ศิลปะคือภาษาสากลที่สะท้อนวัฒนธรรม ความคิด และจิตวิญญาณมนุษย์ แต่ในโลกของการเงิน ศิลปะมักถูกมองว่าเป็น “สินทรัพย์ที่สวยแต่ซื้อขายยาก” ในตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา งานศิลปะไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งตกแต่งหรือวัตถุแห่งแรงบันดาลใจ แต่ยังเป็น “สินทรัพย์ทางเลือก” (Alternative Investment) ที่นักสะสมและนักลงทุนใช้ในการกระจายความเสี่ยง และเก็บรักษามูลค่า
• ผลงานของศิลปินระดับโลก เช่น Picasso, Monet, Warhol หรือ Basquiat มีราคาซื้อขายสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว
• ตลาดประมูลศิลปะ เช่น Sotheby’s หรือ Christie’s เคยสร้างสถิติการขายผลงานชิ้นเดียวในราคาหลายร้อยล้านดอลลาร์
• ในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ศิลปะมักถูกมองว่าเป็น “Store of Value” หรือที่พักเงินที่ปลอดภัยกว่าตลาดทุนต่างๆ หรือเป็นที่กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
จากข้อมูลของ Knight Frank the Wealth Report ประจำปี 2024 พบว่าใน Luxury Investment Index 10 ปีย้อนหลัง การลงทุนในงานศิลปะให้ผลตอบแทนถึง 105% และจากปี 2023-2024 ให้ผลตอบทน 11%
แต่การลงทุนในศิลปะก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เช่น
• ต้องใช้เงินทุนสูง: ผลงานระดับโลกส่วนมากมีมูลค่าหลายล้านบาทถึงหลักร้อยล้าน นักลงทุนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก
• สภาพคล่องต่ำ: การซื้อขายต้องอาศัยตลาดประมูล แกลเลอรี หรือดีลส่วนตัว ใช้เวลานาน และมีค่าธรรมเนียมสูง
• ความเสี่ยงปลอมแปลง: การพิสูจน์ความแท้ของผลงานต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและระบบตรวจสอบที่ซับซ้อน
• การถือครองกระจุกตัว: ส่วนใหญ่ผลงานมักอยู่ในมือของนักสะสมหรือนักลงทุนรายใหญ่ เช่น มหาเศรษฐี, กองทุน, พิพิธภัณฑ์
ซึ่งเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันอย่างบล็อกเชนกำลังเปลี่ยนสมการนั้น ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Art Tokenization
Art Tokenization คืออะไร?
Art Tokenization คือการแปลงผลงานศิลปะให้อยู่ในรูปแบบของ “โทเคนดิจิทัล” บนเครือข่ายบล็อกเชน โดยโทเคนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นหลักฐานของความเป็นเจ้าของผลงานนั้น ซึ่งสามารถแบ่งเป็นหน่วยเล็กๆ ได้ (Fractional Ownership) หรือแทนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดของผลงาน
กระบวนการนี้ทำให้ผู้คนสามารถร่วมถือครองงานศิลปะระดับโลกได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งชิ้น เช่น ภาพ Monet ราคา 100 ล้านบาท อาจถูกแบ่งออกเป็น 100,000 โทเคน นักลงทุนสามารถซื้อเพียง 1 โทเคน ก็กลายเป็น “เจ้าของบางส่วน” ได้ทันที
ทำไมงานศิลปะถึงเหมาะกับการ Tokenize?
• ศิลปะมีมูลค่าแต่ขาดสภาพคล่อง: ผลงานศิลปะชั้นนำมีมูลค่าเฉลี่ยสูง และมักอยู่ในมือคนไม่กี่คน การซื้อขายใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง
• โปร่งใสและตรวจสอบได้: การบันทึกบนบล็อกเชนทำให้ประวัติการซื้อขายและความเป็นเจ้าของโปร่งใส ปลอมแปลงไม่ได้
• สร้างรูปแบบการลงทุนใหม่: จากเดิมที่ศิลปะถูกมองเป็นของสะสม ตอนนี้มันกลายเป็น “สินทรัพย์ลงทุน” ที่ให้ผลตอบแทนได้
• สร้างรายได้ต่อเนื่องให้ศิลปิน: บล็อกเชนสามารถตั้งโปรแกรมให้ศิลปินได้รับ “ค่าลิขสิทธิ์” ทุกครั้งที่มีการซื้อขายโทเคนในตลาดรอง
Web 3.0 และ NFT – เทคโนโลยีสู่ Art Tokenization
ในช่วงปี 2018-2022 ก่อนที่โลกจะรู้จัก Art Tokenization เราได้เห็นการเติบโตของเทรนด์ NFT (Non-Fungible Token) และการเติบโตของระบบ Web 3.0 ซึ่งทำหน้าที่เป็น “รากฐาน” ของการเปลี่ยนผ่านจากอินเทอร์เน็ตแบบเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้ใช้เป็นเจ้าของสินทรัพย์จริงๆ ที่เป็นกระแสนิยมในลงทุนด้านงานศิลปะ
NFT คืออะไร ?
NFT คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ 1 ชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มักใช้แทนผลงานศิลปะดิจิทัล เช่น ภาพ วิดีโอ เพลง หรือแม้แต่ไอเทมในเกม ซึ่งในช่วงปี 2021-2022 ได้มีงานศิลปะในรูปแบบ NFT ออกมามากมาย เช่น NFT Beeple ในราคา 69 ล้านดอลลาร์ หรือ กระแส Bored Ape Yacht Club ที่สร้าง “วัฒนธรรมคริปโต” ให้กลายเป็นสินทรัพย์แฟชั่น
แม้ NFT จะกลายเป็นกระแสและตลาดจะปรับฐานในเวลาต่อมา แต่มันได้พิสูจน์แนวคิดสำคัญว่า: “ศิลปะในรูปแบบดิจิทัลสามารถมีเจ้าของ มีมูลค่า และมีตลาดของตัวเองได้” และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามว่า ถ้าเราสามารถถือครองศิลปะดิจิทัลได้ แล้วศิลปะจริงล่ะ? เราจะแปลงมันให้ซื้อขายง่ายแบบคริปโต หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลได้ไหม?
ดังนั้น Art Tokenization เป็นแนวคิดที่ต่อยอดจาก NFT โดยนำ “ศิลปะในโลกจริง” มาผูกกับบล็อกเชนให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแบบมีหลักประกันจริง และซื้อขายได้แบบทันสมัย
ความแตกต่างระหว่างการลงทุนในด้านงานศิลปะทั่วไป , NFT และ Art Tokenization
คุณสมบัติ งานศิลปะทั่วไป NFT Art Tokenization
- รูปแบบผลงาน กายภาพเท่านั้น (จิตรกรรม, ประติมากรรม ฯลฯ) ส่วนใหญ่เป็นไฟล์ดิจิทัล (JPEG, GIF ฯลฯ) งานศิลปะจริงที่มีกายภาพจับต้องได้ + ดิจิทัล
- ความเป็นเจ้าของ เจ้าของ 1 ราย (หรือตามสัญญา) มักเป็นเจ้าของ 1 คนต่อ 1 NFT แบ่งได้เป็นส่วนย่อย (Fractional Ownership)
- การซื้อขาย ประมูล แกลเลอรี ตัวแทนกลาง ผ่าน NFT Marketplace (เช่น OpenSea) บนแพลตฟอร์มซื้อขาย และลงทุน (บางที่ต้องได้รับใบอนุญาต)
- บล็อกเชนและ smart contract ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของดิจิทัล ใช้เพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์และควบคุมรายได้ต่อยอด
ซึ่งในกรณีของการลงทุนใน Art Tokenization มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วในโลกเช่น
1) Maecenas ในปี 2018 Maecenas ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเปิดให้ลงทุนในภาพ “14 Small Electric Chairs” ของ Andy Warhol ซึ่งมีมูลค่าประเมินราว 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำภาพนี้มาทำ Tokenization บนบล็อกเชน Ethereum แล้วขายโทเคนออกไปคิดเป็น 31.5% ของมูลค่ารวม หรือประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์นักลงทุนกว่า 800 คนจาก 56 ประเทศเข้าร่วมถือครองผลงานชิ้นนี้ผ่านการซื้อโทเคน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของการ “เปิดประตูให้คนทั่วไปเป็นเจ้าของงานศิลปะระดับโลก” แบบไม่ต้องมีเงินหลักล้าน
รูปภาพ : 14 Small Electric Chairs ที่ได้รับการ Tokenized เพื่อการลงทุน
2) Masterworks เป็นสตาร์ตอัปจากสหรัฐฯ ที่กลายเป็นผู้นำตลาด Art Tokenization สำหรับนักลงทุนรายย่อยในปัจจุบัน โดยใช้โมเดลคล้าย “ตลาดหุ้นสำหรับงานศิลปะ”
รูปแบบการทำงานคือ:
• บริษัทจะจัดซื้อผลงานศิลปะระดับโลก เช่น Picasso, Banksy, Basquiat ฯลฯ
• นำผลงานนั้นมาออกเป็น “หุ้น” หรือโทเคนเพื่อเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป
• นักลงทุนสามารถซื้อโทเคนในราคาหลักร้อย–หลักพันดอลลาร์ และได้รับผลตอบแทนเมื่องานถูกขายในอนาคต
จุดเด่นคือ Masterworks ไม่ได้แค่แบ่งเจ้าของ แต่ยังมีแผนการขายเพื่อทำกำไร พร้อมรายงานภาวะตลาดให้นักลงทุนติดตาม คล้ายการถือหุ้นในกองทุน โดยมีหน่วยงานกำกับเช่น SEC คอยดูแลการเปิดเผยข้อมูล จึงสร้างความเชื่อมั่นได้ในระดับสูง
ตัวอย่าง : ผลงานการลงทุนของ Masterwork
แล้วถ้ามีการทำ Tokenize ขึ้นมาจริง งานศิลปะจริงเก็บไว้ที่ไหน ใครดูแล?
แม้ Art Tokenization จะทำให้ “สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ” กลายเป็นดิจิทัล แต่งานศิลปะที่ถูกแปลงเป็นโทเคน ยังคงเป็นผลงานจริงที่ต้องมีอยู่ทางกายภาพ จึงต้องมีระบบการจัดเก็บและดูแลที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้เสมอ
รูปแบบการจัดเก็บผลงานหลัง Tokenization
- จัดเก็บในสถานที่เฉพาะทาง (Secure Art Storage) โดย ผลงานศิลปะที่ถูก Tokenize มักถูกเก็บไว้ในโกดังหรือคลังเก็บศิลปะมืออาชีพ มีพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นแบบมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ สถานที่เหล่านี้มักตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษี มีระบบความปลอดภัยสูงระดับเดียวกับธนาคารเช่น แพลตฟอร์ม Freeport จะเก็บที่ (สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์) หรือ Art Vault ของ Masterworks (สหรัฐฯ)
- จัดหาบริษัทผู้ดูแล (Custodian) ทำหน้าที่รับผิดชอบ โดยผู้ถือโทเคนไม่ต้องเป็นคนดูแลเอง แต่จะมีบริษัทหรือทีมดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นบริษัทเดียวกับผู้ออกโทเคน หรือพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเก็บรักษาศิลปะ
- มีการตรวจสอบและประกันภัย – ผลงานมักได้รับการตรวจสอบความแท้จากผู้เชี่ยวชาญก่อนทำ Tokenization โดยจะ มีประกันภัยครอบคลุมความเสียหาย การสูญหาย หรือภัยธรรมชาติเสมอ และบางแพลตฟอร์มเปิดให้ตรวจสอบข้อมูลคลังจัดเก็บผ่านบล็อกเชนหรือระบบดิจิทัล (audit trail)
- ไม่มีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง – เพราะทุกการเคลื่อนย้ายมีความเสี่ยง โทเคนที่ถือจึงแทน “ความเป็นเจ้าของ” ของงานที่ ถูกจัดเก็บอยู่ ณ ที่เดียวอย่างถาวร จนกว่าจะมีการขายหรือแสดงในพิพิธภัณฑ์
โอกาสที่ยังเปิดอยู่กับศิลปะไทยและโลกบล็อกเชน
ประเทศไทยมีศิลปินระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ประเทือง ม่วงงาม, กมล ทัศนาญชลี, ถวัลย์ ดัชนี หรือแม้แต่ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ ๆ การนำผลงานเหล่านี้เข้าสู่แพลตฟอร์ม Art Tokenization จะสามารถ:
• เพิ่มรายได้ให้ศิลปินจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ
• ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้รู้จักศิลปะไทยมากขึ้น
• สร้างตลาดศิลปะดิจิทัลในประเทศให้คึกคักขึ้น
ซึ่ง ธุรกิจการลงทุนในงานศิลปะผ่านบล็อคเชน ยังค่อนข้างใหม่ และเป็นโอกาสที่ดีในการสร้าง โดยประเด็นที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในด้านต่างๆ
- การให้ความรู้แก่ศิลปินและนักลงทุน: เพราะศิลปินจำนวนมากยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีนี้ และ ในส่วนของนักลงทุนการลงทุนด้านศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชิน
- โครงสร้างพื้นฐาน: เช่น การประกันภัยงานศิลปะ หรือ สถานที่การจัดเก็บงานศิลปะที่เหมาะสม
- มาตราฐานแพลตฟอร์มการลงทุน: พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทุนที่มีส่วนรวมศิลปิน และ นักลงทุน ให้เข้ามา โดยจะต้องมี ต้องมีมาตรฐานในการประเมินมูลค่า และการจัดเก็บงานศิลปะที่มีหลักประกัน ที่เหมาะสม
ในโลกที่การลงทุนเคลื่อนที่รวดเร็ว ศิลปะเองก็ไม่ยืนอยู่นิ่งกับที่ Art Tokenization คือการเปิดศักราชใหม่ของวงการศิลปะ ที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสร่วมถือครอง ลงทุน และสร้างคุณค่าจากงานศิลป์ได้มากกว่าที่เคย
หากประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย และความเข้าใจร่วมกันในระดับประเทศได้ เราอาจได้เห็น “กรุงเทพฯ” หรือ “เชียงใหม่” กลายเป็นฮับศูนย์กลางของศิลปะดิจิทัลระดับเอเชียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ผู้เขียน สุทธิรัตน์ หาญพานิชย์
Head of Business Development, Token X