หุ้นวิชั่น – นายอโณทัย ศรีเตียเพ็ชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 162.7 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2566 ขาดทุนสุทธิจำนวน 2,275.2 ล้านบาท กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นและการติดตามหนี้เชิงรุก ทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง การเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยรับจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) การควบคุมค่าจ่าย รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วน ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.3%
สำหรับปี 2567 บริษัทมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 652.1 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,118.7 ล้านบาท หรือ 82.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในปี 2566 บริษัทได้ตัดหนี้สูญเป็นจำนวนมากในกลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทได้ติดตามทวงถามและพิจารณาว่าเป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และได้ตั้งประมาณการค่าผิดพลาดผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากลูกหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการสิ้นสุดโครงการให้ความช่วยเหลือจากผลกระทบของ COVID-19
นอกจากนี้ในปี 2567 บริษัทยังมีนโยบายการติดตามหนี้เชิงรุกมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2567 บริษัทไม่ได้มีการบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในจำนวนที่สูงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับปีก่อน
ด้านรายได้ในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 1,954.8 ล้านบาท ลดลงจำนวน 214.7 ล้านบาท หรือ 9.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 544.6 ล้านบาท หรือ 76.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการลดลงของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อรถทำเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 32.9 ล้านบาท หรือ 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัทมีกำไรจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) โดยมีสัดส่วน 11.2% ของรายได้ดอกเบี้ยรับรวม นอกจากนี้บริษัทมีรายได้อื่นจำนวน 166.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 86.1 ล้านบาท หรือ 107.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย 67.4% ของรายได้อื่นมาจากรายได้ส่งเสริมการขายจากธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone)
*เหตุการณ์สำคัญ
ในช่วงไตรมาส 1/2567 บริษัทได้เริ่ม Sandbox ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) โดยเริ่มจากแบรนด์โทรศัพท์มือถือสัญชาติจีนเพียงแบรนด์เดียวผ่านร้านค้าของบริษัทในเครือ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีผลตอบแทนที่สูงและมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับต่ำ บริษัทจึงมีความมั่นใจและเดินหน้าธุรกิจนี้อย่างเต็มที่
ในช่วงไตรมาส 2/2567 บริษัทเริ่ม Nationwide ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) ผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “SG Finance+” โดยขยายช่องทางไปยังร้านค้าทั่วประเทศพันธมิตร และเพิ่มแบรนด์โทรศัพท์มือถือสัญชาติจีนเป็น 4 แบรนด์ บริษัทยังคงเดินหน้าต่อเพื่อเพิ่มแบรนด์โทรศัพท์มือถือและขยายช่องทางไปยังร้านค้าพันธมิตรทั่วประเทศในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4
ในช่วงไตรมาส 3/2567 บริษัทได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยบริษัทสามารถระดมทุนได้จำนวน 3,861 ล้านบาท บริษัทได้นำเงินเพิ่มทุนไปใช้ในการปรับโครงสร้างทุน โดยนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ในบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone)
และในช่วงไตรมาส 4/2567 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 250 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) และเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต
สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) ในปี 2567 บริษัทสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ดังกล่าวประมาณ 3,246 ล้านบาท มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 5,950 แห่งทั่วประเทศ และมีแบรนด์โทรศัพท์มือถือสัญชาติจีนทั้งหมด 5 แบรนด์ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทมีลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) คงเหลือ 2,533 ล้านบาท สำหรับธุรกิจสินเชื่อรถทำเงิน บริษัทมีนโยบายหยุดการปล่อยสินเชื่อรถทำเงินตามสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ชะลอตัว
นายอโณทัย กล่าวว่า ในปี 2568 บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่สูงภายใต้การควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงเทคโนโลยีกำรล็อคโทรศัพท์มือถือ ทำให้การควบคุมคุณภาพสินเชื่อมีประสิทธิภาพ มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับต่ำมาก และมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) เติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดมือถือเป็นตลาดที่ใหญ่ มีช่องทางและโอกาสในการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในการเติบโตพอร์ตสินเชื่อและทำกำไรในอนาคต
ปัจจุบันบริษัทมีร้านค้าพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือ (Lock Phone) กว่า 5,950 แห่งทั่วประเทศ จากแบรนด์ชั้นนำทั้งหมด 5 แบรนด์ ซึ่งบริษัทยังคงมีแผนในการเพิ่มแบรนด์โทรศัพท์มือถือ รวมถึงเพิ่มช่องทางการให้บริการสินเชื่อมากยิ่งขึ้น บริษัทมีความมั่นใจว่าธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อโทรศัพท์มือถือจะทำให้บริษัทมีกำไรที่เติบโตขึ้นในอนาคต