ADVANC ยืนแกร่งท่ามกลางวิกฤต โบรกฯ มองรับผลกระทบศก.น้อย
หุ้นวิชั่น-ทีมข่าวหุ้นวิชั่น รายงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ถือเป็นหนึ่งหุ้นขนาดใหญ่ที่สามารถยืนแกร่งได้ท่ามกลางวิกฤต ทั้งหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย และประธานาธิบดีสหรัฐ ทรัมป์ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าไทยสูงถึง 36% เหตุผลที่ ADVANC ยังสามารถยืนบวกได้ เนื่องจากเป็นหุ้นปลอดภัย หรือ Defensive ที่นักวิเคราะห์เลือกให้ลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยนั้นมีความผันผวน และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวไม่มาก จากการเดำเนินธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ถือว่ามีความจำเป็นในยุคปัจจุบัน อีกทั้งผู้เล่นยังน้อยราย ทำให้การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมไม่สูงเหมือนในอดีตอีกต่อไป ส่งผลดีต่อค่าใช้จ่ายในการตลาดลดลง ด้านบล.บัวหลวง คาดกำไรหลักของ ADVANC ในไตรมาส 1/68 จะอยู่ที่ 8.9พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% YoY (ลดลง 4% QoQ ตามปัจจัยฤดูกาล) รายได้บริการหลักคาดว่าจะอยู่ที่ 4.1หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% YoY ซึ่งหนุนจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทั้งธุรกิจโทรศัพท์มือถือและธุรกิจบรอดแบนด์ อย่างไรก็ตามรายได้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามปัจจัยฤดูกาลประมาณ 2% QoQ (รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพดและยอดขายอุปกรณ์ที่ลดลง) คาดว่ารายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถือจะอยู่ที่ 3.12หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น3% YoY จากการที่ ARPU มือถือระบบพรีเพดสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้แพ็กเกจที่มีราคาสูงขึ้นหลังจาก AIS ปรับลดโควต้าดาต้าในแพ็กเกจราคาถูก อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถือคาดว่าจะลดลง 2% QoQ เนื่องจากปัจจัยฤดูกาล ARPU เฉลี่ยจากมือถือคาดว่าจะอยู่ที่ 226บาท/เดือน เพิ่มขึ้น1.2% YoY แต่ลดลง 0.9% QoQ การเติบโตของธุรกิจบรอดแบนด์ยังคงรักษาโมเมนตัม คาดว่ารายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์จะอยู่ที่ 7.8พันล้านบาทเพิ่มขึ้น10% YoY และ 3% QoQ หนุนจากกลยุทธ์ upselling และการเติบโตของจำนวนผู้ใช้-คาดว่าจะมีผู้ใช้ใหม่ประมาณ 60,000รายในไตรมาส 1/68 ARPU จากธุรกิจบรอดแบนด์ คาดว่าจะอยู่ที่ 514บาท/เดือนเพิ่มขึ้น4% YoY และ 1% QoQ เมื่อมองไปข้างหน้า คาดกำไรหลักของ ADVANC ในไตรมาส 2/68 ที่ 9.3 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น9% YoY และ 4% QoQ หนุนจากรายได้ที่แข็งแกร่งจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือและธุรกิจบรอดแบนด์ คาดกำไรหลักเต็มปี 2568 ยังคงเดิมที่ 3.65 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5% YoY) หนุนจากการเติบโตของรายได้การแข่งขันที่ลดลงในตลาดต้นทุนไฟฟ้าที่ต่ำลง(คณะรัฐมนตรีได้สั่งการลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ลดลง (สัญญาเช่า 2100MHz กับ NT จะหมดอายุในเดือน ส.ค.) และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง