ปรับแต่งการตั้งค่าการให้ความยินยอม

เราใช้คุกกี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถไปยังส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำหน้าที่บางอย่าง คุณจะพบข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ทั้งหมดภายใต้หมวดหมู่ความยินยอมแต่ละประเภทด้านล่าง คุกกี้ที่ได้รับการจัดหมวดหมู่ว่า "จำเป็น" จะถูกจัดเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการทำงานของฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์... 

ใช้งานอยู่เสมอ

คุกกี้ที่จำเป็นมีความสำคัญต่อฟังก์ชันพื้นฐานของเว็บไซต์ และเว็บไซต์จะไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หากไม่มีคุกกี้เหล่านี้

คุกกี้เหล่านี้ไม่จัดเก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้แบบฟังก์ชันนอลช่วยทำหน้าที่บางอย่าง เช่น แบ่งปันเนื้อหาของเว็บไซต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวบรวมความคิดเห็น และฟีเจอร์อื่นๆ ของบุคคลที่สาม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้วิเคราะห์ใช้เพื่อทำความเข้าใจวิธีการที่ผู้เยี่ยมชมโต้ตอบกับเว็บไซต์ คุกกี้เหล่านี้ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัด เช่น จำนวนผู้เข้าชม อัตราตีกลับ แหล่งที่มาของการเข้าชม ฯลฯ

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้ประสิทธิภาพใช้เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ดัชนีประสิทธิภาพหลักของเว็บไซต์ซึ่งจะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นแก่ผู้เยี่ยมชม

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

คุกกี้โฆษณาใช้เพื่อส่งโฆษณาที่ได้รับการปรับแต่งตามการเข้าชมก่อนหน้านี้ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณา

ไม่มีคุกกี้ที่จะแสดง

#กกพ.


กกพ. ยืนยันระบบไฟฟ้าไทย มั่นคงและมีเสถียรภาพ

กกพ. ยืนยันระบบไฟฟ้าไทย มั่นคงและมีเสถียรภาพ

                หุ้นวิชั่น - ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของประเทศเป็นปกติมีความมั่นคง แม้ว่าเหตุแผ่นดินไหวในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 อาจมีผลกระทบต่อภาพรวมของระบบอยู่บ้าง แต่ทางผู้เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีและสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว                 “เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ทำให้แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่ออาคารและสถานที่ต่างๆ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเป็นวงกว้าง กกพ. และสำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอด 3 วันที่ผ่านมา และพบว่ามีเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าในบางพื้นที่ใน 11 จังหวัด ของภาคเหนือและภาคกลาง เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง สมุทรสาคร นครปฐม ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงและสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ เช่นเดียวกับผลการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่พบความผิดปกติ และความเสียหายใดๆ ในตัวเขื่อน และอาคารประกอบอื่นๆ ซึ่งยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว                 ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  กกพ. ได้ขอความร่วมมือไปยัง 3 การไฟฟ้า และยังคงให้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีไฟฟ้า และตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆ ตามแผนรับมือวิกฤต มีการเสริมระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อเพิ่มความราบรื่นต่อเนื่องในการจ่ายกระแสไฟฟ้า                 อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ทั้ง 3 การไฟฟ้ามีการเสริมระบบไฟฟ้าสำรองให้มี ความพร้อมเพื่อความราบรื่นต่อเนื่องในการจ่ายกระแสไฟฟ้า จึงทำให้แม้เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาอย่างเช่นครั้งนี้ ที่ส่งผลให้ระบบอัตโนมัติของโรงไฟฟ้าสั่งหยุดเดินเครื่องและหลุดออกจากระบบ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้า แม่เมาะเครื่องที่ 8 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เครื่องที่ 4 ส่วนที่ 1 เป็นผลให้กำลังผลิตหายไปประมาณ 600 เมกะวัตต์ แต่ปรากฎว่ายังมีโรงไฟฟ้าสำรองอย่างเพียงพอจึงเดินเครื่องส่งไฟฟ้าเข้าระบบทันเวลา และสามารถรักษาระบบไว้ได้ทำให้ไม่มีไฟฟ้าดับในทุกพื้นที่ ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่มีกำลังผลิตสำรองที่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน                 สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น ไฟตก ไฟดับ หม้อแปลงชำรุดหรือระเบิด หรือมีปัญหาด้านการบริการไฟฟ้าในเหตุการณ์อื่นๆ ท่านสามารถแจ้งปัญหาการให้บริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มบัญชีทางการผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ชื่อบัญชี “@ERCvoice” ซึ่งสำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เข้าร่วมอยู่ใน Line Official นี้แล้ว เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและให้บริการในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้โดยตรงจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

กกพ. ตรึงค่าเอฟที ลุ้น BGRIM ฟื้นตัว

กกพ. ตรึงค่าเอฟที ลุ้น BGRIM ฟื้นตัว

           หุ้นวิชั่น - กกพ. ประกาศตรึงค่าFtที่ 36.72 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย 4.15 บาท/หน่วย ถึง ส.ค. 68 บล.ดาโอ ชี้ชัด! โอกาสรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าอย่าง BGRIM – GPSC กำลังมา แต่ยังคงต้องจับตาความไม่แน่นอนจากฝั่งรัฐว่าจะเข้ามาช่วยกดค่าไฟมากกว่านี้หรือไม่ ช่วงนี้มองเป็น BGRIM จัดเป็นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นน่าจับตา ราคาลงมาเยอะ ราคาเป้าหมาย 20 บาท            ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 12/2568 (ครั้งที่ 954) วันที่ 26 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 คงเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอมา เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน            ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11 - 24 มีนาคม 2568 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 33 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 29 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 3 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 1 ความเห็น            โดยสามารถสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเป็นสัดส่วนร้อยละได้ ดังนี้ สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. - เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 137.39 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 21% - เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 116.37 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 18% - เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 3 (ค่าเอฟที 36.72 สตางค์ต่อหน่วย) จำนวน 49%- ข้อเสนอค่าเอฟทีอื่นๆ นอกเหนือกรณีศึกษา จำนวน 9% - ข้อซักถามหรือคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟที จำนวน 3% รวมทั้งสิ้น (33 ความเห็น) เป็น 100%            นายมงคล พ่วงเภตรา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสำหรับล่าสุดที่ กกพ. มีมติคงค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 คงเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน นั้นมองว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับต้นทุนพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เซอร์ไพร์ตลาดอะไรมากนัก แต่ก็สร้าง positive sentiment ให้โรงไฟฟ้า SPP เพราะกระทบ margin จำกัด ผ่อนคลายความกังวลระยะสั้น มีโอกาสเห็นการ rebound ของหุ้นที่เกี่ยวข้อง (BGRIM, GPSC)            อย่างไรก็ตามยังคงให้น้ำหนักการเข้ามาแทรกแซงค่าไฟจากภาครัฐอาจทำให้ค่าไฟฟ้าลดต่ำกว่านี้ (หากตัดการจ่ายคืนหนี้ EGAT และส่วนต่างมูลค่าก๊าซสามารถกดค่าไฟลงมาที่ระดับ 3.95 บาท หรือมากกว่าหากรัฐหาวิธีอื่นเพิ่มเติม) จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อ (wait&see) โดยเรายังคงน้ำหนัการลงทุนกลุ่มไฟฟ้า “เท่ากับตลาด”            ทั้งนี้เลือก BGRIM เป็นหุ้นแนะนำเก็งกำไรระยะสั้น เพราะราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาเยอะ และมีสัดส่วนลูกค้านิคมอุตสาหกรรมด้วย ทำให้ได้ประโยชน์จากการลดความกดดัน ประเมินราคาเป้าหมาย 20 บาท

กกพ. เปิดระบบออนไลน์ ให้ติดตามสถานะคำขออนุญาต พค.2

กกพ. เปิดระบบออนไลน์ ให้ติดตามสถานะคำขออนุญาต พค.2

          ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ. ยกระดับการให้บริการโปร่งใสตามขั้นตอน ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (ใบอนุญาต พค.2) สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ (Solar Cells) และ โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftops) เพื่อใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 200 – 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) สามารถใช้บริการติดตามสถานะและความคืบหน้าในการพิจารณาคำขออนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์แบบเรียลไทม์           “ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2568  สำนักงาน กกพ. ได้เปิดช่องออนไลน์เพื่อให้บริการติดตามสถานะคำขออนุญาต พค. 2 ให้แก่ ผู้ประกอบการที่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต พค.2 ต่อสำนักงาน กกพ. ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งกระบวนการขออนุญาตในความรับผิดชอบสำนักงาน กกพ. และในส่วนความรับผิดชอบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ ณ จุดๆ เดียว ” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           สำหรับช่องทางและขั้นตอนการตรวจสอบสถานะ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th  และเข้าไปตรวจสอบได้ที่เมนู “ติดตามสถานะ พค.2” และคลิกไปที่ “ติดตามสถานะรายโครงการ” เพื่อค้นหาสถานะโครงการ โดยจะมีข้อมูลประกอบด้วย ชื่อผู้ขอรับใบอนุญาต (ชื่อโครงการ), ที่ตั้งสถานประกอบกิจการ, ประเภทเชื้อเพลิงหรือเทคโนโลยี, ประเภทการติดตั้ง, ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง และสถานะการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนนับตั้งแต่ยื่นคำขอ           ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 19 มีนาคม 2568 สำนักงาน กกพ. ได้รับคำขอที่มีเอกสารครบถ้วนแล้ว รวมจำนวน 1,085 โครงการ โดย พพ. อยู่ระหว่างพิจารณาให้ความเห็น จำนวน 958 โครงการ และสำนักงาน กกพ. ได้รับความเห็นจาก พพ. แล้ว อยู่ระหว่างเสนอ กกพ. พิจารณา จำนวน 127 โครงการ

“กกพ.” เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีงวด พ.ค. - ส.ค. 68

“กกพ.” เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีงวด พ.ค. - ส.ค. 68

          “กกพ.” เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค. - ส.ค. 2568 ที่ 4.15 – 5.16 บาทต่อหน่วย ชี้หลายปัจจัยยังคงกดดันค่าไฟ ปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่อง ปริมาณไฟฟ้าพลังน้ำนำเข้าลดลงตามฤดูกาล แนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น           ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าเอฟทีในงวด พ.ค.- ส.ค. 2568 ยังคงมีภาระการชดเชยต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยังผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการระบายน้ำของเขื่อนในประเทศได้ลดลงในฤดูแล้ง แม้จะมีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามสภาวะอากาศร้อน ทำให้ กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีลงได้           “ปัจจัยหลักๆ ยังคงเป็นภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับช่วงฤดูแล้งและอากาศที่ร้อนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำลดลงตามฤดูกาล ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเอฟที และไม่สามารถปรับลดค่าเอฟทีลงได้อีก” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ กกพ. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อร่วมหาแนวทางใหม่เพิ่มเติม ในการปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ กกพ.ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเพิ่มเติม ที่จะสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณา ค่าเอฟทีได้ทันตามวงรอบปกติของการพิจารณาค่าในงวด พ.ค.- ส.ค. 2568 ที่ถูกกำหนดให้ต้องทบทวนและ ค่าเอฟที และค่าไฟฟ้า ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่การประกาศจะมีผลบังคับใช้           ทั้งนี้ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 9/2568 เมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้           กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 137.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้ม (1) ต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และ (2) เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 21.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมจำนวน 121.00 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 - ธันวาคม 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.16 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน           กรณีที่ 2: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 116.37 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาท ต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท           กรณีที่ 3: กรณีตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 14,590 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 20.33 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระค่า AF ให้แก่ กฟผ. และมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บ เดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ในระบบของ กฟผ. ต่อไป โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 60,474 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.15 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับปัจจุบัน           “จากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากงวดก่อนหน้า 0.91 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวด ม.ค. - เม.ย. 68) เป็น 34.27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค. 2568 ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง โดยการไฟฟ้าได้ลดต้นทุนโดยซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังต้องจัดหานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (LNG Spot) มากกว่าช่วงต้นปี โดยราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามปริมาณความต้องการในตลาดโลกมาอยู่ที่ 14.0 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจัยที่ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้ยังคงมาจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสมในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะลดลงมากจากงวดก่อนหน้า แต่ภาระหนี้ที่มีอยู่ก็ยังอยู่ในระดับสูงและต้องได้รับการดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลง แต่เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าที่ยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงกลางปี 2568 นี้ อาจจะต้องปรับเพิ่มค่าค่าเอฟทีขึ้นสู่ระดับ 116.37 - 137.39 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อคืนหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. และ ปตท. ซึ่งทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด พ.ค. - ส.ค. 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.95 - 5.16 บาทต่อหน่วย หรือหากตรึงค่าเอฟทีไว้ที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยคืนหนี้คงค้างควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อการปรับค่าไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อลดภาระของประชาชน ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับปัจจุบัน           สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งานนปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11 – 24 มีนาคม 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

abs

ปตท. แข็งแกร่งร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

"กกพ. ดันไฟฟ้าสะอาด – เปิดเสรีก๊าซ เดินหน้าสร้างเศรษฐกิจพลังงานไทย

          หุ้นวิชั่น - ดร.พูลพัฒน์ แถลงแผนปฏิบัติการงานกำกับกิจการพลังงาน ปี 68 ดัน “ไฟฟ้าสะอาด” เต็มรูปแบบเสร็จก่อนสิ้นปี เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซระยะ 2 ต่อเนื่อง ย้ำชัด ทุกอย่างต้องไม่กระทบค่าไฟประชาชน ชี้ ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงานกำกับฯ ยาก แต่มั่นใจพาพลังงานไทยผ่านฉลุย ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการกำกับกิจการพลังงานของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลในภาคพลังงาน คู่ขนานกับการเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ รองรับการเปิดเสรีในอนาคต เพื่อให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนในระยะยาว โดยในปี 2568 จะมุ่งดำเนินการ ใน 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย การผลักดันการสร้างตลาดกลาง (Market Place) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียว สนับสนุนการซื้อขายพลังงานสีเขียว ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณความต้องการพลังงานสีเขียวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางพลังงานสากล การเตรียมความพร้อมด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการกำกับดูแลและสร้างความคล่องตัวในกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียว การสร้างความร่วมมือและการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้พลังงานความมั่นคงและเอื้อต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงกับสากลได้ การเป็นกลไกกำกับกิจการพลังงานที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านพลังงาน ได้อย่างรวดเร็ว รองรับได้ทั้งรูปแบบพลังงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงรองรับปริมาณความต้องการพลังงาน ในอนาคตของผู้ใช้พลังงาน “เป็นที่ทราบกันดีว่า เราอยู่ในเทรนด์ของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเปลี่ยนเร็วมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือให้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทนพลังงานดั้งเดิมได้ทั้งหมด และต้องตอบโจทย์ของการทำให้เกิดความมั่นคงและความมีเสถียรภาพให้ได้ ผมมองว่าวันนี้เทคโนโลยีไปถึงเป้าหมายแล้ว แต่ราคายังไม่สามารถ ไปถึงเป้าหมาย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนบางอย่างเช่น แสงแดดและลม ถูกลงเรื่อยๆ แต่บางชนิดก็ยังแพงเช่น ไฮโดรเจนสีเขียว หรือเรียกสั้นๆ ว่า กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน ก็ยังแพงอยู่มากสำหรับประเทศไทย” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า “การกำกับกิจการพลังงานของไทยอยู่ภายใต้หลายๆ ปัจจัยหลักหลายๆ อย่าง ที่ยังมีความย้อนแย้งกันเองอยู่ การที่ไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ขนาดเศรษฐกิจและรายได้ประชากรยังไม่ได้สูงเท่ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ระดับราคาพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าที่เป็นพลังงานพื้นฐานต้องอยู่ ในอัตราที่เหมาะสมประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศและรับได้ เป็นข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถนำเอาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือระบบกักเก็บพลังงานใหม่ๆ เข้ามาสู่ระบบได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่สามารถผลักภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นให้กับประชาชนได้ทั้งหมดในทันที” ในขณะที่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาระดับเดียวกันกับเราหลายประเทศ ต่างเผชิญกับกระแสของการกดดันและกีดกันการใช้พลังงานฟอสซิลจากกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจของโลก ที่มีความจำเป็นต้องเอาตัวรอดจากมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยภาษี อย่างเช่น มาตรการการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) และคาดว่าจะมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีใหม่ๆ ทยอยประกาศใช้ตามมาอย่างเข้มข้นมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากความตกลงของประเทศมหาอำนาจที่ไม่เป็นไปในทิศเดียวกัน นอกจากนี้ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาและมีแหล่งพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องในระดับราคาและเงื่อนไขที่ดีกว่าประเทศคู่แข่งขัน เพื่อเป็นการจูงใจสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนให้กับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่เพื่อสร้างโอกาสให้กับภาคเศรษฐกิจของประเทศในอีกด้านหนึ่งด้วย ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุผลและปัจจัยข้างต้น สำนักงาน กกพ. วางกรอบแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปภายใต้หลักการ แยกโครงสร้างต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นออกมา กำกับวิธีการคำนวณ รูปแบบการเรียกเก็บค่าบริการ ภายใต้เพดานที่เหมาะสม อย่างโปร่งใส เป็นธรรม สำนักงาน กกพ. กำหนดเงื่อนไขดังนี้ (1) แนวทางการจัดหาไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาดจะต้อง ไม่กระทบต่อค่าไฟเฉลี่ยโดยรวมที่เรียกเก็บกับประชาชนผู้ใช้พลังงานตามปกติ (2) สำหรับค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมต้องเป็นภาระของผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาดเป็นหลัก (3) กำกับดูแลผู้ประกอบการรับอนุญาตตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่วิธีคิดคำนวณต้นทุนมีเพดานที่เหมาะสม แยกแยะประเภทค่าบริการ และวิธีการเรียกเก็บอัตราค่าบริการส่วนเพิ่มให้เหมาะสม (4) ดูแลการแข่งขันให้เกิดความเหมาะสมเพื่อผู้ใช้พลังงานได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขัน และ (5) อัตราค่าบริการต้องหนุนเสริมภาคเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ของประเทศเป็นสำคัญ  สำหรับแผนงานในปี 2568 ภายใต้กรอบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเริ่มให้บริการ-ไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff1: UGT1) ในเดือนเมษายน 2568 ซึ่ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี สำหรับการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff2: UGT2) ที่รองรับความต้องการเป็นปริมาณรวมประมาณ 8,000 ล้านหน่วยต่อปี จะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทะเบียนสมัครใช้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2568 รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการรับรองแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นสะพานไปสู่การพัฒนาตลาดไฟฟ้าสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในอนาคต กำกับกิจการไฟฟ้าตามนโยบายโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA ได้แก่ จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม และการกำกับติดตามการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) ตามนโยบาย Direct PPA ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินการร่วมกันตามมติ กพช. ซึ่งในส่วนงานที่สำนักงาน กกพ. รับผิดชอบ คาดว่าแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568 กำกับกิจการก๊าซธรรมชาติตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดย จัดทำแนวทางการบริหารการใช้ LNG Terminal แบบเสมือน (Virtual Inventory) และเสนอต่อภาคนโยบายภายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการใช้งาน LNG Terminal ร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการหลายราย ตลอดจนจัดทำระบบข้อมูลราคาก๊าซ (Pool Gas) ทั้งประมาณการราคา และราคา Pool Gas จริง เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้ใช้พลังงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ในมิติของความมั่นคงทางพลังงาน ภายหลังจากที่ กกพ. มีการออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยมาตรฐานวิศวกรรมและความปลอดภัยในการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 ก็จะมีการกำกับผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ ให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดภายในปี 2568 ดำเนินการพัฒนากลไกการกำกับกิจการพลังงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) โดยดำเนินการศึกษารูปแบบการดำเนินการสำหรับ Disruptive Technology ต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทย ได้แก่ การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response), Microgrid, RE Forecast, Aggregator, Battery Storage และ EV และจัดทำข้อกำหนดหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องรองรับ Disruptive Technology ต่างๆ รวมถึงจัดทำคู่มือการกำกับกิจการพลังงานรองรับ Disruptive Technology ตามแผนการขับเคลื่อน Smart Grid คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในกันยายน 2568

กกพ. เสนอลดค่าไฟ17สต.  หุ้นโรงไฟฟ้าเป็นไง เช็กเลย!

กกพ. เสนอลดค่าไฟ17สต. หุ้นโรงไฟฟ้าเป็นไง เช็กเลย!

หุ้นวิชั่น - บทวิเคราะห์ บล.ดาโอ ระบุว่า ที่ประชุม กกพ. เผยแนวทางลดค่าไฟฟ้าพร้อมเตรียมเสนอรัฐบาลพิจารณา ทั้งนี้ กกพ.เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และท าให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้พิจารณาปรับราคารับซื้อไฟฟ้าหลังหมด Adder ลงจาก 3.16 บาท เป็น 2.17 บาท ซึ่งราคาที่สำนักงานนโยบายและแผน (สนพ.) ค านวณในปี 2565 (ที่มา:Infoquest) Implication มองเป็น negative sentiment ต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า แม้ประเมินมีโอกาสเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ ตามหากแนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะกระทบกับหุ้นโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานทดแทน ( adder ถูกตัดและค่าไฟฐานถูกลดกระทบราคาขายไฟฟ้าและท าให้ประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนผิดไปจากที่ประเมินไว้) หุ้นที่เราดูแลอยู่และคาดว่าได้ผลกระทบคือ GUNKUL (ซื้อ/เป้า 5.00 บาท), SSP (ถือ/เป้า 7.50 บาท) และโรงไฟฟ้า SPP (ก๊าซธรรมชาติ) กระทบจากราคาขายไฟฟ้าที่ลดลงในขณะที่ต้นทุนพลังงานไม่ได้ถูกปรับ กดดันมาร์จิ้น หุ้นที่กระทบ GPSC (ซื้อ/เป้า 60.00 บาท), BGRIM (ซื้อ/เป้า 35.00 บาท), GULF (ถือ/เป้า 60.00 บาท) อย่างไรก็ตามประเมินแนวทางดังกล่าวทำได้ยากเนื่องจากเป็นการขอแก้สัญญา คาดว่าจะคล้ายเคสก่อนหน้าที่พยายามจะปรับค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า IPP ลง (ค่า AP) ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถท าได้ อย่างไรก็ตามความพยายามปรับลดค่าไฟฟ้าจะยังคงเป็นปัจจัย overhang กลุ่มไฟฟ้าในระหว่างที่ยังหาแนวทางในการ implement ที่ชัดเจนไม่ได้

ค่าไฟลดทันที 0.17 - 3.70 บ. ต้องรอ

ค่าไฟลดทันที 0.17 - 3.70 บ. ต้องรอ

          หุ้นวิชั่น - กกพ. ชี้แนวทางลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 0.17 บ.หากปรับโครงสร้างค่าไฟ ลด Adder และ FiT หวังลดภาระประชาชน หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ลดเหลือ 3.98 บาท   จะประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน 33,150 ล้านบาท  แต่จะหากจะลดค่าไฟไป 3.70 บาท ต้องดูเรื่องต้นทุนประกอบ ส่วนลดค่าAP ต้องเจรจากับเอกชน เพราะมีผลต่อมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ           ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง           “ก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และ กกพ. เองก็ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ซึ่ง กกพ. ได้นำเสนอมาตรการในหลายๆ ทางเลือกเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และทางเลือกหนึ่งในขณะนั้นคือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ กกพ. เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์เหมาะสม จึงได้หยิบยกขึ้นมาหารือ และให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอภาคนโยบายเพื่อทบทวนและเป็นทางเลือกในการลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่ง” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อม สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว           ช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว กกพ.แก้ปัญหาเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าหลายประการ และมีประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั่นคือ กกพ. มีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) อันประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นหน้าที่ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า           “ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้           (1) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ” หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด           จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรีหรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที่ 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท           ทั้งนี้หาก จะลดค่าไฟฟ้าไปถึง 3.70 บาท อาจจะต้องดำเนินการหลายส่วนเพิ่มเช่นการ ลดต้นทุนเชื้อเพลิง โดยการหาแนวทางอย่างเช่น สัญญาก๊าซธรรมชาติ อาจจะมีการปรับสัญญาจาก Spot เป็นสัญญาระกลางถึงยาว เพื่อให้สามารถเจรจาต้นทุนที่ถูกลงทุน หรือใช้แหล่งก๊าซธรรมชาติจากในประเทศมากขึ้น           ด้าน นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กรณีมีการแพร่ข่าวให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ใช้เทคนิคการสื่อสารด้วยการนำผลกระทบมาสร้างความน่าสนใจ (Interesting) โดยบิดเบือนว่าการจัดหาไฟฟ้าราคาหน่วยละ 2.1679 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนแพง เมื่อประชาชนได้ยินว่า “ค่าไฟฟ้าแพง” จึงเกิดความสนใจและติดตามเรื่องนี้ และแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน จนการดำเนินโครงการประสบปัญหา ส่วนผู้บิดเบือนข้อเท็จจริงจะมีวัตถุประสงค์อื่นใด ผมไม่ทราบ เพียงแต่เกรงว่า การบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนซึ่งมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เกิดความวิตกกังวล ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวปราศจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง และอาจทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับทราบข้อความบิดเบือนแล้วเกิดความไม่มั่นใจต่อการจัดเตรียมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้รองรับการลงทุน และเปลี่ยนแผนการลงทุนไปประเทศอื่น อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผมจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ การได้มาซึ่งไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.1 การรับซื้อไฟฟ้า มาจากฝ่ายนโยบายที่กำหนดปริมาณรับซื้อ ราคารับซื้อ ประเภทเชื้อเพลิงและวิธีการจัดหา ฉะนั้นต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับส่วนนี้ 1.2 การขายไฟฟ้าให้ประชาชน อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. ซึ่งมีหน้าที่นำต้นทุนด้านต่างๆ มาคำนวณและตัดทอนต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป ที่ผ่านมา กกพ. ตัดทอนค่าก๊าซโดยเรียกคืนมูลค่า Shortfall เกือบ 2 หมื่นล้านบาท เอามาลดค่าไฟฟ้า ลดค่าบริการในบิลค่าไฟฟ้า เดือนละ 39 บาท เหลือ 24 บาท ลดค่าบริการผ่านท่อก๊าซ จากข้อเท็จจริงนี้ขอสรุปว่า ราคารับซื้อไฟฟ้า 2.1679 บาท เป็นการดำเนินงานของฝ่ายนโยบาย (2) การรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาท ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านแพงหรือไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะไฟฟ้าในส่วนนี้ผลิตมาเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดและมีอัตราที่สูงกว่าไฟบ้าน ฉะนั้นแม้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาทไปแล้ว ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านถูกลง เพราะค่าไฟฟ้าจากกลุ่ม Adder และ FiT ซึ่งมีราคาหน่วยละ 3.1617 ถึง 11.1617 บาท ฝังอยู่กับค่าไฟบ้าน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ กกพ.จัดหาไปแล้วนั้น ไปคิดกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองส่วนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของราคาค่าไฟ (3) จากตัวเลขต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง (Generation Mixed) เช่น ลิกไนต์ 1.52 บาท น้ำ 1.45 บาท ก๊าซ 3.18 บาท เป็นต้น เมื่อนำราคาทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาท ดังนั้น การนำไฟฟ้าที่มีราคารับซื้อต่ำกว่า 3.02 บาทเข้าระบบ ก็จะทำราคาค่าไฟเฉลี่ยลดลง ในทางตรงกันข้าม หากนำไฟฟ้าที่มีต้นทุนการรับซื้อสูงกว่า 3.02 บาทมาเพิ่มในระบบ ก็จะทำให้ราคาค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้น ตัวเลขนี้จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ควรจัดการกับ Adder กับ Feed in Tariff ซึ่งมีต้นทุนตั้งแต่ 3.1617 ถึง 11.1617 บาทโดยเร็ว และจัดหาไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า 3.02 บาท เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ           ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึง  แนวโน้มราคาค่าไฟฟ้ารอบถัดไป น่าจะมีสัญญาณที่ดี จากสภาพอากาศที่มีความเย็นทำให้การใช้ไฟฟ้าน้อยลง  ส่วนค่าก๊าซธรรมชาติก็อาจจะไม่ถูกลงมากนัก ยังคงต้องติดตาม ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2567           ประเด็นการลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ยังต้องการการเจรจาในรายละเอียด เนื่องจากค่าความพร้อมจ่ายมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ แม้ในบางช่วงโรงไฟฟ้าอาจไม่ได้เดินเครื่อง แต่หากไม่มีความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราสำรองไฟฟ้ากว่า 30% แต่ด้วยการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าปีละกว่า 3% ในระยะยาว หากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือปรับปรุงโครงสร้างการสำรองไฟ อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในอนาคต ทั้งนี้ การพิจารณาปรับลดค่าความพร้อมจ่ายจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้สมดุลระหว่างต้นทุนและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ           ส่วนโครงการประมูล รับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2,100 เมกกะวัตต์ ที่มีการให้สิทธิคนที่เคยเข้าประมูล 5,200 เมกะวัตต์ นั้น โดยฝั่งกกพ.ยินดีน้อมรับ และรอนโนบายจากทางภาครัฐในการดำเนินการต่อ

abs

เจมาร์ท สร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้าง Synergy Ecosystem

“กกพ.” หนุนลดค่าไฟช่วยค่าครองชีพประชาชน

“กกพ.” หนุนลดค่าไฟช่วยค่าครองชีพประชาชน

         หุ้นวิชั่น - ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ครั้งที่ 52/2567 (ครั้งที่ 937) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 กกพ. มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษา การปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 และมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บเท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงจากงวดปัจจุบัน (กันยายน – ธันวาคม 2567) จาก 4.18 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย “ในการพิจารณาทบทวนเพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 จากการรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้ง กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณาร่วมกันถึงการทบทวนแนวโน้มต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในระยะถัดไปพบว่ามีแนวโน้มผ่อนคลายและกดดันต่อค่าไฟลดลง จึงได้ปรับลดค่าไฟลงได้อีกเล็กน้อย เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าของพี่น้องประชาชน และค่าไฟระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ยังคงเป็นอัตราที่ยังสามารถรักษาความมั่นคง เสถียรภาพ และความยั่งยืนให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศระยะยาวได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว ก่อนหน้านี้ กฟผ. ยังได้ทำเรื่องมายัง กกพ. เพื่อขอให้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรอัตโนมัติ (Ft) ประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2568 เพื่อประกอบการพิจารณาในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนแล้วด้วย โดยรายละเอียดเอกสารเผยแพร่ค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th

สำนักงาน กกพ. จับมือ 4 หน่วยงาน กระชับพื้นที่ ผู้ป่วยติดเตียงต้องไม่ถูกตัดไฟ

สำนักงาน กกพ. จับมือ 4 หน่วยงาน กระชับพื้นที่ ผู้ป่วยติดเตียงต้องไม่ถูกตัดไฟ

          หุ้นวิชั่น - นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิต และทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ “การให้บริการด้านพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนผู้ใช้พลังงานต้องได้รับเท่าเทียมกันทุกคนอย่างเป็นธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การให้ความคุ้มครองสิทธิในการดูแลความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน และขอเน้นย้ำเรื่องผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องไม่ถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกกรณี เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย กลุ่มนี้เป็นศูนย์” นายพีระพันธุ์ กล่าว ดร. พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 หน่วยงาน จะเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกคนในทุกกรณี ผ่านความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และเป็นปัจจุบัน การร่วมกันรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างองค์ความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับความคุ้มครองจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้า การอำนวยความสะดวกในการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสาร ประสานงานให้กับผู้ใช้พลังงานในหลากหลายช่องทางให้ได้รับสิทธิอย่างทั่วถึง ผ่านช่องทางที่สะดวกและใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) และเครือข่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขตพื้นที่ รวมถึงสำนักงานที่ทำการการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ “สาเหตุหลักๆ ที่เราพบปัญหา คือ ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลไม่ได้แจ้งข้อมูลกับทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้การไฟฟ้าฯ ขาดข้อมูลและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลังจากการงดจ่ายไฟฟ้า ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันประสานข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้น” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ลงลึกและครอบคลุมถึงระดับตำบลพร้อมด้วยเครือข่าย อสม. รวมทั้งการมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถเข้ามาประสานและทำให้การให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นปัจจุบันเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น “กระทรวงสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่ง พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการผลักดันและ ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วน จะนำมาซึ่งความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย” นพ. วีรวุฒิ กล่าว นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว MEA ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ MEA สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และ ต่อเนื่อง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วย การไฟฟ้านครหลวงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกันในครั้งนี้ และยืนยันว่าการไฟฟ้านครหลวงจะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาบริการไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าเพื่อการรักษาพยาบาล นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการไฟฟ้าโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ PEA ยังวางแผนการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชนที่มีความต้องการใช้งานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ การให้ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างระบบในการบูรณาการข้อมูลในภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการไฟฟ้า  เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในทุกพื้นที่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และยั่งยืน

“กกพ.” เคาะ ลดเงินประกันการใช้ไฟฯ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ประวัติดี

“กกพ.” เคาะ ลดเงินประกันการใช้ไฟฯ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ประวัติดี

          ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 40/2567 (ครั้งที่ 925) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ) ปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี ตามแนวทางที่ กกพ. ได้วางไว้           “กกพ. เข้าใจดีถึงภาระต้นทุนในการทำธุรกิจจากการวางหลักทรัพย์เพื่อเป็นการประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าบางประเภทและในบางอุตสาหกรรมต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ในขณะเดียวกันคำนึงถึงคู่สัญญาคือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายด้วย เพราะหากเกิดกรณีไม่ชำระค่าไฟฟ้า หรือค้างชำระค่าไฟฟ้าเกินกำหนด หรือละเมิดการใช้ไฟฟ้า ก็จะเป็นความเสี่ยงและเกิดภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเองก็ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าไปให้ผู้ใช้ก่อนแล้วค่อยเรียกเก็บเงินค่าไฟในภายหลัง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย กกพ. จึงมีมติโดยวางกรอบให้สิทธิได้รับการลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามประวัติการชำระค่าไฟและสถานะหนี้คงค้างค่าไฟเป็นหลัก ซึ่งขอย้ำว่าการวางเงินประกันการชำระค่าไฟฟ้ายังคงมีความจำเป็น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องร่วมรับผิดชอบการไม่ชำระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบางราย ดังนั้น จึงไม่สามารถยกเลิกการวางเงินประกันทั้งหมดได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ทั้งนี้ กกพ. ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยกำหนดวงเงินประกันตามลักษณะการชำระค่าไฟฟ้า ดังนี้           สำหรับมติดังกล่าว กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบบิลต้นปี 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้มีหนังสือถึง การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เพื่อแจ้งแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ตามมติ กกพ. ดังกล่าว โดย กกพ. ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รายละเอียดจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์และจำนวนเงินที่จะได้รับเงื่อนไขการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี โดยประมาณการจากข้อมูลของการใช้ไฟฟ้า และควรมีการศึกษาข้อมูลว่าในกรณีเกิดหนี้สูญจากการไม่ชำระค่าไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ดำเนินการอย่างไรกับหนี้สูญดังกล่าว และรายงานเสนอ กกพ. ต่อไป

abs

มุ่งมั่นเป็นผู้นำ เชื่อมโยงทุกโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน

[PR News] กกพ.ตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า 2,180 MW ภายในเดือนกันยายนนี้และจะประกาศผลสิ้นปี67

[PR News] กกพ.ตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า 2,180 MW ภายในเดือนกันยายนนี้และจะประกาศผลสิ้นปี67

          ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้ (1) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์) (2) พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์) (3) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์ และ (4) ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์           ปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกลุ่มรายชื่อเดิมที่เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านความพร้อมทางด้านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้ว แต่ไม่ได้รับคัดเลือก จำนวน 198 ราย ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่เนื่องจากการจัดหาครบตามเป้าหมายแล้วจึงไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ผ่านมา ในขั้นตอนต่อไป           กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย มายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี 2567           ที่ผ่านมา กกพ. ได้ติดตามสถานะโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ได้แก่ (1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) (2) ลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และ (4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ และโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 เมกะวัตต์ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายส่งผลให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม จำนวน 22 ราย ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไป มีผลต่อกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียวตามแนวทาง Utility Green Tariff (UGT) ของ กกพ. ที่ต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย           “ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาททางปกครอง และศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ซึ่งในระยะเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว และล่าสุดบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันกระบวนการรับซื้อไฟฟ้า ในรอบใหม่ที่ได้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว           ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อน SCOD ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 โดยให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 ราย แจ้งความประสงค์การขอปรับเลื่อน SCOD เสนอให้ กกพ. พิจารณาก่อนลงนามสัญญาต่อไป           “ด้วยการเร่งเดินหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net - Zero Carbon Emission)” ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

พฤอา
311234567891011121314151617181920212223242526272829301234567891011