หุ้นวิชั่น – เมื่อ จีน ไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ พร้อมตอบโต้การเก็บภาษีศุลกากร สงครามการค้าระเบิดแล้ว ทำให้นักลงทุนทั่วโลกแห่ขายหุ้นกันอย่างหนัก ตลาดหุ้นเอเซียวานนี้ (7 เมษายน 2568) ดิ่งเหวกันทั่วหน้า ตลาดหุ้นจีน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตปิดลบไปถึง 7.34% ตลาดหุ้นโตเกียวดัชนีนิกเกอิปิดร่วง 7.83% ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งปิดดิ่ง 13.74%
วันนี้ถึงคิวหุ้นไทย หลังได้รับอานิสงส์วันหยุดวานนี้ จะโดนแรงขายทบต้นทบดอกหรือไม่?
ล่าสุดตลาดหลักทรัยพ์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศแผนรับมือ ปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor จากเดิม 30% มาเหลือ 15% และห้ามขายชอร์ตชั่วคราว ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) จะไม่ใช้บังคับกับการซื้อขาย DR และ DRx
พร้อมทั้งได้ปรับกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ จากเดิม 10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น เป็น 5% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น อย่างไรก็ตาม การห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์นั้น ยกเว้น Market Maker สำหรับ SET, mai และ TFEX
กฎนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 และไม่เกินวันที่ 11 เมษายน 2568
ถามเป็นมาตรการที่ดีหรือไม่ ของตลาดหลักทรัพย์ฯรอบนี้ ก็ต้องตอบว่า ดีในระดับหนึ่ง เพราะเป็นการชะลอแรงขายหุ้น เพื่อให้นักลงทุนได้มีเวลาศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน และเจ้าของหุ้นทั้งหลาย
แต่อีกด้านหนึ่ง การชะลอแรงขายแบบนี้ อาจทำให้ตลาดหุ้นตกอยู่การถูกแรงขายครอบงำยาวนานขึ้น เพราะเป็นมาตรการที่ผิดธรรมชาติการลงทุน หากผู้ลงทุนคิดดีแล้ว และต้องการขายหุ้นออกลดความเสี่ยง หนีภาวะสงครามการค้าออกไปก่อน ดังนั้น วันนี้อาจจะเป็นวันที่มีหุ้นในตลาดไทย ทำสถิติฟลอร์มากที่สุดวันหนึ่งก็ได้
ธรุกิจอะไรไม่โดนภาษี 36%
จากข้อมูลข่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจของไทยระบุว่า ล่าสุดประเทศไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นเพื่อรับมือกับมาตรการภาษี ต้องทำให้สัดส่วนการเกินดุลของไทยที่มีต่อสหรัฐฯ ลดลง ซึ่งมีแนวทางเจรจากับสหรัฐฯ ดังนี้
ประการแรก ไทยต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น โดยมีพร้อมนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด ปลาทูน่า เป็นต้น และประการที่สองคือ สินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ต้องเป็นสินค้าที่สามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปในไทยเพื่อส่งออกได้ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการผลิตในประเทศ
และประการที่สาม คือ กระตุ้นและส่งเสริมส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ด้วยการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) ซึ่งเป็นเอกสารใช้เพื่อรับรองสินค้าของผู้ส่งออกว่า ส่งออกมาจากประเทศใดให้เข้มงวดมากขึ้น
ภาครัฐบาลย้ำอีกว่า แนวทางการเจรจาเหล่านี้ ไม่ได้มีเป้าหมายการลดส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ แต่เป็นการทำให้ช่องว่างของการได้เปรียบดุลการค้าลดลง และที่สำคัญคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการ และนำมาผลิตและส่งออกให้ได้ด้วย โดยหลังจากนี้ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในรายละเอียดกันต่อไป
“คาดเจรจากับทางสหรัฐฯ ภายใน 2-3 สัปดาห์ เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกไทย เนื่องเพราะประเมินว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯรอบนี้ อาจสะเทือนกับ GDP ไทยไม่น้อยกว่า 1%”
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเนื้อหาข้อความ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68 ที่ปธน. ทรัมป์ลงนามประกาศคำสั่ง EO กำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. Baseline Tariff: จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตราร้อยละ 10 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. 2568
2. Individualized Reciprocal Higher Tariff: จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการเป็นรายประเทศ สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูง โดยไทยถูกกำหนดภาษีในอัตราร้อยละ 36 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. 2568
3. สินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการ Reciprocal Tariffs คือ (1) สินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรา 232 อยู่แล้ว ได้แก่ เหล็ก/อลูมิเนียม และรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ (2) สินค้าที่ระบุไว้ในเอกสาร Annex II ของ EO ครอบคลุมทองแดง ผลิตภัณฑ์ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป แร่ที่มีความสำคัญ และพลังงาน
4. Duty-free de minimis: สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 เหรียญสหรัฐฯ จะยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ (duty-free de minimis treatment) ต่อไป
เห็นได้ว่า ธุรกิจส่งออกที่ไม่อยู่ในข่าย โดนภาษีตอบโต้ 36% ประกอบด้วย เหล็ก/อลูมิเนียม และรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ และอาจรวมถึง ทองแดง ผลิตภัณฑ์ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป แร่ที่มีความสำคัญ และพลังงาน อีกด้วย (รอการพิจารณาความชัดเจน)
ขณะที่ผู้บริหาร TEGH นางสินีนุช ได้โพสเฟสบุ๊คว่า ยางพาราธรรมชาติ อยู่ใน list Annex IIที่ “ไม่” ถูกเก็บภาษี 37% นะคะ และขยายความว่า อุตสาหกรรมยางล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ของ USA ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 170,600 ล้าน USD และสร้างงานมากกว่า 291,000 ตำแหน่ง USA ไม่ได้ปลูกยางพารา จึงต้องนำเข้ายางพาราธรรมชาติ ประมาณ 1 ล้าน ตันต่อปี โดยนำเข้าจาก ไทย ในสัดส่วน 25%
ทั้งนี้ สินค้าที่จะได้รับผลกระทบ คือ ยางล้อรถยนต์ (USA นำเข้ายางล้อ ประมาณ 170 ล้านเส้นต่อปี) (ซึ่งไทย คือผู้ส่งออกยางล้อรายใหญ่สุด ไป USA) ทำให้ผู้ผลิตยางล้อที่พึ่งพาตลาด USA จะได้รับผลกระทบทางตรง ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตยางล้อใน USA อาจนำเข้ายางธรรมชาติมากขึ้น ผู้ผลิตยางธรรมชาติที่มีตลาดใน USA อาจส่งออกได้มากขึ้น (TEGH มีสัดส่วนการขายไป USA ที่ 14%)
ผลกระทบในระยะสั้น คือ ราคายางอ่อนตัว Supply chain ที่พึ่งพา จีน จะได้รับผลกระทบรุนแรง จีน คงจะเล่นสงครามราคา เพื่อคงอัตราการผลิต EU ถูกจัดเก็บ 20% ซึ่งต่ำกว่าประเทศผู้ผลิตยางล้ออื่นๆ น่าจะยังพอแข่งขันได้ สายโทรศัพท์ whitehouse คงไหม้ ในสัปดาห์นี้ (โฟสทิ้งท้าย)