุขภาพ ทำให้ RS สามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา           ผลของการปรับโครงสร้างธุรกิจต่อผลประกอบการและฐานะการเงินของ RS ณ ปัจจุบัน           RS ได้เปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจจากค่ายเพลงและสื่อบันเทิงสู่การเป็นบริษัทที่มีความหลากหลายในธุรกิจคอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผลประกอบการในช่วงปี 2564–2566 แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน แม้รายได้รวมจะทรงตัวในปี 2564 และ 2565 ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,650 ล้านบาทในปี 2566 (+3.3%) โดยรายได้จากการให้บริการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง (+22%) ขณะที่รายได้จากการขายสินค้าลดลง (-16.4%) อัตรากำไรขั้นต้นในช่วงดังกล่าวคงที่เฉลี่ย 49% สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนในธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจคอมเมิร์ซที่มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ของรายได้รวมในปี 2566 นอกจากนี้ การขายสินทรัพย์สำคัญ เช่น ลิขสิทธิ์เพลงในปี 2566 ช่วยเสริมสถานะการเงิน โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 1,393 ล้านบาทในปีนั้น เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 139 ล้านบาทในปี 2565 แม้รายได้หลักยังไม่สม่ำเสมอ           ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 RS มีรายได้รวม 2,116 ล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากความต้องการที่ชะลอตัวในช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่บริษัทอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากบางธุรกิจ โดยเฉพาะรายได้จาก Online Channel ที่เติบโตถึง 79.1% ในไตรมาส 2/2567 เมื่อเทียบกับปีก่อน และธุรกิจสินค้าสัตว์เลี้ยงที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2566 ก็แสดงพลวัตการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยขยายตัว 49.1% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน           เฉลี่ย 12% ต่อปี RS มีความได้เปรียบจากฐานข้อมูลลูกค้าที่ 45% ของลูกค้า RS Mall มีสัตว์เลี้ยง แม้ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่สม่ำเสมอ แต่การขยายธุรกิจของ RS ไปสู่ตลาดใหม่ที่อยู่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญเดิมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว การเติบโตของธุรกิจสุขภาพและสินค้าสัตว์เลี้ยงสร้างกระแสลมหนุนที่สำคัญให้กับบริษัท ขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น ศิลปินและความเชี่ยวชาญด้านความบันเทิง อาจช่วยผลักดันการเติบโตในธุรกิจคอมเมิร์ซได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น RS ยังคงอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอนาคต           โอกาสการเติบโตของ RS           การปรับโมเดลธุรกิจของ RS จากค่ายเพลงสู่การเป็นผู้นำด้านคอมเมิร์ซและสุขภาพ ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในหลายมิติ กลยุทธ์สำคัญ เช่น การขยายตัวในตลาดสุขภาพและความงาม การพัฒนาช่องทางคอมเมิร์ซที่ทันสมัย และการรุกตลาดต่างประเทศ ช่วยให้ RS สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่มั่นคงและมีศักยภาพต่อการเติบโตในระยะยาว การขยายตัวของธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ธุรกิจ Well U และ Lifestar ของ RS เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยรายได้เพิ่มขึ้น 85% ในปี 2566 ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 65% บริษัทมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่กว่า 15 รายการในปี 2567 โดยเน้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงามระดับพรีเมียมที่ครอบคลุมตลาดสุขภาพมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี RS ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 5% เป็น 10% ภายในปี 2568 พร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเฉพาะบุคคล (personalized health solutions) การพัฒนา RS Mall เป็นแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซครบวงจร RS Mall กำลังพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซแบบ O2O (Online-to-Offline) ที่เน้นประสบการณ์ลูกค้า ปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ซื้อซ้ำ 1.8 ล้านราย (เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2565) และยอดซื้อเฉลี่ยต่อรายการ 2,500 บาท บริษัทลงทุน 500 ล้านบาทในระบบ Data Analytics และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขาย การจัดการสินค้าคงคลัง และสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 3 ล้านรายภายในปี 2568 การรุกตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง RS เตรียมเปิดตัว LIFESTAR PET ในครึ่งหลังของปี 2567 เจาะตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดนี้มีมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทและเติบโตและใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าลูกค้าทั่วไป 35% ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะสูงถึง 55-60% บริษัทตั้งเป้าสร้างรายได้จาก LIFESTAR PET ที่ 500 ล้านบาทในปี 2568 การขยายสู่ตลาดต่างประเทศใน CLMV RS เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม Well U และ Lifestar ไปยังเวียดนามในไตรมาส 2/2567 ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่ารวม 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปี บริษัทมีแผนขยายการส่งออกไปยังลาว กัมพูชา และเมียนมาในปีถัดไป ตั้งเป้ารายได้จากตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้านบาทภายในปี 2568 การพัฒนาช่องทาง Social Commerce และ Live Commerce RS กำลังเร่งขยายช่องทางการขายผ่าน Social Commerce ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี บริษัทใช้ทีม KOL และ Live Commerce กว่า 500 คน ซึ่งสร้างยอดขายเฉลี่ย 150 ล้านบาทต่อเดือนในไตรมาส 1/2567 (เพิ่มขึ้น 85% จากปีก่อน) ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จาก Social Commerce ให้คิดเป็น 30% ของรายได้คอมเมิร์ซทั้งหมดภายในปี 2568 โดยใช้ระบบ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและปรับปรุงกลยุทธ์การขาย           ความเสี่ยงหลักของ RS           การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของ RS จากค่ายเพลงสู่ผู้นำในธุรกิจคอมเมิร์ซและสุขภาพ แม้จะสร้างโอกาสการเติบโตที่สำคัญ แต่ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาธุรกิจหลักและการแข่งขันในตลาดที่เติบโตเร็ว กลยุทธ์การกระจายธุรกิจที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทีวีช้อปปิ้ง และ Social Commerce ทำให้ RS ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่ต้องจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตในระยะยาว ความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจสุขภาพและความงามในสัดส่วนที่สูง RS มีรายได้กว่า 60% มาจากผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ซึ่งอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยในปี 2566 มีแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 200 แบรนด์ รวมถึงบริษัทข้ามชาติที่มีทรัพยากรและช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เช่น Unilever และ P&G การแข่งขันที่รุนแรงนี้อาจส่งผลให้ RS สูญเสียส่วนแบ่งตลาดหรือจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งอาจกระทบต่ออัตรากำไรและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท หาก RS ไม่สามารถปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้ ความเสี่ยงจากการพึ่งพาช่องทางการขายที่มีข้อจำกัดด้านการเติบโต แม้ RS จะขยายสู่การขายออนไลน์และ Social Commerce แต่บริษัทยังคงพึ่งพารายได้จากทีวีช้อปปิ้งและช่อง 8 ถึง 45% ซึ่งผู้ชมทีวีดิจิทัลลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 15% ต่อปี และอายุเฉลี่ยของผู้ชมเพิ่มขึ้นเป็น 45 ปี พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้ช่องทางทีวีมีข้อจำกัดในการเข้าถึงลูกค้าใหม่ RS จำเป็นต้องเร่งขยายช่องทางการขายที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์ม E-commerce และ Live Commerce เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจลดลงจากทีวี ความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและมาตรฐานการกำกับดูแล ธุรกิจของ RS ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและทีวีช้อปปิ้ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวด โดยในปี 2566 การกำกับดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดย อย. เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโฆษณาเพิ่มขึ้น 25% และระยะเวลาอนุมัติยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการควบคุมทีวีช้อปปิ้งโดย กสทช. ที่อาจจำกัดรูปแบบการขายหรือเพิ่มข้อกำหนดที่ซับซ้อน การปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่อาจเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานและลดความยืดหยุ่นของบริษัท           สรุปเปรียบเทียบ RS และ GRAMMY หลังจากการวิเคราะห์เชิงลึกของทั้ง RS และ GRAMMY สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเส้นทางการเติบโตที่แตกต่างกันของทั้งสองบริษัท แม้ทั้งคู่จะเริ่มต้นจากธุรกิจเพลง แต่ RS ได้เลือกที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซและสุขภาพ ในขณะที่ GRAMMY ยังคงขยายธุรกิจในวงการบันเทิงและภาพยนตร์           คำแนะนำการลงทุนใน GRAMMY และ RS           จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY):           จากมุมมองพื้นฐาน GRAMMY มีศักยภาพในการเติบโตจากการใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพย์สินในอุตสาหกรรมเพลงขยายเข้าสู่ธุรกิจสื่ออื่น ๆ เช่น ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และการจัดแสดงโชว์ การขยายตัวนี้เสริมด้วยการเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มและผู้เล่นระดับโลกที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงและสร้างรายได้ใหม่ ความแข็งแกร่งของแบรนด์และคลังเพลงกว่า 40,000 เพลงยังเป็นตัวสนับสนุนที่สำคัญต่อการเติบโตในธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดคอนเทนต์และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงเป็นความท้าทาย ค่าเฉลี่ย P/E ของอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 15-25 เท่า ซึ่งระดับ P/E ที่ 20-22 เท่าสำหรับ GRAMMY สะท้อนถึงทั้งโอกาสและความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม           ปัจจุบัน GRAMMY มี Forward P/E อยู่ที่ 22 เท่า ซึ่งอยู่ในช่วงที่เหมาะสมที่ประเมินไว้ (20-22 เท่า) แต่ราคาหุ้นปัจจุบันยังไม่ดึงดูดเพียงพอเมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโตในระยะยาว จึงแนะนำ “ถือ” (Hold) และรอให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงก่อนเพื่อเพิ่มส่วนต่างการลงทุน นักลงทุนควรติดตามผลการดำเนินงานในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสื่อดิจิทัลอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความคืบหน้าและศักยภาพที่แท้จริงในอนาคต           อาร์เอส (RS):           RS มีศักยภาพในการเติบโตจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่ตลาดสุขภาพและความงาม รวมถึงการขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่าน RS Mall และช่องทาง Social Commerce ที่สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลและทรัพย์สินในธุรกิจบันเทิงมาช่วยเสริมความได้เปรียบ กลยุทธ์นี้ช่วยสร้างความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสในการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มสุขภาพและความงาม รวมถึงธุรกิจสัตว์เลี้ยงที่มีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มตลาดที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม การพลิกฟื้นธุรกิจคอมเมิร์ซยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมยังต้องติดตามต่อไป           แม้ว่า RS จะมีโอกาสที่ชัดเจนจากแรงหนุนในธุรกิจสุขภาพและสัตว์เลี้ยง แต่การพลิกโฉมธุรกิจคอมเมิร์ซยังไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ คำแนะนำการลงทุนในขณะนี้คือ “รอดู” (Wait and See) โดยให้นักลงทุนเฝ้าติดตามความคืบหน้าในธุรกิจคอมเมิร์ซ รวมถึงการบริหารต้นทุนและความสามารถในการสร้างรายได้จากกลยุทธ์ใหม่ หากบริษัทสามารถแสดงความก้าวหน้าที่ชัดเจนได้ในอนาคต อาจเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนในระยะยาว Pornbhuda Rijiravanich | Analyst, Managing Director

SORKON พลิกกลับมามีกำไรในรอบ 10 ไตรมาส [HoonVision x Fynncorp]

SORKON พลิกกลับมามีกำไรในรอบ 10 ไตรมาส [HoonVision x Fynncorp]

          บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) [Ticker: SORKON] Key Highlights : หนึ่งในผู้นำอาหารไทยมายาวนานกว่า 40 ปี SORKON ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ภายใต้แบรนด์ ได้แก่ 1) ส. ขอนแก่น 2) หมูดี 3) บ้านไผ่ 4) หมูแชมป์ 5) ห้วยแก้ว 6) แบรนด์กันเอง 7) อองเทร่ กลุ่มขนมขบเคี้ยวสายสุขภาพ โปรตีนล้วน 8) ยูนนานและ ส. ขอนแก่น เป็นกลุ่มสินค้าพร้อมปรุงและรับประทาน และอาหารทะเลแปรรูป ภายใต้แบรนด์ แต้จิ๋ว มหาชัย ไทเป และอื่นๆ รายได้และกำไรพลิกกลับมาดีขึ้นในรอบ 10 ไตรมาส ด้วยรายได้รวมไตรมาส 2 เติบโต 11.17% YoY จากการที่มีผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารจนเกิดเป็นเทรนในโลกออนไลน์ ส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์จนของขาดตลาด นอกจากนี้ แม้ว่าธุรกิจอาหารแปรรูปจะมีการแข่งขันสูงทั้งจากผู้เล่นรายใหญ่และ SMEs ที่มีจำนวนมากและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า แต่ ส. ขอนแก่น มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมานานในเรื่องคุณภาพสินค้าด้วย Market share กว่า 80% ในช่องทาง Modern Trade ของกลุ่มสินค้าสด ซึ่งเป็นสินค้าหลัก โอกาสการเติบโตอีกมากทั้งในและต่างประเทศ จากจุดกระจายสินค้ามากกว่า 20,000 จุดทั่วประเทศ สู่การขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Product เดิม Market ใหม่ และ Product ใหม่ Market เดิม พร้อมกับเพิ่มช่องทางการขาย Modern Trade ผ่าน distributor รายใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญกลุ่ม snacks และตีตลาดต่างประเทศ ผ่านตัวแทนจำหน่ายและฐานการผลิตในอเมริกาจากข้อจำกัดด้านการนำเข้าเนื้อสุกรและ ในจีนซึ่งเป็นประเทศที่มี potential มีกลุ่มลูกค้าหลักที่ชื่นชอบสินค้าเป็นทุนเดิม คาดการเติบโตของรายได้และกำไรในปี 2567 - 2568 เราประเมินรายได้รวมในปี 2567 และ 2568 เติบโต 6.1% YoY และ 12.1% YoY ตามลำดับ ด้วยกำไรสุทธิคาดการณ์ในปี 67 สูงขึ้น 1.07 เท่า จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 1.0% YoY ในปี 68 จากแผนขยายช่องทางจำหน่ายฝั่ง General Trade รวมทั้งการนำสินค้าใหม่ไปใน Modern Trade มากขึ้น ในปี 67 ไปจนถึงการเริ่มรับรู้รายได้จากฐานการผลิตที่อเมริกาและจีนในปี 68 และการตั้งเป้าขยายสัดส่วนรายได้จากแต่ละช่องทางการขายให้มีความสมดุลกันมากขึ้นในอนาคต เราประเมินราคาเป้าหมายของ SORKON อยู่ที่ 4.87 บาท อิงจาก EPS ของปี 2567F ที่ 0.32 บาทต่อหุ้น โดยใช้ P/E ที่ 15.37x ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของ Trailing P/E ตั้งแต่ปี 2562-2565 ทั้งนี้ เราไม่ได้นำค่า P/E ในปี 2566 มารวมในการคำนวณค่าเฉลี่ย เนื่องจากผลการดำเนินงานปี 2566 มีความผันผวนสูง ส่งผลต่อค่า EPS ที่ค่อนข้างเหวี่ยงเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ อันเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาสุกร Company Profile           หนึ่งในผู้นำอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ของไทยมายาวนานกว่า 40 ปี           บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในปี 2527 โดยคุณ เจริญ รุจิราโสภณ และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537 ประกอบธุรกิจ 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ 2) อาหารทะเลแปรรูป 3) ร้านอาหาร Quick Service Restaurant (QSR) 4) ฟาร์มสุกร และอื่นๆ           โดยบริษัทมีรายได้จากในประเทศคิดเป็น 90% ของรายได้จากการขาย และอีก 5% จากการส่งออกไปในประเทศฮ่องกง กัมพูชา สปป. ลาว โดยฮ่องกงเป็นประเทศส่งออกหลัก และกิจการต่างประเทศ ซึ่งรายได้จากการขายสินค้าอาหารแปรรูปทั้ง 2 กลุ่มในปัจจุบัน มาจากช่องทางการขาย Modern Trade 65%, General Trade 28%, Export 5% และอื่นๆ จากจุดเริ่มต้นสู่การยกระดับมาตรฐานอาหารพื้นบ้าน           จุดเริ่มต้นของธุรกิจ มาจากการที่คุณเจริญสังเกตว่าคนกรุงเทพจำนวนหนึ่งนิยมบริโภคอาหารประเภทหมูหยอง หมูแผ่น และกุนเชียง จึงเกิดไอเดียนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากขอนแก่นมาจำหน่ายที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อตรา ส. ขอนแก่น หรือ สินค้าจากจังหวัดขอนแก่น ต่อมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งและควบคุมคุณภาพ ได้มีการก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเหล่านี้จำหน่ายเอง จากนั้นได้เริ่มขยายฐานลูกค้าไปในต่างประเทศด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรไปฮ่องกงเป็นประเทศแรก และในปี 2538 ได้ตัดสินใจขยายธุรกิจเกษตรเต็มรูปแบบด้วยการมีฟาร์มสุกร ต่อมาได้เข้าสู่ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน ธุรกิจร้านอาหาร Quick Service Restaurant (QSR) ตามลำดับ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ (Integrated Supply Chain) Financial Performance           รายได้รวมในปี 2566 ลดลง 2.6% YoY มาอยู่ที่ 3,132.3 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายของธุรกิจฟาร์มสุกรลดลง 31.8% YoY จากภาวะราคาสุกรตกต่ำมากที่สุดซึ่งได้รับผลมาจากการลักลอบนำสุกรมาจำหน่ายในราคาถูก ตามมาด้วยรายได้จากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและอาหารทะเลแปรรูปลดลง 7.4% และ 3.9% YoY ขณะที่กลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกร ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่สร้างรายได้มากกว่า 50% ในแต่ละปี มีรายได้โตจากปีก่อน 4.8% YoY และมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะช่องทางร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการวางสินค้าใหม่ได้ตามแผน ส่วนรายได้จากการให้เช่าและบริการอยู่ที่ 12.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 19.8% YoY           รายได้ภาพรวมใน 6 เดือนแรกของปี 67 ขยายตัว 3.1% YoY อยู่ที่ 1,623.8 ล้านบาทแบ่งเป็นรายได้จากการขายจำนวน 1,595.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% YoY โดยยอดขายที่สร้างรายได้หลักมาจากกลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกร คิดเป็น 55.8% ของรายได้จากการขาย รองลงมาเป็นกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป คิดเป็นยอดขาย 32.6% ซึ่งทั้งสองกลุ่มธุรกิจหลักนี้ มีการเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ 4.5% และ 4.4% ตามลำดับ เป็นผลมาจากเทรนด์ของผู้บริโภคที่ได้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปประกอบอาหารในรูปแบบเมนูใหม่ๆ จนเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ส่งผลดีต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจากการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป (กลุ่มสินค้าพร้อมรับประทาน) ผ่าน Modern trade และเพิ่มช่องทางการส่งออก ขณะที่ธุรกิจฟาร์มสุกรยังคงรายได้ลดลง 10.9% YoY เนื่องจากราคาเนื้อสุกรมีราคาต่ำลงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนฝั่งรายได้จากค่าเช่าและบริการ อยู่ที่ 8.8 ล้านบาท ขยายตัว 43.8% YoY แม้ผลการดำเนินงานปี 66 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แต่พลิกกลับมาดีขึ้นมากช่วง 1H67           กำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาลดลงจากปัจจัยหลัก คือ ราคาสุกรลดลง ทำให้เกิดขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ (สุกร) และรายได้จากธุรกิจฟาร์มสุกรลดลงไป รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้นจากการเตรียมคนเพื่อขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิ (NPM) ลดลงจาก 3.03% ในปี 2565 เป็น 1.61% ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 67 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 59.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 1.46 เท่าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย และราคาเนื้อสุกรซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีราคาต่ำลง อีกทั้ง บริษัทมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารดีขึ้น จนทำให้กำไรขั้นต้นสูงขึ้น โดย GPM ใน 2Q67 ปรับตัวขึ้นเป็น 26.2% จาก 22.48% ใน 2Q66 ซึ่งส่งผลต่อกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามมาอย่างเห็นได้ชัด คาดรายได้โต 6-12% ต่อปี หนุนกำไรปี 67-68 ทะลุ 100 ล้านบาท จากการขยายช่องทางขายและธุรกิจต่างประเทศ           เราคาดการณ์กำไรสุทธิในปี 67 อยู่ที่ 104.1 ล้านบาท โตขึ้น 1.07 เท่าจากปีก่อน และในปี 68 กำไรคาดการณ์อยู่ที่ 105.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% YoY จากรายได้รวมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.1% และ 12.1% YoY ตามลำดับ           รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเพิ่มช่องทางการขายของสินค้าแปรรูปทั้ง 2 กลุ่มหลักและแผนการขยายสาขาร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจฟาร์ม ดังนี้ สินค้าแปรรูปจากเนื้อสุกร มีแผนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน General trade มากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือที่ขยายไปแล้วกว่า 1,600 จุด รวมถึงช่องทางตลาดสดอีกเกือบ 500 จุด ซึ่งได้เริ่มขยายมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 จนถึงตุลาคมปีนี้ นอกจากนั้น มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็น Ready-to-Eat ในช่องทาง Modern Trade เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่องทางนี้มากขึ้น รวมถึงการ Collaboration ระหว่างสินค้าขนมอองเทร่กับ venom ออกรสชาติพร้อม Packaging ใหม่เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น สินค้าอาหารทะเลแปรรูป ที่ปัจจุบันได้มีการขยายช่องทางการจำหน่ายในกลุ่มสินค้าพร้อมรับประทานผ่าน Modern Trade และเพิ่มช่องทางการส่งออก ธุรกิจร้านอาหาร (QSR) จากยอดขายที่ดีขึ้น บริษัทจึงมีแผนการขยายร้าน Zaap Classic ที่คาดว่าจะเปิดอีกประมาณ 2 สาขาในปีนี้ และ 3-5 สาขาในปี 2568 ธุรกิจฟาร์มสุกร บริษัทได้เน้นไปที่หมูขุนเพื่อให้สามารถขายในจำนวนกิโลกรัมที่สูงขึ้นมากกว่าการจำหน่ายลูกหมู ประกอบกับราคาสุกรที่เริ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ส่งผลต่อรายได้ของฟาร์มสูงขึ้น           นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ และพยายามวางรากฐานภายในปี 2567 โดยการหา Distributor เพื่อนำสินค้าในต่างประเทศเข้าสู่ช่องทางที่เป็น Food service มากขึ้น ควบคู่กับช่องทางออนไลน์รวมถึงสินค้าใหม่ เจาะกลุ่มประเทศที่มีการบริโภค Hot pot สูง อย่างเช่น จีน เกาหลี และการเปิดฐานการผลิตในอเมริกาและจีน ซึ่งในอเมริกาได้มีการ Soft launch ไปแล้วในเดือนตุลาคม 2567 และในจีนอยู่ในกระบวนการสร้างโรงงาน โดยบริษัทคาดว่าจากฐานการผลิตทั้ง 2 จะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568 เป็นต้นไป           ส่วนของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อ Net Profit Margin ที่มากขึ้นจากปี 2566 มาจากปัจจัยที่ราคาสุกรเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้จากฟาร์มสุกรโตขึ้นจากการคาดการณ์ที่ 5.2% YoY ในปี 2567 รวมถึงส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนร่วมค้าที่ลดลง ขณะที่ตัวต้นทุนจากการขายมีสัดส่วนต่อรายได้รวมที่ค่อนข้างคงที่ อ่านรายละเอียดเพิ่ม ที่ https://bit.ly/IAS_SORKON_011124

abs

SSP : ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกใหม่เพื่ออนาคต

คัด 3 หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มธุรกิจที่เติบโต [HoonVision x FynnCorp]

คัด 3 หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มธุรกิจที่เติบโต [HoonVision x FynnCorp]

          ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญกับโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจเป็นพิเศษ การแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้เป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการลดดอกเบี้ยเช่นกัน แต่เงินบาทยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางนโยบายการเงินโลกที่ซับซ้อน           ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเช่นนี้ นักลงทุนควรจับตามองหุ้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบริษัทที่มีปัจจัยหนุนด้านธุรกิจแข็งแกร่งในช่วงปลายปีและต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยเสริมแรงบวกจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น SYNEX, AAV และ GULF เป็นหุ้นสามตัวที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าและแนวโน้มธุรกิจที่เติบโตในไตรมาสสุดท้ายของปี รวมถึงมีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต 1) SYNEX: ผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้า IT ที่พร้อมจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง SYNEX ผู้นำในการจัดจำหน่ายสินค้า IT ในไทย มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าซึ่งช่วยลดต้นทุนนำเข้าและเพิ่มอัตรากำไร ประกอบกับการเติบโตของตลาด IT จากเทรนด์การทำงานที่บ้านและเรียนออนไลน์ บริษัทมีโอกาสเติบโตทั้งยอดขายและกำไร โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่มีเทศกาลช้อปปิ้งและแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ในปี ภาพรวมธุรกิจ บริษัท ซินเน็ค จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วง ซอฟต์แวร์ ระบบสารสนเทศ และอุปกรณ์สื่อสาร บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตมากกว่า 50 แบรนด์จากต่างประเทศ ตั้งแต่ Apple, Huawei, Nintendo และ Samsung SYNEX มีฐานลูกค้าเป็นผู้ประกอบการประมาณ 5,000 ราย ประกอบไปด้วยผู้วางระบบซอฟต์แวร์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกทั่วประเทศ โดย SYNEX มีช่องทางการจำหน่ายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และให้บริการจัดส่งสินค้าและบริการหลังการขาย บริษัทมีรายได้รวมในปี 2566 และช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 36,000 ล้านบาท และ 18,000 ล้านบาทตามลำดับ โดยปกติแล้ว จะมีสัดส่วนรายได้จากการขายอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ หรือ ระบบไอที มากกว่า 99% ของรายได้ทั้งหมด แผนภูมิแสดงรายละเอียดรายได้และค่าใช้จ่ายของ SYNEX ในปี 2023 โดยมีรายได้หลักจากการขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอที มากถึง 36.47 พันล้านบาท คิดเป็น 99.7% ของรายได้ทั้งหมด สัดส่วนของรายได้แยกตามหมวดของสินค้า โดยมีเปอร์เซ็นต์ของช่วงครึ่งปีแรกของ 2024 เป็นสัดส่วนที่อยู่วงนอก ต้นทุนหลักของ SYNEX คือต้นทุนขายสินค้า ซึ่งคิดเป็นประมาณ 93% ของรายได้ เมื่อแบ่งลงไปอีก จะแยกเป็นการจัดซื้อสินค้า 69% จากผู้ผลิตต่างประเทศที่มีฐานการผลิตในไทย และนำเข้า 31% จากผู้ผลิตในต่างประเทศโดยตรง ในด้านการบริหารสินค้าคงคลัง SYNEX ใช้ระบบการสั่งซื้อตามความถี่การขาย โดยสั่งซื้อสินค้าที่มียอดขายสูงอย่างสม่ำเสมอ และสั่งซื้อล่วงหน้าสำหรับสินค้าโครงการหรือสินค้าที่มีระยะเวลาการส่งมอบนานโดยทั่วไป บริษัทได้รับเครดิตเทอม 30-60 วันจากผู้ผลิตในประเทศ และ 30-45 วันจากผู้ผลิตต่างประเทศ ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อเงินบาทแข็งค่า ราคาหุ้นของ SYNEX ก็มักจะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย กราฟนี้แสดงให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาท (USD/THB ลดลง) มักสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น SYNEX FynnCorp IAS มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลดีโดยตรงต่อ SYNEX เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า IT จากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 31% ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ เหตุใด SYNEX จึงน่าลงทุน? ผลประโยชน์จากเงินบาทแข็งและการเติบโตของตลาด IT: SYNEX ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดลงของต้นทุนนำเข้าเมื่อเงินบาทแข็งค่า ในขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้า IT ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเทรนด์การทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ ทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตทั้งในด้านยอดขายและอัตรากำไร โอกาสจากยอดขายพุ่งในไตรมาส 4 และการเปิดตัวสินค้าใหม่: ช่วงเทศกาลช้อปปิ้งปลายปีมักส่งผลให้ยอดขายของ SYNEX เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับแผนการเปิดตัวสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตรุ่นใหม่ในไตรมาส 4 ปี 2567 จะเป็นตัวเร่งสำคัญในการเติบโตของรายได้ ปัจจัยเสี่ยง การแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี: ตลาด IT มีการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว SYNEX ต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันและบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าล้าสมัย ภาวะเศรษฐกิจและการพึ่งพาซัพพลายเออร์: ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่การพึ่งพาซัพพลายเออร์รายใหญ่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความต่อเนื่องของธุรกิจหากเกิดปัญหากับซัพพลายเออร์หลัก 2) AAV: โอกาสจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและเงินบาทแข็งค่า AAV ผู้นำสายการบินต้นทุนต่ำในไทย มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเงินบาทแข็งค่าซึ่งช่วยลดต้นทุนดำเนินงานที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ เช่น ค่าเช่าเครื่องบินและค่าบำรุงรักษา บริษัทมีโอกาสเติบโตจากแผนขยายเส้นทางบินใหม่ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มียอดจองสูง และการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ภาพรวมธุรกิจ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เป็นบริษัทแม่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำชั้นนำในประเทศไทยที่ให้บริการทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2023 AAV มีรายได้จากการดำเนินงานเที่ยวบินหลักอยู่ที่ 41 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% จากปี 2022 สะท้อนถึงความสำเร็จในการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินและการขยายเส้นทางบินใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดการบิน โดยรายได้จากเที่ยวบินภายในประเทศคิดเป็น 60% และระหว่างประเทศคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด ภาพแสดงการกระจายรายได้และค่าใช้จ่ายของ AAV ในปี 2023 โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานเที่ยวบิน (41.03 พันล้านบาท) ในปี 2566 ต้นทุนหลักของ AAV ประกอบด้วย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคิดเป็น 37% ของต้นทุนรวม และยังเป็นต้นทุนที่มีความผันผวนสูงตามราคาน้ำมันโลก นอกจากนี้ยังมี ค่าใช้จ่ายสนามบินและค่าจอดเครื่องบิน คิดเป็น 14% ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินและการจอดเครื่องบิน และ ค่าบำรุงรักษาและค่าซ่อมแซม คิดเป็น 15% ของต้นทุนรวม เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาเครื่องบินให้พร้อมใช้งานและปลอดภัย ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลดีโดยตรงต่อ AAV เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น ค่านํ้ามัน, ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าบำรุงรักษา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ เหตุใด AAV จึงน่าลงทุน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในภูมิภาค: ตลาดการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 AAV อยู่ในตำแหน่งที่ดีในการได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้ ด้วยเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุมและแบรนด์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน: AAV ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและการบริหารจัดการฝูงบิน กลยุทธ์การขยายธุรกิจที่มุ่งเน้นการเติบโต: AAV มีแผนขยายเส้นทางบินใหม่ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีศักยภาพสูงและมียอดจองแน่น เช่น เส้นทางไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น การขยายตัวนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ปัจจัยเสี่ยง ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว: แม้ว่าการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์โรคระบาด หรือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณนักท่องเที่ยวในระยะสั้น ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง: แม้ว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนการดำเนินงานของ AAV การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน: การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอาจนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะในด้านราคา ซึ่งอาจกดดันอัตรากำไรของ AAV ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง 3)  GULF: ผู้นำด้านพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า GULF ผู้นำในธุรกิจพลังงานของไทย กำลังขยายการลงทุนสู่พลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าซึ่งช่วยลดภาระหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์และต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยี บริษัทมีโอกาสเติบโตจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกและการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริการดิจิทัล โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล นอกจากนี้ GULF ยังมีความได้เปรียบจากประสบการณ์และเครือข่ายในอุตสาหกรรมพลังงาน ภาพรวมธุรกิจ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานของประเทศไทย โดยดำเนินโครงการด้านพลังงานทั้งจากพลังงานฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมประมาณ 114 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 21% จากปีก่อน โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติ GULF มีแผนขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดและขยายศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ในประเทศไทย โดย GULF เองมีแผนที่จะลงทุน มากถึง 1,800 ล้านบาทใน Data Center ในช่วงระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า รายได้หลักของ GULF ในปี 2023 มาจากธุรกิจพลังงานเป็นหลัก คิดเป็น 93% ของรายได้รวม ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รายได้ส่วนอื่นของ GULF จะมาจากโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และอื่นๆ แผนภูมิแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายของ GULF ในปี 2023 โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจพลังงาน เป็น 106.13 พันล้านบาท สิ้นปี 2566 GULF มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยกว่า 282,626 ล้านบาท โดยเกือบ 18% อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินมีบทบาทสำคัญต่อภาระหนี้ของบริษัท ในปีที่ผ่านมา บริษัทต้องบันทึกขาดทุนทางบัญชี 576 ล้านบาท จากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แม้ว่าจะไม่ใช่การสูญเสียเงินสดจริง แต่ก็ส่งผลต่อการรายงานผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทกลับเป็นผลดีต่อ GULF ในแง่ของการจ่ายหนี้ เพราะทำให้ใช้เงินจ่ายน้อยลงเมื่อหนี้อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อ GULF ในหลายด้าน ประการแรก ช่วยลดภาระหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้บริษัทมีโอกาสในการลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ ประการที่สอง ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความคล่องตัวในการขยายการลงทุน ทำให้ GULF สามารถเร่งแผนการลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพสูงได้เร็วขึ้น เหตุใด GULF จึงน่าลงทุน โอกาสการเติบโตในธุรกิจพลังงานสะอาดและดิจิทัล: GULF กำลังขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกและการเติบโตของความต้องการบริการดิจิทัล การลงทุนในสองธุรกิจที่มีศักยภาพสูงนี้จะช่วยสร้างแหล่งรายได้ใหม่และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ประโยชน์จากการบริหารต้นทุนและหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ: การแข็งค่าของเงินบาทช่วยลดต้นทุนการนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับโครงการใหม่ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์ เปิดโอกาสให้ GULF สามารถรีไฟแนนซ์หนี้ในอัตราที่ต่ำลง เพิ่มความสามารถในการทำกำไรและการลงทุนในอนาคต ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงาน: GULF มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการขยายธุรกิจไปสู่พลังงานหมุนเวียนและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ ปัจจัยเสี่ยง ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐและกฎระเบียบ: การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานและดิจิทัลของภาครัฐ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนและการดำเนินงานของ GULF โดยเฉพาะในโครงการพลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูล ความผันผวนของราคาพลังงานและวัตถุดิบ: แม้ว่า GULF จะกำลังขยายไปสู่พลังงานหมุนเวียน แต่ธุรกิจหลักยังคงเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและความสามารถในการทำกำไร ความท้าทายในการขยายธุรกิจใหม่: การขยายธุรกิจไปสู่พลังงานหมุนเวียนและศูนย์ข้อมูลอาจเผชิญกับความท้าทายในด้านการดำเนินงานและการแข่งขัน เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่ GULF อาจยังไม่มีประสบการณ์มากนัก อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเชี่ยวชาญและส่วนแบ่งตลาด อ่านรายละเอียดเพิ่ม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/b7514fb8-becc-4ff0-a481-b1cba459cb46

ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ไทย มูลค่าหุ้นกู้เสนอขาย ก.ย. ลดลง 32.85% [HoonVision x FynnCorp]

ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ไทย มูลค่าหุ้นกู้เสนอขาย ก.ย. ลดลง 32.85% [HoonVision x FynnCorp]

Key Highlights: • (Figure 1) ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 มูลค่าตราสารหนี้คงค้างเฉพาะที่เป็นตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน มีมูลค่าอยู่ที่ 4.35 ล้านล้านบาท ลดลง 0.46% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปัจจุบันมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2567 มูลค่าคงเหลือ 0.21 ล้านล้านบาท จากยอดครบกำหนดของทั้งปีที่ 0.89 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างทั้งหมด Figure 1 : Outstanding Value of Long-term Bond with Maturity • ในเดือนกันยายน NWR และ EP ได้ขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ออกไป ส่งผลให้สถานการณ์ภาพรวมตลาดหุ้นกู้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีผู้ออกหุ้นกู้ขอเลื่อนชำระรวมอยู่ที่ 12 ราย ขณะที่หุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระของปีนี้ ยังคงอยู่ที่ 3 ราย (DP: Default Payment) แม้จะมีหุ้นกู้ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย DP เพิ่มในเดือนกันยายนอย่าง WTX แต่บริษัทก็ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยภายในเดือนเดียวกัน • จากสถานการณ์หุ้นกู้ข้างต้น ยิ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จนส่งผลต่อบริษัทผู้ออกระดมทุนผ่านหุ้นกู้ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหม่และบริษัทที่ออกหุ้นกู้ในกลุ่ม High-Yield ซึ่งเรามองว่าได้มีส่วนที่ทำให้มูลค่าหุ้นกู้เสนอขายในเดือนกันยายนนี้ลดลง 32.85% YoY • (Figure 2) กลุ่มธุรกิจพลังงาน (ENERG) กลุ่มเงินทุน (FIN) และ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีหุ้นกู้คงค้างในตลาดปัจจุบันมากที่สุดตามลำดับ โดยกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ มีสัดส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคงเหลือภายในปีมากที่สุด ด้วยมูลค่า 45.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 8.5% ของมูลค่าคงค้างรวมในกลุ่ม ขณะที่รองลงมา เป็นกลุ่มอสังหาฯ ด้วยมูลค่าที่จะครบกำหนดภายในปีเหลือ 39.1 พันล้านบาท หรือ 8% ของมูลค่าคงค้างรวมในกลุ่ม Figure 2 : Outstanding Value of Long-term Bond with Maturity by Sector หุ้นกู้เสนอขายในเดือนกันยายน 2567 •ในเดือนกันยายน 2567 ตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับทาง ThaiBMA จำนวน 37 รุ่น จาก 18 บริษัท มูลค่ารวม 62.89 พันล้านบาท ลดลง 22.61% MoM และลดลง 32.85% YoY เรามองว่าส่วนหนึ่งยังมาจากบริษัทผู้ออกกำลังดูแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะมีการประชุมในวันที่ 16 ตุลาคม 67 นี้ •ผู้ออกรายใหญ่ในเดือนกันยายน ได้แก่ GULF และ BJC ซึ่งมีมูลค่าการออกหุ้นกู้รวม 38.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 60.42% ของมูลค่าผู้ออกหุ้นกู้รวมในเดือน •หากไม่นับกลุ่มสถาบันการเงิน มูลค่าการระดมทุนจะอยู่ที่ 61.8 พันล้านบาท สะท้อนว่าในเดือนกันยายนบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินมีการออกหุ้นกู้น้อยเมื่อเทียบกับหลายเดือนที่ผ่านมาของปีนี้ •หุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่เสนอขายในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย หุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade ทั้งหมด 22 รุ่น (Issue rating) ได้แก่ BJC, GULF, NOBLE, BGRIM, BEM, SJWD, PRIN, UNIQ, KTX •ส่วนหุ้นกู้กลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตจำนวน 15 รุ่น (Issue rating) จาก FSX, NUSA, CHAYO, GRAND, RML, DTP, NCH, FPT, PTTC •FSX (FINANSIA X PUBLIC COMPANY LIMITED) เป็นผู้ออกตราสารหนี้ระยะยาวรายใหม่ในเดือนกันยายน • (Table 2) จากตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ขึ้นทะเบียนในเดือนกันยายน เราพบว่าส่วนใหญ่สามารถระดมทุนได้ตามเป้าหมาย ยกเว้น 6 บริษัทจากทั้งหมด 18 บริษัทผู้ออก ส่วนหนึ่งเรามองว่านักลงทุนมีตัวเลือกจากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้รายใหญ่ที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงและนักลงทุนยังคงมีความระมัดระวังในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง Table 2: Long- Term Corporate Bonds for Sales Registered in September 2024 การปรับอันดับเครดิตองค์กร (Issuer Rating) ในเดือนกันยายน 2567 TRIS Rating เพิ่มอันดับ เครดิตองค์กร 3 แห่ง คือ BCP BSRC และ BBGI ลดอันดับ เครดิตองค์กร 7 แห่ง คือ PSH PS EP AGE SG LALIN และ LH การปรับเพิ่มอันดับเครดิต •BCP (Bangchak Corporation) ถูกปรับเพิ่มอันดับเครดิตจาก A เป็น A+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable จากการที่บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ทำให้บริษัทมี EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6.0-7.0 พันล้านบาทต่อปี รวมถึงกำลังการผลิตของโรงกลั่นและปริมาณการขายผ่านช่องทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นมาจากการขยายขนาดของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งการบูรณาการในแนวดิ่งและการลงทุนที่กระจายตัว ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของราคา โดยการปรับเพิ่มอันดับของ BCP ได้ส่งผลต่อการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทย่อยอย่าง BSRC จาก A เป็น A+ และ BBGI จาก A- เป็น A การปรับลดอันดับเครดิต PSH (Pruksa Holding) ถูกปรับลดอันดับเครดิตจาก A- เป็น BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable เนื่องจากผลการดำเนินงานยังคงอ่อนแอกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเสี่ยงจากการลงทุนขนาดใหญ่และภาระหนี้ของกลุ่มบริษัทที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการปรับลดของบริษัทย่อยหลักอย่าง PS (Pruksa Real Estate) ในอันดับเดียวกัน EP (Eastern Power Group) ถูกปรับลดจากเดือนก่อนอีกครั้ง จาก BB เป็น BB- ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Negative เนื่องจากสภาพคล่องที่อ่อนแอ ส่งผลต่อความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะอันใกล้ได้ ซึ่งบริษัทได้รับอนุมัติการขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไป 1 ปีเป็นที่เรียบร้อย AGE (Asia Green Energy) ถูกปรับลดจาก BBB- เป็น BB+ แนวโน้มอันดับเครดิตยังคง Negative สะท้อนความสามารถในการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนของการเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัท เอเชีย ไบโอแมส ซึ่งทริสมองว่าการรวมบัญชีงบการเงินของ ABM จะส่งผลให้สถานะการเงินบริษัทด้อยลงได้ SG (S 11 Group) ถูกปรับลดจาก BBB- มาอยู่ที่ BB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต Stable สะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอจากการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อภายหลังการบังคับใช้เพดานดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ LALIN (Lalin Property) ถูกปรับลดจาก BBB+ เป็น BBB แนวโน้มอันดับเครดิต Stable สะท้อนผลการดำเนินงานอ่อนแอกว่าคาดและภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อบ้านที่อ่อนแอลง LH (Land and Houses) ถูกปรับลดจาก A+ เป็น A แนวโน้มอันดับเครดิตยังคง Stable ต่อเนื่อง การปรับลดสะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดและระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สรุปภาพรวมใน 9 เดือนแรก 2567 ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร 33 แห่ง ขณะที่เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร 12 แห่ง หุ้นกู้เสนอขายใหม่ •สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะเสนอขายในช่วงกลางเดือนตุลาคม ได้แก่ TSE, TAA, CMC, TBEV, TNL, CIMBT, JMT, WEH, PF และในต้นเดือนพฤศจิกายน ได้แก่ PF, SST, ADVANC (Table 1) เราได้จัดทำตารางที่แสดงค่าเฉลี่ยของอัตราคูปองหุ้นกู้ที่อายุ 2 ปี แยกตามเรทติ้ง (Issue Rating) และอุตสาหกรรมของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบเบื้องต้นให้กับผู้ที่สนใจ อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คลิก https://app.visible.vc/shared-update/52af336a-9226-4a1c-85f9-1448ca47d4b8 LINE OA FynnCorp  https://lin.ee/wiSLCuK

พฤอา
242526272812345678910111213141516171819202122232425262728293031123456