ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาส 1 และแนวโน้มในปี 68
ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนด้วยมูลค่าตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสัดส่วน 12% ของ GDP ในปี 2540 ไปสู่ 94% ของ GDP ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 โดย ณ 31 มีนาคม 2568 มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยตามรายงานของ ThaiBMA (ไม่รวมตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ) อยู่ที่ประมาณ 17.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)
มูลค่าคงค้างในตลาดตราสารหนี้ไทย
Source: ThaiBMA
การเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างนั้น มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นเกือบ 74% ของมูลค่าคงค้างรวม ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนคิดเป็น 26% ด้วยมูลค่าคงค้าง 4.5 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 2.8% YoY เนื่องจากหุ้นกู้กลุ่ม High yield มีการออกน้อยกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้มีปัจจัยที่นักลงทุนควรติดตามและพิจารณา มีดังนี้
เส้นอัตราผลตอบแทนขาลงไปตามภาวะดอกเบี้ย
เส้นตอบเเทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) อยู่ในช่วงขาลงในไตรมาส 1 โดยเฉพาะภายหลังที่ กนง. ปรับลดออัตราดอกเบี้ยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ เร็วกว่าที่หลายฝ่่ายคาด ทำให้ Bond yield ไทย ณ 31 มีนาคม 68 รุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลง 31-35 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ที่ปรับลดลง 26-52 bps. ในหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade (AAA, AA, A และ BBB+) รุ่นอายุ 5 ปี มาอยู่ที่ระดับ 2.29% 2.63% 3.01% และ 4.31% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หาก กนง. มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปี 2568 ก็จะส่งผลตราสารหนี้ที่ยังจ่ายดอกเบี้ยสูงที่ออกมาก่อนหน้านี้จะยิ่งน่าสนใจ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อตราสารหนี้มากขึ้น ราคาก็จะสูงขึ้นตาม และ bond yield ลดลงตามลำดับ
นักลงทุนต่างชาติแห่ซื้อสะสม
ThaiBMA รายงานกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ในไตรมาสแรกของปีเป็นการซื้อสะสมสุทธิที่มูลค่า 10,297 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้การถือครองของนักลงทุนต่างชาติ มีมูลค่า 8.74 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย
ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน (10 เม.ย. 68) ต่างชาติมีการซื้อสะสมตราสารหนี้ไทยสูง รวมมูลค่า 21,574 ล้านบาท พลิกจากการขายสะสมสุทธิที่ 67,393 ล้านบาทในปี 2567 สะท้อนการเข้าถือครองสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพอย่างตราสารหนี้มากขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะภายหลังที่สหรัฐฯ ประกาศปรับเพิ่มภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
พลังงาน อสังหาฯ การเงิน 3 กลุ่มที่ครองการออกหุ้นกู้สูงสุด
พลังงาน (ENERG) พัฒนาอสังหาฯ (PROP) และการเงิน (FIN) เป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกหุ้นกู้มากที่สุด ตามลำดับในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 เนื่องจากลักษณะของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมถึงเป็น sector ที่มีหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดไถ่ถอนในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีมากที่สุด โดยกลุ่ม FIN มีหุ้นกู้ครบกำหนดมูลค่า 144,655 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม PROP และ ENERG มีมูลค่าครบกำหนด 121,054 ล้านบาท และ 85,467 ล้านบาท ตามลำดับ
มูลค่าการออกหุ้นกู้ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (1Q24 vs 1Q25)
Source: ThaiBMA
การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนลดลง
มูลค่าการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนลดลงมาตั้งแต่ปี 2565 ที่มูลค่า 1,261,548 ล้านบาท สู่ 913,141 ล้านบาทในปี 2567 และในไตรมาส 1 ปี 2568 มูลค่าการออกอยู่ที่ 203,486 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.76% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ในกลุ่ม Investment Grade มีมูลค่าการออกสูงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่านักลงทุนให้ความสนใจและเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูง เนื่องจากสถานการณ์ที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระและเลื่อนชำระยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระรวม 1,605 ล้านบาท จากผู้ออก 3 ราย (CV, WTX, CHO) ขณะที่หุ้นกู้เลื่อนชำระมีมูลค่า 8,841 ล้านบาท จากผู้ออก 9 ราย (RICHY, CV, CGD, JCK, PRIME, NRF, EP, TPOLY, ECF) จึงมีส่วนให้นักลงทุนอาจขาดความเชื่อมั่นและหันไปลงทุนในบริษัทที่มีอันดับเครดิต Investment Grade ขึ้นไปเพิ่มขึ้น
มูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาว
Source: ThaiBMA
เอกชนออก ESG Bonds เพิ่มขึ้น สวนทางกับหุ้นกู้ปกติ
ESG Bonds ที่ประกอบด้วย Green Bonds, Social bonds, Sustainability bonds และ Sustainability-linked bonds (SLBs) มีการออกเพิ่มขึ้นในภาคเอกชนกว่า 37% จากปีก่อน รวมมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาทในปี 2567 และยังขยายไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น อย่าง โรงแรม หรือแม้แต่ Microfinance ขณะเดียวกัน ภาครัฐโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ออก SLB มูลค่า 30,000 ล้านบาทในปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นการออก SLB โดยภาครัฐเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนเทรนการออกหุ้นกู้ตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนที่สนใจและมองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
ดังนั้น หากนักลงทุนในตราสารหนี้ติดตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการตัดสินใจลงทุนได้ดียิ่งขึ้นตามสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการศึกษาข้อมูลรายบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่เราสนใจลงทุน