ปรับแต่งการตั้งค่าการให้ความยินยอม

เราใช้คุกกี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำหน้าที่บางอย่าง คุณจะพบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ทั้งหมดภายใต้หมวดหมู่ความยินยอมแต่ละประเภทด้านล่าง คุกกี้ที่ได้รับการจัดหมวดหมู่ว่า "จำเป็น" จะถูกจัดเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการทำงานของฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์... 

ใช้งานอยู่เสมอ

คุกกี้ที่จำเป็นมีความสำคัญต่อฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์ และเว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หากไม่มีคุกกี้เหล่านี้

คุกกี้เหล่านี้ไม่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้แบบฟังก์ชันนอลช่วยทำหน้าที่บางอย่าง เช่น แบ่งปันเนื้อหาของเว็บไซต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวบรวมความคิดเห็น และฟีเจอร์อื่นๆ ของบุคคลที่สาม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้วิเคราะห์ใช้เพื่อทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมโต้ตอบกับเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้เข้าชม อัตราตีกลับ แหล่งที่มาของการเข้าชม ฯลฯ

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้ประสิทธิภาพใช้เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิภาพหลักของเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นแก่ผู้เยี่ยมชม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้โฆษณาใช้เพื่อส่งโฆษณาที่ได้รับการปรับแต่งตามการเข้าชมก่อนหน้านี้ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

#ไฟฟ้า


พีระพันธุ์ ดันค่าไฟต่ำ 4 บาท – โซลาร์ถูก 10,000 เครื่อง วางขายปีนี้!

พีระพันธุ์ ดันค่าไฟต่ำ 4 บาท – โซลาร์ถูก 10,000 เครื่อง วางขายปีนี้!

          หุ้นวิชั่น - พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แจงความคืบหน้าร่างกฎหมายกํากับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เผยวิธีลดค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4 บาท เตรียมเร่งผลิตระบบโซลาร์ราคาถูกวางจำหน่ายในปีนี้ 10,000 เครื่อง           เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษโดยเปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายกํากับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี แต่ก็มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจมีช่องโหว่ในเรื่องของการกำหนดราคาก๊าซ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะดูแลประชาชนไปถึงเรื่องของก๊าซด้วย นั่นคือ กรณีของก๊าซหุงต้ม LPG และก๊าซที่ใช้สำหรับรถยนต์ ตนจึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมทั้งผู้ชำนาญการช่วยกันทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายในส่วนของก๊าซ เพื่อดูแลการกำหนดราคาให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว           ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าสภาฯไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสู่สภาฯ ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้กำลังรอให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างฯ ของกระทรวงพลังงานแล้วเสร็จ และจะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ก่อนนำส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาประกอบกับร่างฯ ที่เสนอจากพรรคการเมือง           ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มว่าจะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เผอิญว่าต้นปี 2568 มีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องจะให้ลดค่าไฟลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และสํานักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟ ก็ออกมาบอกว่าสามารถลดได้ ซึ่งสำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ตนในฐานะรัฐมนตรีพลังงานต้องพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟทุก 4 เดือน จนสามารถตรึงค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอล่าสุดของ กกพ. ก็มีประเด็นที่อาจทำไม่ได้           “ทุก 4 เดือน ผมต้องพยายามบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟ เพราะถ้าลดยังไม่ได้ ก็อย่าขึ้น เพราะฉะนั้นปี 67 ทั้งปีเราได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์มาตลอด ส่วนงวดปัจจุบันนี้ คือตั้งแต่ มกราคม-เมษายน 68 ผมก็ดําเนินการปรับลงมาที่ 4 บาท 15 สตางค์ แต่ก็ยังมีดราม่าบอกลดอะไร 3 สตางค์ ความจริงถ้าผมไม่ดําเนินการวันนั้น เขาบอกเขาจะขึ้นไป 5 บาทกว่า หรือไม่ก็ 4 บาทปลาย ๆ แต่อีกไม่กี่เดือนก็ต้องเหนื่อยต่อแล้ว เพราะค่าไฟงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 68) จะมาแล้ว ทุกทีผมต้องเป็นคนไปขอให้ลด แต่อย่างน้อยคราวนี้ ทาง กกพ. บอกว่าลดได้ ผมก็ใจชื้น แต่ประเด็นคือ เขาบอกว่าการลดนี้ให้เป็นนโยบายรัฐบาล ให้ไปเลิกสัญญา Adder กับสัญญาที่เป็นปัญหา ที่เราเรียกว่า สัญญาชั่วนิรันดร์ คือสัญญาไม่มีวันหมด ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานก็ได้พยายามศึกษาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะไปเซ็นสัญญากันไว้ตั้งแต่ยุคไหนว่า สัญญานี้ต่ออายุไปเรื่อย ๆ ทุกห้าปี ไม่มีวันหมด แล้วก็ราคาก็สูงเกินปกติ เพราะฉะนั้นมันทําไม่ได้ ที่บอกให้ไปลด 17 สตางค์ได้โดยวิธีเลิกสัญญา ถ้าเลิกก็โดนฟ้องนะครับ ตอนนี้เรากําลังศึกษาว่ามีวิธีการอะไรที่จะแก้ไขสัญญาทั้งสองแบบนี้อยู่เพราะประเด็นที่เสนอโดย กกพ.นั้น มันทําไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว           อย่างไรก็ดี นายพีระพันธุ์ได้มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมาร์ และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป           “ปัญหาเรื่องค่าไฟต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันเยอะมากและมีประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขเยอะมาก น้ำมันคือน้ำมัน แต่ค่าไฟ มันไม่ใช่แค่ค่าไฟ มันคือค่าแก๊ส ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่าง ๆ ที่บวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ และที่สําคัญ ผมคิดว่าทํายังไงจะให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงแล้วก็เป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว           สำหรับกรณีที่มีกระแสว่าการทำงานของ รมว.พลังงาน จะไปขัดผลประโยชน์และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้ทําเพื่อจะไปเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด.           “เราไม่ได้เจตนาไปทําอะไรใคร คนเขาพูดไปเอง สื่อก็พูดไปเรื่อยนะครับ จริงๆ ผมก็ทํางานในสิ่งที่ต้องทํา เมื่อมาเห็นอะไรต้องปรับปรุงก็ต้องทํา และที่สําคัญก็คือว่ามันไม่ใช่เราคนเดียว มันเป็นนโยบายรัฐบาล และถ้าหากจําได้นะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศที่ NBT เรื่องของการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และท่านก็มอบหมายให้ผมเป็นคนทํา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทํา ทั้งนโยบายส่วนตัว ทั้งนโยบายของพรรคของผมรวมถึงนโยบายรัฐบาลมันตรงกันในเรื่องตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาทํา เราก็ต้องทํานะครับ เราไม่ได้ทําเพราะว่า มันจะกระทบใคร หรือจะเกิดอะไร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด และผมพูดเสมอว่านายทุนหลักคือประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว           นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่อง Inverter สำหรับติดตั้งกับระบบโซลาร์เซลล์สิทธิบัตรของคนไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนจะนำออกจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนในปีนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขั้นตอนที่ 2 และ 3 หลังจากผ่านการทดสอบขั้นตอนแรกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) โดยทางผู้ออกแบบกำลังนำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดสอบที่ห้องแล็บในประเทศจีนภายใต้การรับรองของ สวทช. ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและความสะดวกในการปรับปรุงอุปกรณ์ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะร่วมกับบริษัทในเครือของ กฟผ. และ ปตท. ในการผลิตและจําหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก โดยจะเตรียมการผลิตเบื้องต้นประมาณ 10,000 เครื่อง และคาดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์ได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 60% อีกทั้งยังมีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งและการลดหย่อนภาษีด้วย           “ ผมได้คุยกับท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ท่านดูแลเอสเอ็มอีแบงค์ ก็จะให้ทางเอสเอ็มอีแบงค์มาช่วย สําหรับคนที่ไม่มีเงินทุนพอ ก็จะสามารถไปกู้ยืมเงินจากเอสเอ็มอี แล้วผมก็จะสนับสนุนอีกบางส่วนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย และส่วนที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าไปแล้วก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะให้กระทรวงการคลังช่วยหักลดหย่อนภาษีด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

กกพ. ร่วม 3 การไฟฟ้า เปิดขาย “ไฟฟ้าสีเขียว”

กกพ. ร่วม 3 การไฟฟ้า เปิดขาย “ไฟฟ้าสีเขียว”

           หุ้นวิชั่น - สำนักงาน กกพ. พร้อมด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff แบบที่ 1: UGT1) เป็นการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวครั้งแรกในไทย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับบริการไฟฟ้าสะอาด รองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมภาคเอกชน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งมาตรการจูงใจที่สำคัญรองรับการขยายฐานการลงทุนจากธุรกิจข้ามชาติชั้นนำมาไทย            ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ทางการไฟฟ้าทั้ง 3 การ ซึ่งได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (UGT1) โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน ที่มีความจำเป็น หรือมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยได้กำหนดอัตรา UGT1 เป็นส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าตามปกติหน่วยละประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟภ. ผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ กฟน. ที่เว็บไซต์ mea.or.th ลูกค้าตรง กฟผ. ที่เว็บไซต์ egat.co.th ถึงวันที่ 28 ก.พ. 68 ทั้งนี้ ค่าส่วนเพิ่มดังกล่าวจะเรียกเก็บเฉพาะผู้ที่ใช้ไฟฟ้า UGT1 เท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป            “การเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียว แบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา หรือ UGT 1 ถือเป็นการความสำเร็จก้าวที่สำคัญในการให้บริการไฟฟ้าสะอาดพร้อมด้วยกระบวนการรับรองแหล่งที่มา ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานและกติกาซึ่งเป็นสากลและได้รับยอมรับระดับสากล และยังเป็นครั้งแรกของไทยในการให้บริการไฟฟ้าและการรับรองไฟฟ้าสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าจะเปรียบเหมือนการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าไปแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี ขจัดอุปสรรค ตอบโจทย์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จูงใจให้ธุรกิจข้ามชาติชั้นนำระดับสากลใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การค้า และการลงทุนในอนาคต” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว            ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟน., กฟภ.) จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี พร้อมทั้งเตรียมการในการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล โดยการไฟฟ้าได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา และมั่นใจว่าปริมาณไฟฟ้าสีเขียวจะมีปริมาณเพียงพอในการรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบนี้ของภาคเอกชนในช่วงแรกได้ทั้งหมด โดยในช่วงต่อไปจะมีการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) และ Direct PPA เพิ่มเติม            ทั้งนี้จากการเปิดให้บริการที่ผ่านมาได้มีผู้ติดต่อลงทะเบียนเพื่อสมัครใช้บริการแล้วประมาณ 600 ล้านหน่วย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่นำไปใช้ในการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซฯ ตามนโยบายของบริษัทแม่หรือบริษัทคู่ค้า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการการรับรองไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนพลังงานสะอาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมการผลิต ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น            นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า “กฟผ. ได้ร่วมพัฒนา UGT ขึ้นเพื่อตอบโจทย์และเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า หรือ Scope 2 Emissions โดยอาศัยกลไกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ตามมาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยได้ออกแบบให้มี Arrangement Unit ที่ดำเนินการผ่าน UGT Platform ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรและจับคู่ข้อมูลระหว่างหน่วยผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกับข้อมูลหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงของผู้ใช้บริการ นำไปสู่การรับรองและส่งมอบ REC ให้กับผู้ใช้บริการตามแนวทาง Bundled REC ซึ่งเป็นแนวทางที่รวมการชำระค่าไฟฟ้าและค่าบริการใบรับรอง REC ไว้ในธุรกรรมเดียว ดังนั้น UGT จึงไม่เพียงช่วยตอบความต้องการให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ Net-zero emissions และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในประเทศไทย แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในระดับภูมิภาค เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล”            นายพิศณุ ตันติถาวร รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กรและความยั่งยืน กฟน. กล่าวว่า “การไฟฟ้านครหลวงจึงร่วมกับภาครัฐ พร้อมให้บริการจัดหาและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าสีเขียว พร้อมใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certificate (REC) โดยในปี 2568 การไฟฟ้านครหลวง ได้เปิดให้บริการอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา ที่เรียกว่า UGT1 กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 และ 5 เป็นกลุ่มแรก โดยที่ผู้ประสงค์ขอใช้บริการอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว UGT1 เพียงมีคุณสมบัติ ไม่มีประวัติค้างชำระกับการไฟฟ้านครหลวง และไม่มีคดีความเกี่ยวกับการละเมิดใช้ไฟฟ้า ณ วันที่สมัครใช้บริการ ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้านครหลวง (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ) และมีความประสงค์จะขอใช้บริการอัตราค่าไฟฟ้า UGT1 สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการลงทะเบียน และลงทะเบียนได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 โดยช่องทางเว็บไซต์ www.mea.or.th หรือแพลตฟอร์ม (https://eservice.mea.or.th/ugt/) 1) ผู้สมัคร ลงทะเบียนเข้าใช้งาน โดยกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลของนิติบุคคลให้ครบถ้วน พร้อมทั้งอัปโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตามที่ระบุไว้บนหน้าเว็บไซต์ เช่น เอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับ ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคล เอกสารการมอบอำนาจดำเนินการลงทะเบียน 2) เมื่อเอกสารของผู้ขอใช้บริการ ได้รับการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องจาก กฟน. แล้ว ผู้ขอใช้บริการจะสามารถเลือกและยืนยันปริมาณพลังงานไฟฟ้าสีเขียวที่ต้องการได้ในแต่ละเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 3) ผู้ขอใช้บริการ เข้าจองปริมาณพลังงานไฟฟ้าสีเขียวที่ต้องการ ผ่านหน้าเว็บไซต์ กฟน. โดยระบบจะจัดสรรในรูปแบบ First Come, First Served 4) ผู้ขอใช้บริการที่ได้รับการจัดสรรพลังงาน จะต้องดำเนินการลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมสำหรับการใช้บริการอัตรา UGT1 ก่อนเริ่มให้บริการ การไฟฟ้านครหลวงขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ช่องทางการติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ท่านสามารถดูได้ที่เว็บไซต์ กฟน. www.mea.or.th.”            นางสาวภูสุดา สงคศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟภ. กล่าวว่า “กฟภ. มีความพร้อมในการให้บริการ โดยได้เปิดรับสมัครผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2568 เป็นต้นมา ผู้สนใจสามารถสมัครใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม ugt.pea.co.th ซึ่งได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้ไฟฟ้าหลังจากการยืนยันตัวตนเสร็จสิ้นผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถระบุปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวและยื่นคิวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ที่ผ่านมา กฟภ. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์ กฟภ. และช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และมีผู้ใช้ไฟฟ้าจากกลุ่มอุตสาหกรรม เช่นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มปิโตรเคมีให้ความสนใจและเข้ามาลงทะเบียนแล้วหากผู้ใช้ไฟฟ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อ PEA Contact Center 1129 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

พลังงาน ชี้ โรงไฟฟ้าสำรอง จำเป็น พร้อมปรับแผนดึงลงทุน กับค่าไฟเหมาะสม

พลังงาน ชี้ โรงไฟฟ้าสำรอง จำเป็น พร้อมปรับแผนดึงลงทุน กับค่าไฟเหมาะสม

          หุ้นวิชั่น - กระทรวงพลังงาน ชี้แจง จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพื่อรับรองความต้องการใช้ตลอดเวลา ถึงแม้บางโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องก็ตาม ซึ่งก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับการลงทุนด้าน Data Center การใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งดัชนีคุณภาพการบริการไฟฟ้าไทยอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน           วันนี้ (14 มกราคม 2568) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5% แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้มีการปรับแผนโดยจะมีการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตก็จะปรับตัวลงด้วย           นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ           “ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1) ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริงๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน และ 2) ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผ่านมา ภาพรวมในการผลิตไฟฟ้า กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้” นายวีรพัฒน์ กล่าว

สำนักงาน กกพ. จับมือ 4 หน่วยงาน กระชับพื้นที่ ผู้ป่วยติดเตียงต้องไม่ถูกตัดไฟ

สำนักงาน กกพ. จับมือ 4 หน่วยงาน กระชับพื้นที่ ผู้ป่วยติดเตียงต้องไม่ถูกตัดไฟ

          หุ้นวิชั่น - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิต และทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ “การให้บริการด้านพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคนอย่างเป็นธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความคุ้มครองสิทธิในการดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และขอเน้นย้ำเรื่องผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องไม่ถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย กลุ่มนี้เป็นศูนย์” นายพีระพันธุ์ กล่าว ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 หน่วยงาน จะเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกคนในทุกกรณี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเป็นปัจจุบัน การร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้า การอำนวยความสะดวกในการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ประสานงานให้กับผู้ใช้พลังงานในหลากหลายช่องทางให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางที่สะดวกและใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และเครือข่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขตพื้นที่ รวมถึงสำนักงานที่ทำการการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ “สาเหตุหลักๆ ที่เราพบปัญหา คือ ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลไม่ได้แจ้งข้อมูลกับทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้การไฟฟ้าฯ ขาดข้อมูลและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลังจากการงดจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้น” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ลงลึกและครอบคลุมถึงระดับตำบลพร้อมด้วยเครือข่าย อสม. รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาประสานและทำให้การให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น “กระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการผลักดันและ ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน จะนำมาซึ่งความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” นพ. วีรวุฒิ กล่าว นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และ ต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย การไฟฟ้านครหลวงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกันในครั้งนี้ และยืนยันว่าการไฟฟ้านครหลวงจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาบริการไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าเพื่อการรักษาพยาบาล นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการไฟฟ้าโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ PEA ยังวางแผนการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้งานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างระบบในการบูรณาการข้อมูลในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการไฟฟ้า  เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกพื้นที่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และยั่งยืน

abs

ปตท. แข็งแกร่งร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

พฤอา
311234567891011121314151617181920212223242526272829301234567891011